ประชาชนแห่ร่วมม็อบ 'เดินไล่ตู่' จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย - อนุสาวรีย์ชัยฯ ตำรวจ คฝ. พร้อมรถจีโน่ เข้าควบคุมพื้นที่

ม็อบไร้แกนนำ “เดินไล่ลุง” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาอออกจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตาการชุมนุนตลอดกิจกรรม ด้าน คฝ. พร้อมรถฉีดน้ำจีโน่ เข้าควบคุมพื้นที่หลังผู้ชุมนุมเลิกกิจกรรม

 

11 มิ.ย. 2565 iLaw รายงานการสังเกตการณ์ม็อบ “เดินไล่ลุง” ม็อบไร้แกนนำ ที่เดินขบวนไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาอออกจากตำแหน่ง

โดยผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่หน้าร้านแมคโดนัล สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมากกว่า 100 คน ก่อนจะร่วมเดินขบวนผ่านทางถนนหลานหลวง มุ่งหน้าสู่แยกราชเทวี และจัดกิจกรรมยืนหยุดขังและเปิดแฟลชจากมือถือที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้ง 9 คน

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกั้นรั้วเหล็กและตั้งแถว เพื่อกำหนดเส้นทางให้ผู้ชุมนุมเดิน โดยห้ามผู้ชุมนุมผ่านทางถนนราชดำเนินนอก ให้เดินทางถนนหลานหลวงเท่านั้น และมีการตั้งแถวขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมเลี้ยวไปทางถนนพิษณุโลกเพื่อมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลได้ เมื่อผู้ชุมนุมเดินขบวนตามเส้นทางที่ตำรวจกำหนดก็ไม่ได้มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกัน

ภาพจาก Gunger Cat

มีลำดับกิจกรรมดังนี้

เวลา 15.33 น. ผู้ชุมนุมเริ่มออกเดินขบวนไปตามถนนราชดำเนินกลาง มีการปิดถนนหนึ่งเลน โดยขบวนลำดับด้วยรถจักรยานยนต์ กลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้า และปิดท้ายด้วยรถยนต์

เวลา 15.40 น. ที่แยกผ่านฟ้า เจ้าหน้าที่ตั้งแนวพร้อมโล่ที่ ถนนราชดำเนินนอกมุ่งหน้าสะพานมัฆวานรังสรรค์ ส่วนถนนนครสวรรค์เปิดให้รถผ่านได้ปกติ ระหว่างเดินผ่านแยกผ่านฟ้าเจ้าหน้าที่ประกาศผ่านลำโพงเครื่องเสียงให้ใช้เส้นหลานหลวงตามที่วางไว้ และเมื่อเดินถึงบริเวณแยกยมราช เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรถนนเพชรบุรีมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยขบวนใช้เส้นทางถนนเพชรบุรี ไปยังแยกราชเทวี

เวลา 16.27 น. หัวขบวนถึงแยกเพชรพระราม มีการนำป้ายผ้าข้อความ เช่น ข้อสามไฟเย็น, ยกเลิก112 ปล่อยเพื่อนเรามาเติมในขบวน อีกทั้งยังมีการแจกแอมโมเนียร์และประกาศว่าหากใครไม่ไหวสามารถตนั่งรถไปเจอกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้เลย

เวลา 17.09 น. ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินขบวนส่วนหนึ่งอนุสาวรีย์ชัย โดยนั่งและยืนรวมตัวที่เกาะกลางถนน ส่วนรถจักรยานยนต์จอดบริเวณโดยรอบ มีการปิดการจราจร 1 เลน การชุมนุมไม่ได้ใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ มีผู้ชุมนุมบางคนนำโทรโข่งมาเอง และพูดขับไล่รัฐบาลไปเรื่อยๆ โดยประกาศว่าตัวเองไม่ใช่แกนนำ ไม่มีใครเป็นคนจัดม็อบ แต่พวกเราคือคนที่ถูกรัฐเผด็จการกระทำมาตลอด 8 ปี ก่อนประกาศว่าจะยืนหยุดขังเป็นเวลา 10 นาที และขอให้ทุกคนเปิดแฟรชจากมือถือ

เวลา 18.00 น. หลังจากกิจกรรม "ยืนหยุดขัง" เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ผู้ชุมนุมก็ประกาศยุติกิจกรรม โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนประกาศว่าจะปักหลักอยู่บริเวณนี้อีกสักพัก และในวันพรุ่งนี้(12 มิถุนายน 2565) ตั้งแต่เวลา 16.00 น. มีกิจกรรมยืนหยุดขัง ผูกโบว์แดง หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ภาพจากสำนักข่าวราษฎร

เวลาประมาณ 18.10 ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับ บางส่วนยังคงปักหลักอยู่ที่เดิม แต่มีบางส่วนกระจายตัวไปทางแยกดินแดง ซึ่งหากเลี้ยวซ้ายไปทางถนนวิภาวดี ก็จะไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ1) ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ยาวมาตั้งแต่ครั้งรับราชการทหาร

แต่บริเวณแยกดินแดงมีตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมรถเครื่องเสียง รถฉีดน้ำ และอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตั้งแถวปิดถนนวิภาวดีขาออก ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปถึงหน้าราบ1 ได้ ทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่เป็นชายวัยรุ่น ประมาณ 60-80 คน รวมตัวกันอยู่บริเวณแยกดินแดง

18.45 มีผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างปาสิ่งของไปทางแถวของตำรวจ บางส่วนปาประทัดลงบนถนนตกด้านหน้าแถวของตำรวจแต่ไม่ถึงตัวตำรวจ มีการนำแผงเหล็ก 2 อัน และกรวยส้ม 1 อัน ทิ้งไว้บนถนน ด้านเครื่องเสียงของตำรวจประกาศย้ำหลายครั้งว่า ขอให้ผู้ชุมนุมอย่ายั่วยุ เจ้าหน้าที่เพียงแค่ต้องการรักษาแนวเท่านั้น

ด้านตำรวจที่บริเวณแยกดินแดงจะประกาศเดินแถว พร้อมรถฉีดน้ำ ทีละ 10 เมตร สองครั้ง ทำให้ผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันบริเวณแยกดินแดงขับรถจักรยานยนต์ออกไป

19.07 น. ตำรวจตั้งแถวปิดล้อมทั้งสองฝั่ง โดยตำรวจส่วนใหญ่ใส่ชุดสีกากีและสวมเสื้อเพราะ ด้านที่หนึ่ง คือ ถนนวิภาวดีรังสิตขาออก มุ่งหน้าราบ1 และอีกด้านหนึ่ง คือ แยกดินแดงมุ่งหน้าแฟลตดินแดง ตำรวจถือโล่และปืนยิงกระสุนยาง โดยใช้รถกระบะตำรวจเปิดไฟฉุกเฉินเป็นพาหนะหลัก

ประมาณ 19.15 บริเวณซอยบุญอยู่ หน้าโรงแรมมิตรภาพเทียร่า มีชายฉกรรจท์กลุ่มหนึ่งเข้าทุบรถกระบะของตำรวจที่จอดเปิดไฟฉุกเฉินอยู่ และมีไฟลุกขึ้นที่รถตำรวจ ต่อมามีชายใส่เสื้อสีแดงสวมหมวกกันน็อค และชายสวมเสื้อวินมอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อคเข้าไปใช้ถังดับเพลิงฉีดดับไฟ และมีตำรวจในเครื่องแบบสีกากีมาถอยรถเข้าไปในซอยบุญอยู่

เวลาประมาณ 19.26 รถกระบะตำรวจบรรทุกตำรวจเต็มคัน ปิดถนนเพื่อเคลื่อนที่เข้าเคลียร์พื้นที่จากทางบริเวณแยกดินแดงมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ล่าถอยออกจากบริเวณดังกล่าวแล้ว

ระหว่างการเคลื่อนที่ยังมีเสียงและแสงของพลุหรือประทัดเป็นระยะ

ก่อนที่เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับ เหตุการณ์สงบลง และรถกระบะของตำรวจก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวออก เปิดให้การจราจรกลับมาวิ่งได้ตามปกติ

'ชัชชาติ' ขอ จนท.อย่าปฏิบัติรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

เวลา 19.55 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไลฟ์สดผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ที่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐฯ เผยว่ารู้สึกเป็นห่วง หลังได้รับแจ้งข่าวว่ามีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพมหานคร และได้สั่งให้รองผู้ว่าฯ กทม. ช่วยอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 

นอกจากนี้ ชัชชาติ ฝากข้อความถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่าใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม 

"ขอให้เจ้าหน้าที่อย่าปฏิบัติรุนแรงกับผู้ชุมนุม และขอให้เจ้าหน้าที่ กทม.ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องห้องน้ำ เรื่องต่างๆ แจ้งทางรองผู้ว่าฯ ไปแล้ว" ชัชชาติ กล่าวในไลฟ์สด 

เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยาง-แก๊ซน้ำตา

เวลา 20.15 น. สำนักข่าว The Reporters รายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและชุดเคลื่อนที่เร็วกลับมาเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณหน้าแฟลตดินแดง ตรงข้ามธนาคารออมสิน หลังจากถอนกำลังออกจากแยกใต้ด่วนดินแดง ถอยกลับไปที่ทางเส้นวิภาวดีรังสิตขาออกเมื่อ 19.45 น.

ในเวลาต่อมามีเสียงดังคล้ายประทัดดังขึ้น 2 ครั้ง ในบริเวณแฟลตดินแดงทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตั้งแนวมุ่งหน้าเข้าสู่แยกใต้ทางด่วนดินแดง และมีการประกาศผ่านเครื่องเสียงเรียกกำลังพลเตรียมความพร้อม

เวลา 20.47 น. The Reporters รายงานต่อว่า ตำรวจใช้แก๊สน้ำตานัดแรก ยิงลงด้านหน้าไซต์ก่อสร้างเอกชนใกล้แยกใต้ทางด่วนดินแดง ถนนราชวิถี โดยบริเวณดังกล่าวมีผู้ชุมนุมขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่ในพื้นที่ และพบว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่ง และเด็กทารก 1 รายได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา

นอกจากนี้ ช่วงเวลา 20:35น. ขณะเจ้าหน้าที่กำลังออกจากพื้นที่แยกใต้ทางด่วนดินแดง มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนราชวิถี (ขาเข้า) มีการปาลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ ด้านเจ้าหน้าที่มีการยกอาวุธ และชี้ผู้ชุมนุม ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันตะโกน พร้อมปาก้อนหิน ลูกแก้ว และขวดแก้ว ไปยังแนวของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยิงกระสุนยาง

จนท.พยายามจับ-ค้นตัวสื่ออิสระ

เวลา 22.00 น. ไลฟ์สดเฟซบุ๊กของ 'สำนักข่าวราษฎร' พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบสวมหมวกกันน็อกปิดบังใบหน้าพยายามจับและค้นตัว 'จอย' ซึ่งเป็นสื่ออิสระจาก 'กะเทยแม่ลูกอ่อน' โดยการกระชาก ล็อกแขนจับกดลงพื้น และค้นตัว หลังพยายามขอดูบัตรแสดงตัวว่าเป็นสื่อหรือไม่ ก่อนที่เวลา 22.04 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สื่ออิสระได้รับการปล่อยตัวแล้ว  

ทั้งนี้ 'จอย' สื่ออิสระ กล่าวในไลฟ์สดเฟซบุ๊กช่อง 'กะเทยแม่ลูกอ่อน' ว่า ตนเองรู้สึกบาดเจ็บที่แขน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการถูกตำรวจกระชากและล็อกแขนก่อนหน้านี้

เวลา 22:45 น. The Reporters รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและชุดเคลื่อนที่เร็วถอนกำลังออกจากพื้นที่อุโมงค์ดินแดง หน้าซอยบุญอยู่ หลังจากเข้ากระชับพื้นที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนราชวิถี (ขาเข้า) ในช่วงเวลา 21:55 น. โดยใช้รถเคลื่อนที่เร็วนำและตามด้วยเจ้าหน้าที่เดินเท้า

โดยมีการตรวจสอบประชาชนและสื่อมวลชนที่อยู่ในบริเวณทางเท้าทั้งหมดในเวลาต่อมามีเสียงประทัดและเสียงพลุดังขึ้นเป็นระยะ ทำให้เจ้าหน้าที่กระจายกำลังเฝ้าระวังเต็มพื้นที่ถนน 

ตร.เตรียมดำเนินคดีผู้ชุมนุม

เวลา 22.00 น. สำนักข่าว The Reporters เผยแพร่ไลฟ์สด พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วเเสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เเถลงข่าวสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินเเดง ระบุเป็นการชุมนุมที่ไม่เป็นไปด้วยความสงบ มีการใช้อาวุธก่อเหตุความวุ่นวาย ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของราชการ และความเดือดร้อนกับประชาชนทั่วไปที่เดินทางในบริเวณดังกล่าว พร้อมย้ำเตือนให้หยุดการกระทำดังกล่าวและจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 11.14 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความบนสื่อทวิตเตอร์ว่า มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง และถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. จำนวน 2 ราย โดยคนแรกชื่อ 'เล็ก' วัย 55 ปี ถูกตำรวจแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่สโมสรตำรวจ โดยจะถูกยื่นฝากขังวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ขณะที่รายที่ 2 เป็นเยาวชน แต่ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหา

ตร.ต้องเลิกอ้างตรวจบัตรสื่อ 

สืบเนื่องจากการรวมตัวประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา และช่วงกลางดึกมีวิดีโอเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามของตรวจบัตรสื่อของนักข่าวที่มาทำหน้าที่รายงานข่าวที่บริเวณพื้นที่ชุมนุมของประชาชน

เมื่อเวลา 00.10 น.ของวันที่ 12 มิ.ย. 2565 ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฎิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยผ่านเฟซบุ๊กให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ขอตำรวจเลิกอ้างตรวจบัตรสื่อ เพราะประเทศนี้ไม่มีการออกบัตรสื่อแต่แรก

โพสต์ของธีรนัย ระบุว่าเมื่อคืนวานนี้ (11 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่มีการขอตรวจ 'บัตรสื่อ' กับสื่อมวลชนที่มาทำหน้าที่รายงานข่าวบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง และมีเหตุใช้กำลังกับสื่อพลเมือง ทางผู้สื่อข่าวทราบภายหลังว่าสื่อพลเมืองจากเพจกะเทยแม่ลูกอ่อน 

ธีรนัย ชี้แจงเป็น 2 ประเด็นใหญ่ว่า ประการแรก ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อเคยชี้แจงกับตำรวจระหว่างการประชุมร่วมกันกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แล้วว่า ประเทศนี้ไม่มี "บัตรสื่อ" อาชีพสื่อมวลชนไม่ได้เป็นอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งต่างจากทนายหรือแพทย์ จึงไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดมีหน้าที่หรืออำนาจออกใบอนุญาตให้สื่อ เพราะฉะนั้น เลิกใช้คำว่า 'บัตรสื่อ' 

ส่วน 'บัตรกรมประชาสัมพันธ์' ไม่เท่ากับ 'บัตรสื่อ' เพราะนักข่าวส่วนใหญ่ไม่มี ตัวเขายังไม่มี เนื่องจากบัตรกรมประชาสัมพันธ์มีไว้สำหรับเข้างานพระราชพิธีหรือรัฐพิธีเป็นส่วนใหญ่ ใครไม่มีหน้าที่ไปทำข่าว ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ขอกัน

พูดถึงตรงนี้ ตัวแทนฝั่งตำรวจถามว่า แล้วจะรู้ได้ไงใครเป็นสื่อ ก็ได้ให้ข้อมูลไว้แล้วว่า ในการยืนยันสถานภาพการเป็นนักข่าว ตำรวจสามารถขอดู 1) บัตรพนักงานหรือบัตรยืนยันตัวตนที่สำนักข่าวต้นสังกัดออกให้ และ 2) ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน ซึ่งออกโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เคยแนะนำไว้เพิ่มเติมเช่นกันว่า "การเรียกตรวจสอบดังกล่าว ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรและจำเป็นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่ควรเรียกตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลในลักษณะที่มีเจตนาคุกคามสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม"

แล้วถ้านักข่าวคนนั้นไม่มีปลอกแขน เพราะไม่เข้าเกณฑ์ หรือเป็นสื่อพลเมือง ทำอย่างไร อ่านในหัวข้อถัดไปข้างล่าง

ประการที่สอง ในการประชุมครั้งนั้นตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อเน้นย้ำกับ บช.น.ด้วยว่า ต่อให้เป็นกรณีสื่อมวลชนไม่มีปลอกแขน สื่อพลเมือง หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ก็มีสิทธิในการรายงานข่าวหรือสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับทราบโดยสันติและไม่ได้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจจะริดรอนสิทธิตรงนี้ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิที่คุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการเน้นย้ำหลักการนี้อีกครั้ง โดยระบุว่า "นายธีรนัย กล่าวด้วยว่า ปลอกแขนสื่อมวลชนเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่ายที่กำหนดร่วมกันโดย “ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม” (ศปสช.) มิได้เป็น “ใบอนุญาต" สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานใดๆ นำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือกีดกันการเข้าพื้นที่ชุมนุม 

นอกจากนี้ การรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ เป็นสิทธิที่ย่อมกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปลอกแขนก็ตาม"

ธีรนัย ระบุขอให้ทางตำรวจเร่งชี้แจงว่า เหตุการณ์การพยายามคุมตัวสื่อพลเมืองวานนี้ (11 มิ.ย.) เกิดจากเหตุใด มีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นการลิดรอนสิทธิการเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

นอกจากนี้ ทางธีรนัย ระบุด้วยว่า วันจันทร์นี้ (13 มิ.ย.) เขาและตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อจะเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (หรือตัวแทน) เพื่อหารือเกี่ยวกับปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อ และแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนในสถานการณ์ชุมนุม ซึ่งจะมีการยกทั้ง 2 เรื่องข้างต้น มาเน้นย้ำอีกครั้ง

ส.ส. 'ก้าวไกล' ถามเพจ 'โปลิศไทยแลนด์' เกี่ยวข้องกับ สตช.หรือไม่

กรณีสืบเนื่องจากวานนี้ (11 มิ.ย.) มีประชาชนการชุมนุมประท้วงประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงนั้น เพจเฟซบุ๊ก 'โปลิศไทยแลนด์ - Police Thailand News' มีการโพสต์ข้อความและภาพหลายครั้งถึงการชุมนุมที่แยกดินแดง เช่น 'ถึงเวลาทำความสะอาดขยะสังคม' 'ไม่เกิน 48 ชั่วโมง น้องๆ จะได้นอนคุกสมใจ ยินดีต้อนรับสู่คุก' และอื่นๆ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลายถึงความเหมาะสม

ภาพโพสต์ที่เป็นประเด็น สืบค้นเมื่อ 12 มิ.ย. 2565 เวลา 9.56 น.

ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อเวลา 23.44 น. ของวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทางตำรวจออกมาชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊ก 'โปลิศไทยแลนด์ - Police Thailand News' มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ 

โพสต์ระบุว่า เพจ “โปลิศไทยแลนด์ - Police Thailand News” อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ อยากให้กล้าออกมายอมรับตรงๆ ขณะที่พรรคก้าวไกลกำลังสู้เพื่อสิทธิตำรวจเรื่องต่างๆ อย่างเช่น เรื่องทรงผม การขูดรีดเงินในการขึ้นตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ธำรงวินัยอย่างป่าเถื่อน ฯลฯ แต่เพจปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของตำรวจ กลับสร้างเนื้อหาลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม เพื่อสร้างความเกลียดชังให้ตำรวจมองผู้ชุมนุมเป็นขยะ

ทั้งที่ผู้ชุมนุมต่างก็เป็นผู้ถูกกดขี่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพ ที่หายไป เขาถึงออกมาเรียกร้องสิทธิ
หากประชาชนสู้ชนะ ตำรวจก็จะชนะ ได้สิทธิที่หายไปกลับมาด้วย

ตำรวจไม่เคยต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ด้วยตัวเองเลย ถึงมีก็จะเห็นเพียงไม่กี่คนที่กล้าลุกขึ้นพูดเพื่อสิทธิของตนเอง

อยากให้ตำรวจระดับปฏิบัติการ ตำรวจชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องทำงานกับผู้ชุมนุมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

มองให้เห็นความเจ็บปวดของพวกเขา เพราะคุณและครอบครัวก็ยังเป็นประชาชนที่จะต้องอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน

ถ้าคุณเป็นตำรวจที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารลดทอนคุณค่าประชาชนเช่นนี้ ช่วยลากคอคนทำ และคนสั่งทำคอนเท้นท์นี้ออกมาขอโทษประชาชน ก่อนที่ประชาชน จะเกลียดชังตำรวจไปมากกว่านี้จนไม่อยากจะช่วยอะไรอีกแล้ว

หมายเหตุ เมื่อเวลา 12.40 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊ก โปลิศไทยแลนด์ - Police Thailand News เปลี่ยนชื่อเป็น 'ผู้พิทักษ์' แล้ว และในเวลาเดียวกัน ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบด้วยว่า ทางเพจดังกล่าวมีการลบภาพที่เป็นปัญหา ซึ่งปรากฏข้อความ 'ถึงเวลาทำความสะอาดขยะสังคม' ไปแล้ว

ทั้งนี้ จากการสืบค้นเว็บไซต์ trends24 พบว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.20 น. แฮชแท็ก #ม็อบ11มิถุนา65 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ยอด 1.23 ล้านกว่าทวีต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท