เผยผลตรวจสอบพบหลักฐานบ่งชี้อาจมีน้ำเค็มรั่วซึมจากเหมืองโปแตชที่ อ.ด่านขุนทด

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เผยผลตรวจสอบพบหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะมีการรั่วซึมของน้ำเค็มจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา


ภาพจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

19 มิ.ย. 2565 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แจ้งข่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) มีหนังสือรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุร้องเรียนผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลังจากการยื่นหนังสือต่อนายอำเภอของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 ได้มีข้อเรียกร้องให้ 1.มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยให้มีสัดส่วนของชาวบ้านจำนวนมากกว่าครึ่งนึงของคณะกรรมการทั้งหมด 2.ให้มีการเยียวยาชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการเหมืองแร่โปแตช 3.ให้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหมืองแร่โปแตชให้แล้วเสร็จ 4.หากทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้ ให้มีการปิดเหมืองแร่โปแตชถาวร

อำเภอด่านขุนทดและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จึงมีการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ผลกระทบจากการแพร่กระจายความเค็มของเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ในวันที่ 27 พ.ค. 2565 โดยได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการปล่อยระบายน้ำเสียออกจากโครงการเหมืองแร่

โดยการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินบริเวณพื้นที่โครงการฯ จำนวน 6 จุด โดยพบว่าบริเวณห้วยลำหลอดบริเวณต้นน้ำจนถึงบริเวณกลางน้ำเหนือบริเวณเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด 61 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความเค็มอยู่ในช่วง 0-0.1 กรัมต่อลิตร เป็นน้ำคุณภาพดี มีเกลือเล็กน้อย แต่หลังจากไหลผ่านใกล้พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด พบว่าบริเวณท้ายน้ำของห้วยลำหลอด มีค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด 1,733 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าความเค็มเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นน้ำคุณภาพต่ำมีเกลือมาก และขณะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่มีฝนตกแต่อย่างใด แต่พบว่ามีน้ำรั่วซึมมาจากที่ดินบริเวณวัดหนองไทร ติดกับคันดินขอบบ่อน้ำโครงการเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยมีน้ำซึมไหลออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและไหลลงบ่อน้ำของวัดหนองไทร จึงตรวจสอบตัวอย่างน้ำที่รั่วซึมพบว่า มีค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด 43,600 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าความเค็มเท่ากับ 46.4 กรัมต่อลิตร และน้ำในบ่อของวัดหนองไทรซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำที่รั่วซึมดังกล่าว ตรวจวัดมีค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด 29,100  มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความเค็มมีค่าเท่ากับ 29.3 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นน้ำคุณภาพต่ำมาก มีเกลือมาก นอกจากนั้นได้ตรวจพบว่ามีน้ำหลากผ่านที่นาประชาชนห่างจากบริเวณโรงงานราว 1.5 กิโลเมตร ซึ่งไหลมาจากทิศทางที่ตั้งโครงการเหมืองแร่จึงตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำหลากดังกล่าวก่อนที่จะไหลลงห้วยลำหลอด พบว่ามีค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด 2,250 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความเค็มเท่ากับ  1.8 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นน้ำคุณภาพต่ำมีเกลือมาก

ภาพจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะมีการรั่วซึมของน้ำเค็มจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ออกสู่พื้นที่ภายนอกโครงการ และหลักฐาน การตรวจพบท่อ PE พาดข้ามคันดินขอบบ่อน้ำของโครงการออกมาสู่พื้นที่ภายนอก ซึ่งอาจจะมีการใช้แนวท่อดังกล่าวระบายน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกและอาจก่อให้เกิดผลกระทบการแพร่กระจายความเค็มได้

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดระบุว่าหากถ้าย้อนหลังกลับไปในปี 2562 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ก็เคยตรวจสอบมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงทำเหมืองใหม่ ๆ  โดยบริษัทฯได้ทำการขุดเจาะอุโมงค์ก่อนได้รับอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองเพื่อนำเกลือใต้ดินขึ้นมาขาย* (ยังขุดเจาะไปไม่ถึงชั้นโพแทช) หลังจากได้ประทานบัตรเมื่อ ก.ค. 2558 ซึ่งผลตรวจบริเวณบ่อเก็บน้ำทางทิศใต้ติดกับบริเวณเหมือง อยู่ในพื้นที่บ้านหนองไทร หมู่ 4  พบว่ามีค่าความเค็ม 78 กรัมต่อลิตร ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด 78,672 มิลลิกรัมต่อลิตร

(*กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองจากอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาเมื่อ 4 ก.พ. 2563 เพราะก่อนหน้านั้นองค์ประกอบบนดินของการดำเนินกิจการทำเหมืองโพแทชใต้ดิน เช่น บ่อกักเก็บแร่ บ่อน้ำเกลือ ลานกองเกลือ โรงแต่งแร่ ฯลฯ  ยังไม่แล้วเสร็จ  ถึงแม้จะได้ประทานบัตรแล้วตั้งแต่ ก.ค. 2558 ก็ยังดำเนินกิจการทำเหมืองไม่ได้  แต่กลับลักลอบขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินเพื่อนำเกลือใต้ดินขึ้นมาขายก่อน)

โดยค่าสูงสุดของสิ่งเจือปนในน้ำ หรือ ค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด ไม่ควรเกิน 500 มิลลิกรัม/ลิตร หากค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร จะเป็นน้ำที่ไม่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะค่าของแข็งละลายน้ำและค่าความเค็มที่สูง จะบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของสิ่งเจือปนที่อันตรายโดยส่วนใหญ่ ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมดสูง จะเกิดจากน้ำมีส่วนผสมของ โปตัสเซียม , คลอไรด์ และ โซเดียม แต่ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมดที่สูงก็อาจมีสารพิษ เช่น ตะกั่ว ไนเตรท แคดเมียม ละลายอยู่ ซึ่งสารดังกล่าวอาจแสดงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และค่าความเค็มของน้ำจืด ถูกกำหนดไว้ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร หากสูงขึ้นกว่านั้นจะส่งต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชที่ไม่สามารถทนความเค็มได้

ทั้งนี้ถึงแม้ปัจจุบันการดำเนินกิจการของเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จะยุติลงเป็นการชั่วคราวการขุดเจาะอุโมงค์ในปี 2563 แต่ผลกระทบจากความเค็มของน้ำบริเวณบ่อพักน้ำของโครงการเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ยังกระจายวงกว้างกินพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบริเวณโดยรอบโครงการทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกทำกินได้อยู่อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ระบุว่าตลอดมาที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในชื่อ “ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด” ก็ได้มีการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ  อย่างกำนันผู้ใหญ่บ้าน อย่างต่อเนื่อง ขัดขว้างการใช้สิทธิ และเสรีภาพในการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นของเหมืองแร่โปแตช ทั้งที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และยังไม่มีการรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นทั้งจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาติและมีหน้าที่กำกับ ติดตาม ดูแลการดำเนินกิจการของเหมืองแร่โปแตช

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท