Skip to main content
sharethis

ฝ่ายสิทธิฯ สมาคมนักข่าวฯ และผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ เข้าพบ ‘น.1’ แนะนำปลอกแขนสื่อชุดใหม่ พร้อมหารือมาตรการปกป้องเสรีภาพนักข่าวในที่ชุมนุม ด้าน ผบช.น. ยันเปิดให้สื่อพลเมืองทำหน้าที่ แต่ขออย่ายุยงปลุกปั่น 

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 11 มิ.ย. 2565 มีการชุมนุมประท้วงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่ใต้ทางด่วน แยกสามเหลี่ยมดินแดง และุเจ้าหน้าที่มีการเรียกให้สื่อมวลชน แสดงบัตร ‘สื่อ’ และจับกุมสื่ออิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ TJA รายงานวันนี้ (14 มิ.ย.) นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalist Association - TJA) เปิดเผยว่า วานนี้ (วันที่ 13 มิถุนายน 2565) เขาและตัวแทนจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เข้าหารือกับคณะผู้แทนตำรวจนครบาล ณ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมี พล.ต.ต.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและโฆษก ให้การต้อนรับ 

สำหรับการหารือ นับเป็นการพูดคุยร่วมกันระหว่าง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อกับ บช.น. ครั้งแรกของปีนี้ ต่อเนื่องจากการหารือครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ย. 2564 โดยคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน

ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อแจ้งให้คณะผู้แทน บช.น.รับทราบเกี่ยวกับปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อชุดใหม่ที่ได้เริ่มทยอยแจกให้กับสำนักข่าวต่างๆ ที่มีภารกิจรายงานข่าวในสถานการณ์ชุมนุม โดยปลอกแขนชุดใหม่ (สีฟ้า) มีความคงทนถาวรและสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นกว่าปลอกแขนสีขาวชุดเดิม อีกทั้งยังมีเลขหมาย (serial number) เฉพาะสำหรับแต่ละสำนักข่าว ป้องกันการปลอมแปลงหรือสวมรอย 

ล่าสุด การลงทะเบียนครั้งที่ 2 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และจะมีการเปิดลงทะเบียนรอบที่ 3 เร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอความร่วมมือ บช.น.งดเว้นการจัดทำปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อขึ้นเอง เพราะจะซ้ำซ้อนกับองค์กรวิชาชีพสื่อ และถ้าหากผู้สื่อข่าวใช้ปลอกแขนของทางตำรวจ อาจจะทำให้กลุ่มประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเกิดความไม่ไว้วางใจหรือเข้าใจผิดกับสื่อมวลชนได้ 

ด้านคณะผู้แทน บช.น. ระบุว่าจะประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรับทราบเกี่ยวกับปลอกแขนสัญลักษณ์ชุดใหม่ พร้อมระบุว่าจะทาง บช.น.ไม่มีการออกปลอกแขนสื่อเอง

บทบาทของสื่อพลเมือง-ปชช.

คณะผู้แทน บช.น. แสดงความเห็นว่า ในการชุมนุมการเมืองช่วงหลังมานี้ มีการเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองจำนวนมากในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook Live, YouTuber ฯลฯ รวมถึงประชาชนที่ใช้กล้องมือถือรายงานสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งทางผู้แทน บช.น.มีความกังวลว่า การรายงานสดบางส่วนมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการยุยงหรือปลุกปั่น บางครั้งก็เผยแพร่ข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 

สื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่การชุมนุมที่แยกดินแดง

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.สำราญ ระบุว่า เขาเข้าใจและเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งยืนยันว่าสื่อพลเมืองและประชาชนสามารถรายงานภาพหรือข่าวเหตุการณ์จากพื้นที่การชุมนุมได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ตนก็ขอความร่วมมือทั้งสื่อพลเมืองและประชาชนที่รายงานเหตุการณ์ งดเว้นการใช้ถ้อยคำปลุกระดมหรือปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง หรือการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย

ด้านตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อระบุว่าเห็นตรงกับ ผบช.น.ในเรื่องนี้ เพราะการรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนย่อมกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนที่มีปลอกแขน สื่อมวลชนที่ไม่มีปลอกแขน สื่อพลเมือง ประชาชนทั่วไป ฯลฯ นอกจากนี้ การที่มีหลายฝ่ายถ่ายภาพหรือเผยแพร่ภาพเกี่ยวกับการชุมนุมและการปฏิบัติงานของตำรวจ เป็นการช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับทุกฝ่าย ถ้าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ ภาพที่ปรากฏออกมาก็จะเป็นเครื่องช่วยยืนยันให้กับเจ้าหน้าที่เอง 

ทั้งนี้ พล.ต.ต.สำราญ แสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าหากองค์กรวิชาชีพสื่อมีการจัดอบรมให้สื่อพลเมือง มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักจริยธรรมสื่อและสามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างเป็นมืออาชีพขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวสื่อพลเมืองเองและผู้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ในส่วนนี้ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพ ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าวฯ ก็ได้เคยจัดงาน “First Meet” เพื่อพบปะและทำความรู้จักกับสื่อพลเมืองมาแล้วรอบหนึ่ง ปัจจุบันกำลังมีแผนงานเตรียมจัดคอร์สอบรมการทำข่าวอย่างมืออาชีพและอยู่บนพื้นฐานจริยธรรม จะเปิดรับทั้งสื่อพลเมืองและนักข่าวภาคสนามที่สนใจ สำหรับรายละเอียดจะประชาสัมพันธ์ในโอกาสถัดไป

สวัสดิภาพของสื่อในพื้นที่ชุมนุม

ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ แสดงความกังวลว่า ผู้สื่อข่าวในพื้นที่การชุมนุมยังมีความเสี่ยงที่จะรับอันตรายหรือบาดเจ็บในกรณีที่เจ้าหน้าที่เดินหน้าใช้แก๊สน้ำตา การฉีดน้ำ กระสุนเหล็กหุ้มยาง (กระสุนยาง) โดยเฉพาะถ้าหากมีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยที่ไม่มีการแจ้งเตือนอย่างชัดเจน หรือไม่ให้โอกาสนักข่าวได้ถอยร่นทันเวลาหลังเตือน อาจทำให้นักข่าวได้รับบาดเจ็บหรือกล้องเสียหายได้ บางมาตรการของตำรวจควรปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะการใช้เลเซอร์ ที่เสี่ยงทำให้เลนส์กล้องถ่ายรูปเสียหายได้

ภาพการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน #ม็อบ11มิถุนา2565

ด้านคณะผู้แทน บช.น. ระบุว่า ตำรวจจะใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเฉพาะมีเหตุหรือภัยต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งปกติจะพยายามแจ้งเตือนอย่างชัดเจนล่วงหน้าทุกครั้ง เว้นแต่ถ้าหากมีเหตุคับขันหรือเฉพาะหน้าจริงๆ คงไม่สามารถเตือนก่อนได้ อย่างไรก็ตาม ทาง บช.น.จะนำเอาข้อคิดเห็นไปพิจารณาปรับรูปแบบ เช่น อาจจะมีการชูป้ายขนาดใหญ่เพื่อเตือนก่อนใช้มาตรการต่างๆ 

ทั้งตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อและคณะผู้แทน บช.น.ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ safe zone สำหรับสื่อมวลชน ที่อยู่ห่างจากแนวปะทะที่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายระยะหนึ่ง แต่ก็อยู่ในบริเวณที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์พอที่จะให้นักข่าวและช่างภาพสามารถเก็บภาพได้ โดยแนวคิดนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวสามารถเลือกใช้ได้ 

แต่ถ้าหากสื่อมวลชนเลือกที่จะออกจากบริเวณ safe zone ไปเก็บภาพในส่วนอื่นๆ ก็ย่อมทำได้เช่นกัน แต่ควรใช้ความระมัดระวัง มีการอบรมฝึกฝนเกี่ยวกับหลักการทำงานอย่างปลอดภัยจากต้นสังกัด และใช้อุปกรณ์เซฟตีต่างๆ อย่างรัดกุมเพื่อลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บหรือถูกลูกหลงให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง ไม่แสดงท่าทีคุกคามหรือจงใจกีดกั้นการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม

การตรวจสอบตัวตนสื่อมวลชน

ท้ายสุดนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ให้ข้อมูลกับคณะผู้แทนบช.น.ว่า ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เรียกตรวจ “บัตรสื่อ” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริง อาชีพสื่อมวลชนในไทยไม่ได้เป็นอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต ต่างจากทนายหรือแพทย์ จึงไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดมีหน้าที่หรืออำนาจออกใบอนุญาตให้สื่อ จึงไม่มี “บัตรสื่อ” แต่อย่างใด ส่วน "บัตรกรมประชาสัมพันธ์" ก็ไม่ได้เป็น "บัตรสื่อ" เช่นกัน เพราะมีไว้สำหรับการทำข่าวในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีเป็นหลัก ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่จึงไม่มีบัตรประชาสัมพันธ์

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการยืนยันสถานะภาพการเป็นนักข่าว ตำรวจสามารถเรียกขอดูเอกสารได้ 2 ประเภท นั่นคือ (1) บัตรพนักงานหรือบัตรยืนยันตัวตนที่สำนักข่าวต้นสังกัดออกให้ และ (2) ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน ซึ่งออกโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ

อย่างไรก็ตาม การเรียกตรวจสอบดังกล่าว ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรและจำเป็นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่ควรเรียกตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลในลักษณะที่มีเจตนาคุกคามสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

การประสานงานในอนาคต

เมื่อการหารือสิ้นสุดลง ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงว่าจะประสานข้อมูลและสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดในลำดับถัดไป นอกจากนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อยังได้แนะนำให้ บช.น.พูดคุยกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทในการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุมอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสื่อพลเมือง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน และลดการกระทบกระทั่งระหว่างกันในอนาคต 

เอกสารที่ บช.น. แถลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net