Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีเพิกถอนข้อกำหนดขอศาลรัฐธรรมนูญเรื่องห้ามวิจารณ์โดยไม่สุจริตหยาบคายฯ อ้างเหตุเป็นการใช้อำนาจตุลาการเพื่อออกข้อกำหนดไม่ใช่อำนาจทางปกครอง อาจารย์นิติ มธ.ผู้ฟ้องคดีชี้ข้อกำหนดนี้อันตรายศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจมาลงโทษคนวิจารณ์ตัวเองได้โดยตรงไม่ต้องผ่านศาลยุติธรรมที่เป็นตัวกลาง

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีพิจารณาข้ออุทธรณ์ในคดีที่อานนท์ฟ้องประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1และ 2 ตามลำดับ เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 10 และ 11 ที่กำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลว่าเป็นการออกข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าคดีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครองตามศาลชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่าการออกข้อกำหนดดังกล่าวของศาลรัฐฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจทางตุลาการที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีไม่ใช่การออกคำสั่งทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ

อย่างไรก็ตาม อานนท์ระบุในฟ้องว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญในข้อ 10 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการออกข้อกำหนดที่เกินไปกว่าที่มาตรา 38 ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการออกข้อกำหนดไว้ เพราะมาตราดังกล่าวเพียงแค่ให้อำนาจแก่ศาลในการกำหนดลักษณะการกระทำที่จะกระทบต่อการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น

ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อ 10 ระบุว่า “กำหนดว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหยาบคายเสียดสี ปลุกปั่น ยุยงหรืออาฆาตมาดร้าย” และข้อ 11 ที่กำหนดว่าการกระทำในข้อ 10 เป็นการละเมิดอำนาจศาลและให้ศาลสามารถมีอำนาจสั่งลงโทษตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ มาตรา 39

ทั้งนี้อำนาจในมาตรา 39 นั้นยังอิงอยู่กับลักษณะการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลในมาตรา 38 ในพ.ร.บ.ฉบับเดียวกันด้วย โดยมาตรา 38 วรรคหนึ่งได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาในที่ทำการศาลหรือฟังการไต่สวนของศาลหรือกรณีมีความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีและศาลอาจสั่งให้บุคคลกระทำหรือไม่กระทำการใดเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยเรียบร้อย และในวรรคสองยังให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีนี้เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในทางตุลาการในการออกข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ใช่การใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจทางปกครองที่ศาลปกครองจะเข้าไปพิจารณาการใช้อำนาจดังกล่าวได้

อานนท์ยังโต้แย้งคำสั่งนี้ด้วยว่า เมื่อการออกข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นการใช้อำนาจทางตุลาการตามมาตรา 188 วรรคหนึ่งในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการออกกฎเพื่ออนุวัติตามกฎหมายและใช้กฎเป็นการทั่วไปโดยไม่ได้เจาะจงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เท่ากับเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครองว่าข้อกำหนดดังกล่าวออกมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีนี้โดยมีความเห็นตามศาลชั้นต้นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจในทางตุลาการในการออกข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครอง

ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นแย้งว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาฉบับนี้ได้แนบความเห็นแย้งของประวิทย์ เอื้อนิรันดร์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวน และไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดเอาไว้ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยว่าคดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง

ตุลาการทั้งสองให้เหตุผลว่า การใช้อำนาจทางตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญคือการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมตรา 210 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 188 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญและมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ส่วนการออกกฎหมายซึ่งรวมถึงพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของนิติบัญญัติ และการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกกฎตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ดังนั้นหากองค์กรตุลาการใช้อำนาจในการออกกฎตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้จึงถือว่าเป้นการใช้อำนาจบริหาร ไม่ใช่การใช้อำนาจทางตุลาการ

ดังนั้นข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 10 และ 11 ที่เป็นการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่จะเกิดภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ใช่การข้อกำหนดที่ออกมาเพื่อใช้หรือประกอบการใช้ดำเนินการกระบวนการพิจารณาใดๆ รวมถึงการไต่สวน การประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย หรือการนั่งพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางตุลาการในการพิจารณาดคีที่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดข้อ 10 ยังใช้เป็นการทั่วไปโดยไมได้มุ่งหมายใช้บังคับกับคนใดคนหนึ่ง

ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงอยู่ในความหมายเป็นกฎตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และไม่อาจตีความได้ว่าเป็นการกระทำประเภทหนึ่งขององค์กรตุลาการแต่อย่างใด เนื่องจากองค์กรตุลาการไม่อาจใช้อำนาจทางตุลาการในการออกกฎมาใช้บังคับได้ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องในข้อหาคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจมาพิพากษาคนวิจารณ์ตัวเอง

ประชาไทได้ขอสัมภาษณ์อานนท์ มาเม้า ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายและผู้ฟ้องคดีเพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนี้เกี่ยวกับปัญหาของข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาซึ่งเป็นเหตุให้เขาไปยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว

อานนท์มองว่าลักษณะการกระทำในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 10 นี้เป็นเพียงการกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาสู่สาธารณะและการพิจารณาคดีก็สิ้นสุดไปแล้วศาลก็หมดบทบาทไป ลักษณะการกระทำตามข้อกำหนดดังกล่าวไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ออกข้อกำหนดที่ไปไกลเกินกว่าที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ไว้

“ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจตัวเองโดยการออกข้อกำหนดในคดีที่จบไปแล้ว มาเอาผิดกับคนที่วิจารณ์หรือดูหมิ่นศาล มันคือการสยายปีกอำนาจออกไปทั้งที่เรื่องนี้มีความผิดทางกฎหมายอยู่แล้ว”

อานนท์อธิบายว่าในประมวลกฎหมายอาญาเองก็มีบทลงโทษในกรณีที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีศาลโดยไม่มีเหตุผลเลย เช่นการด่าทอด่าด้วยความหยาบคายไม่ได้พูดถึงความไม่เห็นด้วย ก็จะเป็นการดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมและต้องเข้ากระบวนการที่จะต้องไปแจ้งความกับตำรวจหรือฟ้องต่ออัยการ

เขาชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการออกข้อกำหนดนี้มาว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าการดูหมิ่นศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาล ศาลรัฐธรรมนูญสามารถลงโทษได้ทันทีโดยไม่ต้องไปดำเนินคดีอาญาที่จะต้องไปเริ่มต้นกระบวนการที่ตำรวจและอัยการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างช่องทางในการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลของตัวเองขึ้นมาซ้อนอีกอัน ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่ศาลจะเข้ามาเป็นผู้ตัดสินผู้วิจารณ์เสียเอง

“เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วแต่ศาลยังเป็นผู้เล่นลงมาจัดการคนวิจารณ์ศาลเป็นเรื่องอันตราย ผมมองว่าเรื่องนี้มันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน”

อานนท์อธิบายต่อว่า นอกจากเรื่องที่ศาลไม่มีอำนาจในการออกข้อกำหนดแล้ว สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือเมื่อลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลขยายออกมา ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นผู้ตีความว่าการวิจารณ์แบบใดเป็นการวิจารณ์โดยไม่สุจริตเองด้วย และยังมีอำนาจในการสั่งลงโทษจำคุกหรือสั่งปรับได้ ก็จะทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเพราะเท่ากับวิจารณ์คนตัดสินแล้วคนตัดสินมีอำนาจในการลงโทษคนวิจารณ์ได้ เขามองว่าเรื่องถือเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย

“ใครจะกล้าวิจารณ์ละ วิจารณ์แล้วจะถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามมั้ย บางคนอาจจะบอกว่าถ้าคุณพูดดีๆ คุณไม่ได้วิจารณ์ด้วยถ้อยคำหยาบคายจะกลัวอะไร ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าทำไมศาลถึงสยายปีกออกมาขนาดนี้”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเองเคยมีบทบาทผู้ฟ้องดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 เสียเองจากกรณีพริษฐ์ ชีวารักษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยต่อกรณีบ้านพักประยุทธ์ ที่ทำให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นผู้พิพาทเอง

อานนท์มองว่าในระบบกฎหมายมีการกำหนดความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานไว้แล้วศาลเองก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแบบหนึ่งซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐที่ใครก็ด้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ โดยแกนหลักของกฎหมายดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือแม้กระทั่งศาลเองก็เพื่อให้การคุ้มครองการใช้อำนาจรัฐให้อำนาจรัฐได้รับการเคารพ

“แต่การที่รัฐจะได้รับการเคารพก็ต้องอยู่บนเหตุผล การวิจารณ์รัฐในสังคมประชาธิปไตยจะมองว่าเป็นการดูหมิ่นไม่ได้ การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นแสดงการเคารพรัฐในรูปแบบหนึ่งก็คืออยากให้รัฐมันดีกว่าที่มันเป็นอยู่”

นอกจากนั้นในทางการเมือง แม้ว่าคดีที่เป็นความผิดต่อรัฐใครจะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้และรัฐเองก็อาจจะไม่ได้อยากให้มีแต่คำด่าทอหยาบคายที่ไม่ก่อประโยชน์ แต่การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีเองก็เท่ากับมาเป็นคู่พิพาทโดยตรง แม้ว่าคดีจะถูกพิจารณาโดยตัวกลางอย่างศาลยุติธรรมก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะประชาชนก็จะเห็นว่าเมื่อศาลลงมาเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ด้วยตัวเองด้วยแล้ว หากศาลยุติธรรมว่าผิดก็ว่ากันไปตามเนื้อหาของคดี แต่ถ้าสุดท้ายแล้วศาลยุติธรรมบอกว่าไม่ผิดศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นฝ่ายเสียเองคนก็จะมองว่าศาลลงมาไล่บี้เอากับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าทั้งเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดดังกล่าวมา ทั้งการดำเนินคดีกับคนที่วิจารณ์คำวินิจฉัยได้สะท้อนถึงทัศนคติของศาลต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนด้วยหรือไม่นั้น

อานนท์ได้ยกตัวอย่างข้อความกำกับเรื่องห้ามดูหมิ่นศาลท้ายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ผ่านเว็บไว้เสมอก็เป็นเรื่องที่สะท้อนว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็มองว่าตัวเองไม่ได้รับฉันทานุมัติที่ดีจากประชาชนก็เลยต้องมีการกำกับไว้แบบนี้

“คำพิพากษาศาลสูงอเมริกา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ไม่มีนะ ไอ้คาถากำกับข้างล่างเวลาเผยแพร่ว่าอย่านะ อย่าวิจารณ์โดยไม่สุจริต อย่าเหยียดหยาม อย่าหยาบคาย อย่าเสียดสีนะ มันไม่มี มันสะท้อนให้เห็นประชาชนไม่ค่อยปลื้มหรอกคุณเลยเอาอำนาจมาขู่”

ส่วนเรื่องที่ศาลปกครองไม่รับฟ้องเพิกถอนข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญนี้ไว้พิจารณา อานนท์มองว่าได้สร้างสภาพแดนสนธยาขึ้นมาเพราะศาลปกครองทั้งสองชั้นก็ไม่ได้บอกว่าตกลงคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลใดทำให้ไม่รู้ว่าต้องไปทางไหน ซึ่งเขาก็มีความเห็นว่าเมื่อศาลปกครองมีความเห็นแบบนี้ก็จะทำให้เรื่องนี้อาจจะไปอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจทั่วไปตามรัฐธรรมนูญรับรอง

อย่างไรก็ตาม อานนท์กล่าวว่า ตัวเขาเองไม่เห็นด้วยนักหากเรื่องนี้จะต้องไปอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรมเนื่องจากว่าการพิจารณาประเด็นการใช้อำนาจทางปกครองลักษณะนี้ควรจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองมากกว่า เพราะศาลปกครองถูกสร้างมาเพื่อให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐอยู่แล้วทั้งประกาศคำสั่ง ข้อบัญญัติต่างๆ แต่ข้อกำหนดเรื่องวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมไม่ได้เอื้อให้มาพิจารณาเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net