Skip to main content
sharethis

สื่อหลายสำนักรายงาน กกต.สั่งยุติเรื่อง 'ณฐพร โตประยูร' ร้องยุบพรรคก้าวไกล ใน 10 ประเด็น ชี้ไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง

 

20 มิ.ย.2565 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบตามที่ แสวง บุญมี เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นให้ยุติเรื่อง กรณี ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคกระทำการใน 10 ประเด็น หลังคณะกรรมการไต่สวนของสำนักงานฯดำเนินการตรวจสอบแล้วเห็นว่า การกระทำยังไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 

โดยทั้ง 10 ประเด็นที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหา ประกอบด้วย 

1.เดือน ส.ค. 2563 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคและปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกันตัวภานุพงศ์ จาดนอก และกรกช แสงเย็นพันธ์ ผู้ต้องหาในคดีอาญาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ฝ.972/2563 และคดีหมายเลขดำที่ ฝ.1031/2563

2.เดือน ส.ค. 2563 ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกันตัวภาณุมาศ สิงห์พรม แกนนำคณะประชาชนปลดแอก ผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.1078/2563

3.เดือน ต.ค. 2563 เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ประกันตัวจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ถูกจับกุมในเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ. 1302/2563 ซึ่งเห็นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหา เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของบุคคลซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

4.เดือน ก.ย. 2563 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รังสิมันต์ โรม และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรครวม 17 คนที่เข้าร่วมชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และพื้นที่สนามหลวง เป็นการใช้สิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง2560

5.กรณีกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกล กระทำการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 45 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากเหตุวันที่ 16 พ.ย. 2563 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แถลงจุดยืนของพรรค เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และเสนอให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชน หรือ “ฉบับไอลอว์” เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 255 และ 256 อย่างชัดเจนให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ โดยกำหนดให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของ ส.ส. กรณีดังกล่าวจึงสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนดจึงยังฟังไม่ได้ว่าพิธา กระทำการเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

6.กรณีกล่าวหา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อขณะนั้น แถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ถ้อยคำมีลักษณะสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่บริเวณรัฐสภา ให้ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เห็นว่าการแถลงการณ์ของวิโรจน์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นต่อการชุมนุมระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลเท่านั้นไม่ปรากฏถ้อยคำใดที่มีลักษณะสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยศีลทำอันดีของประชาชน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 จึงยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของวิโรจน์ ฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 (3)

7.เดือน ม.ค. 2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกล มีมติให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 

8.กรณีกล่าวหาว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ตำรวจเข้าจับกุมศิริชัย นาถึง นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลากลางคืนว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม และเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีที่จะใช้กฎหมายทุกฉบับรวมถึงมาตรา 112 จัดการกับนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม โดยเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงความเห็นในการทำหน้าที่ของนักการเมืองที่เห็นว่ากฎหมายใดเป็นอุปสรรคหรือไม่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าพรรคใช้กลไกระบบรัฐสภาเพื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาจึงยังฟังไม่ได้ว่านายพิธา กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเข้าข่ายผิดมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

9.เดือน ม.ค. 2564 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส. ประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ที่ศาลตลิ่งชันในคดีแอดมินเฟซบุ๊ก คณะราษฎร จำหน่ายปฏิทินเป็ดสีเหลืองซึ่งมีข้อความว่า “ปฎิทินพระราชทาน” เห็นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหาถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคลซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ไม่ได้เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีผลผูกพันพรรคก้าวไกล จึงยังฟังไม่ได้ว่าอมรัตน์ จะทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ

10.เดือน พ.ย. 2563 รังสิมันต์ โรม และ ส.ส.ของพรรครวม 4 คน ได้เข้าพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎรบริเวณด้านหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ในลักษณะสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มราษฎรให้ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้ง 4 ได้เข้าพื้นที่ชุมนุมดังกล่าวจริงแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าบุคคลทั้ง 4 ให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมไม่ว่าทางการเงิน การเป็นแกนนำปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมชุมนุมหรือสนับสนุนอื่นใดให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าการเข้าพื้นที่ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 (3) พ.ร ป.พรรคการเมือง

ที่มา : ไทยพีบีเอส, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และมติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net