Skip to main content
sharethis

เผ่าภูมิ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เผย ภาพรวมเศรษฐกิจไทยพบหนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ ค่าดอกเบี้ยพุ่ง จัดเก็บพลาด การคลังชนเพดาน การเงินโดนกดดัน

 

12 มิ.ย. 2565 เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.งบฯ ได้พิจารณาสัปดาห์แรกจบไปแล้ว เป็นในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สิ่งที่พบเจอ

1. “หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ” : นอกจากหนี้สาธารณะ 4.4 ล้านล้านบาท ที่ถูกสร้างใหม่ขึ้นใน 8 ปี ยังเจอกับหนี้ที่ไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะจากมาตรการกึ่งการคลังอีกราว 1 ล้านล้านบาท และพุ่งแรงต่อเนื่องจากมาตรการด้านการเกษตรของรัฐบาล เป็นรายจ่ายก้อนโตทุกๆปี ที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายไปยัง ธกส. เป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญแทบไม่มีข้อมูลเลยว่ารัฐบาลใช้อะไรไปบ้าง ยอดคงค้างเท่าไหร่ ชำระเป็นอย่างไร กมธ.จากพรรคเพื่อไทยได้เรียกขอเอกสารไปทั้งหมด ต้องติดตามกันดูต่อ

2. “ค่าดอกเบี้ยพุ่ง” : การใช้หนี้สาธารณะในส่วนของ สบน. ปีนี้เป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงถึง 192,126 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าของการชำระเงินต้น ภาษีประชาชนถูกนำไปใช้หนี้แต่ไปจมอยู่ที่ค่าดอกเบี้ย ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ยจากหนี้ใต้พรมอีก นี่คือต้นทุนอันมหาศาลของการกู้เงินและการสร้างหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ ซึ่งในระยะหลังๆเป็นการกู้ที่ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ

3. “ประเมิน ศก. ฝันหวาน” : ภาพที่เห็นที่ห้อง กมธ.งบฯ นั้นหน่วยงานที่ชี้แจงเสนอภาพที่เต็มด้วยความหวัง ในขณะที่ฝั่ง กมธ. กลับเห็นภาพที่น่าเป็นห่วง เหมือนอยู่กันคนละประเทศ ต้องเจอทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ผลจากการต่อสู้เงินเฟ้อของ FED ต้นทุนการผลิตพุ่ง รวมถึงผลกระทบหากไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การคาดการณ์ GDP สำหรับปี 66 (ซึ่งใช้ทำงบ) ที่ 3.7% ยังคงตัวเลขเดิมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยลบใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4. “จัดเก็บพลาด” : ปีงบฯ 65 กรมสรรพาสามิตเก็บภาษีพลาดเป้าทุกเดือนติดต่อกัน ต่ำกว่าเป้าถึง 26,501 ล้านบาท และภาษีสำหรับการระดมทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีแนวโน้มเดินหน้าต่อ ทั้งสองภาษีนี้ทำลายตลาดการระดมทุนของประเทศ ในขณะที่ภาษีที่ควรเก็บเช่น ภาษีมรดก กลับไม่คืบหน้า ย่ำอยู่กับที่ราว 200 กว่าล้าน

5. “ธนาคารรัฐ วางบทบาทผิด” : ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งมุ่งสร้างกำไร มุ่งลด NPL เพิ่ม BIS แต่พันธกิจหลักในการเข้าทำในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เข้าเสี่ยงในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากเสี่ยง กลับไม่ได้ทำ SME bank ที่มีหน้าที่เข้าช่วย SMEs ในช่วงวิกฤตโดยตรง กลับมี NPL ที่ลดลง ที่น่าตกใจสินเชื่อปล่อยใหม่ตั้งแต่ต้นปี 65 แทบไม่มี NPL เลย อีกทั้งเงินให้กู้ยืมต่อรายกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับพันธกิจที่ต้องยอมเสี่ยงเพื่อช่วย SMEs

6. “การคลังชนเพดาน การเงินโดนกดดัน” : ด้านการคลัง งบฉบับนี้ผ่านการเค้นทั้งการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง จากการคาดการณ์ที่ GDP ที่สูงเกินจริง ซ้ำยังตั้งขาดดุลเกือบเต็มเพดานเพื่อทำให้มีเงินมาใช้จ่าย จนเรียกได้ว่าการคลังชนเพดาน ส่วนนโยบายการเงินก็ถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศให้ในที่สูงอาจต้องฝืนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆ ที่ประเทศไม่มีความพร้อมเลย

เผ่าภูมิ โรจนสกุล และ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์

 

ขณะที่ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ประยุทธ์แก้จนล้มเหลว อยู่มา 8 ปี คนจนพุ่งรวม 20 ล้าน หากทำไม่ได้เพื่อไทยทำเอง

ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 8 ปี เหตุใดยิ่งแก้ยิ่งจน บัตรคนจนเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ทะยานสู่ 20 ล้านคนแล้วในปีนี้ นอกจากนี้ช่วงปลายปี 2563 ยังได้ตั้ง “คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ” (คจพ.) อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแผนแก้จนของพลเอกประยุทธ์ ที่ประกาศจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน ปี 2565 จะสำเร็จหรือไม่

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า หากจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องยึดหลัก “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” พุ่งเป้าไปที่คนไทย 2 กลุ่ม คือ เกษตรกร และประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ โดยเริ่มที่

1.กลุ่มเกษตรกร พรรคเพื่อไทยยึดหลัก “พลิกวิกฤต เป็นโอกาส” รดน้ำที่ราก โดยต้องส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีตลาด”อาหารส่งออก” ใหญ่มหาศาล เช่น เนื้อวัว ควาย ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ อีกทั้งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรทั่วทุกภาคอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมบนผืนดินเดิม โดยพลิกเปลี่ยนจากวิถีเดิมๆ ตามความเคยชิน เช่น บนผืนดินที่เคยปลูกข้าวปีละ 2-3 รอบ เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพดหลังนา หรือถั่วหลังนา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น ชดเชยการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมปีละเกือบ 10 ล้านตัน และราคาปุ๋ยกำลังพุ่งสูงกว่า 3 เท่า เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งหมดจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการเพิ่มรายได้

2.กลุ่มประชาชน ราคาน้ำมันที่เป็นต้นเหตุต่อค่าครองชีพสูง เพราะต้นทุนค่าขนส่งเกี่ยวข้องกับการผลิตและการดำรงชีวิตทั้งหมด ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบยังพุ่งทะยานไม่หยุด ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว มีทั้งน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น จากในช่วงเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 1.35 บาท/ลิตร พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.82 บาท/ลิตร ในเดือนพฤษภาคม ตามที่สหพันธ์ขนส่งทางบกได้เคยให้ข้อมูล นอกจากนี้ยังมีภาษีสรรพสามิต ภาษี VAT และเงินเข้ากองทุน ดังนั้นในภาวะนี้ รัฐต้องหามาตรการแก้ไขเร่งด่วน โดยต้องทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันและลดค่าการกลั่น เพื่อลดภาระค่าพลังงานโดยเร็ว

“เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จะมีเงินใช้จ่ายทันที เพราะโดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จะหมุนสร้างรายได้ของผู้ขายและผู้ผลิตสินค้า เพิ่มมูลค่ารวม 3 รอบหรือ 3 เท่า รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้น รายได้รัฐจะเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องกู้มากมายเหมือนที่พลเอกประยุทธ์กำลังทำ ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำไม่ได้ เพื่อไทยจะทำให้ดู” ธีรรัตน์ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net