ประกาศ 'กัญชา' เป็นสมุนไพรควบคุม ตำรวจขานรับ 4 มาตรการสั่งคุมเข้มห้ามต่ำกว่า 20 ปี-สูบที่สาธารณะ

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 'กัญชา' เป็นสมุนไพรควบคุมกำหนดเงื่อนไข 4 ข้อสำคัญ - ตำรวจขานรับสั่งคุมเข้มกัญชา ห้ามต่ำกว่า 20 ปี-สูบที่สาธารณะ - สมาคมโภชนาการฯ ห่วงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาในประชาชน - หมอเด็ก รพ.มหาราชนครราชสีมา เผยเคสเด็ก 14 ปี ถูกส่งตัวรักษาตัวหลังจากเสพกัญชา

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยที่พิจารณาเห็นว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4, 44, 45 (3) และ (5) พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม

ข้อ 2 อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ ๑ ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้

(1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ

(2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

(3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

ข้อ 3 อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุม ตามข้อ 1 ให้กับผู้ป่วยของตน

ข้อ 4 อนุญาตให้ผู้ป่วยตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลาสามสิบวัน

ข้อ 5 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2565
ลงนาม อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
16 มิ.ย. 2565

ตำรวจขานรับสั่งคุมเข้มกัญชา ห้ามต่ำกว่า 20 ปี-สูบที่สาธารณะ

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศอ.ปส.ตร. มีความห่วงใยประชาชน ต่อกรณี “ปลดล็อกกัญชา” ปลดพืชกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ใช้กัญชาโดยขาดความระมัดระวัง ไม่คำนึงถึงผลข้างเคียง ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของตนเอง และบางรายนำไปใช้ปรุงอาหาร ใช้เพื่อการค้า ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และกลุ่มเสี่ยง จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุม ป้องกัน ภัยอันตรายที่เกิดจากการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม

พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า จากข้อห่วงใยนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางควบคุมการมี การใช้ กัญชา โดยล่าสุด รัฐบาลได้ควบคุมการใช้กัญชา โดยพิจารณาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป ใจความสำคัญของประกาศดังกล่าว ระบุว่า กัญชาเป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

จึงออกมาตรการควบคุมดังนี้ 1.ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม 2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้ แต่ห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร ห้ามจำหน่ายแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร 3. อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาให้กับผู้ป่วยของตน 4. อนุญาตให้ผู้ป่วยข้างต้น สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน ทั้งนี้ผู้ใดละเมิดประกาศนี้ มีโทษปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ "ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542” โฆษก ตร. กล่าว

รมว.ศธ.ออกประกาศห้ามกัญชา-กัญชงเข้าโรงเรียน

17 มิ.ย. 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับ ศธ. ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 กำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่สามารถใช้และเข้าถึงกัญชาได้ ดังนั้น ศธ. สธ. และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ให้เหมาะสม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จึงออกประกาศแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ.ไว้ ดังนี้ 

1. สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ห้ามใช้กัญชาหรือกัญชงกับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร โดยเด็ดขาด เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาสมองของนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร

2. ห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ใช้กัญชาหรือกัญชง เพื่อการนันทนาการใด ๆ เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย 3. ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. กำกับควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในบริเวณสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ให้งดจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใด ๆ ของกัญชาหรือกัญชง อีกทั้งห้ามมีให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใด ๆ ของกัญชาหรือกัญชง เข้ามาบริโภคในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.อย่างเด็ดขาด

4. ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือการผลิตสื่อนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาหรือกัญชง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เกินปริมาณตามที่ สธ.ประกาศกำหนดให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครอง ประชาชน หรือชุมชนที่อยู่หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษาหรือหน่วยงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชาหรือกัญชง

5. การใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการรักษา ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือการใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ 6. นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. อาจออกมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากกัญชาหรือกัญชงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.นั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป

สมาคมโภชนาการฯ ห่วงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาในประชาชน 

17 มิ.ย. 2565 ศ.คลินิก ดร. แพทย์หญิงนลินี จงวิริยะพันธุ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ในนามสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ ได้ออกแถลงการณ์สมาคมโภชนาการฯ เรื่อง ผลกระทบจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยห่วงการปลดล็อกกัญชา จะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงและบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ได้รับสาร THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกัญชา เกินขนาด จะมีผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะบุคคลที่มีความไวต่อสารนี้จะเกิดอาการแพ้แม้ได้รับในปริมาณไม่มาก และอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งยังพบว่า THC ใช้เวลาอยู่ในร่างกายยาวนานหลายชั่วโมง ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ ในทันทีจากการได้รับสารดังกล่าว จนอาจทำให้บริโภคในปริมาณที่เกินขนาดได้ ทางสมาคมฯ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. การนำกัญชามาประกอบหรือปรุงอาหารนั้น ใช้ได้เพียงบางส่วนของต้นกัญชาเท่านั้น ส่วนที่แนะนำให้นำมาใช้ประกอบหรือปรุงอาหารคือ ใบสดของกัญชา และเริ่มต้นไม่เกินครึ่งใบถึงหนึ่งใบ เพื่อประเมินผลข้างเคียงและการแพ้ส่วนประกอบในใบกัญชา ในขณะที่ช่อดอกของกัญชามี THC สูงและไม่เหมาะสมที่ จะนำมาใช้บริโภค

2. การปรุงประกอบอาหารด้วยความร้อนจะส่งผลให้เพิ่มปริมาณสาร THC ดังนั้น หากเป็นการต้มแนะนำให้รับประทานเฉพาะส่วนน้ำ ไม่แนะนำให้รับประทานส่วนใบที่ผ่านการต้มแล้ว หากเป็นการปรุงประกอบอาหารด้วยน้ำมัน จะมีผลในการเพิ่ม THC จำนวนมาก และสาร THC ละลายได้ดีในน้ำมัน จึงไม่ควรนำใบกัญชาประกอบอาหารที่ใช้น้ำมัน

3. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารกับประชาชนถึงผลกระทบและผลเสียที่จะเกิดจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา

4. ขอให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา โดยห้ามจำหน่ายหรือโฆษณาอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา ภายในโรงเรียน

5. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุม กำกับ และเฝ้าระวังเพื่อไมให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากกัญชามีผลต่อสมองเด็กและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว

6. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารปริมาณที่เหมาะสมของใบกัญชาที่ใส่ในอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่มอย่างชัดเจน โดยให้มีการกำกับและเฝ้าระวังการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มอย่างเข้มงวด

7. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใบกัญชา บังคับให้มีการระบุคำเตือนและแจ้งปริมาณสาร THC ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุปริมาณที่สามารถบริโภคได้ต่อหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับสาร THC มากเกินไป

8. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการห้ามใช้หรือบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาในกลุ่มผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มยาลดไขมันในเลือด กลุ่มยากันชัก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพราะสารในกัญชาจะทำให้เพิ่มปริมาณยา ซึ่งอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพจากยาเกินขนาดได้ สำหรับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

9. ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอาหาร ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการผลิตและขายอาหารหรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยมีการแสดงข้อความว่า มีการใส่กัญชาเป็นส่วนผสม และหรือแสดงปริมาณ อย่างชัดเจน

10. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

11. ขอให้มีการติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

หมอเด็ก รพ.มหาราชนครราชสีมา เผยเคสเด็ก 14 ปี ถูกส่งตัวรักษาตัวหลังจากเสพกัญชา

17 มิ.ย. 2565 กรณี นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise (นพ.จิรรุจน์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ) ว่า พบเด็กอายุ 14 ปี เสพกัญชา แล้วเกิดอาการทางประสาทจนต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล

“เริ่มแล้วกัญชาไม่เน้นสันทนาการ แต่ผลงานก็ตามที่เกิดขึ้น กัญชามีทั้งคุณและโทษ การจะเอาอะไรที่มีทั้งคุณ และโทษออกมาใช้ มันต้องรัดกุมจริงๆ ฝากรัฐไม่ได้ ก็ฝากพ่อแม่ด้วย เดี๋ยวคงมาเรื่อยๆ โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมาก ถ้าไม่ตีแผ่ก็จะบอกว่าไม่มี แต่พอตีแผ่ เดี๋ยวก็โทรมาอีก”

นพ.จิรรุจน์ เปิดเผยว่า เด็ก 14 ปีที่เข้ามารักษาด้วยระบบประสาทเปลี่ยนแปลงไป พบมีอาการซึมลง มีอาการไข้ร่วมด้วย จากการซักประวัติ เด็กยอมรับว่าเสพกัญชาจริง ประกอบกับผลการตรวจปัสสาวะพบมีสาร THC ทั้งนี้ยังถือว่าโชคดีที่เด็กคนดังกล่าวมีอาการไม่รุนแรงนัก และขณะนี้แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว

“เป็นการใช้กัญชาที่มีสาร THC แต่โชคดีที่เด็กคนนี้ยังไม่เป็นอะไรมาก ตอนนี้กลับบ้านได้แล้ว แต่ถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะสาร THC มีผลกระทบต่อเด็ก ดังนั้นการออกกฎระเบียบให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามใช้กัญชา และสารสกัดจากกัญชาถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”
นพ.จิรรุจน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาทั้งหมด ก็ควรระบุให้ชัดเจนว่า ห้ามใช้ในบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเฉพาะการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาควรมีการควบคุมอย่างจริงจัง

เนื่องจากขณะนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม อาหาร ขนม และคุกกี้ที่มีส่วนผสมกัญชาที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ทำให้เด็ก และเยาวชนก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งกัญชา และสารสกัดจากกัญชาจะมีผลต่อระบบประสาทของเด็กทั้งในระยะสั้น ระยะยาว

ข้อมูลจาก สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ออกข้อมูลคำเตือนเกี่ยวกับกัญชา กับสมองเด็ก โดยสารประกอบในพืชกัญชา THC มีผลกระทบต่อสมองเด็ก สามารถเกิดพิษเฉียบพลัน และส่งผลระยะยาว ทำให้เกิดการเสพติดได้

พิษระยะเฉียบพลัน

- ระบบประสาท เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ความรู้ตัวลดลง สับสน เดินเซ ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก อารมณ์แปรปรวน เห็นภาพหลอน
- ระบบหัวใจ หน้ามืด วูบหมดสติ ใจสั่น แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตสูง
- ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

ผลระยะยาว

- ความคิด ความจำ แย่ลง
- มึนงง ปวดหัว สมาธิสั้น
- อ่อนล้า เพลียง่าย ง่วงบ่อย
- โรคหลอดเลือดสมอง
- ประสาทหลอน หูแว่ว
- ซึมเศร้า พฤติกรรมเปลี่ยน
- การตัดสินใจควบคุมลดลง

'เต่าบิน' ยกเลิกจำหน่ายเครื่องดื่มผสมกัญชา หลังโดนวิจารณ์ เข้าถึงเด็กได้ง่าย

จากกรณี หลังจากประเทศไทยปลดล็อกพืช "กัญชา" วันที่ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ถือเป็นยาเสพติด และยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา จากนั้น เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. กรมอนามัยออกประกาศคุมเข้มใช้ "กัญชา" ปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายประเภททอดใช้ 1-2 ใบต่อเมนู ส่วนผัด-แกง-ต้ม-เครื่องดื่ม ให้ใช้ 1 ใบสดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังการปลดล็อก พบว่ามีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาไม่ว่าจะเป็นการเสพจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลและรุ่นแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ เพจชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังปลดล็อกกัญชา กัญชง พบกรณีตู้กดเครื่องดื่มชื่อดัง สามารถเลือกกดซื้อกัญชาโซดาได้ ซึ่งเด็กอนุบาลก็สามารถเลือกซื้อกดได้ และเป็นอันตรายอย่างมาก

ล่าสุดวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เพจ “TAO BIN เต่าบิน” ตู้กดเครื่องดื่มชื่อดัง เคลื่อนไหว โดยได้ประกาศ “ปิดจำหน่าย เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อสนับสนุน และสอดรับกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา)”

นอกจากนี้ ทางเต่าบิน ยังกางเอกสารระบุส่วนผสมของกัญชาในเครื่องดื่ม มีปริมาณที่น้อยกว่าตามที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | ไทยรัฐออนไลน์ | Thai PBS | ผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท