Skip to main content
sharethis
  • 'อดีต รมว.คลัง' ชี้​ ลาว​ ศรีลังกา​ ค่าเงินอ่อน​ลงมาก​ เพราะคนขาดความเชื่อมั่น​ เนื่องจากเป็นหนี้ต่างประเทศมากเกินไป​ แต่ญี่ปุ่น​ ตั้งใจอ่อนค่าเงิน​ เพื่อเพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ​ เพิ่มการจ้างงาน​ และเพิ่มรายได้ประชาชน
  • ธนาคารกลางสหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ ส่วนไทย ผู้ว่าธปท. ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป 

17 มิ.ย.2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่า สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรี​ว่าการกระท​รวงการคลัง​ ​อดีตหัวหน้าพรรค​เพื่อ​ไทย และศาสตราจารย์​ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง​ กล่าวถึงกรณีค่าเงิน​ของลาว, ศรีลังกา, ปากีสถาน​ และค่าเงินของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงมาก​ นั้น สาเหตุมาจากสิ่งตรงกันข้าม​

สุชาติ​ ระบุว่า ในกรณี​ ประเทศลาว​ เงินกีบอ่อนค่าลง​ 53.6% เทียบดอลลาร์​ จาก​ 1 ปีที่ผ่านมา, ศรีลังกา​อ่อนค่าลง​ 82%, ปากีสถาน​อ่อนค่าลง​ 31% และยังมีแอฟริกาอีกหลายประเทศที่เงินอ่อนค่าลง​นั้น​ เป็นเพราะเป็นหนี้เงินตราต่างประเทศมากเกินไป แม้ว่าจะกู้เงินมาสร้างโครงสร้างบริการพื้นฐาน​ก็ตาม​ แต่รายได้​ (GDP​) เติบโตไม่ทัน​ มีเงินสำรองระหว่างประเทศเหลือน้อยไม่เพียงพอ​ในการสร้างความเชื่อมั่น​ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจึงถอนทุนหนี ทำให้ไม่มีเงินซื้อสินค้าต่างประเทศ​ที่จำเป็น ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน​ และสินค้า​โภคภัณฑ์​

การเป็นหนี้มากเกินไปและถูกถอนเงิน​ทุน​ เนื่องจากเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล​ แม้คนในประเทศ​ก็ถอนเงินออกไปต่างประเทศ​ด้วย ทำให้เงินตราในประเทศลดค่าลงอย่างมาก​ จึงทำให้เกิดต้นทุนสูงขึ้นในสินค้านำเข้า​ แล้วส่งต่อเป็นทอดๆ​ ทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงมากในประเทศ​ และเกิดการขาดแคลนสินค้านำเข้า​ เช่น​ น้ำมัน ประเทศเหล่านี้​ จึงต้องหดตัวทางการผลิต​ เพราะขาดแคลนสินค้านำเข้าขั้นกลาง​ ในขณะที่เกิดเงินเฟ้อสูงมาก​ ไปพร้อมๆ​ กัน

อดีตรัฐมนตรี​ว่าการกระท​รวงการคลัง​ ระบุว่า การแก้ไข คงต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนโลกก่อน​ ซึ่งอาจต้องหาองค์กร​ที่น่าเชื่อถือมาค้ำประเงินกู้​ ว่ามีจ่ายแน่​ อาจต้องเพิ่มภาษี​ และขายรัฐวิสาหกิจ​ ไปเจรจาผัดผ่อนหนี้ระยะสั้น​ เป็นหนี้ระยะยาว​ แล้วนำเสนอแผนฯ​ ที่นักลงทุน​มองว่าเป็นไปได้

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ​ค่าเงินเยนเทียบ​ดอลลาร์​ใน​ 1 ปีที่ผ่านมา​ ก็ลดลงมากเช่นกัน​ โดยลดลง 22% แต่ไม่ใช่สาเหตุ​ขาดความเชื่อมั่นรัฐบาล​ หรือเป็นหนี้ต่างประเทศ​ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจให้เงินเยนลดค่าลง​ ด้วยการตั้งดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยโลกอย่างมาก​ คือ​ ลบ 0.1-0.2% โดยเพิ่มปริมาณเงินเยนในประเทศ​ ปล่อยให้เงินทุนต่างประเทศไหลออก​ เพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อน​ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น​ ไปเพิ่ม​ GDP, เพื่อการจ้างงาน​ และเพิ่มรายได้ประชาชน​ พร้อมกันนี้​ ก็ปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น​ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการบริโภค​และการลงทุนภายประเทศ

สุชาติ ระบุด้วยว่าเหตุที่เงินลดค่าในประเทศญี่ปุ่น​ จึงตรงข้ามกับประเทศอื่นๆ​ ที่กล่าวมา​ รัฐบาลไทยจึงต้องระวังในการรักษาความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ​ อย่ากู้เงินมาทำเรื่องไม่มีสาระ​ โดยเฉพาะอย่าไปกู้เงินต่างประเทศมาแจก​ และยังต้องรักษาค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ดี​  ที่จะส่งออกได้มากๆ​ ทำให้ระบบเศรษฐกิจ​และการจ้างงาน​เพิ่มในอัตราสูง​ขึ้น

ธนาคารกลางสหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ

ขณะที่สถานการณ์ที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกคือ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.5%-1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดของเฟดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศ 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานรายละเอียดแถลงของธนาคารกลางสหรัฐว่า เอฟโอเอ็มซียังคงยืนยันหนักแน่นที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อแตะเป้าหมาย 2% ให้ได้ และคาดว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีขึ้นหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง 8.6% ในเดือนที่แล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2524

ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐได้ทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์

มาตรการ QT ดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐได้ลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม หลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม

ผู้ว่าธปท. ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป 

สำหรับนโยบายการเงินของไทย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น แม้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี  

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงาน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าว Thaipubilca วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า  สถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทย มีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยคาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.3% และปีหน้าที่ 4.2% ซึ่งถือว่าเป็นระดับเท่าหรือสูงกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด-19 ได้ราวปลายปีนี้ หรือต้นปี 2566 

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ ล่าสุด กนง.ได้ปรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จาก 4.9% และทิศทางเงินเฟ้อมีทิศทางขยายวงกว้างมากขึ้น และเริ่มส่งไปสู่หมวดสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น

“หากดูการดำเนินนโยบายการเงินของไทยปัจจุบัน ถือว่าผ่อนปรนมาก และผ่อนเป็นเวลานาน ดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค แต่ในมุมของเงินเฟ้อ ไทยถือว่าติดอันดับท็อปๆ ของภูมิภาค ดังนั้นที่ผ่านมาถือว่าผ่อนปรนมาก” เศรษฐพุฒิ กล่าวพร้อมระบุว่า ส่วนจะปรับขึ้นเมื่อไหร่นั้น ต้องดูบริบทเศรษฐกิจ แต่มองว่า หากขึ้นช้าเกินไปไม่ดี และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

“เหตุผลที่บอกว่าทำช้าเกินไปไม่ดี เพราะหากคอยนานเกินไป ปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด อาจต้องเหยียบเบรกแรงขึ้น ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยอย่าช้าเกินไป เพื่อที่จะไม่ต้องทำแรงเกินไป” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net