ชาวพม่า-นานาชาติร้องกองทัพระงับโทษประหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่า

  • สำนักข่าวอิรวดี-นานาชาติ ร้องทหารพม่าระงับโทษประหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลังกองทัพประกาศจะแขวนคอผู้ต้องหา 4 ราย รวมถึงจิมมี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยุค 1988 (พ.ศ. 2531) วัย 53 ปี และเพียวเซยาต่อ แรปเปอร์ และอดีต ส.ส. NLD ข้อหาก่อการร้าย   
  • เส้นทางชีวิตการเมืองเพื่อประชาธิปไตย ‘จิมมี’ และ ‘เพียวเซยาต่อ’  
  • ฮิวแมนไรท์วอตช์ มองการขู่ประหารของกองทัพพม่า เพื่อต้องการเช็กว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ใต้อาณัติได้มากขนาดไหน 

สืบเนื่องจากเมื่อ 3 มิ.ย. 2565 สื่อพม่ารายงานข่าวอย่างพร้อมเพรียงว่า ศาลพม่ามีคำพิพากษาตัดสินโทษประหารโดยการแขวนคอผู้ต้องหา 4 ราย โดย 2 จาก 4 คนนั้นเป็นนักโทษการเมือง คือ จิมมี หรือจ่อมินยู นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยุค 8888 วัย 53 ปี และเพียวเซยาต่อ อดีต ส.ส. พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD แต่ทางกองทัพพม่าไม่ได้ระบุว่าจะทำการประหารวันและเวลาใด หลังทั้งคู่ถูกตัดสินว่าผิดในข้อหา ‘ก่อการร้าย’ ขณะที่นักโทษอีก 2 รายที่จะถูกแขวนคอ ถูกกองทัพพม่ากล่าวหาว่าฆาตกรรมหญิงรายหนึ่ง

‘เรา (กองทัพพม่า) ต้องทำเพื่อหลักนิติธรรม’ ซอมินทุน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กล่าว 

ซอมินทุน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ ของกองทัพพม่า (ที่มา GNLM)

จนกระทั่งเมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรซ์วอตช์ ภูมิภาคเอเชีย โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม ทวิตเตอร์ ว่าตอนนี้มีข่าวลือจากในเรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้ง เผยว่า ทางการพม่าจะทำการประการนักโทษทั้ง 4 รายวันนี้ 

 

 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Myanmar Now รายงานวันเดียวกันว่า โฆษกเรือนจำอินเส่งออกมาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่า การประหารนักโทษไม่เป็นความจริง ‘ยังไม่มีคำสั่งให้ประหาร’ 

โฆษกเรือนจำ กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่านักโทษการเมืองทั้ง 2 รายถูกคุมขังอยู่ที่ใด

 

 

'จิมมี' นักเคลื่อนไหวจากยุค 8888

หลังทางการพม่าประกาศว่าจะประหารชีวิตนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้ง 2 ราย ทำให้ประชาชนพม่า ชาวต่างชาติ สมาชิกครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและนานาชาติ กังวลต่อสวัสดิภาพของทั้ง 2 คน 

หลายคนแสดงความเศร้าโศกและความโกรธเกรี้ยวหลังได้ยินคำสั่งตัดสินประหาร ซึ่งชาวพม่าส่วนใหญ่นั้นมองทั้ง 2 คนเป็นดั่งแบบอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และต่อต้านเผด็จการทหาร

ทั้งจิมมี และเพียวเซยาต่อ ปัจจุบันเป็นนักโทษการเมือง ต่างเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมานานหลายทศวรรษ 

สำหรับจิมมี ใช้ชีวิตนานกว่าครึ่งชีวิตในเรือนจำ โดยครั้งแรกถูกตัดสินจำคุกมานานกว่า 20 ปี หลังเข้าร่วมการประท้วงของนักศึกษา และเข้าร่วมขบวนการใต้ดินระหว่างเหตุการณ์ปฏิวัติ 88 ต่อจากนั้น เขาถูกจำคุกต่ออีก 5 ปี ในบทบาทการประท้วงแซฟฟรอน เมื่อปี 2550 

จิมมี หรือจ่อมินยู นักเคลื่อนไหวยุค 8888 (ที่มา GNLM)

อนึ่ง การประท้วงแซฟฟรอน หรือการประท้วงหญ้าฝรั่น เหตุที่เรียกเช่นนี้เนื่องจากสีของหญ้าฝรั่นเป็นสีเดียวกับสีของจีวรพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น  

จิมมี ถูกคุมขังถึง 21 ปี ในเรือนจำอินเส่ง และเรือนจำทรารวดี ในเขตพะโค ตั้งแต่ 2531-2548 และในปี 2548-2553 ตามลำดับ 

‘นี่หล่าเตง’ (နီလာသိန်း) ภรรยาของจิมมี เป็นผู้นำนักศึกษารุ่น 88 เช่นเดียวกัน และพวกเขามีลูกสาวด้วยกัน 1 คน อายุ 15 ปี นี่หล่าเตงตอนนี้อยู่ระหว่างการหลบซ่อนจากการออกมาทำกิจกรรมต่อต้านเผด็จการทหาร

หลังจิมมีได้รับการปล่อยตัวในปี 2555 เขาทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในการวางแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และโปรแกรมการศึกษา ร่วมกับเพื่อนนักกิจกรรมจากรุ่น 88 อย่าง ‘โกมิน’ และ ‘โกหน่าย’

จิมมี เป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อนว่าเป็นผู้มีความโอบอ้อมอารี และรักครอบครัวเป็นที่สุด นอกจากนี้ เขายังรักในงานศิลปะ เสียงดนตรี และงานเขียนอีกด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่เป็นเรื่องของประชาธิปไตย เขาจะเปล่งประกายความกล้าหาญในการลุกขึ้นต่อสู้ร่วมกับนักสู้รุ่นใหม่ต่อต้านเผด็จการทหาร ซึ่งเข่นฆ่าและก่อการร้ายต่อประชาชนในประเทศ

โกจ่อทะเหว่ เพื่อนของจิมมี และเป็น ส.ส.ของพรรค NLD ให้สัมภาษณ์กับทางอิรวดี ว่า “เขา (ผู้สื่อข่าว - จิมมี) รักในวรรณกรรมและเสียงเพลง แต่เขายังเป็นแบบอย่างให้คนทุกยุคทุกสมัยในฐานะนักปฏิวัติที่มีความกล้าหาญ ผู้ไม่ยอมรับต่อความอยุติธรรม”

“เพียวเซยาต่อ” แรปเปอร์ที่หันเหชีวิตสู่นักการเมือง

ขณะที่ เพียวเซยาต่อ นักร้องฮิปฮอป ผู้ซึ่งภายหลังหันเหเส้นทางเป็นนักการเมืองพรรค NLD กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการกดขี่ของเผด็จการพม่าที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

เพียวเซยาต่อ ทำงานเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพรรค NLD เริ่มตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2563 หลังจากอยู่ในวงการเพลงโดยใช้ชื่อศิลปิน ‘เอซิด’ (Acid) ผู้บุกเบิกวงดนตรีฮิปฮอปในพม่า เขาถูกจำคุกครั้งแรกเมื่อ 2551 หลังเขาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม "เจเนอเรชันเวฟ" (Generation Wave) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวใต้ดินของนักศึกษา เป็นที่รู้จักจากการใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร เผยแพร่สื่อต่อต้านเผด็จการทหาร

เพียวเซยาต่อ เล่าถึงช่วงเวลา 6 ปีขณะอยู่ในชายคาเรือนจำว่า เป็นช่วงเวลาของการค้นหาจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้เขาหันเหจากการเป็นนักกิจกรรมผู้ขบถต่อความอยุติธรรม เป็นนักการเมืองผู้ซึ่งต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างคงทนถาวร 

เพียวเซยาต่อ เข้าร่วมกับพรรค NLD หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2554 และลงเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 สามารถชนะเหนือ พลโท วายลวิน ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนกองทัพพม่า และเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และในปี 2558 เขาสามารถเอาชนะเหนือ อดีตนายพล มแย๊ดเฮง ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2558 

เพียวเซยาต่อ มีชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะ ส.ส.ที่ทำงานหนักและกระตือรือร้น เขาไม่เคยหยุดศึกษาประเด็นปัญหาอยู่เสมอ อดีตนักร้องแรปไม่ได้สู้ศึกเลือกตั้งในปี 2563 เนื่องจากต้องการกลับมาวงการเพลงอีกครั้ง แม้ว่าเขาหาเสียงช่วงก่อนเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. 2563 ในกรุงเนปยีดอไปแล้ว แต่ก็เปลี่ยนใจหวนคืนสู่วงการดนตรี  

กระทั่งหลังการทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 เขาตัดสินใจเข้าร่วมต่อต้านเผด็จการทหารอย่างทันที 

เขาเคยกล่าวในการประท้วงในนครย่างกุ้ง ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2564 ว่า เราออกมาประท้วงบนท้องถนน เพราะเราควรทำ ถ้าเรารวมเป็นหนึ่ง ไม่นานเผด็จการจะถูกกำจัด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาเชื่อ และเป้าหมายของเราต้องสำเร็จลุล่วง 

เพียวเซยาต่อ อดีต ส.ส. NLD ขณะปราศรัยประท้วงกองทัพ (ภาพโดย Maung Sun, OpenMyanmar Photo Project)

หลังจากกองทัพพม่าเลือกใช้วิธีการอันโหดร้ายในการสลายการชุมนุมของประชาชน เพียวเซยาต่อต้องซ่อนตัว ก่อนภายหลังเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านกองทัพในนครย่างกุ้ง

ไทยรัฐพลัส และอิรวดี รายงานว่า เพียวเซยาต่อ ถูกจับกุมเมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเผด็จการทหารพม่าอ้างว่า เพียวเซยาต่อเป็นสมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วงชิงบทบาทการนำประเทศจากเผด็จการทหารพม่า และเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการภารกิจพิเศษ และเป็นสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนต่อต้านกองทัพพม่า 

กระทั่ง เมื่อ 21 ม.ค. 2565 เพียวเซยาต่อ ถูกศาลพม่าตัดสินประหารภายใต้มาตรา 49(a), 50(i) และ 50(j) แห่งกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของพม่า ส่งผลให้พม่านำโทษประหารกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะแม้ว่าจะมีการตัดสินโทษประหารกับคดีร้ายแรงหลายครั้ง แต่สามารถอุทธรณ์จนเหลือเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิตได้ ทำให้โทษประหารไม่เคยเกิดขึ้นจริงตั้งแต่ 2553

“เขาทำในสิ่งที่เขาเชื่อว่ามันถูกอยู่เสมอ ไม่มีอะไรสามารถหยุดเขาจากการเป็นนักกิจกรรมที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยได้ คนอย่างเขาและจิมมีไม่เคยหวั่นเกรงต่อความโหดร้าย” ภรรยาของเพียวเซยาต่อ กล่าว 

อิรวดี-นานาชาติค้านคำสั่งประหาร

สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ออกมาประณามหลังกองทัพพม่าประกาศประหารชีวิต รวมถึง โทมัส แอนดริวส์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติต่อสถานการณ์เมียนมา ขณะที่เมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา เรียกร้องให้เขาไม่บังคับใช้โทษประหารชีวิต ก่อนที่เผด็จการทหารออกมาปฏิเสธคำขออุทธรณ์จากนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในเวลาต่อมา  

 

ขณะที่สำนักข่าว ‘อิรวดี’ ร่วมส่งเสียง หวังว่าผู้ต่อต้านกองทัพพม่าทั้ง 4 ราย จะได้รับการไว้ชีวิตจากเผด็จการทหารพม่าผู้หิวกระหายเลือด และได้รับอิสรภาพคืนมาอีกครั้ง 

ด้านแมนนี หม่อง นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอตช์ มองว่า การขู่ประหารชีวิตของกองทัพพม่า ถูกใช้งานในรูปแบบของการ ‘แบล็กเมล’ เพื่อทำให้ประชาชนอยู่ใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ 

“กองทัพพม่าพยายามที่วัดอุณหภูมิทั้งในระดับนานาชาติ และภายในประเทศพม่า เพื่อดูว่าเขาจะผลักดันให้ประชาชนเชื่อฟังเขาได้มากแค่ไหน” หม่อง ระบุ 

หม่อง กล่าวว่า เหตุการณ์ปล่อยข่าวลือประหารนักโทษการเมืองเมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนความไม่ปลอดภัยของสถานการณ์ที่นักกิจกรรมการเมืองเมียนมาต้องเผชิญกับโทษประหารชีวิต และเน้นย้ำความจำเป็นในการดำเนินการ ‘อย่างเร่งด่วน’

 

แปลและเรียบเรียง

Myanmar Unites in Demand to Spare Pro-Democracy Leaders

Myanmar junta vows to execute pro-democracy activists

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท