Skip to main content
sharethis

ประชาชนทำกิจกรรม 'เดินไล่ลุงตู่ 2' จากแยกปทุมวัน-สตช. ร้อง ตร.อยู่ข้างประชาชน และลดความรุนแรงในปฏิบัติการควบคุมฝูงชน ก่อนนัดรวมตัวที่แยกดินแดงต่อในวันเดียวกัน

 

สืบเนื่องจากกรณีที่มีนัดประชาสัมพันธ์งาน 'เดินไล่ตู่ 2' บนโลกออนไลน์ เดินจากแยกปทุมวันไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรียกร้องให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ยืนอยู่ข้างประชาชน นัดรวมตัวเวลา 15.00 น. ของวันที่ 18 มิ.ย. 2565

18 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 14.56 น. ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ก่อนการเริ่มกิจกรรมชุมนุม ‘เดินไล่ตู่’ จากแยกปทุมวัน ไปจนถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เพื่อเรียกร้องให้ ตร.ยืนอยู่ข้างประชาชน 

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับการวางกำลังรักษาความปลอดภัยวันนี้ กฤษณะ ระบุว่าทางตำรวจมีการประเมินสถานการณ์ และประสานงานกับผู้ชุมนุมอยู่ตลอด ซึ่งทางตำรวจยืนยันว่าจะใช้วิธีการเจรจา และการอดทนอดกลั้นจนถึงที่สุด แต่ถ้ามารวมตัวกันแล้วทำผิดกฎหมายชัดเจน ก็ต้องถูกดำเนินคดี 

ทั้งนี้ รองโฆษกฯ เน้นย้ำว่า หากการชุมนุมมีแนวโน้มที่จะมีการยกระดับไปสู่ความรุนแรง ทางตำรวจจะใช้วิธีการเจรจา อดทนอดกลั้นจนถึงที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ

รองโฆษก สตช. ระบุต่อว่า หลายคนอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ประเทศอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วอาจจะยังจัดชุมนุมทางการเมืองได้ ซึ่งคำตอบคือไม่ได้ และถ้ามีการกระทำผิด ตำรวจก็ต้องทำตามกฎหมาย 

สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอิสระที่แยกดินแดงตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีการออกหมายจับประชาชน 9 ราย และได้ตัวมาดำเนินคดีแล้ว 

“อย่าเสี่ยง อย่าออกมา อย่าไปเป็นเครื่องมือของใคร ท่านมีความผิดอยู่แล้ว ท่านอยากจะเรียกร้องอะไร มันอาจจะมีช่องทางในการที่จะเรียกร้องอย่างสันติอยู่แล้ว อย่าออกมาเพื่อก่อความไม่สงบเรียบร้อย เสียการเรียนเปล่าๆ” กฤษณะ ระบุ

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีภาพและการรายงานข่าวบนโลกออนไลน์เหตุเผชิญหน้าระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมจากกลุ่ม ‘โรนิน ฝั่งธน ไม่เอาเผด็จการ’ และ ‘อาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ที่มาเรียกร้องให้แก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงที่กระทรวงพลังงาน 

กฤษณะ กล่าวในประเด็นนี้ว่า ตำรวจมีการใช้วิธีการเจรจา และอดทนอดกลั้นมาโดยตลอด แต่มีภาพ และคลิปวิดีโอ ที่พยายามจะสื่อว่าตำรวจใช้ความรุนแรง จึงอยากให้ประชาชนอ่านข่าวให้ครบถ้วน เพราะมันมีที่มาที่ไป 

จากกรณีที่มีกลุ่มสิทธิมนุษยชนมาสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจวันนี้ กฤษณะระบุว่า เขาก็มาสังเกตการณ์หลายครั้งแล้ว พร้อมถามว่าทำไมกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนไม่ไปถามผู้ชุมนุมว่ากระทำการละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือไม่ 

“อยากถามกลับไปว่า เวลาเขามาก่อเหตุกระทบสิทธิชาวบ้านไหม มาถามเรา เขามาก่อเหตุกระทบสิทธิไหม การเดินทางมากระทบไหม ไม่เห็นมีใครมาถาม ก็แค่ฝากไปนะ แต่ยินดีที่จะเป็นสื่อกลางที่จะประสานงานพาลงพื้นที่อยู่แล้ว ในการทำงานนั้นปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย และก็สามารถตอบโจทย์ในทุกภาคส่วนได้ อาจจะมีนักพากษ์วิจารณ์แล้วกัน ในหลายๆ วงการอาจจะมองว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุม ก่อเหตุความไม่สงบก็ดี ก็มองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจเกินไป” รองโฆษก สตช. กล่าว 

รองโฆษก สตช. กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสื่อในพื้นที่ชุมนุมที่ผ่านมาว่า สื่อมีหน้าที่รายงานข่าวอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย อยู่ในระยะที่เหมาะสม และเอื้ออำนวยประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ และเน้นย้ำว่าทางตำรวจมีความเป็นห่วงความปลอดภัยสื่อมวลชน พอสื่อไปอยู่หน้าแนวปะทะเกิดอะไรขึ้นมา และได้รับผลกระทบ สุดท้ายสื่อก็ไปโทษตำรวจ 

ปชช.เดินไปหน้า สตช.

เวลา 16.27 น. ประชาชนเริ่มเดินขบวนไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยใช้เส้นทางผ่านหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และคาดว่าจะผ่านแยกเฉลิมเผ่าไปที่หน้า สตช. 

ประชาชนเตรียมตั้งแนวเดินหน้าจากแยกปทุมวันไปที่ สตช. (ถ่ายโดย ZEE)

อย่างไรก็ตาม เวลา 16. 32 น. พบว่าตำรวจมีการวางกำลัง ใช้รั้วเหล็กปิดกั้นถนนบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ตลอดไปจนถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ประชาชนจึงใช้เส้นทางถนนพระราม 1 ฝั่งหน้าวัดปทุมวนาราม วรวิหาร หรือฝั่งมุ่งหน้าไปแยกราชประสงค์ และมาหยุดที่ฝั่งตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ตำรวจ คฝ.วางกำลังปิดกั้นบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ถ่ายโดย ZEE

ทั้งนี้ การวางกำลังรักษาความปลอดภัยของตำรวจ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ราว 50-100 คน ประจำการหน้าบริเวณถนนพระราม 1 หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรถฉีดน้ำแรงดันสูงประจำการอยู่ใน สตช. จำนวน 2 คัน และมีรถเครื่องขยายเสียง จำนวน 1 คัน และนอกจากนี้ ตำรวจมีนำผ้าใบพลาสติกสีฟ้ามาห่มคลุมในบริเวณประตู 1 สตช. พระบรมฉายาลักษณ์ และป้า สตช. เพื่อป้องกันการทำลาย และการขว้างปาสีใส่ 

เวลา 16.45 น. ตำรวจประกาศผ่านลำโพงถึงข้อกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ความสะอาด ว่าผู้ชุมนุมกำลังละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขอให้ยุติการชุมนุมโดยทันที นอกจากนี้ ตำรวจประกาศเตือนด้วยว่าขอให้ประชาชนหยุดด่าทอตำรวจ อาจเข้าข่ายการดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ และการทำลายป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจเข้าข่ายทำลายสมบัติทางราชการ นอกจากนี้ ตำรวจแนะนำกลุ่มผู้ชุมนุมว่าให้ใช้ช่องทางร้องเรียนรัฐบาลช่องทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนผ่านระบบรัฐสภา หรือวิธีการอื่นตามแนวทางสันติ

ตำรวจประกาศประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมาย ถ่ายโดย ZEE

ขณะที่ประชาชนตะโกนข้ามเกาะกลางต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตั้งคำถามถึงการปฏิบัติงานว่า ทำไมตอนที่การชุมุนมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ. 2551 เจ้าหน้าที่ถึงไม่ทำอะไร

เวลา 16.52 น. มีประชาชน 2 คน หนึ่งในนั้นคือ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า ประชาชนอิสระ ข้ามเกาะกลางไปที่ถนนหน้าฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะมีประชาชนมาพากลับออกไป ขณะที่ตำรวจมีการแจ้งผู้ชุมนุม เตือนไม่ให้ข้ามมาอีกฝั่ง เนื่องจากไม่อยากจับกุม และถ้ามีการจับกุมจริง ประชาชนต้องเสียเวลาไปที่ศาล

สำนักข่าว The Reporters รายงานว่า ระหว่างนี้ประชาชนพยายามเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่มาเจรจา หาแนวทางลดความรุนแรงในการควบคุมการชุมนุม และมีการตะโกนต่อว่าทางเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีตัวแทนตำรวจออกมาเจรจากับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด 

การชุมนุมดำเนินต่อเนื่องจนกระทั่ง 18.05 น. มีการประกาศยุติการชุมนุม และมีการระบุว่าจะไปชุมนุมที่แยกดินแดงต่อ

บรรยากาศการชุมนุมถ่ายจากหน้าวัดปทุมวนาราม วรวิหาร ถ่ายโดย Kornkrit

จม.จากวรัญชัย ถึง สตช.

วรัญชัย โชคชนะ หนึ่งในอดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้นำจดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มพลังประชาธิปไตยถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่ได้มีโอกาสยื่นให้

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก

เรื่อง ขอให้ยุติการขัดขวางการชุมนุมของนักศึกษา-ประชาชนตามเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย 

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นสตรี ที่เป็นเพศแม่ ได้มีการออก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.ก.โรคติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปราม ยัดข้อหา ยัดคดีกับนักศึกษา-ประชาชน ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย มีการฉีดน้ำ กระสุนยาง แก๊สน้ำตา นับว่าเป็นการทำลายเสรีภาพ และประชาธิปไตย 

เป็นที่อับอายกันไปทั่วโลก มีการออกหมายเรียก หมายจับ โดยอ้างว่าเป็นปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ ซึ่งขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดๆ จะมาขัดแย้งรัฐธรรมนูญมิได้ เชื่อว่าเป็นโมฆะ รัฐบาลเผด็จการ...ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการชุมนุมเพื่อตัวเองจะได้อยู่ในตำแหน่งนานๆ โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชน 

ฉะนั้น เราจึงขอเรียกร้องมายังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ท่านจะเลือกคำสั่งเผด็จการ หรือเลือกประชาชน ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้  

 

วรัญชัย โชคชนะ

อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 

ชุมนุมดินแดงต่อ 

เมื่อเวลา 19.30 น. สุรเมธ น้อยอุบล ผู้สื่อข่าวพิเศษ รายงานผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเพจ 'Friends Talk' ว่า ประชาชนเดินทางมาที่แยกดินแดง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้มวลชนอิสระ 11 คน ซึ่งถูกฝากขังวานนี้ (17 มิ.ย.) จากการเข้าร่วมชุมนุมที่แยกดินแดงเมื่อ 11-15 มิ.ย. 2565

ทั้งนี้ ประชาชนใช้ปากกาเขียนชื่อของผู้ถูกฝากขังจากเข้าร่วมม็อบดินแดง 11 คน บนกล่องโฟม และนำไปชูบริเวณแนวโล่ของตำรวจ คฝ.ชุดกากี ที่มาประจำการในพื้นที่  

บรรยากาศการเรียกร้องที่แยกดินแดง ม็อบ18มิถุนา2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net