Skip to main content
sharethis

เลขาธิการคณะก้าวหน้ารณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นที่ "สิงห์บุรี - ชัยนาท"  มั่นใจอำนาจ-งาน-เงิน-คน มาให้ท้องถิ่นประชาชนได้ประโยชน์ - ชี้การจัดทำบริการสาธารณะต้องตีความใหม่รวมเรื่อง "เศรษฐกิจ" ด้วย เชื่อเพิ่มศักยภาพ สินค้าจีไอของทั้งสองพื้นที่ได้

14 มิ.ย.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นที่ จ.สิงห์บุรี โดยกล่าวในหัวข้อ "คนสิงห์ได้อะไร ปลดล็อกท้องถิ่น ยุติรัฐราชการรวมศูนย์" ว่า สิงห์บุรีได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งน่าจะเคยได้ยินกันคือการแย่งน้ำทำนา ปัญหานี้เกิดจากระบบการชลประทานที่จะเอาน้ำเข้าสู่ที่ดินเพื่อการเพาะปลูก มีหน่วยงานรับผิดชอบเต็มไปหมด ทำให้ไม่มีเอกภาพ แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ว่า ปัญหาจัดการน้ำในสิงห์บุรีให้เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสิงห์บุรี เรื่องระบบชลประทานในจังหวัดไปสู่ที่ดินของเกษตรกรก็จะทำได้ง่ายขึ้น แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ อีกหนึ่งอย่างที่ขึ้นชื่อของจังหวัดคือปลาช่อนแม่ลา ซึ่งตอนนี้ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ ที่จะทำให้กระบวนการผลิต สินค้ามีมาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่า คุณภาพ และใครจะมาอ้างว่าเป็นปลาช่อนแม่ลาโดยไม่มีมาตรฐานนี้ไม่ได้ แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันตรงลำแม่น้ำลา ไม่สามารถตั้งโรงงานการผลิตได้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรจะเป็นในการผลิตปลาช่อนแม่ลาก็ควรจะใช้ตรงแม่น้ำลา เพาะพันธุ์ ผลิตตรงบริเวณนี้ เพื่อให้มีเรื่องราว มีจุดขาย แต่ทว่าการจะออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ต้องขอใบอนุญาตหลายใบหลายหน่วยงาน ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้ท้องถิ่นสิงห์บุรีดูแลทั้งหมด เพียงแต่กำหนดเรื่องมาตรฐาน ทุกอย่างก็จบและง่ายขึ้น สร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสิงห์บุรี นี่คือสิ่งที่บอกว่าการกระจายอำนาจเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน

ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า เรื่องของการกระจายอำนาจ ได้รับการรับรองไว้ในในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยหลักการสำคัญคือ 1.มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แยกออกมาจากรัฐราชการส่วนกลาง 2.ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ 3. ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่เป็นของตัวเอง 4.ท้องถิ่นมีงบประมาณ มีความเป็นอิสระในการใช้งบประมาณของตัวเอง 5.ท้องถิ่นมีบุคคลากรเป็นของตัวเอง และ 6. มีหลักการกำกับดูแลโดยส่วนกลางที่ไม่ใช่การสั่งการบังคับบัญชา ทั้งหมดนี้ จากที่เราเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ความคืบหน้ากลับไปไม่ถึงไหน ที่ได้มาก็แค่มีการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นแล้ว มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่เรื่องของอำนาจหน้าที่เป็นของตัวเอง เรื่องงบประมาณ เรื่องบุคคลากร เรื่องหลังการกำกับดูแลนั้นยังไม่เกิดขึ้น และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามารณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยข้อเสนอของเรา ในเรื่องของอำนาจนั้น เสนอให้การจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นของท้องถิ่นทุกเรื่อง ยกเว้นที่กฎหมายระบุ เช่น การเงินการคลัง ความมั่นคง การต่างประเทศ ให้รัฐบาลส่วนกลางทำ รวมถึงเรื่องที่หากท้องถิ่นไม่มีศักยภาพก็สามารถร้องขอส่วนกลางได้ เพราะตอนนี้ ถ้าไปดูในระดับจังหวัด จะมีหน่วยงาน 7 หน่วย จากกระทรวงมหาดไทย และ 28 หน่วยงานจากกระทรวง กรมต่างๆ ที่มามีอำนาจ ที่ทุกวันนี้ผู้บริหารท้องถิ่นจะทำอะไรต้องไปขออนุญาต ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปแก้ไขเอาอำนาจให้ท้องถิ่น

"สำหรับเรื่องงบประมาณ รัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นว่า ต้องเพิ่มให้ท้องถิ่นเรื่อยๆ ซึ่งมาจนถึงวันนี้สัดส่วนอยู่ที่ส่วนกลาง 65% และท้องถิ่น 35 % แต่ความตั้งใจตามข้อเสนอของเราคือ ต้องปรับเป็น 50 ต่อ 50 เพราะท้องถิ่นที่มีอำนาจ ภารกิจหน้าที่ที่เยอะขึ้นจะได้ไม่ต้องไปร้องของบประมาณจากส่วนกลาง จนทำให้อำนาจส่วนกลางยังคงขี่คอผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ นอกจากนี้ ต้องเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ ได้ ไม่ใช่แค่ภาษีตัวเล็กๆ อย่างภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน เท่านั้น นอกจากนี้ เราเสนอให้ท้องถิ่นสามารถออกพันธบัตรของเมือง รวมถึงกู้เงินเพื่อมาจัดทำบริการสาธารณะให้ประชาชนได้ด้วย และอีกข้อเสนอที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องไม่ใช่แค่เป็นการเอาระบบราชการมาไว้ที่ท้องถิ่น ดังนั้น เราจะต้องสร้างกระบวนการที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เช่น สัญญาจัดซื้อจัดจ้างต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รู้ทั้งหมด การประชุมสภาท้องถิ่นต้องถ่ายทอดสด เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเอาเรื่องเหล่านี้มาไว้ในที่แจ้ง การทุจริตจะลดลงโดยปริยาย เพราะประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบ ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ นอกจากนี้ งบประมาณท้องถิ่น เราเสนอให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเอาไปทำอะไรโครงการอะไรในท้องถิ่นด้วย และเพื่อไม่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นกับสถาท้องถิ่นที่เป็นพวกเดียวกันไม่มีการตรวจสอบกัน ข้อเสนอเราคือการมีสภาพลเมืองท้องถิ่นที่มาจากประชาชน มีหน้าที่ร่วมเสนอแนะ ตรวจสอบ การทำงานของผู้บริหารและสภาท้องถิ่นด้วย" ปิยบุตร กล่าว

ขณะอีกเวทีที่ จ.ชัยนาท ในหัวข้อ "คนชัยนาทได้อะไร ปลดล็อกท้องถิ่น ยุติรัฐราชการรวมศูนย์" ปิยบุตร กล่าวตอนหนึ่งว่า คำว่าการจัดทำบริการสาธารณะ และบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น ควรต้องตีความใหม่ว่าไม่ใช่เป็นแค่เรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางดี ซึ่งที่ผ่านมามีแต่เรื่องการสร้างการซ่อมวนไป เท่านั้น แต่ยังต้องคิดถึงเรื่องทางเศรษฐกิจด้วย อย่างที่ อ.วีระศักดิ์ เครือเทพ จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการกระจายอำนาจ ใช้คำว่า 'ปรับบทบาทให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการระบบเศรษฐกิจชุมชน' ซึ่งเรื่องนี้ อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center จากพรรคก้าวไกล เคยมีงานศึกษาไว้บอกว่า การกระจายอำนาจสามารถช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้ โดยต้องเพิ่มอำนาจนี้ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น เข้าไปแก้ปัญหาเรื่องตลาด เรื่องราคาสินค้าการเกษตรได้เองโดยตรง ไม่ต้องรอรัฐบาลกลาง ไม่ต้องรอสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ยกตัวอย่าง ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งเป็นสินค้าจีไอ เป็นผลไม้เลื่องชื่อของจังหวัดชัยนาท ปัญหาที่ผ่านมาคือเรื่องของการที่บางปีมีราคาตกต่ำ ที่ผ่านมาเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นเข้าไปช่วยเหลือก็จะถูกองค์กรตรวจสอบตีความว่าไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งข้อเสนอของเราคือต้องแก้ไขเรื่องนี้ ให้ท้องถิ่นสามารถที่จะไปจัดการเรื่องการตลาด แก้ปัญหาราคาสินค้าให้เกษตรกรได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net