Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ ประชุม ศบค. เห็นชอบปรับพื้นที่สีเขียว 77 จังหวัดทั่วประเทศ สธ. แนะให้สวมหน้ากากอนามัยในกลุ่ม 608 และในพื้นที่แออัด สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง เปิดให้บริการตามกฎหมายกำหนด

 

17 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (17 มิ.ย.) เวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 9/2565 ย้ำมาตรการ Universal Vaccination เร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อการเข้าสู่โรคประจำถิ่น เห็นชอบปรับพื้นที่สีเขียว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแนะให้สวมหน้ากากอนามัยในกลุ่ม 608 และในพื้นที่แออัด พร้อมเห็นชอบเปิดสถานบันเทิงได้ตามกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแนะนำและต้อนรับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยาที่เข้าร่วมประชุม ศบค. เป็นครั้งแรก พร้อมกล่าวว่าการประชุม ศบค. วันนี้ถือเป็นการประชุมที่พร้อมเพรียงกันทั้งหมด โดยวันนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดีขึ้นตามลำดับ จากตัวชี้วัดคือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำแต่ก็ยังไม่น่าพอใจ จนกว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งได้พยายามกวดขันในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะมาตรการเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่จะต้องเป็นไปตามที่ประมาณการไว้คือ 60% ขึ้นไป ซึ่งขอให้เร่งรัดดำเนินการให้มากยิ่งขึ้น โดยขอฝากกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการผ่อนคลายมาตรการให้หลายพื้นที่สามารถดำเนินกิจการ กิจกรรมได้มากขึ้น ขอย้ำเตือนให้ทุกคนยังคงต้องดูแลตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข 2U (Universal Prevention และ Universal Vaccination) อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจะเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้น หนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย คือ Universal Vaccination ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม  โดย กทม. และทุกจังหวัดต้องมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 แต่ขณะนี้หลายพื้นที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จากข้อมูลที่ได้รับรายงาน จึงต้องเร่งสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลที่เป็นเชิงวิชาการว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 4-6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง การฉีดเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสำรวจพื้นที่ที่ยังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่ำกว่าเป้าหมาย และดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นได้อย่างทั่วถึง สะดวก และง่ายที่สุด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิ-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง รวมถึง ผู้จัดงาน/จัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะดำเนินการโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน ประชาชน ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสามารถรับมือได้ทันท่วงที ทั้งนี้ การบริหารจัดการสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของ ศบค. ได้ดำเนินการมาอย่างเป็นขั้นตอน มีการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบจากศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันวิเคราะห์กลั่นกรอง โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอ ศบค. ในการอนุมัติกำหนดมาตรการ และการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน การเดินหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ขอขอบคุณในช่วงที่ผ่านมารวมถึงระยะต่อไปที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน จนทำให้สามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด และเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ในการเข้าสู่โรคประจำถิ่น
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำให้มีการใช้จ่ายงบประมาณที่สนับสนุนในเรื่องของโควิด-19 ทั้งจากงบกลางและงบเงินกู้ อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ จึงขอให้พิจารณาปรับลดในสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้ใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ
 
สำหรับมติ ที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญมีดังนี้ ศบค. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ มีผลนับตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา/มีผลได้ทันที ดังนี้

1) พื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ ยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

2) มาตรการการใส่หน้ากาก ควรสวมหน้ากาก และให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด หรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก

3) การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามปกติโดยต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

4) สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ฯลฯ เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด

5) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ

6) การคัดกรองอุณหภมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)

7) การเว้นระยะห่าง แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

8) มาตรการการรวมกลุ่ม ตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคกก.โรคติดต่อจ./กทม.ทราบ เพื่อเฝ้าระวังการระบาด
 
ศบค. เห็นชอบข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 ดังนี้

1) การยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass หรือ CoE ของคนต่างชาติ โดยขอให้สำแดงเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจหาเชื้อแบบต่าง ๆ โดยให้มีการสุ่มตรวจเอกสาร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ

2) ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ

3) ยกเลิกการกำหนดเงินประกัน (ส่งเสริมการซื้อประกัน)
 
ศบค. เห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการสังคม ชุมชน และองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic ดังนี้

1. สำหรับประชาชนกลุ่มเฉพาะ • กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากาก เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น • ผู้ติดเชื้อ /ผู้สัมผัส เสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น

2. สำหรับประชาชนทั่วไป / ผู้ใช้บริการ 1) สถานที่ภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง ให้สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือ มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬาหรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม ฯลฯ 2) สถานที่ภายในอาคาร ให้สวมหน้ากาก โดยสามารถถอดหน้ากาก กรณี • อยู่คนเดียว • หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกันต้องสามารถเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด และอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี • มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดง ฯลฯ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้น ควรสวมหน้ากากทันที
 
ทั้งนี้ มาตรการที่ ศบค. เห็นชอบในวันนี้ จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำรายละเอียดออกเป็นข้อกำหนดประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อนึ่ง กลุ่ม 608 นั้น ตามที่ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุคือ กลุ่มคนที่ต้องได้รับการวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากที่สุด ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และ+1 คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีอาการรุนแรงของโรคมากหากติดเชื้อโควิด-19

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net