Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงานไทยหารือ ผอ.ILO กระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทย-ILO

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 (ตามเวลาท้องถิ่นสมาพันธรัฐสวิส) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน Ms.Chihoko Asada – Miyakawa ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เข้าพบ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ ณ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานและแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯมาตั้งแต่ พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) เป็นต้นมา และได้กระชับความสัมพันธ์มาอย่างแน่นแฟ้นยาวนานเรื่อยมา

นายสุชาติกล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอบคุณคุณกายไรเดอร์ (Mr. Guy Ryder) ที่สละเวลาให้เข้าพบในวันนี้ ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯมาตั้งแต่ พ.ศ.2462 ได้เกิดความร่วมมือจากไอแอลโอที่ส่งเสริมและผลักดันโครงการต่างๆ ร่วมกับประเทศไทยมาเป็นอย่างดีโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ที่ประเทศไทยได้ประกาศแผนฉบับแรกเมื่อปี 2562 ซึ่งในปีนี้คณะกรรมการไตรภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานฯได้เห็นชอบให้ขยายเวลาดำเนินการจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย อีกทั้งยังเห็นชอบร่างแก้ไขหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ที่จะเสนอในที่ประชุมใหญ่รับรอง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญ เนื่องจากเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

นายสุชาติกล่าวว่า ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน จึงสนับสนุนแนวคิดที่จะเพิ่มประเด็นความปลอดภัยเข้าเป็นหนึ่งในหลักการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของไอแอลโอ ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 187 เรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการต่อไปเพื่อรองรับประเด็นดังกล่าวด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของไอแอลโอ ทางด้านการสนับสนุนทางวิชาการ ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) จึงได้สนับสนุนเงินทุนให้ไอแอลโอดำเนินโครงการคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อปฏิรูประบบในไทยให้มีความเพียงพอและยั่งยืน มีกิจกรรมขยายผลให้ประเทศในอาเซียนได้รับประโยชน์ด้วย ระยะเวลาโครงการ 4 ปี และจะสิ้นสุดปลายปีหน้า 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงแรงงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้การรักษาพยาบาลและการบริการด้านสุขภาพที่เท่าเทียมกันแก่คนงานทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ เป็นผลให้คนงานสี่ล้านคนสามารถรับวัคซีนจากกระทรวงแรงงานได้ โครงการรักษางานสำหรับ SMEs สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กสี่แสนราย รักษางานได้ 5 ล้านตำแหน่ง และช่วยให้ผู้หางานหกหมื่นคนสามารถหางานใหม่ได้ โครง Factory Sandbox ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มใหม่ที่ผสมผสานแนวคิดในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในขณะที่ยังคงรักษามาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีการตรวจ PCR กักกัน รักษา และฉีดวัคซีนฟรีสำหรับโรงงานที่เข้าร่วม โครงการดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินการผลิตได้ต่อไป โดยสามารถจ้างงานได้มากกว่า 4 แสนตำแหน่ง และถือเป็นมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/6/2565

วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก มุ่งขจัดการใช้แรงงานเด็กรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นจากประเทศไทย

10 มิ.ย. 2565 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดกิจกรรมวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประจำปี 2565 โดยมุ่งมั่นและตั้งใจขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปตามหลัก ILO พร้อมมุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 12 มิ.ย. ของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้เป็น “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour)” ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของไอแอลโอ

รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กมาอย่างต่อเนื่อง และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการคุ้มครองแรงงาน และเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ดำเนินการตามมาตรการและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายทุกรูปแบบ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับไอแอลโอ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ กสร. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งจะเป็นกลไกหลักให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงจะได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการสำรวจภาวะการทำงานของเด็ก เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กของประเทศไทยในอนาคต

นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดจัดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประจำปี 2565 ขึ้นที่ห้องประชุมศูนย์เทคโนโลยี ชั้น 15 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินการที่สำคัญและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของไอแอลโอ ที่ต้องการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

ซึ่งวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลกในปีนี้ไอแอลโอได้กำหนดแนวคิดหลัก คือ “การคุ้มครองทางสังคมเพื่อยุติปัญหาการใช้แรงงานเด็ก (Universal social protection to end child labour)” ที่มุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก โดยการจัดงานในวันนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงนายจ้าง ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการจำนวนกว่า 800 คน กิจกรรมภายในงาน อาทิ รับฟังนโยบายด้านการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน และร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/6/2565

รมว.แรงงาน ร่วมประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ 110 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หารือด้านแรงงาน และกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

9 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายน 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference : ILC) สมัยที่ 110 พร้อมด้วยนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

การประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference : ILC) สมัยที่ 110 เป็นรูปแบบผสมผสาน (hybrid) ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การ ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) โดยในการประชุมในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีวาระเข้าพบ นายกาย ไรเดอร์ (Mr. Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ด้วย

นายสุชาติกล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุม ILC สมัยที่ 110 ในครั้งนี้ว่า การประชุมมีระเบียบวาระประจำ ได้แก่ การรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ และรายงานของประธานคณะประศาสน์การ แผนงาน งบประมาณ และรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ ระเบียบวาระจร ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานการฝึกงาน การอภิปรายหมุนเวียน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การจ้างงาน การอภิปรายทั่วไป งานที่มีคุณค่าและเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ การบรรจุประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดี

ในกรอบหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และการแก้ไขประมวลข้อปฏิบัติของอนุสัญญา MLC

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไตรภาคี กิจกรรม World of Work Summit การรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการ และข้อสรุป รวมถึงการลงคะแนนเสียง โดยกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อนุสัญญา ข้อเสนอแนะ และพิธีสาร ปัจจุบันมีอนุสัญญาทั้งสิ้น 190 ฉบับ พิธีสาร 6 ฉบับ และข้อแนะ 206 ฉบับ

ทั้งนี้ นอกจากการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) สมัยที่ 110 ในครั้งนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ จะได้หารือข้อราชการด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เยี่ยมเยียนพบปะให้กำลังใจคนงานไทยที่ทำงานในสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศอีกด้วย

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด Least Development Countries (LDC) ประสบกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ปัจจุบัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรและมีความร่วมมือกับประเทศอาเซียน รวมถึงภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา โดยเฉพาะด้านการประกันสังคม การพัฒนาทักษะอาชีพ และระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

“ประเทศไทยขอสนับสนุนและแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของนายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้ทุ่มเทในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นของ LDC และบรรจุลงในวาระสำคัญผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เราต้องมีความยืดหยุ่น

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกร่วมก่อตั้ง ILO มีพันธกิจในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม การจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน

ตัวอย่างการดำเนินการที่ดีของประเทศไทยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในสถานที่ทำงาน โดยสามารถกระจายวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น และเข้าถึงแรงงานทุกสัญชาติ เป็นผลให้แรงงานจำนวน 4 ล้านคนได้รับวัคซีนจากกระทรวงแรงงาน

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงมาตรการรักษาการจ้างงานสำหรับ SMEs สามารถที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 4 แสนแห่ง และรักษาการจ้างงานให้กับแรงงาน 5 ล้านคน รวมถึงสร้างงานใหม่อีกกว่า 6 หมื่นตำแหน่ง ที่สำคัญโครงการ Factory Sandbox ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด-19

โดยสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการสาธารณสุข ลูกจ้างในภาคการผลิตได้รับการคุ้มครองการจ้างงานและรายได้ ผ่านการตรวจ ฉีดวัคซีน และการแยกกักตัว โดยโครงการได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการ ป้องกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง และทำให้ประเทศสามารถรักษาการจ้างงานได้มากกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าในการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการฝึกงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการจ้างงานที่มีผลิตภาพและเต็มที่ ดังนั้นประเทศไทยจึงสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานแรงงานใหม่ เรื่องการฝึกงาน

“ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นฟูหลังโควิด-19 โดยเราคาดหวังที่จะสร้างอนาคตที่มีการจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” นายสุชาติกล่าวในท้ายสุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/6/2565

กทม.จ้างราชทัณฑ์ส่งนักโทษลอกท่อ 1,000 คน เริ่ม 1ก.ค. 2565 นี้

7 มิ.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมราชทัณฑ์ เรื่องการดำเนินงานล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ให้กับกรุงเทพมหานคร โดยมี นายอายุฒน์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และสำนักการระบายน้ำ เข้าร่วม ที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง

นายชัชชาติกล่าวว่า การหารือได้ข้อสรุปคือ กทม. จะเริ่มจ้างกรมราชทัณฑ์ลอกท่อระบายน้ำโดยนักโทษชั้นเยี่ยมเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ผ่านกระบวนการระหว่างรัฐ ตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน ปี 2563โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการ e-bidding ซึ่งก่อนหน้านี้ ที่ กทม.ไม่สามารถจ้างกรมราชทัณฑ์ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 อย่างไรก็ตามในการให้นักโทษลอกท่อ จะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ความสมัครใจของนักโทษ รวมถึงค่าแรง อุปกรณ์ในการป้องกัน และสวัสดิการต่างๆ ด้วย

ส่วนในอนาคต กทม.จะจ้างกรมราชทัณฑ์ ในการลอกท่อ 100% หรือไม่ หรือจะจ้างร่วมกับเอกชน นายชัชชาติ กล่าวว่าขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามลำดับความเหมาะสมรวมถึงคุณภาพการทำงาน ก่อนหน้านี้มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า เอกชนลอกท่อไม่สะอาด แต่นักโทษจากกรมราชทัณฑ์สามารถลอกท่อได้อย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำความยาวรวมทั้งหมด กว่า 6,500 กม. อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำกว่า 2,000 กม. และอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตอีกกว่า 4,500 กม. ซึ่งงบฯปี 2565 ตั้งไว้ 15 ล้านบาท จะสามารถดำเนินการได้เพียง 500 กม. ภายในเวลา 4 เดือนเบื้องต้น ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าดำเนินการให้ได้ก่อน 100 กม. ทันที โดยได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเริ่มดำเนินการในจุดนั้นก่อน

ด้านนายอายุตม์กล่าวว่า การนำนักโทษชั้นเยี่ยมออกมาปฏิบัติงานบริการสาธารณะถือเป็นนโยบายที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการมาโดยตลอด และให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยนักโทษที่มาทำงานจะมาตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ซึ่งกรมจะมีอาหาร เครื่องดื่มให้ รวมถึงสวัสดิการในการดูแลหากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน และกำไรที่ได้จากการจ้างงาน 70% จะยกให้กับนักโทษ เพื่อเก็บไว้เป็นทุนภายหลังพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมนักโทษชั้นเยี่ยมสำหรับออกมาขุดลอกท่อ จำนวน 1,000 คนจาก 10 เรือนจำ โดยทุกคนต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส และก่อนเข้าออกเรือนจำต้องตรวจ ATK ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ห้ามพบปะญาติที่มาเยี่ยม หรือออกไปเดินในตลาดพื้นที่สาธารณะ นอกพื้นที่งาน สำหรับการตรวจประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพการลอกท่อ จะมีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือวัดตะกอนหรือปริมาณดินที่เหลืออยู่ในท่อตามเกณฑ์ที่กำหนด

ที่มา: แนวหน้า, 8/6/2565

สคช. สร้างแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) เชื่อมข้อมูลพัฒนากำลังคน และแรงงาน สอดรับความต้องการของเศรษฐกิจสังคมประเทศที่เปลี่ยนไป

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศรวม 13 คณะ และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 ก.ค. 63 ซึ่งมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่สำคัญเพิ่มมาจากเดิม ได้แก่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานกรรมการ และนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน

โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เป็นฝ่ายเลขานุการในการดำเนินงาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรมปฏิรูปประเทศ ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังคนของประเทศ ที่ผ่านมา สคช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมการจัดหางาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ในการเชื่อมข้อมูลกำลังพัฒนากำลังคนและแรงงานในระบบของหน่วยงาน เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) ให้สามารถใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสอดรับความต้องการของเศรษฐกิจสังคมประเทศที่เปลี่ยนไป

นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า EWE เป็นแพลตฟอร์มที่จะให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งกลุ่มคนทำงานในทุกช่วงวัย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยเกษียณ กลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ แรงงานกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการ โดยมีแฟ้มสะสมผลงาน หรือ E-portfolio เป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้สะสมได้ทั้งผลงาน ผลการเรียน การฝึกอบรม ประสบการณ์การทำงาน ระบบนี้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถบริหารจัดการกำลังคนและพยากรณ์แนวทางในการพัฒนาทักษะกำลังคนได้ ส่วนประชากรคนทำงานจะสามารถเก็บ profile ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การ Up-Skill – Re-Skill หรือทักษะใหม่ๆ ตลอดจนการเก็บสะสมการเรียนรู้ ทั้งในและนอกระบบ รวมไปถึงมีกลไก Job Matching ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้แรงงานที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงสถิติเพื่อนำมาวางแผนพัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างถูกต้องนำไปสู่การปฏิรูปแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในแง่มุมการศึกษา E-portfolio จะเป็นคลังข้อมูลเชื่อมระบบคลังหน่วยกิตและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นการทลายกำแพงกั้นระหว่างเส้นทางอาชีพ และเส้นทางการศึกษา นักศึกษาสามารถเข้าถึงความรู้ตามรายวิชาและเก็บสะสมหน่วยกิตได้พร้อมกับเก็บหน่วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตการทำงาน เพื่อนำไปเทียบโอนประสบการณ์ กับหน่วยกิตการเรียนเพื่อรับคุณวุฒิวิชาชีพ หรือคุณวุฒิการศึกษาได้เมื่อพร้อม เป็นการสนธิกำลังกันให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถดำเนินการผ่านระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System) เพื่อเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพกับคุณวุฒิการศึกษา

น.ส.จุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้เกิดจากการสนธิกำลัง เพื่อแก้ปัญหากำลังคนของประเทศด้วย E-Workforce Ecosystem (EWE) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เชื่อมข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านตลาดแรงงานอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน โดยการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบด้วย E-Portfolio จะเปิดโอกาสให้กำลังแรงงานได้ใช้ประโยชน์จากช่องทางเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ารับการพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ทั้งจากผู้ให้บริการพัฒนาทักษะภาครัฐและเอกชน หรือผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาทักษะ แรงงาน การศึกษา และธุรกิจ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในครั้งนี้ จะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ผ่าน ‘ธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System)’ ซึ่งไม่มีวันหมดอายุ ก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในก้าวต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 7/6/2565

เผยโควิดคลี่คลายแรงงานด้านท่องเที่ยวทั้งใน-ตปท.ขาดแคลนหนัก

คณะท่องเที่ยวและการโรงแรม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)จัดกิจกรรม HT Career Day ประจำปีการศึกษา 2564 นำผู้ประกอบการพบนักศึกษาจบใหม่เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานให้ตรงความต้องการ โดยมี ผศ.ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา มอบโอวาทแก่นักศึกษา และ มีผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ.กล่าวเปิดงาน โดยมี ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวและนักศึกษาเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมสนมสุทธิพิทักษ์อนุสรณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ทั้งนี้ บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีรุ่นพี่จากหลากหลายสาขาอาชีพ มาเล่าประสบการณ์ในการทำงานพร้อมแนะแนวทางในการสัมภาษณ์รวมถึง Skill ที่ต้องมีในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการจากหลากหลายธุรกิจ อาทิ Marriott Group, Serenata Hotel&Resort ธุรกิจอาหาร อาทิ Central Restaurants Group,Take & Bake Pizza by Little Red Oven ธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด ,GCGO Travel@Tourevent และธุรกิจอื่นๆ ได้มาร่วมแนะนำตำแหน่งว่างพร้อมรับสมัครงาน

ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม จัดปัจฉิมนิเทศนักศึกษาและ HT Career Day ประจำปีการศึกษา 2564 สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงาน เกิดจากสถานการณ์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมในปัจจุบันเกิดภาวะขาดแรงงานด้านบริการจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานด้านนี้หายไปจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างเริ่มกลับมา ความต้องการแรงงานด้านนี้จึงมีมากขึ้น งานนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการได้มาเจอกับนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ โดยในส่วนของผู้ประกอบการสามารถ Recruit คนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนนักศึกษาเรียนจบแล้วก็มีโอกาสสมัครงานในธุรกิจที่ตนสนใจได้เลย

“งานบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อประเทศมาก เพราะเป็นหน้าด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญอุตสาหกรรมดังกล่าวช่วยพยุงเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ดังนั้นการทำงานด้านบริการ นักท่องเที่ยวจะประทับใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่ของของพนักงานบริการ อยากฝากนักศึกษาเมื่อเรียนจบออกไปแล้ว ให้นำองค์ความรู้ที่เรียนมาไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ต้องมี Soft Skill เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน สุดท้ายนี้อยากฝากอีกว่า ผู้ที่เรียนสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมไม่ตกงานแน่นอน เพราะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานไทยและต่างประเทศ ดังนั้นนักศึกษาต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งความรู้ในสาขาอาชีพรวมถึงความรู้ด้านภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม เพราะเป็นใบเบิกทางให้ได้ทำงานในต่างประเทศด้วย” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว

ด้านนายโชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด กล่าวว่า หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ลำดับแรกของการหาคนเข้าทำงาน นอกจากคนที่มีประสบการณ์แล้ว เด็กจบใหม่ก็มีโอกาสสูงเพราะเข้าใจเทคโนโลยีและมีทักษะด้านนี้มากกว่าคนรุ่นเก่า เมื่อตลาดแรงงานขาดบุคลากรสะสมมา 2-3 ปีจะเกิดการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ส่วนเกณฑ์การพิจารณารับสมัครงานส่วนใหญ่จะมองหาคนที่มี Soft Skill เพราะสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาในการทำงานได้ สำหรับข้อได้เปรียบ คนรุ่นใหม่จะได้เปรียบคนรุ่นเก่าเพราะมีทักษะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่มากกว่า จึงอยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ ก่อนเริ่มเลือกเส้นทางสายอาชีพ ชีวิตการเดินทางต่อจากนี้จะไม่ใช่เส้นตรง แต่จะเป็นทางเดินที่มีความคดเคี้ยวและมีทางแยกมากมายเพราะฉะนั้นการเลือกให้ถูกต้อง จึงควรมีการวางแผนและการมองไปข้างหน้าสำคัญมาก

ขณะที่ นายพชรธรณ์ นิยมเธียรสิน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล เครือโรงแรมแมริออท กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแล Project นักศึกษาฝึกงานรวมถึง Recruit คนเข้าทำงานให้กับบริษัททั้งหมดในเครือ โดยมุ่งเน้นสรรหาพนักงานจากนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพราะขณะนี้เทรนด์การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว จึงทำให้ความต้องการแรงงานด้านท่องเที่ยวและการโรงแรมมีมากขึ้น สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ มาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กจบใหม่ปรับวิธีคิดและมองหาการทำธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ ขายของออนไลน์ เทรดบิทคอยน์ เป็นต้น ส่งผลให้งานบริการสูญเสียบุคลากรไปมาก ในช่วงที่ทำการดึงพนักงานกลับมายังมีข้อจำกัดในเรื่องของสุขลักษณะหรือความสะอาดที่จะมีมากขึ้น เพราะเป็นภารกิจที่สร้างความมั่นใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จึงเกิด Project เตรียมความพร้อมให้พนักงานผ่านการฝึกงาน ซึ่งขณะนี้ได้ทำ MOU กับหลายมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพมีความพร้อมในการทำงานและยังได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

“ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU มองว่า มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันลำดับแรกๆ ที่สอนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานอย่างเช่น Opera (ระบบจองห้องพัก) และ Amadeus (ระบบออกบัตรโดยสารเครื่องบิน) ซึ่งปัจจุบันยังนำมาใช้ทำงานจริง สมัยนั้นเป็นยุคที่รุ่งเรืองมากของสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ได้รับความนิยมจนถึงขั้นปรับสถานะจากภาควิชามาตั้งเป็นคณะท่องเที่ยวและการโรงแรมจนถึงปัจจุบัน เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีการพัฒนาตลอดเวลาและให้ความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม จึงอยากฝากน้อง ๆ ที่เรียนสาขานี้หลังเรียนจบให้เข้าไปลองทำงานหลายๆ อย่าง อยากเรียนรู้สิ่งไหน ต้องไปอยู่กับสิ่งนั้น มันจะทำให้เราค้นหาตัวเองได้เร็วที่สุด ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของน้องจบใหม่”นายพชรธรณ์ กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 6/6/2565

พัฒนาศักยภาพช่างเครื่องช่วยคนพิการ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้เพียงพอ สามารถบริการคนพิการได้อย่างทั่วถึง

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตร ช่างเครื่องช่วยคนพิการ 700 ชั่วโมง (5 เดือน) โดยฝึกในมูลนิธิขาเทียมฯ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 4 เดือนให้มีความชำนาญ มีทักษะฝีมือ สามารถจัดทำขาเทียมให้บริการแก่ผู้พิการขาขาดได้ หลังจากนั้นได้ออกหน่วยฝึกปฏิบัติจริง (ภาคสนาม) ร่วมกับหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2565 ณ อาคารเอนกประสงค์ เทศบาลเมืองชัยภูมิ โดยหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่สามารถผลิตขาเทียมพระราชทานได้ทั้งสิ้น ได้จำนวน 136 ขา เพื่อส่งมอบให้คนพิการขาขาด ในวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ณ โรงพยาบาลชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พัฒนาศักยภาพช่างเครื่องช่วยคนพิการ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้เพียงพอ สามารถบริการคนพิการได้อย่างทั่วถึง พัฒนาทักษะฝีมือให้บุคลากรในสาขาดังกล่าวและสามารถส่งช่างทำขาเทียมที่มีทักษะเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนต่อไป ตามวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ (ช่างทำขาเทียม) มุ่งส่งเสริมคนพิการขาขาดและคนปกติ ให้เป็นช่างเครื่องช่วยคนพิการ ให้บริการขาเทียมแก่คนพิการขาขาด ให้ได้ขาเทียมที่ดีและมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ จำนวน 700 ชั่วโมง (5 เดือน) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 5 รุ่น 108 คน สำหรับรุ่นที่ 6 ฝึกระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ - 1 กรกฎาคม 2565 จำนวน 5 คน หลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียม จะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ทั้งนี้จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 6/6/2565

ก.แรงงาน ปรับมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าว หลัง ศบค.เปิดประเทศเต็มรูปแบบ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงแนวทางการปรับมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และการปรับลดมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 ตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนี้

1.การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU)

มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

1) ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร (Name List)

2) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19

3) กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ

4) นายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า

สำหรับมาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT-PCR หรือ ATK Professional Use ใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง สามารถตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากไม่พบเป็นโรคต้องห้าม 6 โรค และไม่พบเชื้อโควิด-19 แรงงาน 3 สัญชาติจะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับฯ รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย กรณีพบเชื้อโควิด-19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป

กรณีแรงงานข้ามชาติที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จากนั้นดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส

ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรณีที่ตรวจพบเชื้อให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

2.การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามมาตรา 64

มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

1) นายจ้างยื่นแบบแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (ม.64) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด

2) แสดงหนังสือผ่านแดน (Border Pass)

3) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19

4) กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 หรือหลักประกันอื่น

แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.ระนอง จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ เมื่อเดินทางข้ามแดนเข้ามาจะผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ซักประวัติสุขภาพแรงงานต่างด้าว โดยการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ กรณีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT-PCR หรือ ATK Professional Use ใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง ให้ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) กรณีฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตรวจโรคห้าม 6 โรค กรณีไม่พบเชื้อโควิด-19 และไม่พบโรคห้าม 6 โรค เจ้าหน้าที่จะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 30 วันต่อครั้ง และออกใบอนุญาตทำงาน 3 เดือน และสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ กรณีพบเชื้อโควิด-19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานตาม MoU (ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ) และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบไปกลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา 64) เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ตามแนวทางของศบค. แต่ก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าว และหลังเดินทางเข้ามาจะต้องตรวจสุขภาพ 6 โรคตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและโรคต้องห้าม รวมทั้งตรวจ ATK หากไม่พบเชื้อโควิด-19 ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรับใบอนุญาตทำงาน จากนั้นนายจ้างสามารถรับเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย หากพบเชื้อโควิด-19 กรณีเป็นกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ กรณีสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาล ในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันไม่ได้มีความยุ่งยาก เช่นช่วงก่อนผ่อนคลายมาตรการแล้ว การปรับมาตรการของศบค.ในครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุดมีการยื่นดีมานต์ขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวตามระบบ MOU แล้ว 236,012 คน โดยแบ่งเป็นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมา 165,376 คน กัมพูชา 52,428 คน และลาว 18,208 คน ซึ่งแรงงานทั้ง 3 สัญชาติมีการทยอยเข้ามาทำงานตาม MOU แล้วอย่างต่อเนื่องกว่า 1 หมื่นคน ในส่วนแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 64 มีการเดินทางเข้ามาทำงานและขออนุญาตทำงานแล้วกว่า 2 หมื่นราย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 4/6/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net