วรวิทย์ เจริญเลิศ: อนาคตของสหภาพแรงงาน?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในยุคโลกาภิวัตน์เศรษฐกิจ “แรงงาน” ได้กลายเป็น “ประเด็นสังคม” (The Social Question)

โดยมี 3 ประเด็นใหญ่ คือ (1) วิกฤติการสะสมทุน นับตั้งแต่ปีค.ศ 1973 ที่นำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อ (2) การว่างงานที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมอุตสาหกรรม(3) การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology) * และการผลิตแบบยืดหยุ่น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง “รูปแบบของงาน” และ “แรงงานสัมพันธ์”

ก่อนปี ค.ศ 1930 ระบบการผลิตบนสายพานที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ของฟอร์ดใช้แรงงานแปลกแยกค่าแรงถูกเพื่อผลิตสินค้าปริมาณมากแต่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก 1930 ปัญหาคนตกงานและความยากจน นำมาสู่ความขัดแย้งแบบเผชิญหน้าระหว่างทุนกับแรงงานดังเห็นได้จากการเดินขบวนของคนงานตามเมืองใหญ่ๆ เช่น Chicago และ New York คนงานเรียกร้องการมีงานทำและเป็นช่วงที่แนวคิดสังคมนิยมเฟื่องฟูขึ้นในขบวนกวรกรรมกรสากล

การสร้างรัฐสวัสดิการภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2ทำให้เกิดการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเติบโตสูงในประเทศยุโรปตะวันตก(ปี ค.ศ. 1945-1973) รัฐได้เข้าแทรกแซงกำกับกลไกตลาด นโยบายกระจายรายได้ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้านำมาใช้ในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อการกระจายรายได้
    
การปฏิรูประบบทุนนิยม จึงเป็นการ “ประนีประนอมทางชนชั้น” ระหว่างทุนกับแรงงาน โดยคนงานในระบบการผลิตในโรงงานของฟอร์ดจะถูกเร่งรัดการทำงานด้วยระบบสายพานการผลิตโดยมีการติดตั้งหุ่นยนต์ เช่น ช่วงการเชื่อมตัวถังรถเพื่อสร้างผลิตภาพแรงงานแลกกับค่าจ้างสูง โดยรัฐจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนและนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำมีการให้ความสำคัญกับสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองในระดับไตรภาคี หรือ ทวิภาคี การต่อรองที่ถูกยกระดับที่สูงไปกว่าสหภาพแรงงานคือ สหพันธ์และสภาแรงงาน ซึ่งถูกทำให้เป็นสถาบัน มีกฎเกณฑ์ปฏิบัติที่ทุกคนยอมรับกันได้ โดยทุนกับแรงงานได้รับผลประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย คนงานได้รับค่าจ้างสูงและความมั่นคงในงานขณะที่นายทุนได้ผลิตภาพแรงงานและกำลังซื้อในการระบายสินค้า

กล่าวได้ว่า ช่วงรัฐสวัสดิการเป็นยุคทองการเติบโตทุนนิยมที่เกิดจากการพัฒนา“ระบบการผลิตสินค้าขนาดใหญ่ควบคู่ไปการบริโภคมวลชน” (Mass productionand mass consumption) กล่าวได้ว่า “แรงงานได้ถูกผนวกเข้ากับทุนภายใต้สังคมบริโภคนิยม”

แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ 1973 ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเหล่านี้ ได้ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งหนึ่งทำให้แนวคิด “เสรีนิยมใหม่” ได้กลับเข้ามาอิทธิพลภายหลังที่รัฐบาลฝ่ายขวาชนะการเลือกตั้งในยุโรปตะวันตก รัฐสวัสดิการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นำมาสู่การใช้จ่ายเกินตัวเป็นภาระทางการเงินของรัฐที่บานปลาย และการแทรกแซงของรัฐในตลาดแรงงาน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานและการต่อรองของสหภาพแรงงาน ได้สร้างความไม่ยืดหยุ่นในการทำธุรกิจภายใต้การแข่งขันในระดับโลก

แนวคิดเสรีนิยมนำมาสู่การรื้อรัฐสวัสดิการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายทางสังคมของรัฐ จากรัฐสวัสดิการสู่การได้สวัสดิการต่อเมื่อคุณทำงาน (Welfare State to Workfare) ส่งเสริมการค้าเสรี การแข่งขันและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเป้าหมายอยู่ที่การควบคุมต้นทุนแรงงานผ่านการจ้างงานยืดหยุ่นและค่าจ้างยืดหยุ่น (Flexibility) และทำลายสหภาพแรงงานผ่านการการออกกฎหมายเลิกจ้างเสรีโดยเป้าหมายอยู่ที่ผู้นำสหภาพแรงงาน
 
ในยุคโลกาภิวัตน์นับตั้งแต่ปี ค.ศ 1990 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยืดเยื้อในประเทศอุตสาหกรรม  การว่างงานขนาดใหญ่และการเลิกจ้างผู้นำแรงงานกลายเป็นปัญหาที่ลดทอนอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน ในโลกของงาน ที่คนงานมีความหลากหลายขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างงานยึดหยุ่นการรวมกลุ่มแบบเก่าโดยใช้“อัตลักษณ์ร่วม” (Collective Identity) คือ เป็นคนงานในโรงงานจะเป็นปัญหาเพราะคนงานแต่ละกลุ่ม จะมีความต้องการไม่เหมือนกัน หรือ อาจตรงข้ามกัน เช่น กลุ่มลูกจ้างประจำอาจจะเรียกร้องการปรับค่าจ้างและสวัสดิการ แต่ลูกจ้างชั่วคราวต้องการความมั่นคงในงาน และแรงงานส่วนที่ขยายตัวคือ แรงงานที่หลุดรูปแบบการจ้างงานตามมาตรฐานแรงงาน (atypical) ดังนั้น การจัดองค์กรแนวดิ่งและการค้นหาตัวแทนคนงาน เช่น สหภาพแรงงาน – สหพันธ์ – สภาแรงงาน อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง

ในประเทศอุตสาหกรรม การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology) ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและเป็นปรากฎการณ์ระดับโลกที่ผลักดันให้มีการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพรวมทั้งความหลากหลายของสินค้า นำมาสู่แนวคิดกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรโดยการแก้หรือยกเลิกวิธีการทำงานแบบเดิมที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าไปสู่การพัฒนาวิธีการทำงานใหม่ที่ให้ผลลัพธ์สูงกว่าทั้งในแง่ผลผลิตและต้นทุน “การผลิตรูปแบบใหม่” (New model of production) กระทำผ่านการลดขนาดองค์กร ลดจำนวนคนและควบรวมหน้าที่บางอย่างเข้าไปในตำแหน่งเดียวกัน การผลิตใน “ระบบอัตโนมัติ” (Automation) ได้เข้ามาแทนที่การผลิตที่การใช้แรงงานมากขึ้น มีการนำระบบจ่ายค่าจ้างที่ผูกติดกับผลงาน จ่ายค่าจ้างที่โยงกับผลงานเป็นรายบุคคล โดยไม่ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรอง (Individualization) และยังมีการเรียกร้องให้คนงานแสดงความจงรักภักดีต่อบริษัทซึ่งถอดแบบมาจากประสบการณ์ของญี่ปุ่นจากคนงานที่เคยใช้ชีวิตรวมกลุ่มในโรงงาน ในปัจจุบัน คนงานถูกผลักดันให้แข่งขันกับกลุ่มที่เป็นทางการ เช่น กลุ่มควบคุมคุณภาพที่นายจ้างสามารถควบคุมหรือตรวจสอบได้ แต่แรงงานการผลิตโดยส่วนใหญ่ ยังคงเป็นงานซ้ำซากและจำเจ 

ในระบบทุนนิยมใหม่ สหภาพแรงงานอาจมี 2 ทางเลือก คือแนวทางที่หนึ่ง สร้างความเข็มแข็งให้กับสหภาพแรงงานในโรงงาน สร้างคนเป็นมืออาชีพ  แสวงหาความร่วมมือกับบริษัทเพื่อแลกกับการยอมรับของนายจ้าง และเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดการปฏิรูประบบการทำงานในโรงงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนงานส่วนใหญ่ แต่อาจถูกมองว่าร่วมมือกับทุนและสูญเสียมวลสมาชิก

ในประวัติศาสตร์ทุนนิยม นายทุนจะแสวงหา”การประนีประนอม” ภายใต้ความขัดแย้งในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น ดังนั้น สหภาพแรงงานเองจึงความจำเป็นที่จะต้องค้นหา “การประนีประนอมใหม่” ระหว่างทุนกับแรงงานจะเป็นเช่นใดในระบบการผลิตใหม่? สหภาพแรงงานควรมียุทธศาสตร์ขยายการจัดตั้งสู่คนงานนอกโรงงาน สร้างการนิยมคนงานใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงคนงานในโรงงานแต่เป็น “คนทำงาน” ในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะระบบทุนนิยมในปัจจุบัน มีการขยายตัวการจ้างงานในภาคบริการอย่างรวดเร็ว

ส่วนแนวทางที่ 2 เป็น “การเรียกร้องแบบเผชิญหน้า” (Confrontation strategy) เลนิน เคยเสนอว่า การต่อสู้ “จะต้องตีข้อต่ออ่อนที่สุดของห่วงโซ่ทุนนิยม” ในความหมายที่ว่า ในยุคจักรวรรดินิยม ข้อต่ออ่อนที่สุดของทุนนิยมจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศพัฒนาแล้ว เลนินเห็นว่า คนงานได้กลายเป็น “แรงงานขุนนาง” (Aristocratic workers) มีค่าจ้างสูง สวัสดิการดี คนงานเหล่านี้ จึงละทิ้งแนวทางการปฏิวัติเพื่อการปฏิรูประบบทุนนิยม

แต่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น รัสเซีย การส่งออกทุนในรูปของการลงทุนต่างชาติทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเมืองใหญ่ๆ เช่น Petrograd มีการเติบโตขึ้นมาของชนชั้นกรรมาชีพซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างทุนกับแรงงาน ซึ่งสร้างเงื่อนไขที่สามารถนำไปสู่การปฏิวัติสังคม ในขณะเดียวกัน เหล่าประเทศมหาอำนาจต่างมีความขัดแย้งและต่อสู้กันเพื่อครอบครองทรัพยากรและตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด

แต่จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกรในอิตาลี ตรอนตี้ (Tronti : 1977) นักมาร์กซิสต์เสนอว่า “ไม่ใช่ตีข้อต่ออ่อนที่สุดของทุนนิยม แต่จะต้องตีในจุดที่คนงานเข็มแข็งที่สุด” นั่นคือ ในโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่การต่อสู้แบบเผชิญหน้ากับทุน มันจึงเป็นเรื่องสำคัญว่า “จะจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เข็มแข็งได้อย่างไร” (How to organize?)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท