ILO ชี้วิกฤตการณ์ต่างๆ เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานโลก

รายงานของ ILO ชี้การฟื้นตัวของตลาดแรงงานทั่วโลกถูกคุกคามจากวิกฤตการณ์ต่างๆ รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มมากขึ้น - ธนาคารโลกเตือนความเสี่ยงจากภาวะการเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง (stagflation) มากขึ้น 


ที่มาภาพ: ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

9 มิ.ย. 2565 วิกฤตการณ์ต่างๆ กำลังทำให้การฟื้นตัวของตลาดแรงงานทั่วโลกถดถอยลง ด้วยความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในแต่ละประเทศและสถานการณ์ระหว่างประเทศ ตามรายงานใหม่จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

จากรายงาน The 9th edition of the ILO Monitor on the World of Work ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2565 ระบุว่าหลังจากที่ชั่วโมงการทำงานในโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 4/2564, แต่เมื่อล่วงมาช่วงไตรมาส 1/2565 ชั่วโมงการทำงานทั่วโลกกลับลดลงอีกครั้ง ซึ่งต่ำกว่าช่วงไตรมาส 4/2562 ก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ถึง ร้อยละ 3.8 ซึ่งเทียบเท่ากับการขาดดุลตำแหน่งงานประจำถึง 112 ล้านตำแหน่ง

ถือเป็นการปรับลดตัวเลขลง จากรายงานของ ILO ฉบับก่อนที่เผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค. 2565

วิกฤตการณ์ระดับโลกใหม่และที่เชื่อมโยงถึงกันหลายครั้ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงานและราคาอาหาร) ความวุ่นวายทางการเงิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่หยุดชะงัก - รุนแรงขึ้นจากสงครามในยูเครน - หมายความว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเสื่อมสภาพเพิ่มเติมในชั่วโมงทำงาน ในปี 2565 เช่นเดียวกับผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดแรงงานทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

การรุกรานของรัสเซียต่อยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในยูเครนและที่อื่นๆ อยู่แล้ว ตามรายละเอียดในบทสรุปของ ILO ล่าสุด

รายงานชี้ว่ามีความแตกต่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน สภาพเศรษฐกิจยังคงเป็นตัวกำหนดลักษณะของการฟื้นตัว ในขณะที่ประเทศรายได้สูงพบว่าชั่วโมงการทำงานเริ่มฟื้นตัว แต่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกลับมีแนวโน้มที่ไม่ดีนัก

ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ การวางนโยบายของรัฐบาลถูกจำกัดมากขึ้น เนื่องจากการขาดงบประมาณทางการคลังและความท้าทายด้านความยั่งยืนของหนี้ ในขณะที่ภาคธุรกิจต่างๆ เผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และคนทำงานยังคงถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอ

กว่า 2 ปี หลังจากการเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ผู้คนจำนวนมากในโลกยังคงประสบปัญหาจากผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

รายได้จากการทำงาน ยังไม่ฟื้นตัวสำหรับคนทำงานส่วนใหญ่ในปี 2564 คนทำงาน 3 ใน 5 คน อาศัยอยู่ในประเทศที่รายได้จากการทำงานยังไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในไตรมาส 4/2562

ช่องว่างทางเพศในชั่วโมงการทำงาน ก็เพิ่มขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เช่นกัน ในไตรมาส 1/2565 ช่องว่างทางเพศในชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ ร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในไตรมาส 4/2562 ผู้หญิงที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบได้รับผลกระทบมากที่สุด และประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางก็มีช่องว่างทางเพศในชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด

ตำแหน่งงานว่างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศรายได้สูง ณ สิ้นปี 2564 และต้นปี 2565 ส่งผลให้ตลาดแรงงานตึงตัว ด้วยจำนวนตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้หางาน แต่โดยรวมแล้วไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าตลาดแรงงานร้อนแรงเกินไป เนื่องจากมีกลุ่มคนว่างงานและมีแรงงานน้อยเกินไปในหลายประเทศ

นอกจากนี้การหยุดชะงักในภาคการผลิตและการค้าที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤตสงครามในยูเครน การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครัวเรือนที่ยากจนและธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ

ธนาคารโลกเตือนภาวะการเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกล่าสุดระบุว่ามีแนวโน้มที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากภาวะการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบจากการบุกยูเครนของรัสเซีย

เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก ระบุในรายงานฉบับนี้ด้วยว่า ณ วันนี้มีความเสี่ยงจากภาวะการเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง (stagflation) มากขึ้น จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงทศวรรษนี้ เนื่องจากการลงทุนที่อ่อนแอในหลายพื้นที่ทั่วโลก เมื่อรวมกับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายทศวรรษ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน สะท้อนว่ายังคงมีความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกนาน

ธนาคารโลกปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 2.9 ต่ำกว่าระดับคาดการณ์เมื่อเดือน ม.ค. 2565 ที่คาดว่าจะเติบโต ร้อยละ 4.1 พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ที่ระดับ ร้อยละ 3 ในปี 2566 และในปี 2567 ที่ระดับเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทางธนาคารโลกคาดว่าจะเติบโตได้เพียง ร้อยละ 2.5 ปีนี้ ลดลงจากระดับ ร้อยละ 5.7 เมื่อปีก่อน ส่วนเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรคาดว่าจะเติบโตที่ ร้อยละ 2.5 ในปีนี้ เทียบกับระดับการเติบโตที่ ร้อยละ 5.4 ในปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะโตได้ ร้อยละ 4.3 ในปีนี้ ลดลงจากระดับ ร้อยละ 8.1 เมื่อปีที่แล้ว เนื่องการมาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีน ที่กดดันเศรษฐกิจในประเทศในชะลอตัว ด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ ร้อยละ 3.4 ลดลงจากระดับ ร้อยละ 6.6 เมื่อปีก่อน

ที่มา
ILO: Labour market recovery goes into reverse (ILO, 23 May 2022)
World Bank Warns of Global Economic Slowdown, More Inflation (VOA News, 7 June 2022) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท