หนุนเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการหญิงในโครงสร้างตำรวจ

อภิปรายร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ส.ส. ก้าวไกลหนุนเพิ่มสัดส่วนเพศหญิง เป็นคณะกรรมการฯ ในโครงสร้างตำรวจ หวังเป็นหลักประกันพื้นฐานเพื่อความเสมอภาค ด้าน ส.ว.แนะกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลปฏิบัติงาน เลื่อนตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้ชัดเจน เป็นธรรม ควบคู่ผลประเมินความพึงพอใจของประชาชน


แฟ้มภาพจากชมรมพนักงานสอบสวนหญิง

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในมาตรา 27 ลักษณะ 4 คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) โดยขอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 27 วรรคสอง เกี่ยวกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติเป็นกรรมการพิทักษ์คุณธรรมระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ จำนวน 7 คน โดยอย่างน้อยต้องเป็นสตรีจำนวน 2 คน ซึ่งความจำเป็นคือควรมีสัดส่วนของผู้หญิงในคณะกรรมการชุดต่างๆ ของโครงสร้างองค์กรตำรวจทั้งหมด แม้กรรมาธิการเสียงข้างมากจะให้เหตุผลถึงการไม่กำหนดสัดส่วนหรือจำนวนขั้นต่ำของผู้หญิงว่า เพราะต้องการเปิดกว้างเรื่องเพศ และไม่นำข้อจำกัดเรื่องเพศมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการใดๆ รวมถึงหากในอนาคต คณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 7 คน อาจเป็นผู้หญิงทั้งหมดหรือเป็นกรณีของผู้ที่มีหลากหลายทางเพศก็ได้เช่นกัน

ส.ส.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าในความเป็นจริงแล้ว จำนวนข้าราชการตำรวจทั้งหมด มีสัดส่วนที่เป็นตำรวจหญิงจำนวนไม่น้อย ดังนั้น การกำหนดสัดส่วนของผู้หญิงไว้ จึงเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในกรณีการพิจารณาเรื่องต่างๆ เนื่องจากผู้หญิงอาจมีอีกมุมมองที่มีผลต่อการพิทักษ์คุณธรรมของข้าราชการตำรวจ รวมถึงกรณีการแต่งตั้งหรือโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมของข้าราชการตำรวจหญิง ความคิดเห็นจากสัดส่วนของผู้หญิงอาจมีเหตุผลที่เข้าใจต่อผู้หญิงด้วยกันได้มากกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาที่คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ควรพิจารณาสัดส่วนของผู้หญิงในโครงสร้างดังกล่าวด้วย

แนะกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลปฏิบัติงาน เลื่อนตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้ชัดเจน เป็นธรรม

ต่อมาในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าพลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในมาตรา 74 ประเด็นเกี่ยวกับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในแต่ละระดับตำแหน่ง โดยขอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 74 วรรคสอง "กำหนดให้มีระบบการบริหารผลการปฏิบัติราชการ เพื่อให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานเชิงประจักษ์ นำมาประกอบการพิจารณาด้วย" ซึ่งการพิจารณาความรู้ ความสามารถ ในการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ จะคำนึงถึงประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับจากการให้บริการของข้าราชการตำรวจ ดังนั้น การประเมินผลการปฏิบัติราชการ จึงเป็นหลักการและเหตุผลสำคัญของการคัดเลือกแต่งตั้ง จึงควรให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตำรวจในการเลื่อนระดับ นอกเหนือจากการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชนที่ได้ระบุไว้ เช่นเดียวกับมาตรา 166 เรื่องการกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ตามกลุ่มสายงานและระดับตำแหน่ง ที่ระบุไว้ว่า จะพิจารณาแต่ผลความพึงพอใจของประชาชนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การประเมินผลการปฏิบัติราชการเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์และสามารถเป็นหลักประกันในการสนับสนุนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในการบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้เพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าวในข้อสังเกตของพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท