Skip to main content
sharethis

หลายฝ่ายกังวลว่าการออกกรอบแนวทางครั้งนี้ของ 'สีจิ้นผิง' เป็นการใช้ประโยชน์จากความคลุมเครือของปฏิบัติการทางทหารที่ยัง 'ไม่ใช่สงคราม (non-war)' เพื่อขยายอิทธิพลทางทหารในต่างประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไต้หวัน เพราะภาษาที่ใช้คล้ายกับ "ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร" ของรัสเซียที่กระทำต่อยูเครน

 

16 มิ.ย. 2565 สำนักข่าว Global Times ของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เพิ่งลงนามในคำสั่ง 59 มาตรา เพื่อนำร่องให้จีนสามารถปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงครามในต่างประเทศได้ โดยรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่าคำสั่งนี้เป็นการวางรากฐานทางกฎหมายให้กับกองทัพจีนในการ "ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติ ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน" โดยกรอบแนวทางเหล่านี้เป็นการจัดระเบียบกิจกรรมบทบาทที่กองทัพเคยทำอยู่แล้ว เช่น การช่วยเหลือสาธารณภัย และภารกิจรักษาสันติภาพ

คำสั่งชุดใหม่นี้ทำให้ "กำลังพลของจีนสามารถป้องกันผลสืบเนื่องมาจากความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคไม่ให้กระทบต่อจีน ปกป้องเส้นทางขนส่งสิ่งของสำคัญในทางยุทธศาสตร์ เช่น น้ำมัน หรือการปกป้องการลงทุน โครงการ และเจ้าหน้าที่ของจีนในต่างประเทศ" รายงานของ Global Times ระบุ

การออกคำสั่งของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อส่งเสริมและให้ความชอบธรรมต่อ "ปฏิบัติการทางทหาร" ที่ไม่ใช่สงครามในครั้งนี้ เกิดขึ้นในเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สั่งให้กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนโดยเรียกภารกิจดังกล่าวว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร"แทนที่จะเรียกว่า “สงคราม”

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ในไต้หวันจึงให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีน 'ดร. อูจีน โคว ยูเจิน (Eugene Kuo Yujen) นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนโยบายแห่งชาติไต้หวันกล่าวว่า คำสั่งนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบท 4 ประการด้วยกัน จากการพูดคุยกับสำนักข่าว ABC News

ประการแรก คือ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต้องการลดความขัดแย้งภายในกองทัพ ก่อนการเปลี่ยนตัวกลุ่มผู้นำพรรคคอมนิวนิสต์จีนซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปีนี้

ประการที่สอง คำสั่งชุดนี้น่าจะมีความเชื่อมโยงกับข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้กองทัพจีนเข้าไปแทรกแซงได้ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ วิกฤติภัยความมั่นคง หรือการรัฐประหารเกิดขึ้น ทั้งนี้ "กรอบแนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างรากฐานทางกฎหมายให้จีนเข้าไปแทรกแซง" ดร. อูจีน โคว ยูเจิน กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้  'หวังอี้' รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน ล้มเหลวในการชักชวนให้ประเทศในคาบสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ลงนามในข้อตกลงแบบเดียวกัน โดยสื่อได้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนมีการพูดถึงการ "ปกป้องผลประโยชน์ของจีน" อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หวังอี้ได้เผยแพร่ความเห็นโดยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจีนมีความตั้งใจจะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในคาบสมุทรแปซิฟิกใต้ต่อไป

ประการที่สาม คำสั่งนี้มีไว้เพื่อเปิดทางให้จีนปกป้องผลประโยชน์การลงทุนของตนเองในต่างประเทศ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายใต้ "ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ซึ่งหลายๆ แห่งตกอยู่ในกรรมสิทธิของจีน หลังประเทศคู่สัญญาไม่สามารถชำระหนี้ได้ การอัพเกรดลานบินในประเทศคิริบาติ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในคาบสมุทรแปซิฟิกใต้ และท่าเรือดาร์วิน ซึ่งแลนบริดจ์ บริษัทเอกชนสัญชาติจีนเข้าไปเช่าเป็นเวลา 99 ปี

ประการที่สี่  คำสั่งชุดนี้เป็นการ "ก๊อบปี้ภาษาแบบปฏิบัติการพิเศษทางทหารของปูตินมาอย่างแน่นอน" ตามความเห็นของ ดร. อู จีน โข่ว "และหลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน มันเป็นการส่งสัญญาณที่คุกคามอย่างมากต่อไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศโดยรอบอื่นๆ ในทะเลจีนใต้" ทั้งนี้  "สีจิ้นผิงกำลังพยายามพัฒนากิจกรรมสีเทาของจีน" โดยกิจกรรมเหล่านี้หมายถึงการคุกคามรัฐอื่นๆ ทว่าไม่ยังถึงกับอยู่ในนิยามของคำว่าสงคราม

อู เชียง นักวิเคราะห์อิสระในปักกิ่งที่เคยสอนที่มหาวิทยาลัยซิงหัวก่อนที่จะถูกไล่ออกด้วยเหตุผลทางการเมือง เห็นความเหมือนกันหลายอย่างระหว่างคำสั่งใหม่ของจีน และภาษาที่วลาดิมีร์ ปูตินใช้เพื่ออ้างกรรมสิทธิในดินแดนของยูเครนเช่นกัน โดยเขาเห็นว่า "วิธีการมองของปักกิ่งคือ ภารกิจในอนาคตเพื่อผนวกรวมไต้หวันเป็นเพียงความต่อเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. 1949 ที่ยังไม่แล้วเสร็จ"

"ดังนั้น นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามในการนิยามการแทรกแซงไต้หวันด้วยกำลังทหารในอนาคต ในฐานะปฏิบัติการที่ไม่ใช่สงคราม" อูเชียงกล่าวกับสำนักข่าว ABC

ที่ผ่านมาสถานการณ์เกี่ยวกับไต้หวันยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานเปิดเผยออกมาหลายครั้งว่าจีนเริ่มแจ้งกับคู่กรณีอื่นๆ ในหลายระดับว่าจีนไม่ให้การยอมรับช่องแคบไต้หวัน "เป็นน่านน้ำสากล" ในปีนี้ เรือรบของสหรัฐอเมริกาได้แล่นผ่านช่องแคบดังกล่าวหลายครั้งแล้ว โดยช่องแคบดังกล่าวมีความกว้างเพียง 160 กิโลเมตร ขั้นอยู่ระหว่างจีนและไต้หวัน

หวัง เวิ่นปิน โฆษกของรัฐบาลจีนระบุว่า  "น่านน้ำสากล ไม่มีรากฐานทางกฎหมายรองรับตามกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับทะเล" และยังระบุด้วยว่า "มันเป็นข้ออ้างเท็จ เมื่อบางประเทศเรียกช่องแคบไต้หวันว่า 'น่านน้ำสากล' เพื่อหาช่องทางในการเข้ามามีอิทธิพลในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน"  ก่อนหน้านี้ รัฐบาลปักกิ่งอ้างว่าไม่ให้การยอมรับ "เส้นมัธยฐาน" ที่พาดตรงกลางระหว่างช่องแคบ และแยกเครื่องบินรบระหว่างจีนและไต้หวันออกจากกัน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ. เว่ย เฟิงเหอ ระบุในการประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ว่าจีนจะ "สู้จนถึงที่สุด" เพื่อเข้าควบคุมไต้หวัน จากรายงานของสื่อีน นอกจากนี้ ในการประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย พล.อ. เว่ย ยังเตือนไม่ให้ออสเตรเลียเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเด็นไต้หวันอีกด้วย

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

 

CHINA / MILITARY Xi signs outlines that direct China’s military operations other than war

https://www.globaltimes.cn/page/202206/1268037.shtml

Xi Jinping announces plans to allow Chinese military to undertake 'armed forces operations' abroad

https://www.abc.net.au/news/2022-06-14/xi-jinping-expands-china-military-influence-abroad/101152154

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net