Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พุทธศาสนาไทยไม่ใส่ใจปัญหาเชิงโครงสร้างเลยไหม หากดูจากมุมมองของปราชญ์พุทธอย่างพุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต ก็จะมองตรงกันว่า ระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย ประชาธิปไตย หรือเผด็จการแบบไหนก็ตาม จะดีหมดหากมีธรรมะ และถ้าไม่มีธรรมะก็เลวร้ายหมด   

แต่ปัญหาคือ สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” คืออะไร ในแง่หนึ่งเหมือนจะหมายถึงคุณธรรมของบุคคลที่เป็นผู้ปกครอง (เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น) ในแง่หนึ่งเหมือนจะหมายถึงหลักการ กฎเกณฑ์ที่สมาชิกของสังคมยึดถือร่วมกัน (เช่น วัชชีธรรม เป็นต้น) หรือหมายถึง หลักการ กฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่กำหนดไว้ว่า ผู้ปกครองหรือรัฐทำหน้าที่ปกครองโดยธรรม และอุปถัมภ์ส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนา ส่วนฝ่ายศาสนาหรือคณะสงฆ์ก็มีหน้าที่สอนธรรม ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องการปกครองโดยธรรมแก่ผู้ปกครอง และสอนให้ประชาชนมีศีลธรรม 

ในทางประวัติศาสตร์ รัฐที่อุปถัมภ์พุทธศาสนา คือ รัฐราชาธิปไตย-สมบูรณาญาสิทธิราชย์  ซึ่งไม่ใช่รัฐที่ชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่ชอบพูดกัน เพราะการพูดว่าชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแม้จะจริง แต่จริงแค่ด้านเดียว ความจริงที่ครบคือ รัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนา คือรัฐที่วางระบบอุปถัมภ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างชนชั้นปกครองกับฝ่ายศาสนาหรือคณะสงฆ์

ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนคือ ฝ่ายศาสนาหรือคณะสงฆ์อภิเษกกษัตริย์ให้เป็นสมมติเทพ ธรรมราชา โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ขณะที่กษัตริย์ตั้งยศหรือสมณศักดิ์ฐานันดร หรือ “ศักดินาพระ” ให้เบี้ยหวัดเงินเดือนหรือนิตยภัตแก่คณะสงฆ์ สร้างวัดวาอาราม สนับสนุนการเผยแพร่ศาสนา อุปถัมภ์การสังคายนาไตรปิฎก และชำระคัมภีร์ต่างๆ รวมทั้งออกกฎหมายควบคุมวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระสงฆ์ เป็นต้น หน้าตาของรัฐแบบนี้ก็คือหน้าตาของ “รัฐพุทธศาสนา” (Buddhist state) ชัดเจนมาก 

การเกิดรัฐพุทธศาสนาแบบอโศก แบบศรีลังกา อีกหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสยามไทย สะท้อนว่าพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ “ใส่ใจจริงจังกับปัญหาเชิงโครงสร้าง” นั่นคือ รัฐที่ดีจะต้องเป็นรัฐพุทธศาสนา (จะผสมพราหมณ์ ผีเป็นต้นด้วยก็ได้) ที่จำเป็นต้อง วางระบบโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ “แบบต่างตอบแทน” ระหว่างชนชั้นปกครองและคณะสงฆ์ ดังจะเห็นว่า สยามไทยมีการพัฒนาเชิงความคิด อุดมการณ์ และระบบโครงสร้างเชิงอุปถัมภ์ต่างตอบแทนเช่นนี้ให้ชัดเจน และเหนียวแน่นเป็นเนื้อเดียวมากขึ้นโดยลำดับ 

กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความคิด อุดมการณ์ และระบบโครงสร้างเชิงอุปถัมภ์แบบต่างตอบแทนระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ และถูกผลักดันออกมาในรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ มากยิ่งขึ้น 

พัฒนาการดังกล่าว ย่อมสวนทางกับ “การทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมือง” (political secularization) ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ สถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาต้องไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ที่ขัดกับหลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมือง 

ดังนั้น ในทางกฎหมายกษัตริย์และนักบวช จะต้องไม่ถูกยกขึ้นให้มีสถานะและอำนาจทางชนชั้นสูงส่งกว่าประชาชนทั่วไป แต่ต้องเป็น “คนเท่ากัน” กับประชาชนทุกคน จึงต้องถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้เหมือนคนทั่วไป  

พูดอีกอย่างคือ ตามหลักของ “การทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมือง” หมายถึง ในทางกฎหมายต้องกำหนดให้กษัตริย์ และนักบวช มีสถานะเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) เช่นเดียวกับประชาชนทุกคน จะใช้สถานะทางศาสนา เช่น การเป็นสมมติเทพ การปกครองโดยธรรมเป็นสถานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์เหนือหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ และนักบวชก็ไม่มีอภิสิทธิ์ในเรื่องสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ใดๆ บน “กฎหมายเฉพาะทางศาสนา” องค์กรศาสนา (ทุกศาสนา) แยกจากรัฐเป็นเอกชน นักบวชคือพลเมืองที่มีสิทธิพลเมืองด้านต่างๆ เหมือนประชาชนทั่วไป สถานะทางศาสนาเป็นเพียงสถานะเชิงวัฒนธรรมเท่านั้น ต้องไม่มีกฎหมายทางศาสนาให้อภิสิทธิ์ใดๆ และต้องไม่บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐด้วย

แต่หลัง 2475 เป็นต้นมาก็ไม่มีขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมืองเช่นที่ว่านี้เลย กลับมีการบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ให้อภิสิทธิ์แก่สถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนามากขึ้น ทำให้การพัฒนาระบบโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ถดถอยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความคิด อุดมการณ์ ความฝันของคนรุ่นใหม่ในยุคต่างๆ และปัญหาของคนที่ใช้แรงงานสาขาอาชีพต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นไปในแนวทางเรียกร้องระบบโครงสร้างแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่มากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมือง แต่ขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) ก็เกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ เช่น เกิดกระแสการตั้งคำถามวิพากษ์วิจาณ์พุทธศาสนาเชิงสถาบัน และความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะนักบวชมาตลอด คนรุ่นใหม่หันหลังให้วัดมากขึ้น มีคนไม่นับถือศาสนามากขึ้น หรือถ้ายังถือศาสนาอยู่ก็เรียนรู้ด้วยตนเอง หาหนังสือดีๆ มาอ่านเอง (ซึ่งมักเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ หรือหนังสือแปล) ตั้งกลุ่มเรียนรู้กันเอง หลายคนไม่นิยามว่าตนเป็นพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม แต่อาจศึกษาคำสอนหลายๆ ศาสนา อาจไปร่วมพิธีกรรมศาสนาหลายแบบ หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความสนใจศาสนาในมิติวัฒนธรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สนใจ หรือไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของอำนาจศาสนาเชิงสถาบันแบบทางการใดๆ เลย 


ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_972957

มีชาวพุทธกระแสรองบางกลุ่มที่อาจเรียกได้ว่า สร้างพัฒนาการในแนวทางสนับสนุนความเป็นพุทธแบบโลกวิสัย (secular Buddhism) เช่น กลุ่มฆราวาสในสายอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แม้จะไม่เรียกร้องการแยกศาสนาจากรัฐ แต่ก็ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์พุทธแบบรัฐต่อเนื่องมายาวนาน เรียกร้องให้รัฐและศาสนาถอยห่างจากกันและกันให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างเรียนรู้คำสอนพุทธหลากหลายนิกาย มีปฏิสัมพันธ์กับพุทธนิกายต่างๆ ในไทยและนานาชาติ รวมทั้งเปิดกว้างศึกษาเรียนรู้และเป็นมิตรกับเพื่อนศาสนิกในศาสนาอื่นๆ มีการจัดการเรียนรู้พุทธศาสนาแบบเอกชนทั้งในทางวิชาการและการภาวนา ตีความพุทธศาสนาถกเถียงแลกเปลี่ยนกับศาสตร์สมัยใหม่ และตีความพุทธธรรมแนวรับใช้สังคม และเห็นคุณค่าของศาสนาเชิงวัฒนธรรมแบบบ้านๆ แม้พุทธแนวอาจารย์สุลักษณ์ อาจไม่ใช่พุทธแบบโลกวิสัยเต็มที่ แต่ก็มีพัฒนาการมาในทางเปิดกว้างไปสู่พุทธแบบโลกวิสัย หรือพุทธที่สามารถเติบโตไปกับความเป็นสังคมโลกวิสัยได้อย่างกลมกลืน


ที่มาภาพ: https://mappalearning.co/vicharn-
vijak-panich-talk-education-and-learning/

อีกกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นพุทธแบบโลกวิสัย (แท้ไม่เทียม) คือ “สำนักวัชรสิทธา” ผู้ก่อตั้งคือวิจักขณ์ พานิช ที่ทั้งรณรงค์การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยในเชิงโครงสร้างและทางวัฒนธรรม เน้นการตีความพุทธธรรมแบบสัมพันธ์กับความทุกข์ในชีวิตปัจเจกบุคคลที่แยกไม่ออกจากทุกข์ทางสังคม หรือทุกข์ทางโครงสร้างที่อยุติธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย มองว่าเสรีภาพด้านในกับเสรีภาพทางสังคมและการเมืองควรเติบโตไปด้วยกัน 

พูดอีกอย่างคือ ศาสนาไม่ใช่สิ่งที่ถูกนำมานับถือเทิดทูนให้ศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ และต้องปกป้องเหมือนที่เชื่อกันทั่วไป แต่ศาสนาควรถูกนำมาตีความรับใช้ความเป็นมนุษย์ ปลดปล่อยมนุษย์ให้มีทั้งเสรีภาพด้านใน และเสรีภาพทางสังคมและการเมือง 

ที่น่าสนใจอีกกลุ่ม คือภิกษุณี ซึ่งเป็นกลุ่มนักบวชเอกชนที่ไม่อยู่ใต้การปกครองขององค์กรศาสนาของรัฐคือมหาเถรสมาคม หากหลุ่มนี้เติบโตบนการยืนยันสิทธิเท่าเทียมทางเพศ หรือยืนยันพื้นที่ทางศาสนารองรับความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้สตรีมีที่ยืนในสิทธิทางวัฒนธรรมศาสนาเท่าเทียมกับชายมากขึ้น ไม่สนใจที่จะถูกยอมรับให้อยู่ใต้ปกครองของมหาเถรฯ มุ่งไปที่การสร้างเครือข่ายองค์กรศาสนาแบบเอกชน และเติบโตขึ้นด้วยตนเอง เราก็จะได้เห็นการปรับตัวของพุทธศาสนาไทยในทางสอดคล้องกับสังคมโลกวิสัยชัดเจนขึ้น 

ถึงที่สุดแล้ว พุทธแบบโลกวิสัยไม่ได้มุ่งตอบโจทย์เรื่องความเจริญหรือเสื่อมของศาสนา แต่มุ่งตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรพุทธศาสนาจะไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม และความเป็นธรรม หรือทำอย่างไรพุทธศาสนาจะมีคุณค่าต่อมิติจิตวิญญาณหรือเสรีภาพด้านในของปัจเจกบุคคล และมีพลังสนับสนุนภราดรภาพทางสังคม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมให้เป็นธรรม และน่าอยู่มากขึ้น       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net