Skip to main content
sharethis

ภาคีเซฟบางกลอย รวมตัวที่สกายวอล์ค ปทุมวัน จัดกิจกรรมครบรอบ 8 ปี ทวงคืนผืนป่าของ คสช. ชี้ปัญหาการละเมิดสิทธิที่ดินทำกินชาวชาติพันธ์ุ จนตัวเลขดำเนินคดีพุ่งสูงกว่า 46,000 คดี พร้อมชวน ปชช.ตั้งคำถามถึงความชอบธรรม

 

14 มิ.ย. 2565 สุรเมธ น้อยอุบล ผู้สื่อข่าวพิเศษ ถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และยูทูบ ช่อง Friends Talk วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ภาคีเซฟบางกลอย ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวชาติพันธุ์บางกลอย จ.เพชรบุรี นัดทำกิจกรรมครบรอบ 8 ปี นโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อชวนสังคมตั้งคำถาม คนเมืองได้อะไรจากนโยบายไล่คนออกจากป่า และการประกาศสิทธิเหนืออาณาเขตของชุมชนในเขตป่าที่อยู่มาก่อนเป็นเรื่องที่ชอบธรรมจริงหรือ 

พชร คำชำนาญ ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย กล่าวปราศรัยว่า ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 แต่ผ่านไปไม่ถึงเดือน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2557 รัฐบาลเผด็จการมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ที่เรียกว่านโยบายทวงคืนผืนป่า อ้างว่าเป็นการทวงผืนป่า เพื่อคนในเมือง 

"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสนธิกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าไปในพื้นที่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุ และเข้าไปในพื้นที่ของพี่น้องที่อยู่ในเขตป่าที่ถูกรัฐไทยประกาศทับลงไป …พวกเขาถูกข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ รวมทั้งถูกจับกุมดำเนินคดี บางรายชีวิตต้องล่มสลาย บางคนต้องฆ่าตัวตาย บางคนถูกอุ้มหายพบเป็นเพียงเถ้ากระดูกอยู่ในพื้นที่ป่าที่เป็นพื้นที่บ้านของตัวเอง" พชร กล่าว 

46,000 คดี จากนโยบาย คสช.

พชร กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ คสช. ประกาศใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี 46,000 คดี ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์รูปแบบต่างๆ เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ 

"ทั้งหมดนี้คือพี่น้องที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่มาก่อน แต่รัฐไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติ และเขตป่าสงวนลงไปบนหัวของเขา ทับลงไปยังพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่หลุมฝังศพของเขา และกล่าวหาว่า พวกเขาคือผู้บุกรุกป่า" พชร กล่าว 

พชร ระบุต่อว่า ในวันครบรอบ 8 ปี นโยบายทวงคืนผืนป่า พวกเขาอยากตั้งคำถามกับคนในเมืองว่านโยบายนี้ได้ทวงคืนผืนป่า เพื่อคนกรุงจริงหรือไม่ เพราะว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีเพียงคนจน และคนชาติพันธ์ุที่ต้องตายทั้งเป็น

“นี่เป็นมรดกของสงครามเย็น นโยบายการประกาศอุทยานแห่งชาติ เกิดขึ้นมาเพื่อจัดการพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่รัฐบาลทหารหลอกลวง การทวงคืนผืนป่า จึงเป็นการตอบสนองเพียงตัณหาของคนชั้นกลาง และกลุ่มคนที่ถืออำนาจอยู่ในประเทศนี้” พชร กล่าว 

พชร ระบุว่า เขาอยากชวนทุกคนในพื้นที่นี้ และกำลังติดตามถ่ายทอดสดในช่องทางต่างๆ ให้ตั้งคำถามถึงนโยบายนี้ และหลังจากนี้จะมีการทำกิจกรรม และการทำโพล จึงขอเชิญประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน 

บรรยากาศการทำกิจกรรมโพลสำรวจความเห็น

หลังจากนั้น พชร อ่านแถลงการณ์ส่งสาส์นถึงรัฐบาลทหาร หน่วยงานด้านอนุรักษ์ และกลุ่มผู้มีอำนาจ เพื่อบอกว่าตอนนี้ประชาชน และคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า จะไม่ยอมตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป 

พชร กล่าวต่อว่า อนาคตจะมีการขับเคลื่อนประเด็นปัญหานี้ผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรรมาธิการที่ดิน ทั้งมีเรื่องเกี่ยวกับคดีความ 46,000 คดี ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนไม่สามารถกลับไปทำกินที่ดินของตัวเองได้ เนื่องจากมีคดีความค้างคาอยู่ บางพื้นที่ประชาชนมีที่ดินทำกินอยู่แค่ผืนเดียวจากบรรพบุรุษ ตอนนี้ช่วงเวลา 7 ปี กลายเป็นเกษตรไม่มีทั้งที่ซุกหัวนอน และที่ดินทำกิน ดังนั้น อันดับแรก ต้องรีบปลดล็อกคดีความที่เกิดขึ้น และหาทางคืนที่ดินคืนสิทธิให้ประชาชนต่อไป 

ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย กล่าวต่อว่า ประการต่อมา ทำเนียบรัฐบาล ครม. และกระทรวงทรัพย์ฯ ซึ่งภาคีเซฟบางกลอย มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วจนถึงตอนนี้โดยเฉพาะกระทรวงทรัพย์ ฉะนั้น กระทรวงทรัพย์แนวคิดการจัดการป่าไม้ทั้งหมดต้องถูกปฏิรูป และเปลี่ยนเป็นการจัดการป่าไม้ที่เห็นประชาชน และประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในจัดการป่าไม้ 

ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า กำหนดการต่อจากนี้จะมีการแจกเอกสารที่ให้ประชาชนเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากหลายคนอาจยังไม่รู้จักนโยบายนี้ดีพอ รวมถึงจะมีการจัดกิจกรรมทำโพลรวบรวมความคิดเห็น คำถามที่ว่า “คุณคิดว่าคนอยู่กับป่าได้ไหม” และมีกิจกรรมที่ภาคีเซฟบางกลอยจะไปยืนถ่ายรูปตามจุดต่างๆ

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ภาคี Save บางกลอย

เรื่อง มรดกบาป คสช. 8 ปีทวงคืนผืนป่า ฆ่าประชาชน

ผืนดินลุกเป็นไฟ ป่าเขาที่เคยร่มเย็นเข้าใกล้คำว่าขุมนรก หลังรัฐบาลทรราชนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนวันที่ 14 มิถุนายนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รัฐบาลเผด็จการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” กล่าวอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่าจากนายทุน เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งได้มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรฯ หรือ แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ

นโยบายที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่ถูกรัฐประกาศทับ อันปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกินและถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี อยากชวนพวกเราตั้งคำถามกันสักนิด ว่าในกว่า 4 หมื่นคดีนั้น มีนายทุนและนักการเมืองอยู่ซักกี่คน เพราะเท่าที่เห็นก็มีแต่ประชาชนคนจนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องสูญเสียที่ดินและตายทั้งเป็น กี่ชีวิตแล้วที่ต้องล่มสลายไปเพราะนโยบายเผด็จการ

พวกคุณเคยตระหนักหรือไม่ นโยบายขายฝันสวยหรูว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการทวงคืนผืนป่าให้คนในเมืองนั้น เป็นเพียงภาพมายาคติที่คนเมืองถูกรัฐหล่อหลอมและหลอกลวงให้เชื่อ กล่าวคือ พื้นที่ป่าที่รัฐไทยเข้าไปทวงคืนนั้นไม่ใช่ป่าบริสุทธ์ผุดผ่องมาจากสวรรค์หรือพระเจ้าองค์ใดประทานมาให้ แต่คือผืนดินที่มีผู้คนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจะถูกนิยามว่าเป็นป่าตามกฎหมาย เป็นการพรากสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นแนวคิดการประกาศสิทธิเหนืออาณาเขตที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดด้านความมั่นคง พวกมันยังคงล่าอาณานิคมดังเช่นยุคจักรวรรดินิยม รวมศูนย์อำนาจการปกครองพื้นที่ นอกจากเป็นมรดกบาปจากการรัฐประหาร คสช. แล้ว มันยังเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นอีกด้วย

ในวาระครบรอบ 8 ปีนโยบายอัปยศของรัฐบาลอัปยศ พวกเราขอประณามหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อิงแอบอำนาจเผด็จการทหารในการสร้างกฎหมายและนโยบายปกครองป่า และขอเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายภายใต้แผนการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด แล้วเปิดให้ประชาชนได้สร้างกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ในนามผู้ถูกกดขี่และผู้อยู่อาศัย ทำกินในเขตป่าที่รัฐประกาศทับด้วยตัวเอง

2. สภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบงบประมาณและแผนการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2566 ที่ยังคงปรากฏว่ามีแผนแม่บทป่าไม้ฯ จากปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งในการสนองความปรารถนาของชนชั้นปกครองที่อยากมีตัวเลขพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์

3. ต้องผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ที่เสนอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม โดยให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณากลั่นกลองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน คดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน โดยใช้ระบบไต่สวนลูกขุนในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยการปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน

4. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวต้นเรื่องของแผนทวงคืนผืนป่าระลอกใหม่ ต้องลาออก และต้องเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อคืนสิทธิสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง

เราขอย้ำว่า 8 ปีทวงคืนผืนป่า คนเมืองไม่เคยได้ป่า มีแต่คราบน้ำตาประชาชน มันคือ 8 ปีแห่งความทุกข์ทวี หาใช่ความสุขตามที่เขาหลอกลวง และเรายืนยันว่าจะต้องถอดรื้อและปลดแอกมรดกของสงครามเย็นและมรดก คสช. ทั้งหมดออกจากกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ หลังจากนี้เราจักเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อทวงคืนผืนป่า และทวงคืนที่ดินสู่ราษฎรต่อไป

ภาคี Save บางกลอย
14 มิถุนายน 2565
ณ สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ

 บรรยากาศการเดินรอบบริเวณแยกปทุมวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net