Skip to main content
sharethis

เสวนา 'จาก #คังคุไบ ถึง Sex Worker เมืองไทย' ชี้สังคมต้องทบทวนยอมรับว่าการเป็น Sex Worker เป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง ควรถูกยอมรับให้เป็นการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) หวังกฎหมายต่างๆ จะเปลี่ยนจากการอ้างคำว่า 'ศีลธรรมอันดีงาม' มาเป็นการอ้างถึง 'หลักการสิทธิมนุษยชน'

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรม ครป.house ขึ้นบนแอปพลิเคชั่น Clubhouse ในหัวข้อ “จาก #คังคุไบ ถึง Sex Worker เมืองไทย” โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย สุภัทรา นาคะผิว อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิ Empower, ศิริ นิลพฤกษ์  Sex Worker และนักกิจกรรม ชวนพูดคุยโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. กล่าวนำการสนทนาว่าแม้วันนี้จะยังมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับคังคุไบ กฐิยาวาฑี ระหว่างทางฝ่ายผู้สร้างภาพยนตร์ “Gangubai Kathiawadi: หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ได้นำเสนอว่าคังคุไบเป็นคนทำงานในแวดวงSex Worker ที่มีบทบาทในการดูแลช่วยเหลือและปลุกให้คนทำงานSex Workerในอินเดียได้ขึ้นมามีสิทธิ มีศักดิ์ศรีในสังคม ขณะที่ทางฝ่ายลูกหลานของคังคุไบได้ฟ้องร้องผู้สร้างภาพยนตร์โดยแย้งว่า คังคุไบเป็นเพียงนักรณรงค์ทางสังคมเท่านั้น แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร เนื้อหาในภาพยนตร์นี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะให้พวกเราได้หันกลับมาทบทวนถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ Sex Worker ในประเทศไทยพึงควรจะได้รับ  

สุภัทรา นาคะผิว อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่าตนเองก็เพิ่งได้ดูคังคุไบ ก็คิดว่าเป็นหนังที่พูดถึง Sex Worker ในอดีตของอินเดีย ซึ่งก็คล้ายๆ กับในอดีตของบ้านเรา สมัยที่ตนเรียนจบใหม่ๆ มาทำงานอยู่กับกลุ่มเพื่อนหญิง(มูลนิธิเพื่อนหญิงในปัจจุบัน) ก็จะมีงานช่วยเหลือเด็ก ผู้หญิงที่ถูกหลอกมาค้าประเวณี ซึ่งก็มักจะโดนหลอกมาว่าจะให้ทำงานเสิร์ฟอาหารบ้าง งานอื่นๆ ที่มีรายได้ดี สุดท้ายโดนหลอกเอามาขาย ซึ่งๆ น้องเหล่านี้จะเขียนจดหมายฝากแขกออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ แล้วเราก็ส่งเพื่อนผู้ชายเข้าไปดู ก่อนจะประสานกับตำรวจที่เราไว้ใจไปช่วยเหลือออกมา    
    
แต่ปัจจุบันบริบทของการเข้ามาทำงานอาชีพ Sex Worker ก็เปลี่ยนไปจากที่เราเห็นในหนังคังคุไบ บางคนเคยทำมาหลายอาชีพแล้ว แต่ที่สุดเขาเลือกที่จะมาทำอาชีพนี้ เพราะว่ามีโอกาส มีความหวังที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวดีขึ้น  แต่ทัศนคติดั้งเดิมที่มองอาชีพนี้ว่าไม่ดีก็ยังฝังหัวผู้คนในสังคม ซึ่งเวลาที่มีการเข้าไปจับกุม กวาดล้างคนทำอาชีพนี้ ตนมองว่าต้องแยกแยะว่าเป็นพวกเขาเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์จริงหรือไม่ อย่างไร  อีกอย่าง วันนี้เราต้องมาทบทวนยอมรับว่าการเป็น Sex Worker ก็เป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง วลีที่ว่า Sex Work is WORK เราก็พูดกันมา 20 กว่าปีแล้ว สังคมก็มีการขยับเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่ปลดล็อค  
    
ข้อเสนอหลักๆ อย่างแรกของตนคือ ควรจะยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพราะว่าไม่ได้เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เป็นคุณ มีแต่ควบคุมและลงโทษ ไม่ได้ส่งเสริมให้ Sex Worker ได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในบริบทสังคมที่มันเปลี่ยนไป อย่างที่สองคือ หลายคนที่ทำ Sex Worker ก็ไม่ได้ทำเป็นงานหลัก บางคนทำอาชีพอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย หลายคนทำในลักษณะเป็น Entertainment Worker ในสถานบริการ ซึ่งพระราชบัญญัติสถานบริการ ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน มีเจตนารมณ์ที่จะเข้าไปควบคุมเรื่องอาชญากรรมในสถานบริการ สถานบันเทิง แต่ไม่ได้ดูแลคนที่ทำงานในสถานบริการนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือพนักงานที่ทำงานในสถานบริการ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน  ตอนนี้ตนก็ทำงานกับกลุ่ม Sex Worker ว่าสมควรมีข้อเสนอไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าครมีการออกประกาศให้ขยายความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย ควรต้องให้ผู้ทำงานในสถานประกอบการถือว่าเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ตามมาตรา 33  ตามข้อเท็จจริงคือ มีนายจ้าง ที่เป็นเจ้าของสถานบริการ บางแห่งก็มีทำประกันสังคมให้ลูกจ้าง แต่ทำตามมาตรา 40 ซึ่งนายจ้างจ่ายน้อยกว่า สิทธิประโยชน์ลูกจ้างน้อยกว่า เราอยากเห็นลูกจ้างในสถานบริการ เป็นลูกจ้างสถานประกอบการประเภทหนึ่ง เข้าถึงกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน (ที่จะช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตรายจากการทำงาน) นอกจากนี้เราต้องทำงานรณรงค์ให้สังคมเข้าใจและเคารพการตัดสินใจประกอบอาชีพของคนที่เป็น Sex Worker  ซึ่งเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่ง และตราบที่เขาเข้ามาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกล่อลวงค้ามนุษย์ ก็ควรมีกฎหมายที่จะดูแลมากกว่าที่จะลงโทษ
    
ศิริ นิลพฤกษ์ Sex Worker และนักกิจกรรม เล่าว่าตนเป็น Sex Worker จากการสนใจเข้ามาทดลองทำดูก็ติดใจ แต่ก็ไม่ได้ทำจริงจังเป็นงานหลัก เพราะตนก็มีงานอย่างอื่นทำ อาชีพนี้เป็นแค่อีกทางเลือกที่ตนเข้ามาทำ เป็นความสุขที่ได้เจอผู้คนหลากหลาย จะเจอกับใครบ้าง สมัยก่อนนั้นเราติดต่อลูกค้าผ่านโปรแกรม PIRCH98 ซึ่งเป็นการแชทกันโดยไม่ได้เห็นหน้าตาผ่านกล้องเหมือนสมัยนี้ มีความท้าทายว่าแต่ละวันตนจะเจอลูกค้าแบบไหน บางทีพอเจอตัวจริงแล้วรู้สึกไม่ถูกใจก็หนีหาย หรือไปนัดเจอตามผับแล้วเขาไม่โอเค ตนก็กลับ มันก็เป็นความสุข ซึ่งจะแตกต่างจากในหนังคังคุไบตรงที่ตนและเพื่อนที่ทำงานนี้เป็นอิสระตามสถานที่สาธารณะ รวมถึงกลุ่มที่เป็นคนเร่ร่อน ก็รู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข บางคนทำแล้วก็รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสายตาคนอื่น มีความสุขด้วย ได้เงินด้วย แม้จะไม่ได้เท่าคนที่อยู่ในสถานประกอบการ บางคนก็แลก 50 บาท เอาเงินมาหาซื้อเหล้าขาวกินไปวันๆ ส่วนของตน ด้วยตนมีงานอย่างอื่นทำ ก็รับงานขายบริการบ้างเป็นบางวันที่รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ และไม่ใช่กับทุกคนที่เราจะมีเซ็กส์ด้วย บางครั้งก็รับงานไปเที่ยว กินเหล้า กินข้าวเป็นเพื่อนลูกค้า 

การทำงานแบบนี้ นอกจากต้องใช้ทักษะในการสร้างความสนุกให้ลูกค้าแล้ว ก็ต้องมีจิตวิทยา รู้เท่าทันคนด้วย หลายคนไปรับงานเจอลูกค้าบังคับให้ใช้ยาเสพติด เจอลูกค้าให้มีเพศสัมพันธ์แบบพิสดารโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม 

ส่วนในบทนักกิจกรรม ตนก็พยายามสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจว่า การเลือกมาทำอาชีพค้าบริการควรเป็นสิทธิที่ทำได้ และอย่างการที่ผู้ค้าบริการอิสระจะได้รับการปฏิบัติจากลูกค้าค่อนข้างที่จะแย่ เขาพึ่งใครก็ไม่ได้ พึ่งแม่เล้าก็ไม่ได้เพราะคนพวกนี้ก็หวังเงิน พึ่งตำรวจก็ไม่ได้ เวลาไปแจ้งความ ตำรวจก็มีทัศนคติที่ไม่เคารพสิทธิของเรา ก็จะพูดทำนองว่าคุณมาทำอาชีพแบบนี้เอง ตนอยากจะสื่อสารกับสังคมว่า คนทุกอาชีพต้องมีสิทธิเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ตามแต่ความพึงพอใจ หากมีการถูกบังคับ ล่วงละเมิดในตอนที่เราไม่ได้เต็มใจอย่างการข่มขืน เราก็ควรที่จะแจ้งความได้ ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่เราไม่ยินยอมหรือพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่เกินขอบเขตที่เราจะยินยอมได้  
    
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิ Empower อธิบายว่ามูลนิธิ Empower เกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มของ Sex Worker ในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2528 โดยมาจาก Sex Worker ประมาณ 10 คน ที่รวมตัวกันเพื่อที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการทำงาน ไม่ใช่เป็นองค์กรของคนทำงานนักพัฒนาเอกชนอาชีพที่มาทำงานประเด็น Sex Worker อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจจนถึงปัจจุบัน คนที่บริหารมูลนิธิก็ยังเป็นเหล่า Sex Worker รวมทั้งตนด้วย
    
Empower ทำงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานบริการด้วยกัน จากความเริ่มต้นที่ต้องการที่จะได้เรียนหนังสือ เพราะพวกตนไม่ได้มีโอกาสทางการศึกษา ก็เลยมาจากรวมกลุ่มในการเรียนหนังสือมาก่อนจนรู้ภาษาอังกฤษ กระทั่งต่อมาได้ก่อตั้งให้เกิดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ยกระดับสู่การเรียนรู้ทักษะต่างๆ การทำงานร่วมกัน กระทั่งเป็นหลักสูตรเพื่อการทำงานอย่างปลอดภัยและการเป็นมืออาชีพในการทำงาน  เวลาพวกเรามีปัญหาก็จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเสมอ ปัญหาที่อาชีพพวกตนเจอมาตลอดก็คือการถูกรีดไถส่วย  ปัญหาที่สถานบริการมักจะออกกฎที่เอารัดเอาเปรียบคนทำงาน ซึ่งผู้หญิงเองก็ทำงานเพื่อที่จะเลี้ยงดูครอบครัว เพราะงานทางด้านนี้มีรายได้ที่เพียงพอจะสนองคุณภาพชีวิตพวกเขา  

ทีนี้พอมีปัญหาเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน การเก็บส่วย การถูกคุกคามหลากหลายรูปแบบ ก็เลยทำให้พวกตนคิดว่าอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหา จนตกผลึกว่าถ้าพวกตนได้จดทะเบียนเป็นแรงงานอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็จะทำให้พวกเรามีกฎหมายแรงงานมาคุ้มครอง ซึ่งสถานบริการ หรือนายจ้างพวกเรา ก็จะเอารัดเอาเปรียบพวกเราต่อไปอีกไม่ได้ เพราะพวกเราจะกลายเป็น “แรงงาน” ตามกฎหมาย ทั้งจะมีประกันสังคมที่สามารถเข้ามาคุ้มครองเราได้ด้วย  เพราะการที่พวกเรามาทำงานในสถานบริการก็ต้องสมัครงาน มีเรื่องของเวลาเข้างาน-เลิกงาน มีหน้าที่ชัดเจน บางที่ก็มีเงินเดือนให้ มันก็เข้าข่ายการเป็นแรงงาน (Worker) อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ถูกยอมรับในฐานะแรงงาน และนายจ้างก็ไม่เคยเอาพวกตนไปจดทะเบียนแรงงาน เข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งที่จริงมันทำได้ แต่ไม่ยอมทำ เพราะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ระบุให้พวกตนมีความผิด พวกตนเลยมองเห็นว่า โจทย์ใหญ่คือกฎหมายนี้นี่เอง ที่ทำให้พวกตนเป็นคนผิดกฎหมาย ไม่ถูกยอมรับการเป็นแรงงาน Empower จึงเริ่มรณรงค์เคลื่อนไหวให้ยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 

แต่ก่อนการเรียกร้องในเรื่องนี้พวกตนก็ได้มีการเก็บข้อมูลกัน เป็นการที่คนทำงาน Sex Worker มาทำวิจัยกันเองรวบรวมข้อมูลว่าเมื่อไม่มีกฎหมายดังกล่าวนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ข้อห่วงใยของสังคมจะมีอะไรบ้าง แล้วอะไรที่จะมาตอบโจทย์ ช่วยเหลือได้ กระทั่งมองเห็นชัดเจนแล้วว่ากฎหมายนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่ Sex Worker เพราะเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดช่องทางการคอรัปชั่นมากกว่า ทีนี้เมื่อไม่มีกฎหมายนี้แล้ว ประเด็นอื่นๆที่สังคมกังวล ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ เข้ามาทดแทนได้หมดเลยอย่างน้อย 7 ฉบับ โดยไม่ต้องมีกฎหมายห้ามการค้าประเวณี ที่สำคัญคือกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีมันเกิดขึ้นมาในปี 2503 ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นมาจากการรัฐประหาร แม้จะมีการแก้ไขในปี 2539 (ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) แต่ก็ยังทำให้พวกตนเป็นคนทำอาชีพผิดกฎหมายอยู่ดี  

ถ้าย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับในหนังคังคุไบ ที่มีฉากพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอินเดียว่าเมื่อผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ทำไมกฎหมายยังทำให้ผู้หญิงเป็นคนผิด? ทำให้ Sex Worker เป็นอาชญากร ซึ่งก็เหมือนในกฎหมายไทย ถ้าไปดูเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ เขาเขียนไว้อย่างดีว่าพวกตนคือกลุ่มที่ด้อยโอกาส ต้องได้รับการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา แต่เนื้อหาในตัวกฎหมายกลับเอาผิดพวกตน  ทำให้พวกตนมีฐานะเป็นอาชญากรไปเสียอีก เพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายอาญา เมื่อเราถูกจับกุม เราก็จะมีประวัติทางอาญาติดตัว การที่คิดว่าจะให้พวกเราไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำอาชีพอื่นอย่างที่คนทั่วไปในสังคมวาดภาพกัน มันก็ทำไม่ได้ สรุปแล้ว กฎหมายนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย  ทั้งในความจริง กฎหมายนี้ที่มีมาตั้งแต่ปี2503 จนวันนี้ปี2565 ก็ไม่ได้ทำให้ Sex Worker มีจำนวนลดลงเลย ซึ่งต้องวิเคราะห์ไปถึงช่องว่างทางชนชั้นในสังคมไทยที่เยอะมากๆในด้านต่างๆ การที่พวกตนจะเข้าถึงสิทธิต่างๆทางสังคมได้ ก็ต้องยกระดับชนชั้นตนเองขึ้นมา โดยเฉพาะความยุติธรรม ทั้งนี้เคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปทลายสถานบริการอาบ อบ นวด  ก็ได้เจอพนักงานบริการคนหนึ่งที่ต้องมาทำงานอยู่ในนี้ ทั้งๆ ที่ตอนกลางวันเธอเป็นคนมีการศึกษา มีหน้าที่การงานดีในบริษัท แต่ต้องแบกรับภาระในการเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งยังต้องผ่อนบ้านมาตั้งแต่ก่อนที่สามีจะทอดทิ้งไปมีคนอื่น โดยไม่รับผิดชอบครอบครัวอีกเลย ซ้ำยังมีคุณแม่ที่ล้มป่วยเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีก  ทำให้เงินเดือนของตนคนเดียวไม่เพียงพอ สำหรับสังคมที่มีระบบค่าตอบแทนสำหรับคนทำงานเพียงคนเดียว ไม่ได้เผื่อไปถึงคนข้างหลัง ผู้หญิงคนนั้นจึงต้องเอาเวลาเลิกงานบริษัทมาอยู่ในอาบอบนวด 
    
ความเหลื่อมล้ำยังคงมีในมิติอื่นๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงที่ดิน ที่อยู่อาศัย โอกาสทางการศึกษา ในฐานะ Sex Worker เราก็คิดว่าต้องทำให้พวกเราไม่ผิดกฎหมายก่อน แม้อาชีพเราจะถูกมองว่าขัดต่อศีลธรรมในมุมองสังคม แม้ว่าใครจะไม่เห็นด้วยกับอาชีพของพวกเรา แต่มันก็ไม่ได้หมายถึงว่าควรจะต้องให้เราเป็นอาชญากร และถูกลิดรอนสิทธิ ทั้งนี้ Empower ก็ได้ไปร่วมขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำงานร่วมกับเครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย (ซึ่ง ครป. เองเป็นหนึ่งในนั้นที่นำการขับเคลื่อนด้วย) จนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับแรกในที่สุด ทั้งยังเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตย มีการเอาหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน แต่สุดท้ายก็กลับถูกฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหาร 2549 อีก

นอกจากนี้ในวงสนทนานี้ ยังได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้นำประเด็นการสนทนาและผู้เข้ามารับฟัง ทั้งในประเด็นเรื่องข้อกังวลต่อการค้าประเวณีเด็ก ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าการยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีนั้น กลับจะเปิดช่องให้กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายอาญาในส่วนการพรากผู้เยาว์ การล่อลวง ข่มขืนกระทำชำเรา รวมไปถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้เข้ามาทำงานที่ควรจะทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งประเด็นข้อห่วงใยเรื่องสุขภาพ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า หากยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี แล้วทำให้ Sex Worker ในสถานประกอบการได้เข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้สถานบริการเป็นสถานประกอบการที่ทำถูกกฎหมายในด้านแรงงาน อาชีวอนามัย ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้  ซึ่งโดยธรรมชาติตัวคนทำงาน Sex Workerเองก็ต้องมีเรื่องการตรวจโรคของตนเองอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว  เพราะถ้ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มันก็หมายถึงการขาดรายได้ ทำงานไม่ได้ นอกจากนี้การที่ Sex Worker เข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบ จะช่วยให้รัฐสามารถเก็บภาษีจากคนทำงานในวิชาชีพนี้ได้ด้วย แทนที่คนทำงานจะต้องเอารายได้ไปจ่ายเป็นส่วยให้แก่ผู้มีอิทธิพล อันเป็นการสูญเสียรายได้ของประเทศที่พึงได้  ทั้งนี้ยังได้มีการรวมกลุ่มของ Sex Worker ที่ได้ร่วมกันทำ Can Do Bar ที่จังหวัดเชียงใหม่ต้นแบบสถานบริการที่ทำตามกฎหมายในทุกๆด้านและเป็นมิตรต่อทั้งคนบริการ ทั้งผู้ใช้บริการ เป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนสิทธิคนทำงานบริการทางเพศที่เป็นรูปธรรมอีกด้วย 

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. ได้กล่าวสรุปว่างาน Sex Work หรืองานบริการทางเพศ ควรได้เดินมาสู่จุดที่ถูกยอมรับให้เป็นการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สลายมายาคติทางลบในทุกๆ ด้านที่มีต่อคนทำงานวิชาชีพนี้ และข้อสรุปจากการพูดคุยทั้งหมดในครั้งนี้ นอกจากจะหวังให้เป็นการยกระดับความเสมอภาคของคนทำงาน Sex Worker แล้ว ตนยังหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของอนาคต ที่กฎหมายต่างๆ จะเปลี่ยนจากการอ้างคำว่าศีลธรรมอันดีงาม มาเป็นการอ้างถึงและยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net