Skip to main content
sharethis
  • มติ ครม.ไฟเขียว เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA วางกรอบ 16 ประเด็น 
  • วงถกก่อนมติ ‘ตัวแทน FTA Watch’ ย้ำประเด็นสำคัญ ‘ทรัพย์สินทางปัญญา-การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน-การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่’ ย้ำ ‘win-win’ ต้องมองที่การถ่ายทอดเทคโนโลยี ระบุปัญหากฎหมายที่ปกป้องทุนในประเทศแบบสุดขั้ว รธน. 60 ตัดการมีส่วนร่วม แถมเยียวยาเหลือเท่าที่จำเป็น ขณะที่ รธน.50 กรอบการเจรจาต้องผ่านสภา อัด ‘รัฐประหาร’ ต้นตอทำประเทศเสียโอกาสกว่า 14 ปี ชนชั้นนำไทยต้องไม่สนับสนุน
  • ภาคเอกชนหวั่นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ย้ำไทยต้องเตรียมความพร้อมแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ มองโอกาส FDI เพิ่มศักยภาพ  

ธงสมาชิกประเทศ EFTA ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ (ที่มาเพจ European Free Trade Association - EFTA)

ตามรายงานของเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างกัน โดย รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาในวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  EFTA ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย กระทรวงพาณิชย์จึงได้หารือร่วมกับ EFTA เพื่อจัดทำร่างกรอบการเจรจาขึ้น

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุด้วยว่า หากไทยได้เข้าร่วม EFTA แล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งออกสินค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ EFTA ได้มากขึ้น เช่น สินค้าเกษตร (ข้าว ข้าวโพดหวาน เนื้อสุกร) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และมีสินค้าที่จะเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี พลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.179 ต่อปี ได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,269 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบกับบางภาคส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้และผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับมาตรฐานกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น  ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการดูแลและเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ ส่งผลให้ไทยมีการค้ากับประเทศที่มี FTA ครอบคลุม ร้อยละ 64 ของการค้าทั้งหมดของประเทศ

วงถกก่อนมติ ครม. วิเคราะห์ประโยชน์การเตรียมตัว และการแสวงประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย

ภาพการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ ‘FTA ไทย – EFTA : ประโยชน์การเตรียมตัว และการแสวงประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย’ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)

ทั้งนี้ก่อน ครม.มีมติดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพิ่งจัดสัมมนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “FTA ไทย – EFTA : ประโยชน์การเตรียมตัว และการแสวงประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย” เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย นฤพนธ์ เตชะวัฒนวรรณา ประธานหอการค้าสวิส-ไทย ศุภฤกษ์ ชมชาญ ผู้แทนหอการค้านอร์เวย์-ไทย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตความตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และ สมควร ศรีวิทิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดมอนด์เฟรช โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินรายการโดย วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการเศรษฐกิจ Standard Wealth

FTA Watch ย้ำประเด็นสำคัญ ‘ทรัพย์สินทางปัญญา-การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน-การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่’

ในวงเสวนาดังกล่าว กรรณิการ์ ตัวแทน FTA Watch ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ควรจะนำมาพิจารณาคือ ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และประเด็นการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน หรือ ISDS ซึ่งหากไทยเดินหน้าเจรจากับ EFTA ก็อาจจะทำให้เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่า จะเกิดผลกระทบที่มากกว่าการขยายอายุสิทธิบัตร และจะส่งผลต่อราคายาที่จะเพิ่มมากขึ้น และระบบหลักประกันสุขภาพก็จะกระทบมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งหากเราเจรจาต่อรองราคายาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องซื้อสำหรับคน 48 ล้านคน ก็จะสร้างความเสี่ยงที่ไทยอาจจะถูกฟ้องในกลไก ISDS ได้

อีกประเด็นที่สำคัญและควรจะนำมาพิจารณา ตัวแทน FTA Watch ระบุว่า คือเรื่องของ UPOV1991 (หรือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่เป็นการตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์พืช) เพราะทั้ง 4 ประเทศใน EFTA อย่าง ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ นั้นไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติ ในเชิงของฐานทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้นเขาจึงเป็นสมาชิก UPOV1991 ซึ่งหากไทยเดินหน้าเจรจา ตนมองว่า EFTA อาจจะบังคับให้ไทยเข้า UPOV1991 หรือไม่ ซึ่งถ้าเข้า การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในเรื่องของการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกในฤดูกาลต่อไปด้วย ดังนั้น เราจึงควรคิดให้มากขึ้นในประเด็นเหล่านี้

ภาคเอกชนหวั่นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

สมควร ศรีวิทิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดมอนด์เฟรช โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวออร์แกนิค กล่าวว่า เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ในแง่ของการที่จะต้องเข้าไปทำ FTA และตนก็เห็นด้วยว่าการทำ FTA นั้นน่าจะเป็นประโยชน์เพราะโลกของเราเปลี่ยนไปเยอะมาก มิเช่นนั้นเราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อีกทั้งประเด็นที่ตนอยากจะให้คุยเลยก็คือ เรื่องภาคเกษตรกรรม เพราะน่าจะเป็นภาคที่โดนผลกระทบมากที่สุด อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยเรา เป็นอุตสาหกรรมที่เราใช้ศัพท์ว่า SME ซึ่งเป็นขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพราะฉะนั้น พวกเขาต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวอย่างสูงมาก ผู้ที่ไปเจรจาจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วย ดังนั้น จุดที่ต้องคุยกันในรายละเอียดก็คือ ทุกประเด็นที่คุยจะต้องคุยกันบนพื้นฐานของความสมดุล คือ “win-win” ทั้งสองฝ่าย เขาได้ เราก็ต้องได้ด้วย

ประเด็นต่อมาที่ตนอยากให้คุยกันมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของ มาตรฐาน ซึ่งหากสินค้าของเกษตรกรไทยเรายังไม่ได้มาตรฐาน การส่งออกไปต่างประเทศก็จะค่อนข้างลำบาก เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีวิธีการจัดการแก้ไขปัญหานี้ด้วย และอีกข้อกังวลหนึ่งก็คือ การคุ้มครองทางพันธุ์พืช ซึ่งหากเกิดการคุ้มครองทางพันธุ์พืช แล้วเราไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชเองได้ ก็จะเป็นปัญหาอันใหญ่ยิ่งของภาคเกษตรกรของเรา

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดมอนด์เฟรชฯ มองว่า อีกประเด็นที่น่ากังวลใจมากที่สุดก็คือ เรื่อง Non-Tariff Barriers : NTBs หรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งแม้จะมีการทำ FTA ที่ทำให้การภาษีเป็น 0 แต่คู่ค้าของเราก็จะใช้มาตรการ NTBs เหล่านี้ในการกีดกันเรา เช่นในแง่ของ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส ซึ่งโอกาสในปรับตัวของเราก็จะยิ่งยากขึ้น ดังนั้น แม้ตนจะเห็นด้วยกับการทำ FTA แต่เราก็ต้องมีมุมมองที่ชัดเจน และไม่เสียสมดุลให้กับคู่เจรจาของเรา

FDI เพิ่มศักยภาพ ย้ำ ‘win-win’ ต้องมองที่การถ่ายทอดเทคโนโลยี

นฤพนธ์ เตชะวัฒนวรรณา ประธานหอการค้าสวิส-ไทย มองว่า การจะได้ Foreign Direct Investment: FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะทำให้ประเทศไทยได้ศักยภาพมากขึ้นอยู่แล้ว เพราะถ้าหากลงทุนในประเทศไทยก็ค้าขายทั่วโลกได้ และภาครัฐก็จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ด้วย เพราะใครที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราหรือเข้ามาค้าขาย ก็ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และถึงแม้จะบอกว่าบริษัทต่างชาติจะได้ประโยชน์จริง ๆ แต่อย่าลืมว่าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถจะปลูกพืชพันธุ์ได้เหมือนกับบ้านเรา ซึ่งการที่เขาเข้ามาลงทุนแล้วเกิดนวัตกรรมอะไรต่างๆ ก็จะทำให้เราสามารถจะมีข้อมูลต่างๆ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทยเรา ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการและเข้าใจกติการอะไรต่างๆ ในการค้าขายระดับโลกได้                                                                     

ด้าน กรรณิการ์ มองว่า การที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนแล้วอยากจะให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้มากขึ้น ดูจะยังไม่มีเหตุผลมากเพียงพอ เพราะถ้าหากดูในช่วงโควิดก็จะเห็นว่าหลายหน่วยงานของเรา ผู้ประกอบการ หรือภาควิชาการต่างๆ ก็ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบ้านเราเท่าที่เป็นอยู่ แล้วนักลงทุนเขาก็ยังมาลงทุนด้วย ฉะนั้นแสดงว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้ สิ่งที่สำคัญเลยคือ ถ้าจะให้ win-win ทั้งสองฝ่าย การเจรจาควรจะให้เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) เนื่องจากประเทศในกลุ่ม EFTA เป็นประเทศที่มีนวัตกรรม หากคุณมาใช้ทรัพยากรในบ้านเรา คุณมาใช้คนของเรา คุณได้ตลาดเรา คุณก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ซึ่งตนมองว่าควรจะระบุลงไปในข้อตกลงเลยว่าต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะส่วนใหญ่ในฉบับเก่า ๆ จะเห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยียังอยู่แค่ในระดับความร่วมมือเท่านั้น

กรรณิการ์กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 4 ประเทศใน EFTA ไม่มีทรัพยากรชีวภาพเหมือนบ้านเรา ซึ่งตรงนี้จะเป็นฐานสำคัญในการสร้างยารักษาโรค เครื่องสำอาง อาหารเสริม ฯลฯ ฉะนั้น ถ้าจะให้ “win-win” เนี่ย คุณก็ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ และแจ้งแหล่งที่มา ซึ่งถ้าเราไปยอมเข้า UPOV1991 อันนี้เขาไม่ให้แจ้งแหล่งที่มา อีกอย่างคือ การที่เขามาทำการเจรจากับเราแล้วพ่วงเรื่อง ISDS หรือการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ก็จะทำให้นักลงทุนสามารถฟ้องรัฐไทยได้ถ้ารัฐไทยออกนโยบายสาธารณะที่กระทบต่อนักลงทุน ฉะนั้นการเดินหน้าเจรจากับ EFTA ก็อาจจะต้องคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้น หรือการเจรจาจะต้องขอไม่คุยเรื่อง ISDS เลย หรือถ้าจะให้มี ISDS ในรูปแบบที่นักลงทุนเอารัฐฟ้องได้ ก็ต้องให้ประชาชนสามารถฟ้องนักลงทุนที่มาทำละเมิดในประเทศไทย โดยต้องสามารถฟ้องได้ทั้งในประเทศไทย และในประเทศต้นทางการลงทุนด้วย แบบนี้ถึงจะ win-win ทั้งสองฝ่าย

ด้านศุภฤกษ์ ชมชาญ ผู้แทนหอการค้านอร์เวย์-ไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยเราอยู่ใน manufacturing economy based หรือ เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน ในการเจรจา FTA จึงเป็นประโยชน์ในเรื่องของการลงทุน (investment) อย่างหนึ่ง เพราะว่าเมื่อนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิต ก็จะเป็นฐานรองรับแรงงานในภูมิภาคเรา และสร้างโอกาสให้กับประเทศเราด้วย แต่เวลามองไปถึงภาคบริการ เขาจะติดประเด็นตรงนี้ เพราะกฎหมายบ้านเราไม่รองรับให้ต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจภาคบริการได้โดยตรง ดังนั้นตนจึงมองว่า โอกาสสำหรับประเทศไทย ในการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น ก็คือการขยายเศรษฐกิจภาคบริการให้เทียบเท่ากับภาคการผลิต และเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคบริการได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ win-win กันทั้ง 2ฝ่าย

ขณะเดียวกัน สมควร กล่าวว่า หลักของ win-win คือการเจรจาที่ต่างตนต่างไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน และมีความจริงใจในแง่ของการเจรจา ตนเชื่อว่าไม่มีใครโง่หรือฉลาดกว่าใคร แล้วโดยเฉพาะเลยว่าคู่เจรจาของเรา ก็ต้องสนใจเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเขาสนใจเรา และเราก็สนใจเขา ต่างคนต่างต้องมีจุดยืนที่สมดุลซึ่งกันและกัน เช่น เขาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง เราเป็นประเทศที่มีเกษตรกรรม หากคุณมาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศเรา คุณมาใช้วัตถุดิบเรา คุณก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา มันก็จะเป็นการ win-win ซึ่งกันและกัน

ย้ำไทยต้องเตรียมความพร้อมแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ

ประธานหอการค้าสวิส-ไทย  อธิบายว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดใจ และพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะโลกในปัจจุบันมีการแข่งขันกันตลอดเวลา เกิด know-how หรือนวัตกรรมอะไรต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น เราจะต้องพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาทำให้ productivity (ผลิตภาพ) ของคนในบ้านเราพัฒนาสูงมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะไปแข่งขันในระดับโลก การที่จะบอกว่าเราต้องอยู่บนพื้นฐานเดิมและต่อรองให้ได้มากที่สุดจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว

ศุภฤกษ์ กล่าวว่า เราจะต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งภาครัฐและเอกชน ในส่วนภาคเอกชน ผู้ประกอบการไทยจะต้องรู้พฤติกรรมของตลาดในประเทศคู่ค้าว่าเป็นยังไง และจะต้องดูด้วยว่าสินค้าของเรามีความพร้อมที่จะส่งออกหรือไม่ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (Sustainability) ในส่วนของภาครัฐ รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยอยู่แล้วในการที่จะ reform หรือเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นทำได้ยากมาก ดังนั้น รัฐไทยจะต้องเตรียมความพร้อมที่จะที่ปรับตัวในเรื่องนี้ให้ดี    

ผู้แทนหอการค้านอร์เวย์-ไทย กล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่งที่น่ากังวลคือ การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่เป็น SME ซึ่งภาครัฐควรจะคำนึงถึงว่าจะมีนโยบายอย่างไรในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจา FTA ครั้งนี้ ดังนั้น ตนจึงมองว่า เราควรมองทั้งภาครัฐและภาคเอกชนว่าเราพร้อมแค่ไหนในการเจรจา และเรามีเครื่องมือเยอะแค่ไหนในการจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA ครั้งนี้

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดมอนด์เฟรชฯ กล่าวว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในแง่ของการปรับตัว ภาคธุรกิจขนาดใหญ่น่าจะสะดวกสบาย ส่วนภาคธุรกิจที่เป็น SME เนี่ย ตนเชื่อว่าเขาปรับตัวยาก และพอพวกเขาปรับตัวยากแล้ว อันดับแรกสุดเลยก็คือ ต้องเปิดใจที่จะยอมรับ และพร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุง เตรียมความพร้อมของตนเอง และภาครัฐก็ต้องเข้ามาดูแลให้มากกว่านี้ด้วย  

ด้านกรรณิการ์ ย้ำว่า จะต้องมีการจัดการกระบวนการหรือกฎระเบียบต่างๆ ของประเทศไทยที่ยังล้าหลังและเป็นภาระกับการลงทุนให้หมดไป เพื่อจะทำให้ไทยสามารถสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจได้

ปัญหากฎหมายที่ปกป้องทุนในประเทศแบบสุดขั้ว รธน. 60 ตัดการมีส่วนร่วม แถมเยียวยาเหลือเท่าที่จำเป็น ขณะที่ รธน.50 กรอบการเจรจาต้องผ่านสภา 

ตัวแทน FTA Watch  กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เรากำลังเจอกับอภิมหาดีล dtac ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องของการเปิดเสรีโทรคมนาคม ซึ่งจากการติดตามการเจรจาหลายกรอบตั้งแต่ยังไม่มีการรัฐประหาร ตนพบว่า สิ่งที่คู่เจรจาต้องการคือเรื่องของการเปิดเสรีโทรคมนาคม และจริงๆ แล้วบ้านเราก็ต้องการผู้ประกอบการระดับโลกมาร่วมลงทุนมาก แต่ว่าเรามีกฎหมายที่ปกป้องทุนในประเทศแบบสุดขั้ว อย่างในกรณีของโทรคมนาคม กฎหมายก็ระบุว่าคุณต้องเป็นคนสัญชาติไทย ฉะนั้น ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้ควรต้องเปิดเสรี และจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะถ้าปล่อยให้เจ้าใหญ่รวมกันแล้วผูกขาดเกิด 50% ผู้บริโภคก็จะไม่มีทางเลือกและก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาเป็นจำนวนมาก

อีกประเด็นคือเรื่องของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ตัดกระบวนการการมีส่วนร่วมหายไปหลายเรื่อง เช่นในเรื่องของกรอบการเจรจาที่จะเหลือแค่เข้า ครม. เท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการตรวจสอบในข้อตกลงของกรอบเจรจา ฉะนั้นมันจึงมีความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นเพราะมีฝ่ายนิติบัญญัติมาช่วยตรวจสอบ แต่ว่าถ้าในส่วนของ ครม. เพียงอย่างเดียว เขาจะทำหรือไม่เราก็ไม่แน่ใจ

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตความตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) / แฟ้มภาพ

ผู้แทนกลุ่ม FTA Watch กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่น่าจะต้องทำก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ในเรื่องของการเยียวยาผลกระทบ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2550 จะบอกถึงเรื่องของผลกระทบ และการเยียวยาจะต้องได้สมดุลระหว่างผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ และผู้ที่เสียผลประโยชน์ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะเหลือแค่เยียวยาเท่าที่จำเป็น ซึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยหรือ SME นั้นได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากแต่กลับได้รับการเยียวยาเท่าที่จำเป็น ซึ่งตนมองว่า สิ่งนี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข การเดินหน้าเจรจาถึงจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น ไม่ใช่มาบอกว่าภาคประชาสังคมเอาแต่ค้าน เพราะที่ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ต้องออกมาค้านก็เพราะเห็นถึงความไม่น่าไว้วางใจในจุดนี้     

‘รัฐประหาร’ ต้นตอทำประเทศเสียโอกาสกว่า 14 ปี ชนชั้นนำไทยต้องไม่สนับสนุน

ช่วงหนึ่งของการเสวนา กรรณิการ์ ย้ำประเทศไทยเคยมีการเจรจากับ EFTA มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2548-2549 และครั้งที่สองในปี 2556-2557 แต่ความพยายามทั้ง 2 ครั้งก็ต้องหยุดชะงักไป อันเนื่องมาจากการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ฉะนั้น จากการประชุมครม. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ที่ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีมุมมองเห็นต่างเรื่อง CPTPP หรือข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระหว่างครม. กำลังพิจารณาร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA) 

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ รานงานว่า ดอน รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “กลัวไทยจะตกขบวน  CPTPP โดยจริง ๆ แล้ว การเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงดังกล่าว ไทยก็แค่เข้าไปคุยก่อนก็ได้ ไม่ต้องเข้าไปร่วมข้อตกลง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมท่าทีของไทยจึงไม่ยอมไปคุย จะเข้าหรือไม่เข้าก็ค่อยมาว่ากันทีหลัง และกลัวจะเหมือน FTA ไทย-อียู ที่ทำมานานถึง 14 ปี ก็ยังไม่จบ และอาจทำให้ไทยเสียโอกาสไป” ขณะที่จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อธิบายข้อสงสัยของรองนายกฯ ดอน ว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงแสดงความเป็นห่วงในเรื่องข้อตกลงนี้ เพราะเมื่อเข้าไปโดยไม่พร้อมก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาก และปัจจุบันรัฐบาลก็มีหลายข้อตกลงยังเดินหน้าได้ 

กรรณิการ์ จึงย้ำให้เห็นว่า คนที่ทำให้เราเสียโอกาสจริง ๆ แล้วก็คือ “การรัฐประหาร” เพราะการรัฐประหารทำให้ประเทศในชาติตะวันตกไม่อยากจะเจรจาการค้ากับประเทศไทย ฉะนั้น ตนจึงไม่อยากจะให้ไปพูดว่าเป็นเพราะการคัดค้านของภาคประชาสังคมหรือภาควิชาการ ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ได้เดินหน้าเรื่องการค้า

กรรณิการ์ ย้ำตอนท้ายด้วยว่า เราอยากจะเห็นกรอบในการเจรจาที่ดี เช่น ไม่ส่งกระทบผลในเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะต้องรักษาพื้นที่นโยบายสาธารณะของรัฐในการที่จะออกนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองทรัพยากร คือต้องยกเว้นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ที่สำคัญเลยคือ การลงทุนเปิดเสรีด้านภาคบริการเนี่ยเราเห็นด้วยในหลายเรื่อง แต่ถ้าเปิดเสรีในสิ่งที่เป็นการลงทุนในทรัพยกรธรรมชาติ ก็อยากจะให้มีตัวป้องกันอะไรไว้หน่อยเพราะหลายเรื่องมันกระทบกับคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งนี้ กระบวนการต่าง ๆ ก็อยากจะให้มีการมีส่วนร่วมอย่างจริง ๆ จัง ๆ เพราะอย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถปกป้องประชาชนได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น ถ้าจะสร้างความไว้วางใจกันมันก็ต้องอาศัยกระบวนการเจรจาหารือกัน และที่สำคัญที่สุดชนชั้นนำของประเทศจะต้องไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสต่าง ๆ เพราะไม่อย่างนั้นคุณก็จะทำให้ประเทศเสียโอกาสและถอยหลังเหมือนที่ผ่านมา 10 กว่าปีนี้

16 ประเด็นที่ ครม.ไฟเขียว เข้าร่วมเจรจา EFTA 

สำหรับ สาระสำคัญที่ ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับ  EFTA พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างกัน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้นรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุมี 16 ประเด็นดังนี้

1) การค้าสินค้า มุ่งเน้นการลด/ยกเลิกอุปสรรคด้านภาษี

2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความโปร่งใส 

3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 

4) มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กำหนดมาตรการเพื่อปกป้องและเยียวยาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จัดตั้งกลไกการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือ

6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาและอุปสรรค

7) การค้าและบริการ กำหนดกฎเกณฑ์การค้าบริการที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล และให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

8) การลงทุน เปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

9) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

10) ทรัพย์สินทางปัญญา ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของไทย

11) การแข่งขัน ส่งเสริมให้มีนโยบายด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม

12) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ส่งเสริมให้มีความโปร่งใส

13) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

14) ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านเทคนิคและด้านเศรษฐกิจ

15) ข้อบททั่วไป ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้ความตกลง

16) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ให้จัดตั้งกระบวนการระงับข้อพิพาท เปิดโอกาสให้ใช้อนุญาโตตุลาการสาหรับกรณีพิพาทที่ภาคีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ปัญหากันด้วยการหารือได้

 

หมายเหตุ : วีรภัทร สิริสุทธิชัย ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net