Skip to main content
sharethis

องค์ภาคประชาสังคม 677 องค์กร ร่วมลงนามใน จม.เปิดผนึกถึง รมต.กลาโหมชาติสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ขอให้ไม่เชิญนายพลพม่าเข้าร่วมประชุม รมต.ความมั่นคงอาเซียน (ADMM) ครั้งที่ 16 ซึ่งจะจัดวันที่ 22 มิ.ย.นี้

 

15 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากกลุ่มภาคประชาสังคม Progressive Voice ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นพม่า ระบุว่า 677 องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในเมียนมา ระดับภูมิภาคอาเซียน และระดับนานาชาติ ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชาติสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ไม่เชิญกระทรวงกลาโหม ภายใต้การบริหารของสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC เข้าร่วมประชุมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Defence Minister Meeting - ADMM) ครั้งที่ 16 ซึ่งจะเริ่มประชุมในวันที่ 22 มิ.ย.นี้

นายพลเมียะทุนอู รมต.กลาโหม ของ SAC (ที่มา Mil.ru)

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า สิ่งเผด็จการพม่ากระทำสามารถนิยามได้อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’ ภายใต้กฎหมายทั้งในระดับประเทศ และกฎหมายสากล และยังมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักกฎหมายมนุษยธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ หลังจากกองทัพพม่าทำการรัฐประหารอย่างไม่ชอบธรรมเมื่อ 1 ก.พ. 2564 

นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร ประชาชนพม่าเกือบ 7 แสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน เนื่องจากกองทัพพม่ากระทำการก่อการร้ายต่อประชาชนเมียนมา และเพื่อตอบโต้การต่อต้านของประชาชนเมียนมา กองทัพพม่าสังหารประชาชนมากกว่า 1,900 ราย คุมขังประชาชนมากกว่า 14,000 ราย มีการซ้อมทรมาน ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ระดมยิงปืนใหญ่และเผาหมู่บ้าน ตลอดจนการขโมยทรัพย์สินของสาธารณชน  

ในการประชุม ADMM ครั้งที่ 16 ซึ่งจะจัดในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ทางภาคประชาสังคมทราบว่า ‘เมียะทุนอู’ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะเป็นตัวแทนของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของประเทศเมียนมาเข้าร่วมประชุม 

สำหรับนายพล เมียะทุนอู ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการกองทัพพม่า ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมความโหดร้ายโดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ความรับผิดชอบโดยตรงของเมียะทุนอู จากการละเมิดกฎหมายสากลส่งผลให้ประเทศสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา และนิวซีแลนด์ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อเขา ทางสหรอาณาจักร ระบุว่า เมียะทุนอู “เป็นผู้ออกคำสั่งความรับผิดชอบต่อการละเมิดเหล่านี้ และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านั้น” นอกจากนี้ เมียะทุนอู ยังเป็นสมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) อียู ระบุว่า “ในฐานะสมาชิกของ SAC นายพลเมียะทุนอูมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และต้องรับผิดชอบต่อการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม” เมียะทุนอู ควรรับผิดชอบต่อบทบาทของเขาในการก่อรัฐประหาร และการก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายของเผด็จการพม่า และไม่ควรได้รับการเชิญเข้าประชุม ADMM

ข้อความในจดหมายระบุต่อว่า ทางเรามีความยินดีอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของอาเซียน หลังมีมติไม่เชิญ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำคณะรัฐประหาร เข้าร่วมประชุมผู้นำสูงสุดของอาเซียน เมื่อปี 2564 และไม่เชิญ วุนนาหม่องลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ของ SAC เข้าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting Retreat: AMM Retreat) ในปีนี้ (2565) อย่างไรก็ตาม เราเน้นย้ำด้วยความเป็นห่วงว่า การประชุม ADMM นี้จะมีการเชิญเผด็จการทหารพม่าเข้าร่วมประชุม รวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรี นับตั้งแต่มีการรัฐประหารครั้งล่าสุด 

ถ้าอาเซียนอนุญาตให้ตัวแทนเผด็จการพม่าเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาเซียน อาเซียนจะต้องเผชิญความเสี่ยงในการตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมอันโหดร้ายของเผด็จการ โดยการสนับสนุน และสร้างความชอบธรรมให้กองทัพพม่า ที่กำลังดำเนินการก่อการร้ายทั่วประเทศ  

ข้อความในจดหมายทิ้งท้ายว่า ขอรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอาเซียนไม่เชิญเมียะทุนอู เข้าร่วมการประชุม ADMM ครั้งที่ 16 ตลอดจนประชุมอื่นๆ ในอนาคต และขอให้เข้าหารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรมของประเทศเมียนมา และร่วมมือกันเพื่อคลี่คลายวิกฤตในเมียนมา

ทั้งนี้ องค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต และผู้ถูกจับกุมโดยกองทัพพม่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ระบุว่า ระหว่าง 1 ก.พ. 2565-15 มิ.ย. 2565 มีผู้เสียชีวิตโดยเงื้อมมือกองทัพพม่าทั้งสิ้น 1,941 ราย และมีประชาชนที่ถูกจับกุมจากการออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า ราว 14,122 ราย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net