Skip to main content
sharethis

กมธ. งบ 66 ถกภาพรวมเศรษฐกิจจี้ 10 ประเด็นน่าห่วง ชี้เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้กำลังฟื้นดีตามที่คาดการณ์ ส่งผลออกแบบงบประมาณที่คลาดเคลื่อน 'วิสาร' ชี้ 8 ปี 'ประยุทธ์' คนไทยจนเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน ลั่นอภิปรายไม่ไว้วางใจพุ่งเป้าปฏิรูปล้มเหลวทุกด้าน 'อนุดิษฐ์' แย้ง 'โฆษกทัพเรือ' เมินยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งซื้อโดรน UAV ของนอก ทั้งที่ไทยผลิตเองได้-ถูกกว่าเท่าตัว

8 มิ.ย.2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่าา วันนี้ (8 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2566 แถลงผลการประชุม กมธ.งบประมาณว่าในการพิจารณาเมื่อวานนี้ 7 มิ.ย. ว่า นอกเหนือจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว ทางกรรมาธิการหลายคนได้แสดงความเห็นถึงความห่วงใยต่อสภาวะเศรษฐกิจ โดยสรุป 10 ประเด็น ดังนี้

1. ผลกระทบจากการต่อสู้เงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างเข้มข้น ผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ จะส่งผลสะเทือนทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อจากนี้
2. การคาดการณ์ GDP สำหรับปี 66 ที่ 3.7% ยังคงตัวเลขเดิมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยลบใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต กรรมาธิการจึงตั้งข้อสังเกตว่าถ้าคาดการณ์ GDP คลาดเคลื่อนจะส่งผลต่อการประมาณการรายได้ ซึ่งส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณ
3. ประเด็นงบลงทุนน้อยกว่างบขาดดุล ยังเป็นประเด็นที่กรรมาธิการให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นงบ 65 ที่มีการนับรวมงบลงทุนจาก PPP , Thailand Future Fund หรือแม้กระทั้งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ซึ่งสร้างบรรทัดฐานทางงบประมาณที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรเกิดขึ้นอีกในงบ 66
4. แรงงานเสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก จากภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาคแรงงานที่ไม่ฟื้น กำลังซื้อจึงไม่ฟื้น ถ้าไม่เร่งแก้เรื่องการจ้างงาน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีปัญหา
5. ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นความหวัง อาจจะสะดุดได้จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวหรือถึงขั้นถดถอยจากการจัดการกับเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้ภาคท่องเที่ยวอาจไม่ได้ขยายตัวอย่างที่คาดการณ์
6. SMEs เป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก และยังไม่ฟื้นจากวิกฤต กรรมาธิการทวงถามถึงมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินผ่านหน่วยงานที่ชี้แจง
7. ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผ่านถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่รายได้ประชาชนยังไม่ฟื้น
8. หนี้สาธารณะยังคงสูง กรรมาธิการตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการคลัง อีกทั้งหนี้ครัวเรือนยังเป็นตัวถ่วงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย
9. กระบวนการจัดทำงบประมาณยังขาดความยืดหยุ่น การคาดการณ์ GDP เกิดขึ้นเกือบ 1 ปีล่วงหน้าก่อนงบถูกใช้จริง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนสูงในการประมาณการรายได้ รวมถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ตึงตัว ทำให้งบไม่ทันต่อสถานการณ์
10. จากข้อ 1-9 กรรมาธิการหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้กำลังฟื้นดีตามที่คาดการณ์โดยหน่วยงานที่มาชี้แจง การมองภาพที่คลาดเคลื่อนอาจนำไปสู่การออกแบบงบประมาณที่คลาดเคลื่อนได้

'วิสาร' ชี้ 8 ปี 'ประยุทธ์' คนไทยจนเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน ลั่นอภิปรายไม่ไว้วางใจพุ่งเป้าปฏิรูปล้มเหลวทุกด้าน

วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคฝ่ายค้านพุ่งประเด็นไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องผลการบริหารงานที่ผ่านมา 8 ปี ล้มเหลวทุกด้านโดยเฉพาะการแก้ปัญหาประเทศที่ไม่สามารถ พาประชาชน ก้าวข้ามความยากจนไปได้เลย

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ รับปากไว้ไม่เคยทำได้แม้แต่เรื่องเดียว  ไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้เลย เมื่อทำไม่ได้ มักอ้างปัญหารัฐบาลที่ผ่านมาทั้งเรื่องการบริหารการเงินการคลัง อ้างผลจากโครงการจำนำข้าว แต่ไม่พูดถึงการทุ่มงบประมาณให้เหล่าทัพ 8 ปี ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้าน อยากถามพลเอกประยุทธ์ นี่หรือคือผลการปฏิรูปกองทัพนายพลกว่า 1,500 คนนั่งตากแอร์ไปวันๆไม่มีงานทำ

วิสาร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ภายใต้การบริหารแบบไร้ ความรับผิดชอบ ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ที่คุยโอ้อวดว่าเป็นรัฐบาลที่แจกเงินประชาชนมากที่สุด เหมือนเป็นการประจานตัวเองว่าไร้ความสามารถ ยิ่งแจกเยอะก็สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล รวมทั้งการเพิ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 30 ล้านใบเป็น 40 ล้านใบหมายความว่ามีคนจนเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน ผลงานชิ้นโบว์ดำที่ประจานความล้มเหลวของรัฐบาล

“สิ่งที่ต้องปฏิรูปมากที่สุดคือ ตัวของพลเอกประยุทธ์ เอง เพราะยังคงไม่ยอมรับความล้มเหลวของตัวเองและเลิกโยนความผิดให้คนอื่นเสียที เลิกนิสัยยกตนข่มท่าน คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด คนเป็นผู้นำประเทศต้องมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ ไม่ใช่จุดเดือดต่ำ ชี้หน้าว่าคนอื่นเลวแต่ไม่เคยมองดูตัวเองว่าดีกว่าเขาตรงไหน ยิ่งบริหารยิ่งแย่ ยังคิดจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปยาวนานสุดท้ายคงพาไทยรั้งท้ายอาเซียนในที่สุด” วิสาร กล่าว

'อนุดิษฐ์' แย้ง 'โฆษกทัพเรือ' เมินยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งซื้อโดรน UAV ของนอก ทั้งที่ไทยผลิตเองได้-ถูกกว่าเท่าตัว

นอกจากนี้ ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย ยังรายงานต่อสื่อมวลชนอีกว่า จากกรณีที่ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกชี้แจงกรณีที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถึงโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง ของกองทัพเรือ วงเงิน 4,070 ล้านบาทๅ ว่ามีความโปร่งใส และมีการแข่งขันราคาที่เป็นธรรมนั้น

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องขอเน้นย้ำว่า ประเด็นที่ตนตั้งข้อสังเกตขึ้นมานั้น เป็นไปเพื่อปกป้องภาษีของพี่น้องประชาชนที่จะถูกใช้จ่ายไปอย่างไม่คุ้มค่า หรือที่แย่ไปกว่านั้นอาจเข้าข่ายการทุจริตประพฤติผิดมิชอบ จึงขอให้กองทัพเรือช่วยชี้แจงชัดๆก่อนว่า ในเมื่อกองทัพเรือระบุความต้องการจัดหา UAV ที่สามารถใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายได้ ทำไมจึงตัดเรื่องการส่งมอบอาวุธที่ต้องมาพร้อมกับ UAV ทิ้งไป เพราะการที่กองทัพเรืออ้างว่าสามารถจัดหาอาวุธมาติดตั้งได้ภายหลังนั้น ย่อมย้อนแย้งกับความต้องการในการจัดหา UAV ติดอาวุธของตัวเอง เพราะขอเงินภาษีประชาชนกับสภาผู้แทนราษฎร โดยบอกว่าจะไปซื้อ UAV ติดอาวุธ 3 ลำ ด้วยเงิน 4,070 ล้านบาท แปลว่า กองทัพเรือต้องซื้อ UAV ที่สามารถปฏิบัติภารกิจโจมตีเป้าหมายได้ แต่สุดท้ายกลับไปเซ็นสัญญาซื้อ UAV จำนวน 7 ลำ แต่ไม่ซื้ออาวุธมาด้วย ซึ่งแปลความว่า หลังจากการจัดซื้อครั้งนี้แล้ว กองทัพเรือต้องตั้งงบประมาณเพื่อจัดหาอาวุธมาติดตั้งให้ UAV อีก

“แล้วคราวนี้ไม่ใช่ยอดแค่ 3 ลำ แต่ต้องจัดหาอาวุธมาให้ทั้ง 7 ลำ แล้วสภาฯจะไปอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้อีกได้อย่างไร เพราะให้ไปตั้ง 4 พันล้านบาทแล้วเพื่อไปซื้อ UAV ติดอาวุธ แต่กลับได้มาแค่ UAV ที่ไม่มีอาวุธ เพราะฉะนั้นคำถามของผม ตรงไปตรงมาแบบนี้ ขอให้กองทัพเรือช่วยตอบให้ตรงคำถามด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญไปกว่านั้น หากในอนาคตกองทัพเรือของบประมาณไปซื้ออาวุธมาติดตั้งเพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจ แต่ประเทศผู้ขายปฏิเสธไม่ขายให้กับประเทศไทย กองทัพเรือช่วยตอบด้วยว่าจะให้ใครรับผิดชอบ UAV ติดอาวุธ ที่ปฏิบัติภารกิจไม่ได้ เรื่องนี้ต้องบันทึกไว้เลยว่าตกลงใครต้องรับผิดชอบ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกับเรือดำน้ำที่ซื้อเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งไม่ได้ แต่ไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบให้เป็นไปตามสัญญา ส่วนประเด็นที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) มีเอกสารยืนยันว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิต UAV ขนาดกลาง หรือ MALE UAV (Medium Altitude Long Endurance) ตาม TOR เดียวกันกับที่กองทัพเรือซื้อด้วยราคาที่ถูกกว่าเท่าตัวนั้น โดยกองทัพเรือซื้อจากต่างประเทศ 4 พันล้านบาท แต่ผลิตในประเทศราคาประมาณ 2 พันล้านบาท แต่กองทัพเรือชี้แจงว่าได้ตรวจสอบแล้วยังไม่มีบริษัทในประเทศเคยผลิต UAV ตาม TOR ที่กองทัพเรือต้องการนั้น แต่บริษัทของประเทศอิสราเอลที่กองทัพเรือไทยสั่งซื้อ UAV นั้น วันแรกที่กองทัพอิสราเอลสั่งซื้อ UAV ลำแรกจากบริษัทนี้ ทางบริษัทก็ไม่เคยผลิต UAV แบบนี้มาก่อนเช่นกัน แต่บริษัทก็สามารถสร้างขึ้นมาตามความต้องการของกองทัพอิสราเอล โดยหลังจากบริษัทส่งมอบ UAV ลำแรก กองทัพอิสราเอลก็สั่งซื้อมาเรื่อยๆ จนอุตสาหกรรมด้าน UAV ของอิสราเอล เป็นสินค้าส่งออกไปหลายประเทศในขณะนี้

“การที่กองทัพเรือชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบแล้วยังไม่มีบริษัทในประเทศเคยผลิต UAV ตาม TOR ที่กองทัพเรือต้องการนั้น คำตอบเช่นนี้ไม่ควรออกมาจากกองทัพเรือได้เลย เพราะแปลว่ากองทัพเรือไม่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ที่เป็น S Curve ตัวที่ 11 ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติเลยแม้แต่น้อย กรณีที่ของประเทศอิสราเอล วันแรกที่กองทัพเขาสั่งกับบริษัทในประเทศก็ยังไม่มีการผลิตเช่นกัน แต่ตอนนี้เขาสามารถผลิตแล้วจำหน่ายไปทั่วโลกแล้ว ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศโดยแท้ เรื่องแบบนี้ทำไมกองทัพเรือถึงไม่เอาเป็นตัวอย่าง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า คำชี้แจงของกองทัพเรือกำลังขัดแย้งกับ สทป.ที่บอกว่าสามารถสร้าง UAV ได้เองในประเทศ ทั้งๆที่กฎหมายต่างๆ ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรองต่างๆ ล้วนรองรับและกำหนดให้กระทรวงกลาโหมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกระทรวงกลาโหมระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติตามหน้าที่ของตนนั้น จะต้องเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความสามารถด้านการแข่งขัน ช่วยเหลือประคับประคองประเทศที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเมื่อหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม เช่น สทป. และกองทัพอากาศ ได้ศึกษาวิจัยและมีเอกสารยืนยันว่าสามารถดำเนินการสร้าง UAV ภายในประเทศเองได้ ด้วยสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือย่อมต้องใช้งบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเราแทนที่จะไปอุดหนุนต่างประเทศอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้

“การที่กองทัพเรือมุ่งที่จะซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ทั้งๆที่เป็นยุทธปกรณ์ที่สามารถส่งเสริมและผลิตในประเทศได้ ย่อมเกิดคำถามกับสังคมทั่วไปถึงหลักนิยมและยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่ไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และยังเป็นที่สงสัยอีกด้วยว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร เหตุใดจึงไม่ช่วยเหลือประเทศชาติประชาชนและพึ่งพาตนเอง ทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการได้โดยปราศจากอุปสรรค”

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะโจมตีใครทั้งสิ้น แต่ในฐานะผู้แทนราษฎรและจบการศึกษาจากสถาบันหลักทางทหารมาเช่นกัน เพียงแต่ต้องการให้กองทัพเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชน อย่าทำให้พวกเขาท้อแท้และสิ้นหวังภายใต้การบริหารงานของท่าน เพราะในเมื่อยุทธศาสตร์ กฎหมาย และนโยบาย กำหนดไว้ชัดเจน บวกกับขีดความสามารถในประเทศที่มีความพร้อมตามที่หน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหมชี้แจง ทำไมจึงสร้างเงื่อนไขเพื่อเอื้อให้กับต่างชาติและกีดกันคนไทย และเมื่อซื้อจากต่างประเทศแล้วทำไมไม่จัดหามาให้พร้อมปฏิบัติภารกิจได้เลย จึงขอให้ผู้รับผิดชอบช่วยชี้แจงให้เกิดความกระจ่างด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net