Skip to main content
sharethis

“Crossing the Lines: แรงงานข้ามเส้น” นิทรรศการจากศิลปินหญิงและเควียร์ร่วมสมัย 6 คน ที่จะพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวของแรงงานชายขอบ โดยร้อยเรียงเรื่องราวผ่านการ “ข้ามเส้น” ทั้งเส้นแบ่งทางสังคม เชื้อชาติ สัญชาติ เพศ หรือกระทั่งประจำเดือนที่สร้างภาระประจำวันให้แรงงาน

13 มิ.ย. 2565 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) จัดแสดงนิทรรศการ “Crossing the Lines: แรงงานข้ามเส้น” โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโครงการ Start! Art Curator รุ่นที่ 2 โครงการส่งเสริมภัณฑารักษ์รุ่นใหม่เรียนรู้การสร้างสรรค์นิทรรศการ นำเสนอเรื่องราวหลากหลายแง่มุมของผู้ใช้แรงงาน โดยร้อยเรียงเป็นเรื่องราวผ่านการข้ามเส้นแบ่งทั้งทางกายภาพและนามธรรม รวมผลงานหลากหลายรูปแบบจาก 6 ศิลปินหญิงและเควียร์ร่วมสมัย เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 16 ก.ค. 2565 ณ อาคารหอศิลป์ ชั้น 2 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) กรุงเทพฯ

เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ต่อประเด็นดังกล่าว นิทรรศการ "Crossing the Lines: แรงงานข้ามเส้น” จึงอยากพาผู้ชมมาสำรวจเรื่องราวของแรงงานชายขอบที่ไม่ตรงกับภาพจำในสื่อกระแสหลัก โดยร้อยเรียงเรื่องราวผ่านการ “ข้ามเส้น” ที่นอกจากจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเชิญชวนผู้ชมให้ข้ามเส้นแบ่งทางสังคม ทั้งเรื่องเชื้อชาติ เขตแดน เพศ สถานภาพ เพื่อให้เข้าใจและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวซึ่งกันและกัน

ศิลปินไทยร่วมสมัยทั้ง 6 คน ที่จะพาผู้ชมข้าม ‘เส้น’ ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเส้นที่แบ่งเขตแดนทางภูมิศาสตร์อย่างงานติดตั้งของ จุรีพร เพชรกิ่ง ชุด จีนนอกนา ที่เล่าเรื่องราวของชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาหาเงินจุนเจือปากท้องในสยาม งานสื่อผสมของ สมัคร์ กอเซ็ม ชุด Ethnography of the House, Aliens in Adam’s Apple, และ Animal Man Show ที่บอกเล่าการเคลื่อนย้ายของชาวไทใหญ่ที่ต้องพลัดถิ่นมาค้าบริการในเชียงใหม่ นอกจากข้ามเส้นที่แบ่งระหว่างพื้นที่ของรัฐชาติแล้ว ภาพถ่ายชุด Nannies ของดวงตะวัน ศิริคูณ จะพาผู้ชมไปสำรวจความพร่าเลือนของอัตลักษณ์คนทำงานจากต่างจังหวัดเมื่อต้องก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ที่เป็นบ้านของ ‘คนอื่น’

เช่นเดียวกันกับงานศิลปะจัดวางโดย โยษิตา พานิชเจริญ ชุด Homemaker Creed ที่ทำให้เราเข้าใจถึงอารมณ์ของผู้หญิงที่ถูกกรอบทางเพศกำหนดไว้ให้เป็นเพียง เมีย และ แม่ ซึ่งปมที่งานชุดนี้ทิ้งไว้ให้เราคิดก็คล้ายกับคำถามของ พันเลิศ ศรีพรหม ศิลปินข้ามเพศหนึ่งเดียว ต่อกระบวนการการก้าวข้ามทางจิตวิญญาณผ่านเครื่องนุ่งห่ม ที่ถูกควบคุมโดยสถาบันสงฆ์และสงวนไว้ให้เพียงเพศชายตามกำเนิดเท่านั้น นิทรรศการกลุ่มปิดท้ายด้วยศิลปะการแสดงจาก ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ที่ฉายให้ผู้ชมเห็นถึงชีวิตประจำวันของแรงงานที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากผลิตภัณฑ์ ‘ประจำเดือน’ ที่สวนทางกับค่าครองชีพ

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาแรงงานและหนทางสู่การเป็นรัฐสวัสดิการอันริบหรี่ในไทยนั้น ส่วนหนึ่งมีที่มาจากการที่กลุ่มแรงงาน ไม่เห็นความเชื่อมโยงของตนกับผู้ใช้แรงงานอื่น ทำให้ลืมตระหนักถึงอำนาจต่อรองที่ตนมี ทั้งนี้เป็นเพราะ ‘ภาพจำ’ ของแรงงานที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักนั้นฉายให้เห็นเพียงภาพของผู้ใช้ ‘แรงกาย’ ที่มาจากชนชั้นรากหญ้าเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว “พวกเราทุกคนคือแรงงาน” ดังที่ คาร์ล มากซ์ นักปรัชญาชาวเยอรมันได้เคยกล่าวไว้ แม้งานบางอย่างจะยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงาน แต่ก็ล้วนแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ และค่าเสียโอกาสของคนทำงานด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับโครงการ "Start! Art Curator" เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ SAC Academy (เอส เอ ซี อคาเดมี่) ส่งเสริมการศึกษาด้านงานพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ มีจุดประสงค์เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ได้เข้ามาเรียนรู้และปฏิบัติงานจริง สร้างประสบการณ์ในหน้าที่ภัณฑารักษ์เพื่อเป็นก้าวแรกสู่วงการศิลปะ โดยทีมภัณฑารักษ์ผู้ผ่านการคัดเลือกโครงการ Start! Art Curator ซีซั่น 2 ได้แก่ กูกสิณา กูบาฮา, ตรีธิดา ไตรสิงห์, และ ปณต ศรีนวล นอกจากจะได้มีโอกาสได้พัฒนานิทรรศการของตนเองแล้ว ตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการยังมีการอบรมและกิจกรรม Workshop พิเศษอื่น ๆ ที่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้และพัฒนาความสามารถจากมืออาชีพ พร้อมๆ กับร่วมสร้างสรรค์นิทรรศการและจัดแสดงจริง นิทรรศการชุดนี้จึงเปรียบเสมือนบทสรุปของการเดินทางและเป็นก้าวแรกสู่วงการศิลปะในฐานะภัณฑารักษ์อย่างเต็มตัว

นอกจากนิทรรศการแล้ว ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ยังได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์กิจกรรมประกอบนิทรรศการ (Additional Program) โดยประเดิมกิจกรรมแรกในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 กับการเสวนาในหัวข้อ "เมื่อสื่อนำเสนอภาพแรงงานไม่ครอบคลุม?" โดย ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปรียานันธ์ ธำรงค์ธนกิจ บรรณาธิการจาก GendersMatter ดำเนินรายการโดย ปณต ศรีนวล สมาชิกภัณฑารักษ์รุ่นใหม่จากโครงการ Start! Art Curator รุ่นที่ 2 ร่วมวิเคราะห์สัญญะผ่านศิลปะ กับประเด็นทางประวัติศาสตร์และสังคมด้านแรงงานที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงในสื่อกระแสหลัก ประเด็นจากการนำเสนอจากนิทรรศการ "Crossing the Lines: แรงงานข้ามเส้น" โดยถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook: SAC Gallery หรือ รับฟังได้จาก Twitter Space: @GendersMatter

 

 

นิทรรศการ Crossing the Lines: แรงงานข้ามเส้น เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 16 ก.ค. 2565 เปิดบริการทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00 น. - 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ อาคารหอศิลป์ ชั้น 2 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) กรุงเทพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net