Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มากไปกว่าการมองถึงประเด็นความแตกแยก ความยากจนของครอบครัวของเด็กหญิงแห่งโรงเรียนสตรีพัทลุง ดญ.ปลอบขวัญ ระสุโสะ จนเป็นเหตุให้เธอฆ่าตัวตาย (ผูกคอตาย) ใช่แล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นแค่ดราม่าน้ำจิ้มถ้าจะว่าไปแล้ว, ความไม่พินิจพิเคราะห์ติดตาม ความมักง่ายของครู ผู้ดูแลที่เกี่ยวข้อง ที่สรุปลงไปในตรรกะฝ่ายอำนาจนิยมทางการศึกษาคือประเด็นความสนใจต่อฝ่ายความคิดก้าวหน้าทางการศึกษาของไทยในวันนี้

องคาพยพซึ่งเชื่อมโยงจนเป็นเหตุให้เกิดเรื่องเศร้าขึ้น ถูกผลัก ถูกโยนลงในประเด็นเศรษฐกิจ ความยากจน และประเด็นทางสังคม (ครอบครัวแตกแยก) แต่ก็จริงทั้งหมดล่ะหรือ?

 และที่ รมว.ศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง บอกจะสอบสวน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า มันไม่ใช่วิธีการดราม่าทำนองไฟไหม้ฟาง เหมือนหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในอดีต

ในแง่ปฏิบัติการจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาการศึกษา วิถีแนะแนวการศึกษา ไม่น่าจะสรุปแบบนี้ได้อย่างใสสะอาด มันต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของไทย ซึ่งถ้าจะเรียกรวมๆ แล้ว มันคือ ภาวการณ์แห่งอำนาจนิยม ซึ่งเป็นจารีตการศึกษาไทยมาหลายปี Student Center ที่พูดกันมายาวนานนั้นเป็นแค่การโกหกกลอกลวงมาตลอด ซึ่งนับว่าสมเพชเอาการ เพราะครูไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับผลเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ไม่มีการสอนสวนทวนความเพื่อเก็บเป็นโมเดลด้านระบบการจัดการการศึกษาการเรียนการสอนก็หาไม่ แล้วมันก็จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก อย่างซ้ำซาก

งานจิตวิทยาเด็ก ไม่เคยมีผู้รับผิดชอบในระบบโรงเรียนไทย เราคงได้ยินเรื่องงานแนะแนว ซึ่งก็เป็นงานรูทีนแบบขอไปที ไร้ความสำคัญ เพราะครูยังมีวิสัยทัศน์ต่อการศึกษา ต่ออาชีพแบบเดิมๆ การเรียนการสอนแบบนี้ไม่ใช่การเอาตัวรอดของพลเมืองในยุคปัจจุบันเลย ครูจึงทำงานไปวันๆ สิ้นเดือนรับ และสิ้นเดือนรับ พล็อตทางการศึกษาของไทยถูกจำกัดแค่สิ่งที่เรียกว่า “ระบบราชการ”แล้วเอวัง

นอกเหนือไปจากบริการทางการศึกษาของรัฐจะเลวแล้ว ค่านิยมทางการศึกษา การเหยียดประณามครอบครัวเด็กในเรื่องฐานะความยากจนก็เป็นบริบทหนึ่งที่สังคมควรให้ความสนใจ จิตวิทยาเด็ก บอกเราว่าครูไม่เพียงสอนหนังสือในห้อง ต้องเชครายหัว (นักเรียน) ยังต้องประสานกับผู้ปกครอง ประสานท้องถิ่นด้วย การประสานไม่ได้ก็ไม่พึงละความพยายามนั้นเสีย กรณีที่เกิดขึ้นที่พัทลุงนั้น ครูทำหน้าที่นี้ได้ดีแค่ไหน หรือส่งเดชทำไปพรรค์นั้นๆ แบบขอไปที

ออกจะน่าสมเพชที่ค่านิยมของสังคมไทย ค่านิยมครูส่วนหนึ่ง ครูนิยมซูฮกผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือเป็นคหบดีตำแหน่งใหญ่ จนเกิดความอยุติธรรมขึ้นในโรงเรียน แป๊ะเจี๊ยะกันตั้งแต่อนุบาล ไม่แป๊ะเจี๊ยะเปล่า สายสัมพันธ์ระหว่างครูกับบรรดาคหบดีมียศศักดิ์มีให้เห็นโดยทั่วไป จนเป็นเหตุให้มีการนำเข้าวัฒนธรรมเลวที่ว่า เข้าไปใช้ในห้องเรียน ซึ่งคนรุ่นๆ Gen x  น่าจะประจักษ์และยืนยันได้ดี

รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษา ให้ข่าวผ่านสื่อว่า จะสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พัทลุง แน่ล่ะหรือ ที่พวกเราชาวบ้านจะทราบผลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่การเข้าข้างฝ่ายรัฐ สอบสวนอย่างยุติธรรม เรื่องจะไม่หายไปอย่างไฟไหม้ฟาง

เพราะลำพังการพยายามรวบอำนาจทางการศึกษาก็เลวร้ายมากพออยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วควรมีการกระจายอำนาจทางการศึกษา เพื่อความเหมาะสมต่อท้องถิ่นนั้นๆ การรวบอำนาจไว้ในส่วนกลางกลับทำให้วิธีการจัดการการเรียนการสอนในท้องถิ่นต้องพังนินาศวิบัติลงไปอีก ซึ่งก็น่าสังเกตว่า ผอ.กองการศึกษาของท้องถิ่น ไม่มีความสามารถหรือไม่มีอำนาจจัดการร่างหลักสูตรการศึกษาในท้องถิ่นตัวเองได้เลย จึงต้องตะบันอาศัยสพฐ. เป็นศูนย์กลางหรือที่พึ่งเพียงอย่างเดียว เด็กนักเรียน ที่เสมือนมด หนอน ตัวเล็กๆ ในท้องถิ่นจึงไร้ค่า ถูกเมิน ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญน้อยกว่าผลงานที่ต้องทำเพื่อเอาใจระบบอำนาจทางการศึกษาในส่วนกลางหรือก็คือกรุงเทพเพื่อเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง

กรณีการเสียชีวิตของ ดญ.ปลอบขวัญ จึงควรไปให้ใกลกว่า ประเด็นดราม่าความยากจน  ดราม่าปัญหาสังคมครอบครัว หากควรคำนึงถึงบริบทการจัดการการเรียนการสอนที่เข้าถึงตัวนักเรียนให้มากกว่านี้ มากกว่าการเหยียดเรื่องเงินค่าเทอม ความที่พ่อแม่เป็นชาวบ้านธรรมดา ซึ่งก็คือการประเมินผลทางการศึกษาของนักเรียนอย่างหนึ่งที่ก้าวหน้ามากไปกว่า การให้คะแนนเด็กดีย์หรือคนดีย์ ต่อหน้าแบบดัดจริตที่รัฐเผด็จการไทยคาดหวังจากโครงสร้างจารีตหน้าที่พลเมืองมากกว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์

แก่นการเสียชีวิตของ ดญ.ปลอบขวัญ ไม่ควรทำให้มันจบง่ายๆ หากแต่ควรทำให้ถูกกล่าวถึงในแง่ของความอยุติธรรมทางการศึกษา โครงสร้างการศึกษาไทยที่วิปริตผิดเพี้ยน ออกไปจากระบบการศึกษาสากล สอนให้ว่ายน้ำในคลอง ครั้นผู้จบการศึกษาต้องออกไปว่ายน้ำในทะเลหลวงมีแต่ตายอย่างเดียว

และน่าสังเกตด้วยว่า งบประมาณทางการศึกษาที่รัฐบาลไทยอ้างนักอ้างหนาว่าให้เยอะแล้ว แค่ค่าเทอม ค่าเสื้อผ้าอาหาร ปัจจัยพื้นฐานของเด็กยังจัดให้ไม่ได้

ที่สำคัญ ความเป็นมืออาชีพของครู การคัดคนมาทำงานครู มิใช่แค่สอบผ่านเข้ามา หรืออาศัยเส้นสายอย่างเดียว หากควรมีกระบวนการคัดกรองที่พิถีพิถันมีมาตรฐานมากกว่านี้ พอๆ กับเสรีภาพทางการศึกษา การแสดงออกของเด็กที่ควรเปิดกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ มิใช่เอะอะอะไรก็ให้เป็นเด็กนักเรียนอยู่เสมอ

เหตุผลที่ว่าพวกเขายังเป็นเด็กน่าจะใช้ไม่ได้ ดังเราจะเห็นว่า กลุ่ม”นักเรียนเลว”เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาประชด แดกดันสังคมการศึกษาไทย ครูไทยเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อมิให้วงการครูต้องอยู่ในสภาพเน่าเฟะ เกียรติของครูจะต้องถูกกอบกู้คืนมา มากกว่าการถูกร้อยรัดตราสังข์พังพาดจากส่วนกลางไว้ทั้งหมด

ดญ.ปลอบขวัญ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุงไม่ควรจะตายเปล่า โดยเหตุที่ค่านิยมทางการศึกษาของไทย ของครูไทยวิปริตผิดเพี้ยนไปด้วยค่านิยมเส็งเคร็งอำนาจนิยมจัดแบบที่เป็นอยู่

อย่าลืมด้วยว่าครูต้องเป็นที่พึ่งยามยากของเด็ก ทำตัวเป็นเพื่อนกับเด็ก ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าเด็กทุกประการ ตรงข้าม ครูต้องหัดเรียนรู้จากเด็กให้มากกว่านี้จึงจะถูก ...มิใช่หรือ?

 

ที่มาภาพ: Facebook Suntorn Nitichan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net