Skip to main content
sharethis

เมื่อต้น มิ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ (Ad Hoc Committee) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติที่กรุงเวียนนา เพื่อร่างสนธิสัญญาอาชญากรรมไซเบอร์ฉบับใหม่ แต่ข้อเสนอบางอย่างต่อร่างฉบับนี้กลับดูจะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และขัดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในสายตาขององค์กรสิทธิ

Electronic Frontier Foundation (EFF) ระบุเมื่อ 8 มิ.ย. ว่ามีประเทศที่เสนอให้บรรจุความผิดเกี่ยวกับการพูด (Speech-related offences) เข้าไปในสนธิสัญญาอาชญากรรมไซเบอร์กว่า 15 ประเทศ ได้แก่ อิยิปต์ จอร์แดน รัสเซีย เบลารุส บุรุนดี จีน นิการากัว ทาจิกิสถาน คูเวต ปากีสถาน อัลจีเรีย ซูดาน บูร์กีนาฟาโซ อินเดีย และแทนซาเนีย ทั้งนี้ ยังไม่พบประเทศไทยอยู่ในรายชื่อ

ประเทศเหล่านี้ หากไม่เสนอให้ปราบปรามคำพูดที่อ้างว่าสร้างความเกลียดชัง ก็เสนอให้ปราบปรามเนื้อหาที่อ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จ หรือมีลักษณะเหยียดชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของข้อเสนอกลับมีลักษณะที่คลุมเครือ นอกจากองค์กรสิทธิจะเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือประเด็นหลักของอาชญากรรมไซเบอร์ ข้อเสนอเหล่านี้ยังขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย

ตัวอย่างเช่น จอร์แดน ซึ่งเป็นระบอบที่กษัตริย์มีอิทธิพลครอบงำการเมืองอย่างมาก เสนอให้กำหนดโทษอาญากับ "คำพูดสร้างความเกลียดชัง หรือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นศาสนาหรือรัฐโดยใช้เครือข่ายข้อมูลหรือเว็บไซต์" ด้าน อียิปต์ ซึ่งปกครองแบบอำนาจนิยมมาตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2556 เสนอให้สนธิสัญญาห้ามการ "เผยแพร่ความขัดแย้ง การยุยงปลุกปั่น ความเกลียดชัง การเหยียดชาติพันธุ์"

รัสเซีย เสนอความเห็นในนามของ เบลารุส จีน นิการากัว และทาจิกิสถาน เรียกร้องให้สนธิสัญญาห้ามการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเผยแพร่หรือเข้าถึงเนื้อหาที่ "ชักชวนให้กระทำการผิดกฎหมาย โดยมีแรงจูงใจจากความเกลียดชัง ความเป็นศัตรู การรณรงค์ หรือการให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อุดมการณ์ สังคม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา"

นอกจากนี้ รัสเซียและคณะยังเสนอให้สนธิสัญญาห้ามการผลิตหรือใช้ข้อมูลดิจิตัลโดยมีเจตนาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ใช้ และอาจนำไปสู่อันตราย สอดคล้องกับ แทนซาเนีย ที่ผู้นำรัฐบาลอยู่ในอำนาจมากว่าครึ่งศตวรรษ และสั่งให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้เห็นต่างก่อนการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว (2564) จนผู้นำฝ่ายค้านต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศ เสนอให้สนธิสัญญาฉบับนี้ห้าม "การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ"

การประชุมครั้งนี้มีผู้เสนอความเห็นต่อร่างสนธิสัญญาทั้งหมด 37 ประเทศ โดยการปรึกษาหารือเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2 เมื่อ30 พ.ค.- 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมขึ้นทั้งหมด 6 ครั้ง สถานที่จัดสลับกันระหว่างกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเสร็จแล้วจะมีการนำร่างสนธิสัญญาส่งให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์กรสหประชาชาติพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 78 ในวันที่ 12 ก.ย. 66

นอกจากเปิดให้รัฐต่างๆ แสดงความเห็นแล้ว คณะกรรมการเฉพาะกิจยังเปิดให้องค์กรที่ไม่ใช่รัฐและผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นด้วย ทั้งนี้ EFF และองค์กรสิทธิกว่า 130 องค์กรได้ยื่นจดหมายต่อคณะกรรมการเพื่อเตือนแล้วว่ากฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีนักข่าว ผู้เปิดโปงการทุจริต ผู้เห็นต่างทางการเมือง นักวิจัยด้านความมั่นคง ประชาคม LGBTQ และผู้พิทักษ์สิทธิมนุษชนได้

ไม่ใช่สาระสำคัญของอาชญากรรมไซเบอร์

EFF ระบุว่านิยามของอาชญากรรมไซเบอร์ควรครอบคลุมเฉพาะการกระทำผิดที่เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เป็น "เป้าหมายโดยตรงหรือเครื่องมือของการอาชญากรรมโดยตรง และไม่สามารถดำรงอยู่ได้นอกระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น" เช่น การโจรกรรมข้อมูล การเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการใช้อุปกรณ์ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น

การกระทำที่เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้เพียงบางครั้ง โดยอาจสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ ก็ได้ เป็นเพียงการกระทำที่อาจได้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ใช่พุ่งเป้าหรือมุ่งคุกคามระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรง กรณีที่มีลักษณะแบบนี้ เช่น การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง จึงไม่ถูกรวมอยู่ในนิยามของอาชญากรรมไซเบอร์

ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

นอกจากจะไม่ตรงวัตถุประสงค์แล้ว การบรรจุความผิดเกี่ยวกับการพูดยังเป็นการขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย สำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติระบุเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมาว่าไม่ควรมีการบรรจุความผิดเกี่ยวกับการพูดในสนธิสัญญาอาชญากรรมไซเบอร์ในอนาคตอีก เพราะที่ผ่านมากฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ถูกใช้เพื่อลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

คำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) ยังไม่มีนิยามที่ตรงกันเป็นสากล จึงไม่มีสถานะรับรองอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว คำพูดสร้างความเกลียดชังไม่ได้จำเป็นต้องผิดกฎหมายเสมอไป และต่อให้ผิดกฎหมายก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกำหนดโทษทางอาญา เพราะสามารถใช้โทษทางแพ่งหรือแนวทางอื่นๆ ได้ การกำหนดโทษทางอาญาควรถูกใช้ภายใต้สถานการณ์ที่ร้ายแรงจริงๆ แล้วเท่านั้น

Article 19 องค์กรสิทธิด้านเสรีภาพการแสดงออกระบุว่า กรณีสุดโต่งของการพูดสร้างความเกลียดชังที่อาจออกกฎหมายกำหนดโทษความผิดทางอาญาได้ คือการพูดเพื่อยุยงปลุกปั่นให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการพูดเฉพาะประเภทที่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง เป็นศัตรู หรือเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ EFF ระบุว่าการรับมือกับกรณีเหล่านี้มีแนวทางกำกับไว้อย่างเพียงพอแล้วตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น มาตรา 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐผู้ลงนามด้วยระบุว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจะทำได้ ต่อเมื่อ (1) ถูกบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมาย (2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเป้าอันชอบธรรม (3) มีสัดส่วนเหมาะสมต่อเป้าหมายอันชอบธรรมดังกล่าว และ (4) จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น

มาตรา 20(2) ของ ICCPR ระบุว่ารัฐผู้ลงนามจะต้องห้ามมิให้มีการรณรงค์สร้างความเกลียดชัง ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การเป็นศัตรู หรือความรุนแรงต่อผู้มีเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง เพศสภาพ เพศสถานะ ทรัพย์สิน ชาติกำเนิด ความพิการ หรือสถานะอื่นๆ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยกฎหมายที่ออกมาตามกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้จะต้องแคบ ชัดเจน และไม่คลุมเครือด้วย

ปัจจุบัน การออกกฎหมายภายในประเทศบางฉบับยังขัดกับหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายต่อต้านการพูดสร้างความเกลียดชังของพม่าซึ่งขอบเขตคลุมเครือ กฎหมายความผิดเกี่ยวกับการพูดของสเปนซึ่งยังไม่กำหนดบทลงโทษตามสัดส่วนความผิด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทยก็เป็นตัวอย่างที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศเช่นกัน

ส่วนกรณีของการนำเสนอข้อมูลเท็จ กฎหมายระหว่างประเทศได้มีการวางแนวทางรับมือเอาไว้อยู่แล้ว เช่น ปฏิญญาร่วมว่าด้วยเสรีภาพการแสดงออก และ "ข่าวปลอม" การบิดเบือนข้อมูล และการโฆษณาชวนเช่น (Joint Declaration on Freedom of Expression and “Fake News,” Disinformation and Propaganda) ระบุว่ารัฐสมาชิกของยูเอ็นควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ ปฏิญญาร่วมยังระบุด้วยว่ารัฐควรรับรองให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ และใช้แนวทางส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อและดิจิตัล ทั้งนี้ การกระทำของรัฐจะต้องไม่ขัดต่อมติที่ 44/12 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ซึ่งระบุว่าการจัดการกับข้อมูลบิดเบือนนั้นจะต้องเป็นไปหลักกฎหมาย ความชอบธรรม ความจำเป็น สัดส่วนที่เหมาะสม และมีอายุการใช้ที่ชัดเจน เท่านั้น

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Speech-related offences should be excluded from the proposed UN Cybercrime Treaty

ระดับสิทธิเสรีภาพของแต่ละประเทศโดย Freedom House

Is Article 112 of Thailand's Criminal Code (Lèse Majesté) violating International Human Rights Law?

Thailand: Computer Crime Act, January 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net