Skip to main content
sharethis

คนรุ่นใหม่และแกนนำระดับบิ๊กจำนวนหนึ่งทยอยออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตลอดสามสี่ปีมานี้ คะแนนการเลือกตั้งที่ต่ำลง สารพัดมุ้ง อีลีทที่กลัวความเปลี่ยนแปลง ข่าวคราวอื้อฉาวของอดีตรองหัวหน้า และการเมืองที่แบ่งแยกเชิงอุดมการณ์ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองอายุมากที่สุดที่ถูกมองว่าไม่มีจุดยืนและอิงแอบกับฝ่ายชนะเสมอเข้าตาจน

  • เมื่อวิเคราะห์คะแนนจากผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2552 ผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ถึงการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ และ ส.ก. ปี 2565 คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ตกลงเรื่อยๆ
  • การไม่มีจุดยืนเชิงอุดมการณ์และนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเพียง 1 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2562 และอาจ ‘สูญพันธุ์’ ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
  • โครงสร้างภายในพรรคประชาธิปัตย์เต็มไปด้วยฝักฝ่ายทางการเมือง ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเก่าแก่ในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงบรรดาอีลีทใน Top Party List ของพรรค ทำให้การเปลี่ยนแปลงแทบเป็นไปไม่ได้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์อาจต่ำกว่าครั้งที่แล้ว

76 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าอยู่ยงนานกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ของไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก บ้างว่าเป็นพรรคที่มีความเป็นสถาบัน บ้างก็ว่าเพราะ ‘อยู่เป็น’ โดยเฉพาะท่าทีของพรรคกับการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด ถึงการเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภาพงานครบรอบ 76 ปี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา (ที่มาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Democrat Party, Thailand พรรคประชาธิปัตย์')

ทุกอย่างมีขึ้นและลง 3 ปีที่ผ่านมาสมาชิกพรรคทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่า และรุ่นใหญ่ทยอยลาออกต่อเนื่อง กรณีฉาวโฉ่ล่าสุดคือปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังเผชิญข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทางเพศ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์กระทบกระเทือน

คะแนนถดถอย

ถ้าไม่นับพื้นที่ภาคใต้ (ยกเว้นจังหวัดชายแดนภาคใต้) พรรคประชาธิปัตย์กำลังถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ในระบอบประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญ คะแนนเสียงเป็นตัวชี้วัดความนิยมได้ดี การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ในกรุงเทพฯ 23 ที่นั่ง ถึงปี 2562 เหลือแค่ 0 เช่นเดียวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเข้ามาด้วยคะแนน 934,602 คะแนน พอถึง 3 มีนาคม 2556 เขาได้รับเลือกกลับเข้ามาอีกครั้งด้วยคะแนนที่เพิ่มขึ้นถึง 1,256,349 คะแนนด้วยยุทธศาสตร์ในช่วงท้ายของการหาเสียงที่ว่า ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ ท่ามกลางอาการหลอนของผีทักษิณ

ล่าสุด การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กวาดคะแนนไปถึง 1,386,215 คะแนน มากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ขณะที่สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไปเพียง 254,723 คะแนน ห่างจากอันดับ 3 คือวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล เพียง 785 คะแนน

ด้านการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือ ส.ก. ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเข้ามาถึง 47 จาก 62 คน แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเหลือเพียง 9 คน ซึ่งทางประชาธิปัตย์จะให้ความเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไป แต่ถ้าเปรียบเทียบคะแนนจากการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่ได้ 474,836 คะแนน กับการเลือกตั้ง ส.ก. ที่ได้ 348,853 คะแนน จะพบความจริงที่ว่าคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หายไปถึง 125,983 คะแนน

ความไม่ชัดเจนของ ปชป. ในการเมืองเชิงอุดมการณ์

ลองไปดูพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เคยเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์ ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาคันตุกะประจำคณะมนุษย์ศาสตร์) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค อาบูดาบี กล่าวว่า ความจริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ครอบครองพื้นที่ ในยุคที่ชนะเกินครึ่งก็เป็นผลจากกลุ่มวาดะที่เพิ่งก่อตั้งและเข้าร่วมกับประชาธิปัตย์ทำให้เกิดภาพว่าประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของพื้นที่

ในการเลือกตั้งปี 2548 ที่ประชาธิปัตย์ได้รับเลือก 10 จาก 11 ที่นั่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความรุนแรงขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อคนหมู่มากในพื้นที่ ทั้งในด้านจำนวนการเสียชีวิตและด้านจิตวิทยาอย่างเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ คนในพื้นที่จึง Punishment Vote พรรครัฐบาลหรือไทยรักไทยซึ่งมีกลุ่มวาดะเป็นส่วนหนึ่ง

“เมื่อปี 2518 ก็มีเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ที่ปัตตานี ลากยาวถึง 45 วัน มีคนเสียชีวิตประมาณ 13 คนและก็มีผลทางความรู้สึกหนักมากในช่วงนั้น คนออกมาประท้วงนับแสนคนในบางวัน พอมีการเลือกตั้งในปี 2518 ผลคือพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านได้รับจำนวนที่นั่ง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เห็นว่าวิธีการเลือกตั้งของคนในพื้นที่สามจังหวัด เขามี Calculative เขามีเหตุผล”

ดวงยิหวา กล่าวว่า อาการขาลงของประชาธิปัตย์เริ่มเห็นชัดในปี 2562 เธอเท้าความว่าช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการชูนโยบายปกครองตนเอง ขณะที่ประชาธิปัตย์ไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่ก็ยังได้ถึง  9 จาก 11 ที่นั่ง ต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ประชาธิปัตย์เหลือที่นั่งเดียว ส่วนหนึ่งเกิดจากการแย่งคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐ อีกส่วนเป็นเรื่องเชิงอุดมการณ์ความคิดที่แบ่งขั้วมากขึ้นคือถ้าไม่อนุรักษ์นิยมก็เสรีนิยม

ขณะที่แนวทางของพลังประชารัฐเอนเอียงไปทางขวา กลุ่มวาดะในนามพรรคประชาชาติแสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยและมีความเป็น Ethno-Malay สุดโต่งมากขึ้น แต่จุดยืนประชาธิปัตย์กลับไม่ชัดเจนหรือ ‘แทงกั๊ก’ ดวงยิหวาจึงประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาธิปัตย์อาจ ‘สูญพันธุ์’ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“หลังจากนี้เลือกตั้งต่อไป ดิฉันขอใช้คำว่า สูญพันธุ์ รอบนี้ไม่น่าจะได้ น่าจะหมดไปจากสามจังหวัด แล้วจะถือว่าเป็นครั้งแรกในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะว่ามันไม่เหลือใครแล้วที่น่าสนใจ อย่างช่วงก่อนมีคนชูลูกชายของผู้นำศาสนา เจ้าของโรงเรียนเอกชนศาสนาแห่งหนึ่ง ก็ไม่ได้ บารมีไม่มาก แล้วก็อย่างที่เห็นในข่าว มีปัญหาภายในพรรค เขาไม่น่าจะเจาะสามจังหวัดได้ เหมือนหมดยุคของเขาแล้ว มันมีทั้งปัจจัยภายในพื้นที่สามจังหวัดว่าด้วยเรื่องอุดมการณ์และปัจจัยภายนอกว่าเรื่องความขัดแย้งภายในพรรคจากศูนย์กลางเอง มันก็มีผลทำให้เขาไม่สามารถเข้ามามีอิทธิพลมาก”

เราสมมติว่าถ้าประชาธิปัตย์รู้จุดอ่อนของตัวเองในพื้นที่ หันมาชูนโยบายที่มีจุดยืนชัดเจน เช่น เขตปกครองพิเศษ จะเป็นไปได้หรือไม่ ดวงยิหวาตอบว่าประชาธิปัตย์จะไม่ทำ เพราะถ้าจะทำก็คงทำไปนานแล้ว

“เขามีโอกาสที่จะทำสมัยที่วาดะเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ วาดะเคยขอตั้งไม่รู้กี่เรื่อง มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่คุณสัมพันธ์ ทองสมัคร สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีศึกษา นานมากแล้ว มีนโยบายว่าต้องตั้งพระพุทธรูปในทุกโรงเรียน ตอนนั้นวาดะซึ่งอยู่ในกลุ่มของประชาธิปัตย์ก็ออกมาคัดค้าน ฉะนั้นยาก ประชาธิปัตย์อนุรักษ์ฯ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นพุทธมามกะสูงมาก แล้วไม่มีนโยบายที่ชัดเจนสำหรับพื้นที่ อาศัยว่าได้ผลบุญของคนรุ่นก่อนมา จนตอนนี้บุญที่เคยสะสมมา มันหมดแล้ว”

ดวงยิหวาเสริมว่าด้วยสภาพการเมืองที่แบ่งขั้วเชิงอุดมการณ์ชัดเจน ความไม่ชัดเจนของประชาธิปัตย์คือปัญหาสำคัญ เมื่อบวกกับการถูกพรรคอื่นแย่งคะแนน ความแตกแยกในพรรค การไม่มียุทธศาสตร์การหาเสียงที่ชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การพังทลาย

 

ฝักฝ่ายและอีลีทในพรรคแช่แข็งการเปลี่ยนแปลง

ย้อนกลับมาดูภายในพรรค พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง กล่าวว่าปัญหาใหญ่ของประชาธิปัตย์คือมีการแบ่งฝักฝ่ายภายในสูงมาก

“เป็นฝักฝ่ายที่อยู่มานาน ภาษาอังกฤษเรียก Fraction อยู่มานานแล้วก็ครอบการตัดสินใจทุกอย่าง ฝักฝ่ายนี้ก็คือพวกภาคใต้ที่ก็แตกไปไม่รู้อีกกี่กลุ่ม แต่หลักๆ จะเป็นกลุ่มท่านชวน กลุ่มคุณสุเทพ แต่คุณสุเทพไม่ค่อยพลังเยอะเพราะว่าออกไปแล้ว คุณจุรินทร์ ดังนั้น คนอื่นแทบจะไม่ได้เข้าสู่ระบบของพรรคเลย

“พรรคประชาธิปัตย์มันไม่เหมือนพรรคอื่นที่จะมีคนเดียวคุม มันคุมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ มันก็ไปยากแล้ว พอเป็นแบบนี้คนรุ่นใหม่หรือว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างกลุ่มภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งมีน้อยกว่าก็ไม่สามารถเจาะกลุ่มภาคใต้ได้ ดังนั้นทุกกรรมการในพรรค กรรมการบริหาร กรรมการนโยบาย ก็จะโดนควบคุมโดยเฉพาะฝักฝ่ายนี้ ไปดูดีๆ ส่วนใหญ่จะเป็น Top Party List ประมาณ 7 ถึง 10 คนแรก แล้วมันจะเคร่งครัดมาก ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ เหมือนเป็นระบบ Seniority”

มีความพยายามเปลี่ยนแปลงภายในประชาธิปัตย์อยู่ตลอด แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณ์ จาติกวณิช หรืออภิรักษ์ โกษะโยธิน ลงเอยด้วยการลดบทบาทตนเองหรือลาออก พรรณชฎาเล่าว่า ช่วงที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลังจบการเลือกตั้งปี 2562 ด้วยความพ่ายแพ้ชนิดย่อยยับ เธอฟันธงว่าจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์จะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่ใช่กรณ์อย่างที่ใครคาดการณ์

“เพราะว่าระบบเลือกตั้งในพรรคประชาธิปัตย์ มันไม่ใช่คุณโหวตแล้วจบ มันมีโควต้าของการโหวตอยู่ ซึ่งมันซับซ้อน ดังนั้นถ้าคุณไม่สามารถคุมฝักฝ่ายที่อยู่ในพรรคได้ คุณก็จะไม่ได้การโหวตเพื่อเป็นผู้นำพรรค หลักๆ เลยก็คือฝักฝ่ายที่อยู่มานานไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ เข้ามา พอมีคนเข้ามาใหม่เขาก็ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จะเป็น Old Generation”

และอีกฝักฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจและอิทธิพลสูงคือกลุ่มเทคโนแครตซึ่งฝังแน่นในพรรคและติด Top Party List ที่ยังคงติดกับดักกับสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณและไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

คาดคะแนนจะต่ำกว่าเดิมในเลือกตั้งครั้งต่อไป

พรรณชฎาสรุปอาการขาลงของประชาธิปัตย์ว่าเกิดจากกลุ่มอีลีทที่คุมพรรคไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามามีบทบาท มีความเป็นอนุรักษ์นิยม และแนวนโยบายของพรรคไม่ชัดเจน เธอตั้งข้อสังเกตว่านโยบายตอนหาเสียงแม้จะมีจำนวนมากแต่ก็คล้ายคลึงกับพรรคอื่น ต่างจากพลังประชารัฐ เพื่อไทย และก้าวไกลที่มีจุดยืนด้านนโยบาย

“ประชาธิปัตย์เป็นอนุรักษ์นิยม แต่สุดโต่งไหม ตอนนี้น่าจะเหมือนกับไปเกือบสุดแล้ว เพราะว่าแนวคิดของผู้บริหารพรรคไม่เปิดโอกาสเหมือนเดิม ไม่เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลง เราลบคนกลุ่มนี้ออกไปจากพรรคไม่ได้เลย เพราะว่าเขาอยู่มานานและคุมหมดแล้ว เขาคุมส่วนภาคใต้ซึ่งเป็นภาคที่เขาได้คะแนนมาเสมอ ส่วนกรุงเทพตอนนี้คุมไม่ค่อยได้แล้วเพราะไปอยู่ที่อื่นกันหมด ดังนั้น แนวคิดอุดมการณ์มันไม่จูงใจคนที่เป็น New Voter ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เลยส่งผลอย่างที่เห็น”

พรรณชฎาประเมินว่าการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนน้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2562 แม้แต่ในพื้นที่ภาคใต้เอง เพราะตัวบุคคลที่เคยดึงคะแนนนิยมไว้ได้ เช่น ชวน หลีกภัย ก็ไม่เข้มขลังเช่นอดีต คนที่หลั่งไหลออกไปจำนวนหนึ่งก็ทับซ้อนพื้นที่กับประชาธิปัตย์ เพราะแม้แต่การเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ภาคใต้ประชาธิปัตย์จะยังคงได้รับชัยชนะ แต่ช่องว่างคะแนนระหว่างอันดับ 1 และอันดับ 2 ก็ไม่ห่างมาก

ตัวโครงสร้างภายในพรรค อาการกลัวความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำภายในพรรค และอุดมการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เป็นความท้าทายสำคัญของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ว่าจัดการอย่างไร เพราะกฎของความเปลี่ยนแปลงไม่เคยยกเว้นให้กับใคร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net