Skip to main content
sharethis

ทำความรู้จัก 'งบฯ ฐานศูนย์' หลังทีมบริหารกทม. เตรียมปรับใช้ตาม 214 นโยบายชัชชาติ หวังความยืดหยุ่น คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ สอดรับกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน คาดประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็น Enough Zero Based Budgeting เพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรงบฯ เก่าที่เทอะทะ ขาดความชัดเจนและโปร่งใส

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เเละนักวิชาการด้านการจัดการภัยพิบัติ การจัดการเครือข่ายสังคม โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึง การประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานครนัดแรก (6 มิ.ย.) ซึ่งประกอบด้วยสองเรื่องที่สำคัญเเละเร่งด่วน คือ การจัดการกับสถานการณ์ของโควิด-19 เเละการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง อีกทั้งยังพูดถึงการบริหารของงบประมาณ 2565 ในไตรมาสสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเเนวคิดงบประมาณฐานศูนย์มาใช้

ภาพการประชุมการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานครนัดแรก เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่มา: เฟซบุ๊ก Tavida Kamolvej)

งบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์เป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ ภายใต้การบริหารกทม. ของทีมชัชชาติ

ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าการนำแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting หรือ ZBB) มาใช้ อาจไม่ได้เป็นที่คุ้นเคยมากนักสำหรับนักปฏิบัติ เพราะในช่วงระยะหลัง กทม.ใช้การจัดการงบประมาณตามแบบแผนโครงการ (PPBS) ซะส่วนใหญ่

โดยกล่าวเสริมว่า เป้าหมายเเละนโยบายทั้ง 214 มาตรการของผู้ว่าฯ กทม. จะเปิดโอกาสให้ได้ทบทวนเเละสร้างโครงการใหม่ๆ ที่ได้ผลตรงตามจุดประสงค์มากกว่าเดิม 

จากเว็บ chadchart.com การจัดทำงบประมาณแบบ Zero Based Budgeting จะพิจารณางบประมาณใหม่ทุกรายการอย่างละเอียด รวมถึงทบทวนเเละปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของกทม. เพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุด โดยไม่ได้เพียงเเค่ใช้งบประมาณจากปีที่เเล้วเป็นฐานเพื่อการจัดสรรงบประมาณใหม่เเละปรับเพิ่มเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งไม่สอดรับกับสถานการณ์จริง

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์ทิ้งท้ายว่าการบริหารที่ดี ต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของทั้ง งาน เงิน คน การนำเเผนงานนั้นๆ ไปปฏิบัติต้องอาศัยความเข้าใจของผู้ที่นำไปปฏิบัติจริงจึงจะสามารถถ่ายทอดเป้าหมายได้ การใช้งบประมาณต้องตั้งอยู่บนหลักความโปร่งใสเเละคุ้มค่า บางเเผนงานต้องการเเค่การกระชับกระบวนงานเเละเร่งประสิทธิภาพ โดยอาจจะไม่ต้องจำเป็นต้องใช้งบประมาณเลยก็ได้

“คิดมาตรการอะไรคิดไป จะล้ำแค่ไหนเราไม่ปิดกั้น แต่ต้องดูข้อจำกัดงบประมาณ เพราะมันคือภาษีประชาชน อย่าชุ่ยนั่นเอง” ทวิดา โพสต์

‘งบฯ ฐานศูนย์’ คืออะไร ต่างจากแบบเดิมอย่างไร?

สำหรับงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting หรือ ZZB) นั้น ในบทความ 'ZBB กับ การงบประมาณภาครัฐที่เริ่มจากศูนย์ (1)' ของ เฉลิมพล ไวทยางกูร ที่เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.58 กับบทความ 0-Based Budgeting (ZBB) ของ ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร ที่เผยแพร่ทางบล็อกส่วนตัวเมื่อ 22 เม.ย.62  ระบุว่า ZZB  มีการกล่าวถึงครั้งเเรกปี ค.ศ. 1976 ในหนังสือ ‘Zero Based Budgeting: A Practical Management Tool for Evaluating Expenses’ โดยปีเตอร์ ไฟร์ (Peter Pyrrh) อดีตผู้บริหารงบประมาณของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

งบฯฐานศูนย์ คือการจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่า โดยไม่ได้อ้างอิงฐานงบประมาณ (Baseline) ของปีก่อนหน้า ซึ่งแตกต่างจากการจัดสรรงบประมาณแบบดั้งเดิมที่จะนำงบประมาณของปีที่แล้วมาเป็นฐานในการกำหนดงบประมาณปีปัจจุบัน อาจมีการพิจารณาปรับแต่งงบประมาณเพิ่มเติมบ้างแต่ยังคงยึดตามฐานงบประมาณของปีที่ผ่าน ทำให้ข้อบกพร่องจากการจัดสรรงบของปีที่แล้วอาจถูกส่งต่อไปยังงบประมาณใหม่และการเบิกจ่ายงบประมาณมักสูงขึ้นทุกปี  

ดังนั้นงบประมาณแบบ ZBB จึงปรับเปลี่ยนฐานงบประมาณโดยเริ่มจากศูนย์ ทุกเเผนงานเเละนโยบายจะได้รับการพิจารณางบใหม่ทั้งหมดอย่างละเอียด ไม่ใช่เเค่เเก้ไขงบประมาณของปีก่อนหน้า ซึ่งการทบทวนการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้ตามความสำคัญของนโยบายเเละสถานการณ์ในขณะนั้น รวมทั้งสามารถตัดแผนงานที่ไม่จำเป็นออกเเละตรวจสอบโครงการที่เบิกจ่ายงบประมาณที่สูงเกินจริง เนื่องจากมีการทบทวนงบประมาณของแต่ละโครงการอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้เเนวคิดการจัดการงบประมาณแบบแผนโครงการ (PPBS) และแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting) ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน การจัดการงบประมาณแบแผนโครงการ (PPBS) นั้นทำให้แผนดำเนินงานนั้นเกิดความต่อเนื่อง เน้นใช้ในการการวางแผนระยะยาวเเละคำนึงถึงผลการดำเนินงาน เเต่การประเมินผลงานขาดความเป็นระบบ และมักเกิดความล่าช้าของเเผนงาน ซึ่งนำไปสู่การไม่บรรลุของวัตถุประสงค์ 

ส่วน Zero Based Budgeting ใช้ในแก้ปัญหาข้อจำกัดทางทรัพยากร โดยไม่นำงบประมาณค่าใช้จ่ายในปีก่อนมาพิจารณาเลยและพิจารณางบในเเต่ละแผนงานใหม่อย่างละเอียด ได้เปรียบในเรื่องของความยืดหยุ่นที่มีมากกว่า สามารถจัดสรรงบประมาณได้ใหม่ตามความเหมาะสมของสถานการ์ณปัจจุบัน รวมทั้งง่ายต่อการเชื่อมโยงแผนงานและงบประมาณเข้าด้วยกัน แต่งบประมาณในเเต่ละเเผนงานต้องวิเคราะห์ใหม่ทุกปี

การจัดสรรงบฯกทม. ที่ผ่านมาผิดพลาดอย่างไร ทำไมต้องเปลี่ยน?

ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. อธิบายว่าการจัดการงบประมาณแบบแผนโครงการ (PPBS) ซึ่งเป็นการวางแผนการใช้งบประมาณตามแผนงานระยะยาวที่ควรมุ่งเน้นผลงาน กลับขาดการประเมินผลที่เป็นระบบ ผลิตโครงการซ้ำเดิม จึงต้องทบทวนความจำเป็น ความคุ้มค่า เเละประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณแบบเดิมเสียใหม่ 

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ไทยโพสต์ ในหัวข้อ ‘ตีแผ่ขยะใต้พรม กทม. ชี้จุดหมกเม็ดงบประมาณ ผู้ว่าฯ-ส.ก.ชุดใหม่ต้องสะสาง’ ซึ่งรายงานมุมมองของ  มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงปัญหาในการบริหารงบประมาณของกรุงเทพฯ ว่าที่ผ่านมามีการเปิดเผยรายละเอียดน้อยมากและยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณบริหารของกรุงเทพฯ ปีละกว่าเจ็ดหมื่นล้าน ที่ถูกใช้ไปกับโครงการขนาดใหญ่และโครงการย่อยต่างๆ อาทิเช่น โครงการศูนย์กำจัดขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช, งบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์, งบประมาณเพื่อจัดซื้อต้นไม้, งบประมาณการปรับปรุงไฟจราจร, งบการเดินทางไปต่างประเทศของ ส.ก. และส.ข. ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณและประสิทธิผลของเเต่ละโครงการ

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผยปัญหาหลักของกทม. คือการใช้อำนาจที่ไม่ตรงไปตรงมา และการตั้งงบประมาณของกทม. ที่ผ่านมานั้นมีความซับซ้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก

คนกทม. จะได้ประโยชน์อะไรจากการปรับเปลี่ยนการจัดการงบประมาณ?

อ้างอิงจาก chadchart.com กล่าวว่า Zero Based Budgeting จะทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด จากการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณลงไปสู่เเต่ละนโยบายทั้ง 214 ข้อ ยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่ารูปเเบบการจัดสรรงบประมาณใหม่นี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเเละคุ้มค่าที่สุดได้อย่างไร เเละส่งผลดีต่อคนกรุงเทพฯ มากเท่าใด

เราขอเป็นแค่ Enough Zero Based-Budgeting

ด้าน เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting) ผ่านเฟซบุ๊กเช่นเดียวกันว่า รูปเเบบการจัดสรรงบประมาณใหม่นี้ เป็นการจัดสรรงบประมาณจากความจำเป็นของโครงการหรือกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยได้เน้นย้ำถึงการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด 

ภาพการประชุมวางแผนงาน จัดตั้งงบประมาณกทม. ในปี 2566 ของสำนักงานงบประมาณกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์)

“เราอาจไม่ได้เป็น Budgeting Zero-Based 100% แต่เราขอเป็นแค่ Enough Zero-Based Budgeting” ผ่านการใช้เเผนงานเดิมโดยไม่ต้องสร้างแผนงานใหม่ หากนโยบายเเละแผนงานที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นมีประสิทธิภาพดีเเล้ว เพียงเเค่เพิ่มเติมรายละเอียดให้ลึกมากขึ้นเท่านั้น เเต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง นำไปประยุกต์เเละปรับตัวใช้ให้เหมาะสมตามเหตุการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกษรากล่าว

 

หมายเหตุ: สำหรับ จิณณพัต ทรัพย์ทวีวศิน ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองเเละการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net