Skip to main content
sharethis

กมธ.กฎหมายฯ พิจารณาเห็นว่า ควรลบประวัติอาชญากรรมคนที่ศาลสั่งยกฟ้อง-อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง กระทรวงยุติธรรม ระบุร่าง กม.เสร็จแล้วและฟังความคิดเห็นกับประชาชน รอส่งให้กับ ครม. ขณะที่ ตร.เร่งแก้ประวัติอาชญากร เพื่อลดภาระประชาชน และเพิ่มโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ 

15 มิ.ย.2565 ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการว่า ที่ประชุมพิจารณาการลบประวัติอาชญากรรม ที่มีความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ได้ประกอบอาชีพและเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องดูแล โดยได้เชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และนักวิชาการ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยทาง สตช. ได้ชี้แจงว่า จากการรวบรวมประวัติอาชญากรรมมีทั้งสิ้น 12,000,000 ราย มีการลงทะเบียนแล้ว 11,000,000 ราย มีผู้คนที่มีประวัติศาลสั่งไม่ฟ้อง และอัยการสูงสุดสั่งยกฟ้อง 150,000 ราย ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเห็นว่า ควรลบประวัติในการพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยทาง สตช. ระบุว่าจะสามารถดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

ชวลิต กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ระบุให้ความเท่าเทียมทางด้านกฎหมายในกรณีที่ผู้ไม่มีความผิด หรือ กรณีที่ผู้ต้องโทษได้พ้นโทษออกมาแล้ว โดยกรณีนี้ทางกระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่า จะมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประวัติอาชญากรรม ซึ่งได้ร่างเสร็จแล้วและฟังความคิดเห็นกับประชาชนที่เกี่ยวข้องโดยขณะนี้รอส่งให้กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้ จะช่วยให้ผู้เคยกระทำผิดมีที่ยืนในสังคมและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จากการคุ้มครองของกฎหมายที่เกิดขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว

ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็น เพราะที่ผ่านมาระบบประวัติอาชญากรรมไม่เคยแยกประเภท แต่เหมารวมทุกกรณี การแยกให้ผู้พ้นโทษ มีคดีที่ถึงที่สุด และศาลสั่งยกฟ้องรวมถึงคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องได้มีประวัติที่ดี ถือเป็นไปตามหลักสากล คือ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ คุ้มครองสังคม และคุ้มครองบุคคล การดำเนินการต่อจากนี้ ต้องเป็นการจัดลำดับข้อมูลทางด้านความมั่นคง และระบบราชการทั่วไป รวมถึงเอกชนที่ต้องการได้ข้อมูลประวัติอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า หากกฎหมายนี้ได้ผลักดันเข้าสู่สภาฯ และประกาศใช้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนตามหลักนิติธรรม และยังเป็นประโยชน์ต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในอีกหลายฉบับด้วย

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เปิดโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง ซึ่งยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากตามปกติ หากคดีสิ้นสุด โดยอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตัวเอง เพื่อคัดชื่อออกจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร แต่โครงการนี้จะทำการคัดแยก หรือ ทำลายรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ เพื่อลดภาระประชาชน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมอบหมายให้สายตรวจในพื้นที่ แจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประวัติทราบต่อไป

ข้อมูลจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ณ วันที่ 28 เม.ย.2565 มีผู้ที่คดีถึงที่สุดกว่า 7.8 ล้านราย จากที่มีประวัติคดีทั้งหมดกว่า 12 ล้านราย โดยเหลืออีกกว่า 4.6 ล้านราย ที่ยังไม่มีการรายงานข้อมูลคดีถึงที่สุด จึงมอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจ เร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุด ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ มุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ เช่น คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง และ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาทุกคน ต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือและบันทึกประวัติเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร แต่เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ ศาลยกฟ้อง ยังไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน และไม่มีการลบข้อมูลประวัติอาชญากรอัตโนมัติ ทำให้ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา ต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องขอคัดแยกประวัติ ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างปรับแก้ระเบียบ ให้มีการนำประวัติผู้ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา เข้าสู่ทะเบียนผู้ต้องหา ส่วนผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถึงจะเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งยืนยันว่า ไม่ใช่การล้างความผิด แต่เป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องคดี ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ ศาลยกฟ้อง

ที่มา : สำนักข่าวไทย และไทยพีบีเอส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net