Skip to main content
sharethis

"เพื่อนข้างบ้าน : Friends Next Door" นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัยเมียนมา “เพื่อนข้างบ้าน” ที่ไม่อาจกลับบ้าน หลังรัฐประหารที่มาพร้อมการใช้กำลังและความรุนแรงพรากบ้านของพวกเขาไป

 

20 มิ.ย. 2565 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. เสมสิกขาลัย (Spirit in Education Movement - SEM), มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และเครือข่าย จัดงานเปิดนิทรรศการ "เพื่อนข้างบ้าน : Friends Next Door" ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกในวันที่ 20 มิ.ย. ของทุกปี

ภายในงานมีการอ่านบทกวี โดยเยาวชนจากเมียนมาที่พูดถึงลูกคนหนึ่งที่ต้องหนีออกจากบ้านตัวเองไปอาศัยอยู่ในอีกที่หนึ่งที่แสนไกล เขาต้องการจะสื่อสารกับแม่ถึงความยากลำบากของชีวิตและความหนักหนาในความรู้สึก “แม่ครับ ผมอยากกลับบ้าน ผมคิดถึงที่นอนของตัวเอง คิดถึงกลิ่นไอของแม่ คิดถึงสายตาของแม่”

บรรยากาศการเปิดงานนิทรรศการ

 

ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนกล่าวเปิดงานและบอกเล่าถึงที่มาของการนิทรรศการครั้งนี้ คำว่า เพื่อนข้างบ้าน หรือ Friends Next Door ที่ใช้เป็นชื่องานมาจากความตั้งใจของผู้จัดงานที่พยายามมองผู้ลี้ภัยมากกว่าการเป็นเหยื่อ หรือคนที่อยู่แถวชายแดนประเทศไทย แต่พวกเขาคือเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ตรงนั้น

ผู้ลี้ภัยในนิยามของกฎหมายระหว่างประเทศหมายถึงคนที่หนีภัยจากการประหัตประหารในมาตุภูมิของตนไปยังประเทศอื่น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการประหัตประหารจากเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศสภาวะ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือว่าการเป็นกลุ่มสังคมอื่นๆ ทำให้ผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถกลับ “บ้าน” ของตนเองได้

“คำว่า ผู้ลี้ภัยไม่ใช่คำที่ดูถูก เพราะว่าการอพยพลี้ภัยไม่ใส่สิ่งที่น่าอับอายหรือน่ารังเกียจ คนที่ควรจะอับอายคือคนที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ตัวผู้ลี้ภัยเอง และคำว่าผู้ลี้ภัยเป็นคำที่แสดงถึงสภาวะหนึ่งของคน ไม่ใช่ตัวตนของเขา เพราะว่าผู้ลี้ภัยแต่ละคนก็จะมีตัวตนเอง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผู้ลี้ภัย เช่นเดียวกับที่รับผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มมีผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยมาเป็นความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันผู้ลี้ภัยที่อยู่ในแคมป์ 9 แห่งของประเทศไทยเริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ แคมป์เหล่านี้ตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 เคยมีจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดเกิน 150,000 คน ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในพม่าเหลือผู้ลี้ภัยอยู่ในแคมป์ประมาณ 90,000 คน จำนวนมากไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 และจำนวนผู้ลี้ภัยทางการเมืองในไทยก็ลดลงมากเช่นกัน จำนวนมากก็ไปประเทศที่ 3 และกลับไปทำงานที่พม่า แต่หลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ทุกอย่างก็ย้อนกลับมาอีกครั้ง ดังที่เราอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้ไปชมในนิทรรศการนี้” ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าว

ก่อนจะมีการ Performance Art โดยศิลปินเยาวชนจากเมียนมา ชุด "ความหวังในขี้เถ้า"

 

วิชัย จันทวาโร เจ้าหน้าที่เสมสิกขาลัย กล่าวว่า “คำว่า ผู้ลี้ภัย อาจจะดูไกลตัว เราจึงอยากจะใช้คำว่า เพื่อนข้างบ้าน และเขาก็คือเป็นเพื่อนข้างเราจริงๆ และความเป็นผู้ลี้ภัยสักวันอาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราก็อาจเป็นได้” ภายในนิทรรศการมีการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ผู้ลี้ภัยในประเทศในช่วงไม่เกิน 100 ปีที่ผ่านมา และมีการลำดับเหตุการณ์การรัฐประหารในเมียนมาที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

         

 

นิทรรศการ "เพื่อนข้างบ้าน : Friends Next Door" จัดแสดที่ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. – 15 ก.ค. 2565 เวลา 8.30-16.30 น. ทุกวัน (เว้นวันจันทร์และอังคาร)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net