Skip to main content
sharethis

พริษฐ์ วัชรสินธุ - พรรณิการ์ วานิช ร่วมรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นที่ จ.ภูเก็ต ชี้แจงทุกความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ - เชื่อแม้เป็นสิ่งที่ยากแต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ พร้อมปลุกประชาชนทุกจังหวัด จากไม้ซีกรวมกันเป็นกอเพื่องัดไม้ซุง เชื่อหากทำสำเร็จประเทศไทยจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

13 มิ.ย.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวในหัวข้อ “ปลดล็อกท้องถิ่น ปลดล็อกเศรษฐกิจ ปิดช่องคอร์รับชัน โอบรับความหลากหลาย” ความตอนหนึ่งว่า ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ตื่นตัวเรื่องการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นมานานแล้ว หากย้อนไปตอนการเลือกตั้ง 2562 แทบทุกพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องนี้ในเวทีหาเสียง แต่หลังจากนั้น การขับเคลื่อนกลับล่าช้า ถูกแช่แข็ง และหลายเรื่องถดถอยลงไป จึงเป็นเหตุผลที่คณะก้าวหน้าต้องรณรงค์เรื่องนี้ เพื่อส่งแรงของประชาชนจากนอกสภาเข้าไปยังในสภา ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้มากกว่า 50,000 รายชื่อ ตามเกณฑ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้สามารถร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาได้ อย่างไรก็ตาม ตลอดการรณรงค์ที่ผ่านมา มักมี 4 คำถามที่สะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ซึ่งควรนำมาอธิบายให้เข้าใจตรงกัน คือ

1.ความเข้าใจคาดเคลื่อนว่า การเพิ่มโครงการ เพิ่มงบ เพิ่มคน ลงไปในแต่ละจังหวัด คือการกระจายอำนาจ ซึ่งไม่ได้ใช่เสมอไป เพราะปัจจุบันก็เกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่มีเพิ่มขึ้น หรืองบกลุ่มจังหวัดที่เพิ่มขึ้น 25% แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุด คือคนในพื้นที่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ ว่าจะทำโครงการอะไร จะใช้งบไปกับเรื่องไหน เพราะกลุ่มจังหวัดก็เป็นงบของราชการส่วนภูมิภาค ในขณะที่ข้าราชการที่ประจำในแต่ละจังหวัด ก็เป็นคนที่ถูกแต่งตั้งโดยส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น ศึกษาธิการจังหวัด ขนส่งจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

2. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่า กระจายอำนาจทำให้การพัฒนาประเทศไม่มีทิศทาง ซึ่งต้องย้ำว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจ แต่คือการออกแบบกลไกที่ทำให้ราชการส่วนกลาง และ ส่วนท้องถิ่น ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีขึ้นทั้งคู่ เรียกว่า WIN-WIN เช่น การจัดการเรื่องคมนาคม ปัจจุบันจะเห็นว่าถนนแต่ละเส้นในจังหวัดขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ต่างกัน สิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด คือถ้าเป็นถนนภายในจังหวัด ควรให้ท้องถิ่นดูแลทั้งหมด ต่อเมื่อเป็นเส้นทางระหว่างจังหวัด จึงให้ส่วนกลางดูแล ขณะที่หน่วยงานส่วนกลาง จะมีเวลาและทรัพยากรมากขึ้นในการคิดและวางแผนการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะการทำสิ่งที่เรียกว่า “การทดลองนำร่อง” เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ ประเมินผลนโยบาย นอกจากนั้น หลายประเด็นปัญหาในปัจจุบัน ยังต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นควบคู่ระดับประเทศ เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ลำพังท้องถิ่นอาจไม่สามารถแก้ไขให้หมดไป แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับนานาชาติ ดังนั้น เมื่อผสมผสานกันแล้ว การกระจายอำนาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ทั้งในระดับพื้นที่ และ ระดับประเทศ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.ความเข้าใจคาดเคลื่อนที่ว่า การกระจายอำนาจ จะเพิ่มการทุจริต ทั้งนี้ เคยมีคนคิดสูตรการโกงไว้ว่า การทุจริต (C: Corruption) = ดุลพินิจ (D: Discretion) + การผูกขาด (M: Monopoly) – กลไกการรับผิดชอบ (A: Accountability) เช่น ในการสอบเข้ามหาลัย คนอาจต้องการข้อสอบแบบปรนัย มากกว่าการสอบแบบอัตนัยหรือสอบสัมภาษณ์ เพราะเป็นวิธีการที่เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจ หรือ ถ้าอำนาจการตรวจถูกผูกขาดอยู่ที่คนคนเดียว หากเกณฑ์ไม่มีความชัดเจน ก็อาจสร้างความไม่ไว้วางใจ เช่นเดียวกับการอนุมัติโครงการในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ หลายโครงการถูกรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดคำถามว่า โครงการไหนดีหรือไม่ดี จะใช้อะไรตัดสิน การรวมศูนย์อำนาจจึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเรื่องการทุจริต แต่การกระจายอำนาจ ก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง จึงจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ด้วยการจัดให้มีงบประมาณที่ประชาชนมีส่วนร่วม

และ 4. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่า การกระจายอำนาจ นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งต้องย้ำว่า การกระจายอำนาจกับการแบ่งแยกดินแดนเป็นคนละเรื่อง การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกระจายอำนาจ ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ ประเทศไทยยังคงเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดิม เหมือนที่ญี่ปุ่นหรือสหราชอาณาจักรทำได้ นอกจากนั้นการกระจายอำนาจ ยังจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น สกอตแลนด์ ซึ่งมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากอังกฤษ ในปี 1997 จึงมีประชามติถามคนสกอตแลนด์ว่าต้องการกระจายอำนาจ ให้มีสภาสกอตแลนด์หรือไม่ ผลปรากฏว่า 74% เห็นด้วย แต่ต่อมาในปี 2014 มีประชามติอีกครั้ง ถามว่าต้องการให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชหรือไม่ กลายเป็นมี 45% เท่านั้นที่เห็นด้วย ซึ่งน่าคิดว่าหากในปี 1997 ไม่ได้เกิดการกระจายอำนาจ ผลประชามติในปี 2014 จะยังออกมาเป็นเช่นนี้หรือไม่ ดังนั้น การกระจายอำนาจต่างหาก ที่อาจเป็นแนวทางรักษารัฐเดี่ยว

"ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อโต้แย้งเพื่ออธิบาย 4 ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคนที่ยังลังเลต่อข้อเสนอกระจายอำนาจ เพื่อย้ำว่าการกระจายอำนาจ คือแนวทางที่จะช่วยปลดล็อกท้องถิ่น ปลดล็อกเศรษฐกิจ ปิดช่องคอร์รับชัน และโอบรับความหลากหลาย" พริษฐ์ กล่าว

พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวในหัวข้อ "การกระจายอำนาจ ความหวัง และการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้กับประชาชน" ว่า ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ต่อสู้เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการเป็นจังหวัดจัดการตนเองมาตั้งแต่ปี 2525 นับถึงวันนี้ 40 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามักเป็นแค่นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ที่ถ้าเอาไปทำและเกิดขึ้นจริงคนที่เสียผลประโยชน์ก็คือผู้ที่กุมอำนาจรัฐอย่างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างๆ เพราะอำนาจในการกุมงบประมาณเป็นสิ่งหอมหวาน อยู่ในมือใครแล้วคงไม่มีใครอยากแบ่งให้คนอื่น จึงยังคงเป็นสภาพที่หากท้องถิ่นไหนอยากได้ก็ต้องวิ่งขอรัฐมนตรี ขอนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่วันนี้ประชาชนต้องมาร่วมรณรงค์เข้าชื่อเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา และในยุคนี้ที่ประชาชนไม่ได้ถูกปิดหูปิดตาอีกต่อไปอย่างนี้ เรามีสื่อ มีเทคโนโลยีสำหรับเป็นเครื่องมือในการร่วมตรวจสอบ ร่วมแสดงออก จะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการกดดัน ส.ส.ในบ้านตนเอง ให้ผ่านกฎหมายนี้ที่ประชาชนได้ประโยชน์ นี่คือประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

"ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความกระตือรือร้นในการเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นจังหวัดที่หาเงินได้มาก จีพีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อปีของจังหวัดในปี 2562 คือราว 2.5 แสนล้านบาท แต่เมื่อส่งเข้าส่วนกลางแล้วถูกจัดสรรมาเป็นรายได้กลับเป็นปริมาณที่น้อยมาก งบประมาณ อบจ. ต่อปี 1 พันล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 ของรายได้ที่เกิดในภูเก็ต หรือแม้ว่าจะรวมกับงบประมาณที่จัดสรรให้กับ อปท.อื่นๆ ด้วย ก็ยังถือว่าน้อย นี่คือสิ่งที่ชาวภูเก็ตรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะขณะที่พวกเขาเต็มใจต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่พอลองมาดูคุณภาพชีวิตของตัวเองที่ได้รับกลับคืนมาพบว่ายังคงย่ำแย่ น้ำประปาดีแต่ในโรงแรม ขณะที่ในบ้านเรือนประชาชนบางแห่งยังไม่มีคุณภาพ คุณภาพชีวิตคนภูเก็ตไม่ไปกันเลยกับรายได้ที่สร้างให้ประเทศ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เกิดการเรียกร้องเรื่องการจัดการตนเอง เพื่อจะได้มีงบประมาณมาใช้พัฒนาถนนหนทาง โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาสิ่งที่เป็นความเป็นความตายของประชาชนชาวภูเก็ต" พรรณิการ์ กล่าว

พรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า การเรียกร้องเรื่องกระจายอำนาจ เรื่องการเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ไม่ว่าจะของ จ.ภูเก็ต หรือ จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมาไม่สำเร็จ อาจเป็นไปได้ว่า เพราะเป็นการเรียกร้องทีละจังหวัด ซึ่งนี่เป็นเหตุให้ผู้มีอำนาจสามารถปฏิเสธความต้องการนี้ได้ง่าย การปฏิเสธความต้องการเพียง 1 จังหวัดง่ายกว่าการปฏิเสธความต้องการของคนทั่วประเทศ อีกทั้ง ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการนำร่อง เป็นทำพร้อมกันหมด เพราะเราใช้วิธีนำร่องมาตลอด กทม. และ เมืองพัทยา เขาได้เลือกก่อนเพราะวิธีคิดแบบนำร่อง พอรัฐธรรมนูญ 2540 เกิด จึงได้มีเลือก นายก อบจ. ทั่วประเทศ ซึ่งการเกิดขึ้นของผู้ว่า กทม. ก็มาจากการนำร่อง ดังนั้น ถ้าวันนี้เรานำร่องไปทีละจังหวัด ก็จะวนไปที่เดิม เพราะร่องที่เหลือจะไม่ได้ขึ้นมาเลย ระบบราชการจะสับสนไปหมด ดังนั้น รูปแบบที่เรานำเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็คือ ทำพร้อมกันหมดทุกจังหวัด เปรียบเหมือนเอาไม้ซีกมารวมกันเป็นกอแล้วไปงัดไม้ซุง รณรงค์ทีเดียวทั้งประเทศ ส่งแรงกดดันจากประชาชน 70 ล้านคน เข้าสภาเพื่อพิสูจน์ว่าบรรดา ส.ส. และ ส.ว. จะปฏิเสธความต้องการของประชาชนหรือไม่ ถ้าทำสำเร็จ ประเทศไทยจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net