Skip to main content
sharethis

ปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมเวทีสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น รณรงค์ "ปลดล็อกท้องถิ่น" ยกปัญหา "ขนส่งมวลชนสาธารณะ" ที่ไม่มีในจังหวัดอื่น เป็นเพราะไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง ชี้ 3 ปมสำคัญพลิกโฉมท้องถิ่น สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

 

10 มิ.ย. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมเวทีสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น รณรงค์ "ปลดล็อกท้องถิ่น" ยกปัญหา "ขนส่งมวลชนสาธารณะ" ณ ณ ห้องประดิษฐ์มนูธรรม 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปิยบุตร กล่าวว่า เดินทางมาหลายจังหวัด ไม่ว่าที่ไหนปัญหาหนึ่งที่พบคือ ไม่มีขนส่งมวลชนสาธารณะ ประเทศไทยที่มีความเด่นดังเรื่องท่องเที่ยว มีศิลปวัฒนธรรม ดึงดูดให้คนมาดู แต่ทำไมเวลาไปท่องเที่ยวกลับพบว่า ระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนแต่ละจังหวัดพึงมีกลับไม่มี และทำไมกรุงเทพมหานครแห่งเดียวถึงมีขนส่งสาธารณะได้ ภาคเอกชนขอนแก่นมีความคิดผลักดันเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ยังไปไม่ถึงไหน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ

แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คิดจะทำเรื่องขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะขนส่งมวลชนหนึ่งเส้นไม่สามารถหาหน่วยงานรับผิดชอบได้ด้วยหน่วยเดียว ต้องไปคุยกับสำนักโยธาธิการผังเมืองจังหวัด ทางหลวงชนบท กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ฯลฯ จนทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ปัญหาต่อมาก็คือไม่มีงบประมาณ เพราะขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบจำนวนมาก อย่างกรุงเทพมหานครเป็น อปท. รูปแบบหนึ่ง รถไฟฟ้าหลายสายที่เห็น แท้จริงแล้วกรุงเทพมหานครมีอำนาจดูแลอยู่เพียงสายเดียว คือ BTS ที่เหลือเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม และเงินที่ใช้สร้างสายอื่นๆ ก็เป็นงบประมาณส่วนกลาง ซึ่งแบบนี้ถามว่าเป็นธรรมต่อคนต่างจังหวัดที่เสียภาษีเช่นกันหรือไม่ ทำไมต้องสร้างที่ กรุงเทพมหานครแล้วที่อื่นๆ ทำไมคนต่างจังหวัดถึงต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทางเท่านั้น ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการไม่กระจายอำนาจ เป็นเหตุผลที่ต้องทำรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

ปิยบุตร กล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจจะพบว่า มีปัญหาอยู่ใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่

หนึ่ง ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะที่แท้จริง เริ่มตั้งแต่โครงสร้างการปกครองที่ผิดหลักสากล โดยให้กระทรวง กรม เป็นนิติบุคคล แทนที่จะให้ราชการส่วนกลางทั้งหมดเป็นนิติบุคคล แล้วกระทรวง กรม เป็นเพียงไส้ในเท่านั้น เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้มีปัญหาเรื่องความเป็นเจ้าของ เวลาจะย้ายโอนอะไรไปสู่ท้องถิ่นก็ติดขัดไปหมด และแต่ละหน่วยงานต่างถือกฎหมายคนละฉบับ จึงทำให้ท้องถิ่นติดขัดไปหมด ดังนั้น จึงควรปรับวิธีคิดใหม่ จากเดิมที่บอกว่าส่วนกลางทำได้ทุกเรื่อง เปลี่ยนให้ท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่องในพื้นที่ตัวเอง และให้อำนาจส่วนกลางเพียงบางเรื่อง เช่น การเงินการคลัง ความมั่นคง การต่างประเทศ ฯลฯ หรือเว้นแต่ถ้าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ แล้วร้องขอมาให้ส่วนกลางช่วย

บริการสาธารณะท้องถิ่นต้องเป็นของท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนกลางและภูมิภาคมีหน้าที่เข้ามาเสริม เมื่อท้องถิ่นทำไม่ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นต้องตั้งอยู่บนหลักการกำกับดูแล ไม่ใช่ไปสั่งการหรือระงับยับยั้งโครงการที่ผู้บริหารท้องถิ่นคิดจัดทำขึ้น ถ้าเห็นว่าโครงการใดไม่ชอบก็ต้องไปฟ้องศาลปกครอง กรณีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการที่ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น

สอง ท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะ เพราะทุกวันนี้ท้องถิ่นแต่ละแห่งจัดเก็บได้แต่ภาษีเล็กๆ เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ส่วนภาษีใหญ่ๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าต้องเข้าส่วนกลางก่อนแล้วค่อยแบ่งกลับมาให้ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่การบริโภคเกิดขึ้นที่ไหน ภาษีก็ควรจะใช้ที่นั่น

นอกจากนี้สัดส่วนการจัดสรรรายได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 65 ต่อ 35 ซึ่งควรขยับสัดส่วนใหม่เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 รวมทั้งเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีโอกาสหารายได้ด้วยวิธีการอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตร การกู้เงินมาลงทุน หรืออาจจะมีการออกสลากในจังหวัดตัวเอง แล้วเอารายได้ส่วนนี้มาสร้างสวัสดิการ เป็นบำนาญให้คนในท้องถิ่นได้ รูปแบบนี้จะทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่จะมาจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อคนในท้องถิ่นได้

สาม การตรวจสอบคอร์รัปชั่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น หลายคนกังวลว่ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น ทั้งที่ส่วนกลางกับภูมิภาคมีมูลค่าความเสียหายจากการทุจริตสูงกว่ามาก ส่วนท้องถิ่นแม้มีจำนวนเยอะกว่า แต่มูลค่าไม่มากเท่า ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นความผิดทางเอกสาร ทางระเบียบด้วยว่า อปท ใช้งบทำในสิ่งที่ตนไม่มีอำนาจทำ

ดังนั้น คำว่า กระจายอำนาจเท่ากับกระจายการโกง จึงฟังไม่ขึ้น และตรงกันข้ามการกระจายอำนาจจะช่วยทำให้การคอร์รัปชั่นลดลงได้ เพราะอำนาจ งบประมาณ ที่ไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดประชาชน และประชาชนจะร่วมตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

 

"การจะแก้คอร์รัปชั่นไม่ใช่การไปสร้างองค์กรตรวจสอบเยอะๆ แต่ต้องเติมเรื่องการมีส่วนร่วมประชาชนเข้าไป ซึ่งเรามีข้อเสนอเรื่องการเปิดเผยข้อมูล สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การประชุมสภาท้องถิ่น มติในการประชุมต่างๆ ต้องเปิดเผย ประชาชนต้องรับรู้ นอกจากนี้ ต้องกระตุ้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเรามีข้อเสนอเรื่องสภาพลเมืองท้องถิ่น ที่จะถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลย์และตรวจสอบ ผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น โดยเป็นสภาพลเมืองท้องถิ่นนี้ ทุกคนมีมีโอกาสได้เข้ามาทำหน้าที่ เช่น ให้พลเมืองในท้องถิ่นมาลงทะเบียนไว้ เสร็จแล้วจับสลากเวียนกันเป็นคนละปี สภาแห่งนี้ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ตามดูการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นทุกวัน เรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความเป็นพวกเดียวกันของสภาท้องถิ่นกับผู้บริหารท้องถิ่นได้ และนอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของท้องถิ่น เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและกระตือรือร้นด้วย" ปิยบุตร กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net