Skip to main content
sharethis

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายต่อต้านการรวมกลุ่มของรัสเซียขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมสั่งให้รัฐบาลรัสเซียชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1.02 ล้านยูโร กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐชี้เป้าองค์กรภาคประชาสังคมว่าเป็นสายลับต่างชาติ

17 มิ.ย. 2565 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights: ECHR) มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ‘กฎหมายสายลับต่างชาติ’ ของรัสเซียละเมิดสิทธิของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ถูกรัฐบาลรัสเซียตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นสายลับต่างชาติ พร้อมสั่งให้รัฐบาลรัสเซียชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

การไต่สวนคดีดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป โดยคำวินิจฉัยของศาลระบุว่ากฎหมายสายลับต่างชาติของรัฐบาลรัสเซียอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถชี้เป้าองค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์นอกนอกภาครัฐที่ไม่แสวงหากำไร หรือเอ็นจีโอ ว่าเป็น ‘สายลับต่างชาติ’ หรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Convention on Human Rights) ที่รับรองเสรีภาพในการรวมตัวและการรวมกลุ่ม

กฎหมายสายลับต่างชาติของรัฐเซียเริ่มบังคับใช้ครั้งแรกใน พ.ศ.2555 โดยให้อำนาจแก่รัฐบาลรัสเซียซึ่งนำโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในการปิดปากกลุ่มผู้ต่อต้านด้วยการปราบปรามองค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และเสียงอื่นๆ ของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ องค์กรภาคประชาสังคมของรัสเซียจำนวน 73 องค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจึงรวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรประหว่าง พ.ศ.2556-2561 โดยเหตุผลหลักในคำฟ้องคืออุปสรรคจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ขัดขวางการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงโทษตามกฎหมายที่กำหนดค่าปรับในอัตราสูง หากถูกเจ้าหน้าที่รัฐชี้ว่าเป็นสายลับต่างชาติ

ผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงมติเห็นด้วยกับคำร้องของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า “การแทรกแซงสิทธิของกลุ่มองค์กรผู้ยื่นคำร้องไม่ถือเป็นข้อกำหนดทางกฎหมาย และไม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในสังคมประชาธิปไตย”

นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้การใช้คำว่า “กิจกรรมทางการเมือง” ของรัฐบาลรัสเซียเพื่อเป็นหลักในการระบุว่ากลุ่มหรือองค์กรใดเป็นสายลับต่างชาตินั้นเป็นการสร้าง “ผลลัพธ์ที่ขาดความเชื่อมโยง และเป็นอันตรายต่อความไม่มั่นคงขององค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งหวังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหรือการปก้องสิ่งแวดล้อมหรือการทำงานเพื่อการกุศล”

นอกเหนือจากคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังสั่งให้รัฐบาลรัสเซียจ่ายค่าปรับทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 1.02 ล้านยูโรเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ รวมถึงต้องจ่ายเงินอีกจำนวน 119,000 ยูโรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมในการขึ้นศาล

ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ปฏิเสธการให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภารัสเซียเพิ่งอนุมัติกฎหมายยุติอำนาจศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป หมายความว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งต่างๆ ของศาลจะไม่มีผลบังคับใช้ในรัสเซีย

อำนาจศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปครอบคลุมทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของสภายุโรป (Council of Europe) ซึ่งรัสเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ พ.ศ.2539 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา รัสเซียประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสภายุโรป ซึ่งเป็นเวลาเพียง 3 สัปดาห์หลังรัสเซียใช้กำลังทหารบุกยูเครน

ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องรัฐบาลรัสเซีย ประกอบด้วยองค์กรขับเคลื่อนด้านสิทธิพลเมือง องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรด้านการศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงองค์กรเพื่อการช่วยเหลือผู้อพยพ

แปลและเรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net