Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน จับมือ ILO พัฒนา GLP อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยมีแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี สร้างความเชื่อมั่นตลาดส่งออกสินค้าประมง

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดตัวรายงานการประเมินโครงการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยและเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 3 โครงการ Ship to Shore Rights Programme South East Asia โดยมี คุณจูเซปเป บูซินี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย คุณปนัดดา บุญผลา รองผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก คุณอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ดร.พงษ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องบอลรูม ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ในวันนี้ (16 มิ.ย. 2565)

นายบุญชอบ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณองค์การแรงงานระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปที่ได้ให้การสนับสนุนการประเมินผลการดำเนินการโครงการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย หรือ (Good Labour Practices : GLP) ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ได้นำมาใช้แต่ ปี พ.ศ. 2561 เป็นเวลา 4 ปี แล้ว และเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการประเมิน เพื่อพัฒนาและต่อยอดการดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลเป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศ และของโลก

นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นและจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในระดับภูมิภาค และระดับสากล โดยกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริม GLP ในกิจการประเภทต่าง ๆ รวม 4 ฉบับ ได้แก่ กิจการทั่วไป กิจการสัตว์ปีก กิจการฟาร์มเพาะกุ้ง และ อุตสาหกรรมอาหารทะเล โดย GLP สำหรับอุตสาหกรรมในอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนจาก ILO ภายใต้โครงการ Ship to Shore Rights และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจ นำโดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย การประเมินผลการดำเนินการ GLP ในครั้งนี้ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยยกระดับการนำไปใช้ของ GLP ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใสและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด - 19 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อเกื้อหนุนธุรกิจและคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการริเริ่มโครงการ เพื่อรักษาการจ้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล กระทรวงแรงงานได้มีความพยายามในการให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการทำงานจากโควิด - 19 โดยการผ่อนผันให้ผู้ที่วีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุ สามารถพำนักอาศัย และทำงานในประเทศไทยต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึง มีการตรวจเชิงลึก และค้นหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แรงงานได้รับการจดทะเบียน มีเอกสารประจำตัว และสามารถทำงานได้ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานดังกล่าวได้รับความคุ้มครองอย่างครบถ้วน และเป็นการช่วยรักษากำลังแรงงานให้กับนายจ้างได้อีกทางหนึ่ง ในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูภายหลังโควิด - 19 ซึ่งกระทรวงแรงงานขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อ Build Back Better โลกแห่งการทำงานที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากกว่าเดิม ตามแนวทางของงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในภาคประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล

"กระทรวงแรงงานขอขอบคุณสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ได้นำหลักการ GLP ไปปรับใช้และพัฒนาปรับปรุงการดำเนินการ เพื่อยกระดับความคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทย มีความพร้อมในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดการส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญ อาทิ ในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลาย ซึ่งกระทรวงแรงงานมีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดัน ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงต่อไป" นายบุญชอบ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/6/2565

"12 บริษัทสวีเดนในประเทศไทย" นำร่องประกาศคำมั่น "ให้พนักงานผู้เป็นพ่อได้รับสิทธิลาเลี้ยงดูบุตร"

ภาพจำของผู้ชายและบทบาทในฐานะพ่อ รวมถึงบริบททางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับ "สิทธิลาดูแลบุตรของผู้เป็นพ่อ" กำลังถูกกล่าวถึงในสังคมวงกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต เฉกเช่นในประเทศไทยที่กำลังมีความพยายามในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย Business Sweden และหอการค้าไทย-สวีเดน พร้อมด้วย 12 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับสวีเดนในประเทศไทย ได้แก่ ABB, AstraZeneca, Atlas Copco, Capaciton, Electrolux, FOREO, Fitness24Seven, Global Bugs Asia, IKEA, Rapid Asia, Volvo Car และ Wallander & Sson จึงพร้อมใจขานรับนโยบายเพื่อการยกระดับสภาพการทำงานและสวัสดิการพนักงาน ร่วมลงนามในพิธีให้คำมั่นมอบสิทธิวันลาเพื่อการเลี้ยงดูบุตรแก่พนักงานผู้เป็นพ่อเป็นเวลาหนึ่งเดือนโดยยังได้รับค่าจ้าง สะท้อนจุดยืนในการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนวัฒนธรรมการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและการสร้างสรรค์สังคมแห่งความเท่าเทียม ตอกย้ำจุดยืนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับการปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว พร้อมผลักดันให้ผู้ชายได้แสดงออกทางศักยภาพอย่างเต็มที่และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในสังคม

The Impact: ค่านิยมองค์กรในสวีเดน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศและตลาดแรงงาน

สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ริเริ่มให้มีการลาเลี้ยงดูบุตรแก่ทั้งพ่อและแม่โดยยังได้รับค่าจ้าง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยในปัจจุบันนี้ พ่อและแม่ในสวีเดนทุกคนได้รับสิทธิวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างเป็นจำนวน 480 วัน ส่งผลให้ผู้หญิงในสวีเดนไม่ถูกจำกัดให้ต้องเลือกระหว่างเส้นทางสู่ความสำเร็จในอาชีพและบทบาทแห่งความเป็นแม่ โดยสวีเดนถูกจัดลำดับให้เป็น 1 ใน 5 จาก 150 ประเทศทั่วโลกที่มีดัชนีความเท่าเทียมกันทางเพศหรือ Global Gender Gap สูง ทั้งยังมีอัตราการจ้างงานผู้หญิงสูงที่สุดถึงร้อยละ 80.3 นับเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้น ๆ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 49 ซึ่งจากรายงานสรุปผลสำรวจ พบว่า การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ส่งผลดีต่อภาครวมเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างให้เกิดสังคมแห่งความผาสุก การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน

The Power of Normalization: สร้างพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับหลักความเสมอภาค ข้ามกรอบแนวคิดแบบเดิม สู่สังคมเฟื่องฟู

นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานในพิธีให้คำมั่นมอบวันลาเลี้ยงดูบุตรแก่พนักงานผู้เป็นพ่อว่า "ในหลายประเทศ อาจไม่ใช่เรื่องที่หลายคนคุ้นเคย หากพูดถึงกรณีที่พ่อจะใช้สิทธิวันลาเพื่อเลี้ยงดูแลบุตร หรือฟังดูแล้วเป็นแนวคิดที่มาจากประเทศอื่น ในโอกาสนี้ ผมขอชวนทุกท่านในที่นี้ นึกย้อนไปถึงอดีตกว่าหลายร้อยปี เมื่อครั้งที่ผู้หญิงในประเทศสวีเดนไม่มีสิทธิแม้แต่จะออกเสียงหรือลงคะแนนเลือกตั้ง จนมาถึงวันนี้ วันที่พวกเราทุกคนมีสิทธิและเสียงเท่าเทียมกัน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราทุกคนจะเปิดใจและร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการที่ผู้เป็นพ่อจะได้มีโอกาสใช้วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรอย่างเช่นเดียวกัน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมเชื่อมั่นว่า เราทุกคนต่างจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญในสังคมเพื่อช่วยลบภาพจำแบบเดิม ๆ เกี่ยวกับสิทธิวันลาเลี้ยงดูบุตรที่ยังจำกัดอยู่ และทำให้สิทธิการเข้าถึงวันลานี้สำหรับพ่อทุกคนเป็นเรื่องปกติในสังคม"

"สิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของพ่อ ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อ พ่อ แม่ ลูกอันเป็นผลมาจากแบ่งภาระงานบ้านการเรือนที่เท่าเทียมมากขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยสนับสนุนสังคมและประเทศชาติทั้งหมด รวมถึง โอกาสในการทำงานที่มากขึ้นสำหรับผู้หญิง ลดช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ รวมทั้งกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและการผลิต รวมถึงสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งล้วนแต่จะเป็นประโยชน์ต่อทุก ๆ ฝ่ายต่อไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พิธีลงนามคำมั่นในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้อีกหลายองค์กรและภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสนับสนุนนโยบายเรื่องการเลี้ยงดูบุตรอย่างเช่นเดียวกัน อย่างน้อย ในเรื่องของสิทธิวันลาเลี้ยงดูบุตรและให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานทำงานอย่างจริงจังอีกด้วย" เอกอัครราชทูตยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล กล่าวปิดท้าย

The Ripple Effect: ทุกจุดเริ่มต้นแห่งความเปลี่ยนแปลงเกิดจากความร่วมมือ

นายสลาดัน มุยจิซ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟอริโอ้ (ไทยแลนด์) เผยมุมมองถึงความสำคัญของการริเริ่มและความร่วมมือว่า "FOREO (ฟอริโอ้) ในฐานะบริษัทสตาร์ตอัปที่มีจุดกำเนิดในสวีเดน เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีลงนามให้คำมั่นมอบสิทธิวันลาให้กับพนักงานผู้เป็นพ่อในการดูแลบุตร หัวใจในการดำเนินธุรกิจของเราคือ ต้องการยกระดับประสบการณ์การดูแลตัวเอง (well-being) ที่ไม่เพียงตอบโจทย์คนเพียงกลุ่มเดียว หากแต่ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลาย รวมถึงไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศ ซึ่งแนวคิดนี้ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรของเราเช่นเดียวกัน และแม้ว่าพนักงานกว่าร้อยละ 70 ของเราจะเป็นผู้หญิง แต่ถึงกระนั้นเราเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เกิดความเท่าเทียมในสถานที่ทำงาน จุดมุ่งหมายสำคัญในการสนับสนุนความริเริ่มและนโยบายนี้ในประเทศไทย ไม่เพียงเพื่อให้สมาชิกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน หากแต่เรายังต้องการสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม พร้อมร่วมเป็นกระบอกเสียงสำคัญและสะท้อนให้เพื่อนร่วมอุตสาหกรรม พันธมิตร คู่ค้าทางธุรกิจ รวมถึงองค์กรและภาคส่วนอื่น ๆ เห็นความสำคัญของบทบาทองค์กรในการร่วมสนับสนุนและสร้างแรงขับเคลื่อน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมได้"

พิธีลงนามให้คำมั่นฯ และการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้แทนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสวีเดนทั้ง 12 บริษัทในครั้งนี้ มุ่งสะท้อนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจในการร่วมผลักดันและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียม การริเริ่มและบุกเบิกนโยบาย (Lead by Sample) เพื่อความเท่าเทียมในประเทศไทย นับเป็นมากกว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หากแต่เป็นไปเพื่อการนำไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 15/6/2565

วอนแรงงานปฏิบัติตาม กม.ประเทศปลายทางเคร่งครัด หวั่นกระทบส่งออกแรงงานในอนาคต

15 มิ.ย. 2565 ที่โรงแรมเฮือนต้นนุ่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมคนหางาน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพคนหางานเพื่อการแข่งขันไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมมอบพิธีมอบวุฒิบัตรแก่คนงานผู้สำเร็จการอบรมฯ ซึ่งเป็นคนงานที่ได้รับสัญญาจ้างและอยู่ระหว่างรอการเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) จำนวน 43 คน เป็นชาย 29 คน และหญิง 14 คน แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม จำนวน 16 คน ภาคการเกษตร/ปศุสัตว์ จำนวน 25 คน และภาคการก่อสร้าง จำนวน 2 คน โดยมีนายโอวาท ทองบ่อมะกรูด ผู้อำนวยการกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ นายประภาส พรหมคำบุตร จัดหางานจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงแรงงานประเทศไทย และกระทรวงแรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ โดยกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานฝ่ายไทยที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดหาและส่งแรงงาน ส่วนสำนักงานบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนนายจ้างเกาหลี ในการดำเนินกระบวนการนำเข้าแรงงานไทย ซึ่งในปีนี้ประเทศเกาหลีได้มีโควต้ารับแรงงงานไทยไปทำงานในปี 2565 ประมาณ 3,000 คน ฉะนั้นกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศจึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพคนหางาน เพื่อการแข่งขันไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการอบรมด้านภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี ก่อนเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่คนหางานให้มีความพร้อมในการไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการส่งอาจารย์มาให้ความรู้ด้านภาษาเกาหลีแก่ผู้เข้ารับการอบรม

รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ในวันนี้ได้มีการเน้นยำกับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีที่ผ่านการอบรมฯ ในครั้งนี้ คือขอให้ปฏิบัติตนตามกฎหมายของประเทศที่ไปทำงานอย่างเคร่งครัด เมื่อเดินทางไปทำงานเพื่อให้มีรายได้มาดูแลครอบครัวที่รอคอยอยู่ที่ประเทศไทย ขอให้หลีกเหลี่ยงอบายมุขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุรา ยาเสพติด เพราะประเทศที่รับไปทำงานต้องการแรงงานที่มีความรับผิดชอบต่องาน หากแรงงานไปปฏิบัติตนผิดกฎหมายนอกจากจะส่งผลต่อตัวแรงงานเองโดยตรงแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและส่งผลกระทบกับคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานที่เกาหลีในรุ่นต่อๆ ไป ที่จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากประเทศต้นทางในการรับแรงงานไทยไปทำงานอีกได้

“อยากฝากไปถึงคนหางานที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศเกาหลี หรือประเทศอื่น ๆ ขอให้ไปทำงานกับบริษัทที่ได้รับอนุญาตจัดหาแรงงานจากกรมการจัดหางาน หรือ ผ่านกรมการจัดหางาน กรณี ที่รัฐเป็นผู้จัดส่ง ซึ่งหากมีใครหรือหน่วยงานใดที่มาบอกว่า มีตำแหน่งงานว่างและต้องการแรงงานไปทำงานที่ประเทศนั้นประเทศนี้ ก็ขอให้อย่างเพิ่งหลงเชื่อ แต่ขอให้ทำการตรวจสอบความถูกต้องได้ที่สำนักจัดหางานจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและเสียเงินเสียทองโดยที่ไม่เป็นความจริง”

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/6/2565

Shopee เลิกจ้างพนักงานไทย 300 คน มีผล 1 ก.ค. 2565 นี้ ก.แรงงาน เข้าดูแลสิทธิลูกจ้างตามกฎหมาย

15 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวในสื่อออนไลน์ว่า ซี กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเครือช้อปปี้ที่ตั้งอยู่ประเทศสิงค์โปร์ จะดำเนินการเลิกจ้างลูกจ้างในต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทันที ซึ่งจากการสอบถาม บริษัทแจ้งว่ามีการเลิกจ้างลูกจ้างในเครือช้อปปี้ที่อยู่ในประเทศไทยจริง

โดยเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด บริษัทได้เรียกลูกจ้างเข้ามาพบเป็นรายบุคคลเพื่อแจ้งการเลิกจ้าง และให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

ซึ่งการเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทยืนยันว่าจะจ่ายค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิหน้าที่และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคมให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง

นอกจากนั้นให้เตรียมจัดหางานรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หากลูกจ้างต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้ อย่างไรก็ตาม หากมีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจะดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวต่อว่าได้มอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ประสานกับประกันสังคมพื้นที่ 3 จัดหางานพื้นที่ 10 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างรับทราบเพื่อจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ กสร. จะติดตามสถานการณ์การจ้างงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดหากมีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ต้องการได้รับการช่วยเหลือ หรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 โทรศัพท์ 02 247 7903 หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/6/2565

เสวนาถอดบทเรียนแรงงานข้ามชาติ โควิดกระทบหนัก ตกหล่น เข้าไม่ถึง

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด จัดงานสัมมนาเรื่อง “แนวทางในการจัดบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ และแนวทางในการช่วยเหลือเยียวสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ : บทเรียนจากช่วงวิกฤติสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19”

โดยเวทีดังกล่าวมีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ และข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องการจัดบริการด้านสุขภาพ หลักประกันด้านสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และทบทวนสถานการณ์ในด้านปัญหาการเข้าถึงการเยียวยาของแรงงานข้ามชาติ และการคุ้มครองเด็กข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และข้อเสนอต่อการจัดการของรัฐ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและแนวทางในการดำเนินการต่อไป

ทางปัญจวรี พัวพันธ์ศรี ผู้จัดการโครงการอียูรับมือโควิด กล่าวว่า โครงการอียูรับมือโควิดเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภาคประชาสังคม ช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบางให้เข้มแข็ง มีความสามารถรับมือโควิดและภัยพิบัติในอนาคต โดยมีการสนับสนุนเชิงนโยบายทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะกลุ่มคนจนเมือง นักเรียน คนไร้รัฐ ชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ การพัฒนากลุ่มเปราะบางให้เข้มแข็งพอจะรับมือกับภัยต่างๆ ส่วนสำคัญคือเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

ด้านฟรานเชสก้า จิลลี่ ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายความร่วมมือ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่าการจัดบริการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์นี้ แม้ว่าในวิกฤติที่ผ่านมามีสถานการณ์มากมายที่เราเผชิญ แต่ในอนาคตก็ยังมีวิกฤติที่เราต้องเตรียมตัวในการรับมือ

งานในวันนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่มาพูดคุยกันเพื่อถอดบทเรียนในการช่วยเหลือประชากรข้ามชาติในช่วงโควิด เมื่อแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานและมีส่วนช่วยสร้างการพัฒนาในพื้นที่ ขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดนี้มีการวิจัยในพื้นที่ว่าแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุข จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ

ด้าน ปภพ เสียมหาญ ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา นำเสนอสถานการณ์การเข้าถึงเยียวยาของแรงงานข้ามชาติว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาขณะที่โควิดระบาดรุนแรงมีการพูดถึงว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการระบาด ขณะที่แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น มีการค้างจ่าย การถูกลอยแพ ค่าจ้างไม่เป็นธรรม การไม่สามารถทำเอกสารทำงานต่างๆ แต่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่สนใจเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ กลัวว่ายื่นเรื่องไปอาจถูกเลิกจ้างและไม่สามารถทำงานในไทยต่อได้ รวมถึงกรอบเวลาการยื่นเรื่องต่างๆ ใช้เวลาพอสมควร ต้องเดินทางไปกรอกคำร้องขณะที่เขาถูกกักตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้

มาตรการเยียวยาของรัฐช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมานั้นแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความช่วยเหลือ แม้ว่ารัฐจะโปรโมทว่าเราไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง โครงการ ม.33 เรารักกันและโครงการอื่นๆ มีเงื่อนไขว่าผู้ที่เข้าถึงได้ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าเขาจะจ่ายเงินสมทบก็ตาม เราจึงทำแคมเปญเรียกร้องว่าโครงการนี้มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ โดยส่งเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่คำวินิจฉัยบอกว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ รัฐธรรมนูญบอกว่าการเลือกปฏิบัติทางสัญชาติไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ มีการพูดถึงเฉพาะเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

นอกจากนี้เรื่องการเยียวยากรณีว่างงานแรงงานที่สถานประกอบการต้องปิด ซึ่งต้องกรอกข้อมูลทางออนไลน์เป็นภาษาไทยและนายจ้างต้องใส่ชื่อแรงงานในระบบ การเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติจึงไม่ง่ายเลย สิ่งเหลานี้สะท้อนว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น นโยบายของรัฐทำให้พวกเขาถูกจำกัดสิทธิ

ข้อเสนอแนะของเราคือ แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะอยู่ในระบบประกันหรือไม่ แต่การเยียวยาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการแพร่ระบาดที่สร้างความทุกข์ทรมาน แต่การเยียวยาแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่เรายังต้องทำอยู่ ยังไม่สายที่ภาครัฐจะหันมาให้ความสนใจและให้ความชัดเจนเรื่องการเยียวยา

ขณะที่ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีโควิดรัฐบาลประกาศให้ทุกกิจการที่มีความเสี่ยงหยุดกิจการ เราให้ความช่วยเหลือโดยให้ขึ้นทะเบียนว่างงานโดยเหตุสุดวิสัยทางออนไลน์ ซึ่งนายจ้างต้องลงทะเบียนให้ลูกจ้าง โดยเราจ่ายให้เท่ากันไม่ว่าแรงงานไทยหรือต่างชาติ ยกเว้นลูกจ้างที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ซึ่งทางเราไม่สามารถทราบได้ ช่วงโควิดทำให้เราเห็นกฎหมายที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานรับมือตามสถานการณ์ที่เข้ามา โดยต้องหาทางช่วยเหลืออย่างถูกต้อง

ด้านอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาช่วงโควิดจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมีความลำบากกว่ามาก ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากไหนได้ การส่งเสริมการจ้างงานให้ถูกกฎหมายเป็นปัจจัยที่จะลดปัญหาต่างๆ ได้ ขณะที่ไทยถูกจับตาเรื่องการค้ามนุษย์ ถ้ามีแรงงานเข้ามาไม่ถูกกฎหมายก็จะมีปัญหาค้ามนุษย์ตามมา เราจึงต้องมีกระบวนการชักจูงให้ทำแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมายให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการทำงานถูกกฎหมายนั้นไม่ต่างจากการเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

สุธาสิณี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ยกตัวอย่างปัญหาช่วงการระบาดระลอกสองที่สมุทรสาครว่า มีการล้อมรั้วปิดตลาดกุ้ง แต่ช่วงแรกไม่มีการจัดหาอาหารให้แรงงานข้ามชาติที่กักตัว เพราะงบประมาณข้าวกล่องมีเฉพาะสำหรับคนไทย เรื่องการเยียวยาโครงการเรารักกันหรือคนละครึ่งนั้น แรงงานข้ามชาติก็ใช้ไม่ได้ จึงไม่ตอบโจทย์การเยียวยาทุกคน เรื่องการตรวจโควิดเชิงรุกที่สมุทรสาครนั้นคนไม่มีเอกสารก็ไม่สามารถตรวจได้ เรื่องการเยียวยาพื้นที่สีแดงก็ให้เฉพาะคนไทย เรื่องวัคซีนนั้นก็ให้เฉพาะผู้ประกันตน ทำให้มีแรงงานข้ามชาติตกหล่นจำนวนมาก

การแก้ปัญหาต้องคำนึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ระเบียบบางอย่างของรัฐราชการต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังแรงงาน แรงงานข้ามชาติต้องได้สิทธิเยียวยาเท่าแรงงานไทย รัฐต้องวางแผนทำงานร่วมกันในการรับมือการแก้ไขปัญหา ต้องทำงานเชิงรุก ร่วมกันคิดรูปแบบการรับมือวิกฤติแต่ละครั้ง และมาตรการรัฐต้องออกแบบให้รองรับแรงงานข้ามชาติเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย

ชมพูนุท ป้อมป้องศึก นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. มีการทำข้อแนะนำและรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทยทุกปี ช่วงการระบาดก็มีรายงานผลกระทบจากโควิดและมีข้อเสนอ เช่น ควรมีมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรค การเข้าถึงวัคซีนต้องคำนึงถึงกลุ่มที่เสี่ยงตกหล่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางด้วย เด็กที่ได้รับผลกระทบต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ต้องมีการสำรวจเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาและมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้รัฐควรเร่งจัดหาวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางและแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากส่งผลกระทบถึงคนไทยเพราะเขาทำงานและอยู่ร่วมกับเราในประเทศไทย

รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อเสนอจากงานวิจัย “เด็กข้ามชาติในสภาวะวิกฤติสุขภาพ: สถานการณ์และทางออก” ว่าได้ทำการศึกษาช่วงโควิดโดยประเมินสถานการณ์และผลกระทบเด็กข้ามชาติในประเทศไทย ข้อมูลสถิติเด็กข้ามชาติที่มีนั้นตัวเลขจำนวนไม่ชัดเจน แต่มีพลวัตการอยู่อาศัยของเด็กในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ในการศึกษามองสามประเด็นสำคัญคือ สุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ ด้านสุขภาพคือเรื่องความเสี่ยงและความเปราะบางในการติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ทางอ้อมคือเรื่องอนามัยแม่และเด็ก หญิงตั้งครรภ์ การเข้าถึงวัคซีนและโภชนาการสมวัย

ด้านการศึกษานั้นผลกระทบทางตรงคือการปิดโรงเรียนและศูนย์เรียนรู้ เกิดการชะงักในโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก เด็กขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเด็กไทยกลุ่มเปราะบางจะเจอผลกระทบไม่ต่างกัน แต่เด็กข้ามชาติมีปัจจัยเรื่องเอกสารและบริบทที่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการคุ้มครองนั้นความเสี่ยงขึ้นอยู่กับช่วงวัย เช่น ในเด็กเล็กการขาดผู้ดูแลที่เหมาะสม ความรุนแรงในครอบครัว ในเด็กวัยเรียนกระทบจากการปิดโรงเรียน ในเด็กโตจะถูกผลักให้ทำงานเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อการศึกษาและมีเรื่องการล่วงละเมิดและพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม

ปัญหาที่เราต้องเฝ้าระวังคือ 1.การเข้าไม่ถึงทั้งเรื่องการจดทะเบียนเกิด การศึกษา และบริการสุขภาพที่จำเป็น 2.การตกหล่นทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครอง 3.เด็กข้ามชาติจะมีความเสี่ยงและเปราะบางเพิ่ม ข้อเสนอแนะจากการศึกษาคือ 1.กลไกและมาตรการเฉพาะหน้าที่ชัดเจนในการติดตาม ประเมิน เฝ้าระวัง และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบโควิดต่อเด็กข้ามชาติ 2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กข้ามชาติและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.นโยบายระยะยาวที่ชัดเจนภายใต้แนวคิด replacement migration

หากประเทศไทยมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ว่าสามารถเป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต ก็จะทำให้นโยบายและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนการเกิด การศึกษา และสุขภาพ รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงและความปลอดภัยในด้านต่างๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน ชัดเจนและมีแนวทางลงสู่ระดับการปฏิบัติในทุกเรื่องที่เป็นไปในเป้าหมายเดียวกัน

นพ.ประณิธาน รัตนสาลี ที่ปรึกษางานพัฒนาระบบบริการเฉพาะ กองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ มีข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมาแม้ว่าผู้ป่วยไม่มีสิทธิรักษาแต่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาอยู่แล้ว แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ จึงมีการแบกรับค่าใช้จ่ายมายาวนาน การให้บริการสาธารณสุขช่วงโควิดนั้นผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติมักอยู่ในพื้นที่ชายขอบซึ่งการให้บริการไม่พร้อมจนเกิดข้อจำกัด ช่วงโควิดยิ่งทำให้การบริการติดขัดเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจนติดเชื้อง่ายขึ้น เราจึงต้องพัฒนาระบบบริการให้ทั่วถึง และขยายสิทธิประกันสุขภาพไปถึงผู้ติดตาม

สุธิดา ศรีมงคล ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบคุ้มครอง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เรายึดการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยเราค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยง ให้เด็กได้รับความเช่วยเหลือทันท่วงที ให้เด็กมีผู้ดูแลและปลอดภัยผ่านกลไกและช่องทางการช่วยเหลือเชิงรุกต่างๆ มีการช่วยเหลือเฉพาะหน้ามีการให้ความปลอดภัย การรักษา การดำรงชีวิตเบื้องต้น นอกจากนี้คือการจัดทำแผนรายบุคคล

ด้าน ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงบริการ ก่อนหน้านี้สิทธิต่างๆ ขึ้นอยู่กับเลข 13 หลัก จนเป็นอุปสรรคการเข้าถึงบริการและการเยียวยา แต่วิกฤตินี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หลายภาคส่วนพยายามผลักดันนโยบายและหลักการปฏิบัติที่เอื้อต่อสิทธิเด็กอพยพมากขึ้น

เรื่องการคุ้มครองเด็กจะทำอย่างไรให้ระบบและกลไกที่มีอยู่เข้มแข็ง ใช้ได้จริงและสอดคล้องบริบทในพื้นที่ เราต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กทุกคนในชุมชนโดยต้องไม่ตกหล่นเด็กข้ามชาติ นอกจากนี้ต้องผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพและการจดทะเบียนการเกิดให้ครอบคลุมเด็กข้ามชาติ ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นปัจจัยสำคัญในวิกฤติ นอกจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแล้ว ทำอย่างไรระบบที่มีจะเข้มแข็งและครอบคลุมทุกคน

มนัญชยา อินคล้าย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กข้ามชาติ เล่าว่า จากการระบาดที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร จนมีการปิดตลาด แม่และเด็กบางคนต้องแยกกัน นายจ้างที่มีแรงงานไม่ถูกกฎหมายก็กังวลจนเอาแรงงานไปทิ้งข้างทาง หอพักก็ไล่แรงงานไม่ถูกกฎหมายออก เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ สถานการณ์มาคลี่คลายตอนที่รัฐประกาศว่าจะดูแลทุกคน ไม่ต้องไปไหน ให้อยู่กับที่ นายจ้างเริ่มคลายกังวล แต่หลังจากนั้นเด็กถูกกักตัวอยู่บ้าน โรงเรียนปิด เด็กหลายคนตึงเครียดเพราะออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้ เด็กบางคนคลอดออกมาแล้วยังไม่เคยเจอหน้าพ่อเพราะพ่อกลับประเทศไปทำบัตรยังไม่ได้กลับมา

ในการระบาดระลอกสามเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเฉพาะช่วงแรกที่ต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเอง ทำให้เด็กที่ติดเชื้อไม่สามารถไปตรวจได้จนมีการเสียชีวิต แรงงานที่ไม่มีบัตรลำบากมาก การสาธารณสุขเป็นความมั่นคงของชาติ โควิดไม่ได้เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและช่วงวัย ถ้าเรามองคนเป็นคนเหมือนกัน ต้องให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ถ้วนหน้าเท่าเทียม อยากให้เปิดให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพและใบเกิด เพราะช่วงโควิดที่สมุทรสาครจำกัดคิวแจ้งเกิดแต่ละวัน กว่าจะได้ใบเกิดยากมาก พอคิวยาวพ่อแม่บัตรหมดอายุก็กลายเป็นคนเถื่อนอีก

ในช่วงท้าย อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวสรุปว่า ในสถานการณ์โควิดแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างไม่มีรายได้ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐแต่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง เพราะระบบไม่เอื้อ เด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เข้าไม่ถึงการศึกษา หลุดจากระบบ ประชากรข้ามชาติเข้าไม่ถึงการตรวจโควิดและการรักษา ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเราไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องสาธารณูปโภคที่ดีพอสำหรับทุกคนเพื่อให้เราพ้นจากวิกฤติได้

แต่เราไม่ยอมแพ้ เรามีอาสาสมัครสาธารสุขต่างด้าว (อสต.) มีสถานประกอบการที่เข้ามาจัดการด้วยตัวเอง มีสายด่วนหลายภาษา มีกลุ่มไทยแคร์ช่วยดูแลก่อนถึงมือหมอ ที่สำคัญเราสร้างความร่วมมือ ทำความเข้าใจ ทำงานด้วยกันมากขึ้น ไว้วางใจกันมากขึ้น เราร่วมกันเรียนรู้ว่าเราไม่อยู่คนเดียว เราไม่สามารถปล่อยใครสักคนไว้ข้างหลังให้เดือดร้อนได้ เพราะจะส่งผลถึงทุกคนในสังคม

เราควรสร้างระบบที่รองรับทุกคนในสังคมไทย เราควรพัฒนาช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ เราควรพัฒนากฎหมายและนโยบายเพื่อรองรับภาวะวิกฤติในอนาคต เราจะร่วมกันคิด ช่วยกันทำ ย้ำความร่วมมือในการวางแผนรับวิกฤติในอนาคต เพราะโควิดไม่เลือกสัญชาติ โรคระบาดไม่เลือกผู้ป่วย

ที่มา: ข่าวสด, 14/6/2565

ครม. เห็นชอบร่างประกาศสนับสนุนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงทางทะเล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศ 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ…..และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สามารถมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล

โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นกฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทางทะเล แม้ในระยะที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขโดยดำเนินการตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มา 3 ครั้ง มีคนต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนและผ่านการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งสิ้น 14,806 คน และได้มีการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ 1,818 คน โดยจะทยอยหมดอายุตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.65 ซึ่งแรงงานยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้แรงงานของผู้ประกอบการด้านประมง จึงต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทางทะเล ตามมติของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) โดยมีผลให้สามารถดำเนินการตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน ตามห้วงเวลา ดังนี้ 1. ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. และ 2. ระหว่างวันที่ 1 ก.ย. – 30 พ.ย.

โดยการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ และมีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า หรือคนต่างด้าวที่เคยได้รับหนังสือประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออกเอกสารคนประจำเรือ สามารถยื่นขอรับหนังสือคนประจำเรือ เพื่อทำงานในเรือประมงได้ไม่เกิน 2 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือตามมาตรา 83 ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว

สำหรับการดำเนินการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวเพื่อทำงานในกิจการประมงทางทะเล และการออกหนังสือคนประจำเรือนี้ จะมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14/6/2565

เผย Shopee เลิกจ้างพนักงานหลายประเทศในเอเชีย-ในไทยโดนปลดกว่าครึ่ง

เว็บไซต์ข่าว DealStreetAsia ของสิงคโปร์รายงานว่า บริษัทช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซในเครือของซี กรุ๊ป (Sea Group) จะปลดพนักงานในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัท

การปลดพนักงานครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อพนักงานของช้อปปี้จำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยรายงานระบุว่า ทางบริษัทได้ส่งอีเมลเพื่อแจ้งพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานในครั้งนี้แล้ว

ด้านช้อปปี้เพย์ (ShopeePay) ซึ่งเป็นธุรกิจรับชำระเงินของช้อปปี้ และบริษัทช้อปปี้ฟู้ด (ShopeeFood) ซึ่งเป็นธุรกิจบริการส่งอาหารของช้อปปี้เปิดเผยว่า ทั้งสองบริษัทได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ช้อปปี้ได้จัดการประชุมแบบ Town Hall เมื่อวันจันทร์ (13 มิ.ย.) เพื่อแจ้งกับพนักงานของช้อปปี้เกี่ยวกับแผนการปรับลดจำนวนพนักงาน

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของการปลดพนักงานและจำนวนพนักงานที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยทางDealStreetAsia ได้ติดต่อกับทางช้อปปี้เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

แหล่งข่าวเปิดเผยกับ DealStreetAsia ว่า พนักงานฝ่ายชำระเงินและฝ่ายส่งอาหารของบริษัทช้อปปี้ (ประเทศไทย) ได้ถูกปลดออกเกือบครึ่งหนึ่ง โดยแหล่งข่าวระบุว่า ช้อปปี้ได้ขอให้พนักงานกลับบ้าน และรออีเมลแจ้งเกี่ยวกับการเลิกจ้าง

ทั้งนี้ แม้ว่าธุรกิจของซี กรุ๊ปยังคงแสดงสัญญาณที่ดีขึ้นในด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวม แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากบริษัทการีนา (Garena) ซึ่งเป็นธุรกิจเกมในเครือซี กรุ๊ป

ส่วนกิจการของช้อปปี้นั้น แม้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2565 แต่ก็ยังคงขาดทุน และบริษัทยังคงเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมหภาคหลายด้าน ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกและการอุปโภคบริโภค

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14/6/2565

ขสมก.รับรถไม่พอวิ่ง พนักงานขาดแคลน ย้ำเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด 15 วัน ย้ำไม่เกี่ยวน้ำมันขึ้น

13 มิ.ย.2565 นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า จากกรณีเพจเฟซบุ๊ครถเมล์ไทยแฟนคลับ โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ในช่วงเวลา 20.00 น. ประชาชนต้องรอรถโดยสารประจำทางนานหลายชั่วโมง จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขนั้น ทางหน่วยงานขอเวลา 15 วันเร็วที่สุดในการแก้ปัญหานี้

โดยปัจจุบัน ขสมก. มีรถโดยสารประจำการ จำนวน 2,885 คัน ลดลงจากเดิมประมาณ 200 คัน เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาเช่ารถโดยสาร แต่ ขสมก. ไม่สามารถนำรถออกวิ่งให้บริการได้ทั้งหมด เพราะต้องสำรองรถโดยสาร 5% เผื่อสำหรับกรณีฉุกเฉิน ทำให้ ขสมก. มีรถโดยสารออกวิ่งในแต่ละวันเพียง 95% หรือวันละประมาณ 2,740 คัน นอกจากนี้ ขสมก. ยังขาดอัตรากำลังพนักงานขับรถโดยสารอีกกว่า 700 คน ส่งผลให้ ขสมก. มีอัตรากำลังพนักงานและจำนวนรถโดยสาร ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหลัง 20.00 น. ยังคงมีรถโดยสารของ ขสมก. วิ่งให้บริการ ซึ่ง ขสมก.ไม่ได้มีการปรับลดเที่ยววิ่งจากสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงแต่อย่างใด แต่เนื่องจากในบางเส้นทางอยู่ระหว่างปรับปรุงการจัดเดินรถให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ อาทิ ความถี่ในการปล่อยรถ จำนวนเที่ยววิ่ง จำนวนรถโดยสาร และจำนวนพนักงานประจำรถ ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงต้องขออภัยประชาชนผู้ใช้บริการในความไม่สะดวก

ขสมก. จะเร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 วัน ทั้งนี้ ขสมก. ได้จัดทำแบบสอบถามออนไลน์ ผ่าน QR Codeในการแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือ ติชมการให้บริการของ ขสมก. โดยจะนำสติกเกอร์คิวอาร์โค้ด ไปติดที่หลังเบาะที่นั่งบนรถทุกที่นั่ง และบริเวณต่าง ๆ ภายในรถโดยสารประจำทาง เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนให้เกิดความร่วมมือ ในการพัฒนาและปรับปรุง ขสมก. ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 13/6/2565

คสรท. และ สรส.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เสนอแก้ปัญหาระบบประกันสังคมแบบยั่งยืน สร้างหลักประกัน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ พร้อมทวงเงินสมทบที่รัฐค้างจ่ายเข้ากองทุน 60,000 ล้านบาท

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2565 เพื่อยื่นข้อเสนอสำหรับการประกันสังคมที่ยั่งยืน

เนื้อหาจดหมายระบุว่า นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติประกันสังคมซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน เป้าหมายของประกันสังคมคือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

โดยได้รับทดแทนเมื่อประสบอันตราย หรือจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้ ซึ่งการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในระยะแรกเป็นลักษณะร่วมกันจ่ายในสัดส่วนที่เท่ากันในอัตราร้อยละ 5 ระหว่าง ผู้ประกอบการ คนทำงาน และรัฐ โดยกำหนดค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณจ่ายเงินสมทบรายเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท

คสรท. และ สรส. ระบุว่า ภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยลดสัดส่วนของรัฐลงเหลือร้อยละ 2.75 ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี ที่รัฐค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท เป็นเหตุให้กองทุนประสบปัญหาในเรื่องการเติบโตขาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนเพื่อหาประโยชน์ และทำให้กระทบถึงสิทธิผู้ประกันตนที่จะเพิ่มผลประโยชน์ในแต่ละกองทุนไปด้วย

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ

ที่ต้องปรับลดขนาดลง บางแห่งต้องปิดกิจการส่งผลกระทบต่อคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การแก้ปัญหาก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ บางคนก็เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือด้วยเงื่อนไขบางประการ แต่อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือผ่านโครงการต่าง ๆ รัฐบาลล้วนต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องร่วมกันชดใช้

เช่นเดียวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกันตนเพื่อให้กิจการและการทำงานดำเนินต่อไปได้ รัฐบาลจึงได้มีมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนลงมา อาจเป็นผลดีกับผู้ประกอบการที่จะนำจ่ายเงินสมทบน้อยลง แต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกันตนและระบบประกันสังคมในระยะยาว

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งรายละเอียดดังนี้

1) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้

2) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก)

ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

3) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

4) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย

5) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง

6) การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

คสรท. และสรส. ระบุว่าด้วยว่า หากดูการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมในภาพรวมก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากในสังคมซึ่งบางกลุ่มเห็นด้วยบางกลุ่มไม่เห็นด้วย คือ

ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

ซึ่งในส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงของกองทุนในระยะยาว เมื่อนำเงินออกมาใช้ก่อนแล้วทำให้จำนวนเงินในกองทุนลดลง ทำให้ขาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนหาประโยชน์ รวมไปถึงอนาคตของผู้ประกันตนเองเงินชราภาพที่ได้รับหลังเกษียณนั้นมีจำนวนน้อยมากอยู่แล้ว หากนำเงินมาใช้ก่อนแล้วชีวิตบั้นปลายจะอยู่อย่างไร

และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้นั้น หากบริหารเงินผิดพลาดก็จะส่งผลต่อตนเองและกองทุนด้วยเช่นกัน และวิเคราะห์กันว่าในประเด็น ขอกู้ ขอคืนนั้น มาจากที่คนงานได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นและ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะยังชีพ หรือเกิดภาวะตกงานต้องการสร้างอาชีพแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ จึงพยายามหาวิธีการเอาเงินอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในสิ่งที่ควรจะเป็น คือ รัฐบาลต้องทำหน้าที่ในการสร้างหลักประกัน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่ประชาชน คุ้มครองการจ้างงานให้กับคนทำงาน เหมือนกับที่รัฐบาลได้สร้างหลักประกัน ลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการไปแล้วก่อนหน้านี้ และรัฐบาลต้องลดรายจ่ายค่าครองชีพของประชาชนลง ไม่ใช่มาเอาเงินออมในอนาคตของผู้ประกันตนออกมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมและผู้ประกันตนเอง

ทั้งนี้ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกัน และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนเพื่อความยั่งยืนดังที่เคยเสนอมาแล้วหลายครั้ง ดังนี้

1. ต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และรัฐต้องนำส่งเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ครบตามจำนวนพร้อมดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันรัฐค้างจ่ายสมทบประมาณ 60,000 ล้านบาท

3. ต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33

4. ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพใหม่จากเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือน เดือนสุดท้าย

5. รัฐต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่แทนชุดเก่าที่หมดวาระโดยเร็วซึ่งสามารถทำได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 (แก้ไข ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558)

6. ให้ขยายกรอบเวลาและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่มีข้อจำกัด

7. ให้เพิ่มอัตราค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมจาก 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท

8. ต้องเร่งจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือสถาบันการเงินของคนงาน ตามกรอบของคณะทำงานประกันสังคมเห็นชอบแล้ว เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกันตนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการออมเงิน

9. เร่งจัดตั้งสถาบันการแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลของประกันสังคม ทำหน้าที่ในการป้องกัน รักษา ฟื้นฟูร่างกาย สุขภาพ และวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และ บริการประชาชนทั่วไปซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นหลักประกันในเรื่องสุขภาพ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/6/2565

ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างห่วงโซ่ผลิตอาหารที่เคารพสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ปราศจากการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนและแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับในความแตกต่าง ปฏิบัติต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติอย่างเด็ดขาด ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมจับมือกับคู่ค้าและเกษตรกรพัฒนาห่วงโซ่ผลิตอาหารที่ปราศจากการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ปฏิบัติต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลอย่างเท่าเทียม ปราศจากการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งหมายรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม บริษัทฯ ตระหนักดีว่าความแตกต่างและความหลากหลายของพนักงาน มีความสำคัญและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศและทั่วโลก ซึ่งนับเป็น1 ใน 9 ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ในการบริหารจัดการดูแลทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม มีแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างชัดเจนตามมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2563) รวมไปถึงมาตรฐานสากลและข้อกำหนดของคู่ค้า มุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมการยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายภายในองค์กร ปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างเด็ดขาด (Zero Tolerance Approach) ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ต่อต้านและป้องกันการล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ

“ซีพีเอฟมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ และการลดความเหลื่อมล้ำ คุ้มครองกลุ่มเปราะบางทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และแรงงานคนพิการ รวมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว

ซีพีเอฟประกาศความมุ่งมั่นในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีผ่านนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและนโยบายด้านการจ้างงานและการบริหารแรงงาน โดยการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในทุกมิติ รวมถึงการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างมีจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการจ้างงาน ไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับในทุกรูปแบบ เคารพความแตกต่างและปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม

บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (มูลนิธิ LPN) ตั้งแต่ปี 2560 จัดการอบรมให้พนักงานมีความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งดำเนินช่องทางการรับฟังเสียงพนักงานผ่านองค์กรกลาง “ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN” เพื่อให้พนักงานทุกคนสะดวกใจในการร้องเรียนปัญหาและข้อเสนอแนะ ช่วยให้บริษัทฯ สามารถปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนได้ทันสถานการณ์ และในปีนี้ บริษัทฯ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานข้ามชาติที่เคยมาทำงานกับซีพีเอฟถึงภูมิลำเนาในประเทศกัมพูชา และส่งเสริมตัวแทนจัดหาแรงงานในประเทศต้นทางดำเนินการจัดหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบและโปร่งใส ตอกย้ำความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

แนวทางหนึ่งที่ซีพีเอฟพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสนับสนุนให้พนักงานทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนของพนักงานจากทุกระดับและสายงาน เพื่อเปิดโอกาสในการเสนอแนะให้บริษัทฯ พิจารณาปรับปรุงในด้านสวัสดิการ สภาพแวดล้อมการทำงาน และการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ไม่เหมาะสม โดยกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการของบริษัทฯ มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการสวัสดิการตามสัดส่วนของพนักงานในสถานประกอบการแต่ละแห่ง ซึ่งสูงกว่าจำนวนขั้นต่ำ 5 คนตามที่กฎหมายกำหนด โดยสูงสุดไม่เกิน 17 คน และกำหนดให้ตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการมีความหลากหลายครอบคลุมพนักงานทุกกลุ่มทั้งในมิติเรื่องเพศ สัญชาติ ศาสนา และความพิการ

อีกทั้งในกรณีที่คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่มีความครอบคลุมกลุ่มเปราะบางดังกล่าว บริษัทฯ ก็จะจัดให้มีคณะอนุกรรมการสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุมความหลากหลายของพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมให้พนักงานทุกคน ทุกระดับ ทุกกลุ่ม ได้มีส่วนร่วมในการแสดงมุมมอง ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงด้านสวัสดิการให้พนักงานทุกคนได้อย่างเสมอภาค

บริษัทฯ ยังมีการจัดอบรมให้ความรู้ และร่วมพัฒนาคู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกรมีการจัดจ้างแรงงานอย่างถูกต้อง ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบรวมทั้งการใช้แรงงานเด็ก นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับองค์กรทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และลดความเสี่ยงการใช้แรงงานเด็กในห่วงโซ่ผลิตอาหาร ผ่านความร่วมมือจัดตั้งและดำเนินงาน ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Songkhla Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง ที่อยู่ในจังหวัดสงขลา พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2559 จนถึงปี 2564 ศูนย์ FLEC ได้มีส่วนช่วยบุตรหลานแรงงานข้ามชาติในภาคประมงจังหวัดสงขลากว่า 200 คนเข้าถึงระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะความรู้เหมาะสมกับช่วงวัย

ที่มา: ข่าวสด, 13/6/2565

ราชกิจจาฯ ประกาศ อัตราค่าจ้าง 16 สาขาอาชีพ มีผลบังคับใช้อีก 3 เดือน

11 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 11) ว่าด้วยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21

ได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565ให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 16 สาขา

โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (4) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551คณะกรรมการค่าจ้าง จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้ "มาตรฐานฝีมือ" หมายความว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

ข้อ 3 อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละระดับ ให้เป็นดังนี้

(1) สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง สาขาช่างติดตั้งยิปซัม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยห้าสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยเก้าสิบห้าบาท

(2) สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง สาขาช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยสี่สิบห้าบาท (3) สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง สาขาช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่า วันละสี่ร้อยห้าสิบบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท และระดับ 3 เป็นเงิน ไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยห้าสิบบาท

(4) สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง สาขาช่างสีอาคาร ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยหกสิบห้าบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท

(5) สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง สาขาช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยเจ็ดสิบห้าบาท และระดับ2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยเจ็ดสิบห้าบาท

(6) สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยห้าสิบบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาทและระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยห้าสิบบาท

(7) สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสามสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท

(8) สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยยี่สิบห้าบาท

(9) สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาช่างเครื่องถม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยยี่สิบห้าบาท

(10) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ(หัตถบำบัด) ระดับ1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยหกสิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยเจ็ดสิบห้าบาท

(11) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ประกอบขนมอบ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ สี่ร้อยบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าบาท

(12) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสี่สิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยหกสิบห้าบาท

(13) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาพนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสี่สิบบาท

(14) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาช่างแต่งผมสตรี ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสี่สิบบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสิบบาท และระดับ3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยห้าสิบบาท

(15) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาช่างแต่งผมบุรุษ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสามสิบบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยสามสิบบาท

(16) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาการดูแลผู้สูงอายุ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท

ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 3 (1) ถึง (16) คำว่า "วัน" หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้าง

ข้อ 5 นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใด ไม่ว่าจะครอบคลุมมาตรฐานฝีมือนั้นทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้น

ข้อ 6 ภายใต้บังคับข้อ 5 ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใดไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นหนังสือรับรองว่าเป็น ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้นแก่นายจ้างโดยเร็ว

เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราในประกาศนี้ให้แก่ลูกจ้างนับแต่วันที่ได้หนังสือรับรองเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการค่าจ้าง

ที่มา: Spring News, 11/6/2565

ก.แรงงาน เปิดสมัครฝึกงานสายดูแลสุขภาพ ส่งไปทำงานซาอุ 300 อัตรา

11 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อเร่งการพัฒนาและฝึกอบรม สร้างบุคลากรให้มีมาตรฐานสำหรับการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ คนพิการและทุพพลภาพ รวมถึงการดูแลเด็กเล็ก ให้เพียงพอกับความต้องการ เปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ว่างงาน และผู้ด้อยโอกาส ได้รับการพัฒนาทักษะดังกล่าวเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานด้านนี้ในเบื้องต้น 300 อัตรา

เนื่องจากปัจจุบันการดูแลสุขภาพ (health care) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ

นายสุชาติกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต้องการให้แรงงานไทยมีงานทำ มีทักษะ และมีรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อหนีกับดักความยากจน จึงมอบให้กระทรวงแรงงานขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย

อีกทั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย มีความต้องการแรงงานในด้านการพยาบาลหลายอัตรา จึงมีการหารือเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศและการลงนามความร่วมมือกัน และได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ ตำแหน่งพนักงานช่วยการพยาบาล

โดยผู้สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหางานก่อน หลังจากนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ระยะเวลาการฝึก 180 ชั่วโมง ซึ่งจะได้เรียนรู้เรื่องการพยาบาล พื้นฐานการดำรงชีวิตในต่างประเทศ และภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร หลังจากจบการฝึกแล้วจะมีการทดสอบความรู้และทักษะก่อนส่งไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทจัดหางานในประเทศซาอุดีอาระเบียแจ้งจำนวนแรงงานที่ต้องการมาที่กระทรวงแรงงานแล้ว

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานด้านการดูแลสุขภาพ ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานที่ต้องการทำงานให้เพียงพอกับความต้องการ อาทิ ร่วมกับโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพการดูแลผู้สูงอายุ ให้แก่ผู้ว่างงานและเด็กด้อยโอกาสที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี พร้อมมอบทุนระหว่างการฝึกอบรมและรับเข้าทำงานหลังจากจบฝึกอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ร่วมเป็นศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาการดูแลผู้สูงอายุ อีก 23 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้สนใจในอาชีพพนักงานช่วยการพยาบาล สามารถสมัครแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศได้ที่ เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th แล้วเข้าอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 4

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 11/6/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net