Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” หลังการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2565 ช่วยจุดไฟความฝัน ความหวัง กำลังใจของผู้คนที่ติดอยู่ในบรรยากาศทึบทึมทางการเมืองมานานให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ความเชื่อที่ว่า - แม้จะแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอย่างชัชชาติ แต่ด้วยภูมิหลังที่ยึดโยงกับพรรคมีสี อย่างไรเสียก็คงไม่อาจเอาชนะใจคนกรุงไปได้ – ถูกพังทลายลงด้วยคะแนนชนะถล่มทลายเป็นประวัติการณ์
 
เมื่อประกอบกับการทำงานอย่างดุเดือดตั้งแต่ก่อนวันเข้ารับตำแหน่ง เรื่องราวคู่ขนาน (side story) ที่ถูกเล่ามาพร้อมๆ กับช่วงหาเสียงจนถึงวันได้รับชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวโดยเฉพาะเรื่องราวชวนอบอุ่นหัวใจกับลูกชายที่หูหนวกแต่กำเนิด นำมาสู่ความประทับใจและความคาดหวังของคนจำนวนมากว่า ศักยภาพและคุณสมบัติการ “เป็นที่รัก” ของชัชชาติน่าจะนำพาเขาไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมกับเขากว่าการเป็นเพียงผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นั่นก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในเมื่อการที่ชัชชาติชนะเลือกตั้งทั้งๆ ที่ตอนเปิดตัวก็เหมือนว่าความหวังมีเพียงริบหรี่เท่านั้นยังเป็นไปได้ การที่ประเทศไทยจะมีนายกชื่อชัชชาติจึงไม่ใช่เรื่องละเมอเพ้อพก อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนในบริบทของการเมืองไทยก็น่าจะทำให้เราตระหนักดีว่า การลงชิงตำแหน่งผู้นำระดับประเทศรวมถึงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ไม่ได้เป็นการต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาซึ่งชัยชนะตกเป็นของผู้เหมาะสมที่สุด ทว่ายังมีการต่อสู้ฟาดฟันเกิดขึ้นในอีกหลายระดับโดยเฉพาะการต่อสู้ของ “เรื่องเล่า” ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมถืออำนาจนำมาโดยตลอด

ฌอง-ฟรองซัว เลียวตาร์ (Jean-François Lyotard) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเสนอไว้ว่าสังคมหนึ่งๆ มีเรื่องเล่า (narrative) เล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก เมื่อเรื่องเล่าที่มีชุดความคิด อุดมการณ์ วาทกรรมสอดคล้องไปในทางเดียวกันได้รับการเล่าซ้ำ ส่งต่อ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและไหลเวียนอยู่ในการรับรู้ของผู้คน ก็จะกลายเป็น “เรื่องเล่าหลัก” หรือ “เรื่องเล่าขนาดใหญ่” (Grand Narratives หรือ Meta Narratives) ของสังคม ผู้คนในสังคมซึ่งรวมถึงเราๆ ท่านๆ ต่างตกอยู่ภายใต้เรื่องเล่าขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจ ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดโดยไม่ได้ตระหนักรู้ถึง “กลไก” การทำงานของ “เรื่องเล่า” ที่อยู่เบื้องหลังโลกทัศน์หรือการตีความทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในการรับรู้

ในยุคหนึ่ง คนที่ผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนไทยถูกทำให้เชื่อว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นด้วยความสามารถของชนชั้นนำที่ยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนมาก ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลทองของโลก ในน้ำมีปลาในนามีข้าว คนไทยมีคุณสมบัติยิ้มแย้มแจ่มใส มีมิตรไมตรีจิตโดดเด่นแตกต่างจากคนชาติอื่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ร่วมกัน “เล่า” โดยปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ว่าจะเป็นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงวิจิตรวาทการ พระยาอนุมานราชธน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น 

เรื่องเล่าหลักๆ ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมแม้จะเกิดขึ้นนานแล้ว แต่บางส่วนก็ยังคงได้รับการผลิตซ้ำ ตีความ ดัดแปลงเพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคต่อเนื่องเรื่อยมาและมีอานุภาพมากพอที่จะทำให้เกิดกลุ่มทางการเมืองซึ่งเชื่อแบบเทหมดหน้าตักเรื่องการขายชาติ การแบ่งแยกดินแดน ความเป็นไทยแท้ดั้งเดิมที่ไม่เจือปนกับวัฒนธรรมอื่น ไม่เหมือนใครในโลก การเลือกคนดีเป็นผู้นำ

เรื่องเล่าเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคตามมาอีกล้านแปด เช่น การขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยในนามของคุณค่าความดีงาม ความสมัครสมานสามัคคี การพิทักษ์สถาบันสำคัญของชาติ เราต้องใช้ระบบการเมืองที่เป็นเสื้อผ้าตัดเย็บพอดีตัวกับเราเพราะเราไม่เหมือนใครในโลก

ในแง่นี้ อาจต้องชื่นชมว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม “เล่าเรื่องเก่ง” และเรื่องเล่าของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีพลังอย่างยิ่งในการสถาปนาอุดมการณ์ที่ถืออำนาจนำในสังคม แต่เมื่อหันมามองอีกฝั่งฟากของขั้วการเมือง ก็น่าเสียดายว่า แทบไม่มีสิ่งที่เป็น “ปฏิบัติการทางเรื่องเล่า” ไม่ค่อยมีเรื่องเล่าที่สร้างความกระทบใจหรือเล่นกับความเชื่อ ความรู้สึกได้เหมือนฝ่ายอนุรักษ์นิยม 

นั่นอาจเป็นเพราะว่า ฝ่ายซ้าย หัวก้าวหน้า เสรีนิยม หรือกลุ่มคนที่เชิดชูคุณค่าประชาธิปไตย โดยเฉพาะนักวิชาการให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เป็นข้อมูลความรู้ ข้อเท็จจริงมากกว่าวิธีการนำเสนอ สิ่งที่คนในฝั่งฟากนี้พยายามเล่า โต้เถียง หรือถอดรื้อ (deconstruct) เรื่องเล่าของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงแห้งแล้ง ขาดสีสัน ไม่กระทบใจ และถึงที่สุดก็คือไม่สามารถเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจคนที่ถูกเรื่องเล่ากระแสหลักฝังหัวได้

เรื่องเล่าและการเล่าเรื่องจึงเป็นเหมือน “จุดอ่อน” ของฝ่ายที่ต้องการให้ความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นในสังคม แต่ดูเหมือนว่า ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคนใหม่จะมาพร้อมกับการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ของเรื่องเล่าที่อาจมีศักยภาพมากพอในการ “กล่อม” ให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ของความเชื่อความเข้าใจแบบเดิมยอมเปิดใจพิจารณาความเหมาะสมของเขาในบทบาทใหม่ที่ได้รับรวมไปถึงบทบาทการเมืองอื่นๆ ในระยะยาว รวมทั้งยอมเปิดใจให้ตัวเลือกทางความคิดใหม่ๆ ที่ต่างไปจากความคุ้นเคยหลั่งไหลเข้ามาในเนื้อในตัว ในการรับรู้

เรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับชัชชาติที่ถูกเล่าขนานมากับการรณรงค์หาเสียงโดยเฉพาะเรื่องราวของแสนปิตินั้นมีคุณสมบัติสร้างความกระทบใจคนได้ทุกกลุ่ม แสนปิติเกิดมาพร้อมความบกพร่องทางการได้ยินถาวร ทว่าพ่อผู้แข็งแกร่งกลับไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตาและสู้ชีวิตกลับด้วยการทำทุกวิถีทางให้ลูกได้ยินเสียง ให้ลูกพูดได้ ถึงกับสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศเพื่อให้ลูกชายได้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการเหมาะสมที่สุด แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคชวนถอดใจมากมาย แต่ในท้ายที่สุดความรักและความทุ่มเทก็ผลิดอกผลงดงาม เมื่อแสนปิติสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จาก The University of Washington เกิดเป็นมหกรรมการแสดงความยินดี ความปลื้มใจ ประทับใจอย่างท่วมท้นจากผู้คนบนโลกโซเชียล รวมถึงสื่อต่างๆ ที่ช่วยกันเล่าเรื่องราวเส้นทางสู่ความสำเร็จนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับเป็นวาระแห่งชาติ

ในแง่ของการเป็นเรื่องเล่า ชัชชาติมีลักษณะของ “ตัวละครวีรบุรุษ” (heroic character) จากการต้องฟันฝ่าอุปสรรค ความขัดแย้ง และบททดสอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ สังคมแวดล้อม รวมถึงความขัดแย้งสับสนภายในใจจากโชคชะตาที่ต้องเผชิญ แต่ด้วย “พลังวิเศษ” ของวีรบุรุษ ปัญหาและสิ่งกีดขวางมากมายก็ถูกกำจัดออกไปทีละด่านๆ ขณะเดียวกันเรื่องเล่า “superhero” ของชัชชาติก็เผยให้เห็นมิติของปัจเจกบุคคล ทั้งการเป็นพ่อผู้รักลูกอย่างที่สุด การไม่ย่อท้อหรือยกธงขาวต่อขวากหนาม การเสียสละอุทิศตนเพื่อลูก ในขณะเดียวกันก็ต้องประคับประคองหน้าที่การงานและอุดมการณ์ควบคู่กันไปด้วย
 
ทุกอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะชัชชาติไม่ได้อยู่ในแห่งที่ที่มั่งคั่งพอจะใช้เงินแก้ปัญหาทุกสิ่งอย่างให้ราบรื่นได้โดยไม่ออกแรง เรื่องเล่าของชัชชาติจึงมีองค์ประกอบของการดิ้นรนกระเสือกกระสนโดยใช้ศักยภาพของตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ปราศจากพลังวิเศษ ของวิเศษ อำนาจเหนือธรรมชาติ การช่วยเหลือหยิบยื่นจากทวยเทพเช่นในนิทานวีรบุรุษ (heroic tale) นั่นยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ร่วมในกลุ่มคนที่เสพเรื่องเล่านี้ได้ง่ายดายมากขึ้นอีก

ชิ้นส่วนในชีวิตชัชชาติประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องกระทบใจและสร้างความรู้สึกร่วมในมวลชนได้ เพราะแต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ทางอารมณ์ที่สามารถทาบเทียบกับบางส่วนหรือทั้งหมดของเรื่องชัชชาติได้ ยิ่งไปกว่านั้น คำสำคัญของเรื่องที่มีทั้ง ความเป็นพ่อ สายสัมพันธ์พ่อลูก การเป็นลูกที่ดี การเสียสละ การต่อสู้ดิ้นรน การเอาชนะข้อจำกัดทางร่างกาย การใช้ความสามารถของตัวเองแบบไม่อาศัยทางลัดก็ล้วนแล้วแต่เป็นคุณค่าที่ชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษ์นิยมสมาทาน 

จึงไม่แปลกหากบนหน้านิวส์ฟีดของหลายคนจะเห็นอดีตคนเสื้อเหลือง กปปส. กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มคนที่ระบุว่าตนเองเป็นกลาง กลุ่มคนที่ไม่มีคำไหนอธิบายความคิดทางการเมืองได้ดีเท่าคำว่า “สลิ่ม” รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่สนใจการเมือง จะรู้สึกประทับใจเรื่องชัชชาติและกดไลก์กดแชร์หรือแสดงความชื่นชมชื่นชอบอย่างไม่ขัดเขิน พร้อมทั้งค่อยๆ เปิดใจโอบรับชัชชาติตลอดทั้งสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ความเชื่อของตัวเอง ทั้งๆ ที่อาจไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนโยบาย ความสามารถ วิสัยทัศน์ของชัชชาติและอาจถึงกับมีอคติแต่แรกด้วยซ้ำ สะท้อนถึงศักยภาพของเรื่องเล่าในการทำงานกับพลวัตของอารมณ์ความรู้สึกตลอดทั้งความคิดของผู้คน

การเมืองเป็นเรื่อง “การมีส่วนร่วมทางอารมณ์” เหตุผลเรื่องความสามารถ เรื่องนโยบายอาจเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “อารมณ์ความรู้สึก” ซึ่งจะช่วยสร้างฐานผู้สนับสนุนให้แข็งแรง นั่นเป็นคำอธิบายว่าทำไมจึงมีคนจำนวนมากรักทักษิณหมดจิตหมดใจ และบางส่วนก็โกรธแค้นผิดหวังคนคนเดียวกันนี้ในเวลาต่อมา อีกฝ่ายก็เชียร์ประยุทธ์ไม่ลืมหูลืมตา มีติ่งแดง ติ่งส้มที่แซะกันไปมาอย่างออกรส มีคนลุกขึ้นมาเผาศาลากลาง มีคนเดือดดาลคลุ้มคลั่งเพราะฝ่ายที่ตนเองเชียร์ไม่ได้รับความยุติธรรมในการเลือกตั้ง ฯลฯ อารมณ์ความรู้สึกจึงเป็นส่วนสำคัญในการยึดโยงมวลชนเข้ากับบุคคลหรือสิ่งที่ได้รับฉันทามติ (consensus) ของแต่ละฝ่าย  

ในกรณีของชัชชาติ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการมีส่วนร่วมทางอารมณ์ของมวลชนล้วนเกิดจากกลไกของเรื่องเล่าและการเล่าเรื่อง นอกเหนือจากเรื่องราวมากมายของชัชชาติที่ได้รับการถ่ายทอดในต่างกรรมต่างวาระเกี่ยวกับความมุ่งมั่นทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และการทำประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว คนที่เป็น “ติ่ง” ยังสามารถร่วมสนุกกับการแต่งเติมสีสันให้ชัชชาติกลายเป็นตัวละคร “superhero” ตามใจปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประโยคจำพวก “โลกไม่ได้หมุมรอบตัวเอง แต่โลกหมุนรอบชัชชาติ” “หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง แต่ชัชชาติทำงาน 72 ชั่วโมง” “ชัชชาติไม่ได้ชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ แต่ตำแหน่งผู้ว่าเลือกชัชชาติ” หรือคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดีย เช่น “คนที่แตะมืออาจารย์ชัชชาติ แขนขาดไปหรือยังคะ” และมีม (meme) มากมายประดามีที่ออกมาใหม่ไม่เว้นวัน

กล่าวได้ว่านอกจากเรื่องเล่าของชัชชาติจะทำงานกับความคิดความรู้สึกของคนแล้ว ผู้คนมากมายยังมีส่วนร่วมสนุกกับการสร้างเรื่องเล่าเพื่อความบันเทิงร่วมกับคนอื่นๆ ทำให้ชัชชาติกลายเป็นวัตถุในยุควัฒนธรรมประชานิยม (pop culture) ที่สัมผัสได้ เข้าถึงได้ จับต้องได้ เล่นสนุกได้อย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองคนใดทำได้มาก่อน

ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีเรื่องเล่ามาคัดง้างกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เราต่างได้ยินเรื่องราวของคนเสื้อแดงที่โดนปฏิบัติราวกับเป็นผักปลา กลุ่มคนชายขอบที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐ กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ต้องหนีตายหัวซุกหัวซุนและหลายคนก็จบชีวิตลงอย่างน่าหดหู่ ฯลฯ เรื่องเล่าเหล่านี้อาจเป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับคนที่สมาทานคุณค่าของฝั่งฟากประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่สำหรับอีกฝ่ายที่ตกอยู่ภายใต้เรื่องเล่าสีเหลือง ความทุกข์เข็ญของเพื่อนมนุษย์ชายขอบ ความตายของตาสีตาสา ของคนที่ถูกตีตราว่าหัวรุนแรงอาจไม่กระทบใจพวกเขามากพอจะพังทลายหรือสั่นสะเทือนโลกทัศน์แบบเดิมได้


 

แต่เรื่องเล่าของชัชชาตินั้นสามารถประนีประนอมกับความคิดความเชื่อแบบเดิมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมชนชั้นกลางได้ เพราะปราศจากกลิ่นโคลนในท้องทุ่ง ปราศจากความคิดหรือการแสดงออกที่รุนแรง ปราศจากตัวละครชาวบ้านซื่อๆ โง่ๆ ที่โดนหลอกมาม็อบ ตรงกันข้าม เรื่องเล่าของชัชชาติเต็มไปด้วยอนุภาคที่ชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเปิดใจรับได้อย่างที่ไม่ทำให้รู้สึกว่าตัวเอง “เสียรสนิยม” 

เรื่องเล่าของชัชชาติเป็นตัวอย่างชั้นดีที่แสดงให้เห็น “อำนาจ” ของเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องในการดลจิตดลใจผู้คนให้ยอมรอมชอมกับความคิดความเชื่อของตัวเองในอดีต ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจเป็นต้นแบบเรื่องเล่าของฝ่ายประชาธิปไตยที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ส่งเสริม กระตุ้นการมีส่วนร่วมทางอารมณ์ของผู้คนในสังคม
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net