Skip to main content
sharethis

จากเทรนด์แฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทำให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่งานศึกษาชิ้นใหม่ของ Solidarity Center พบตัวอย่างในบังกลาเทศ 'โรงงานสีเขียว' บางแห่งกลับละเลยประเด็นแรงงาน

Summary

  • เทรนด์แฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ทำให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 
  • งานศึกษาชิ้นใหม่ของ Solidarity Center ที่ได้ทำการศึกษาโรงงานผลิตเสื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศบังกลาเทศ พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าของโรงงาน และแบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่ว่าจ้างโรงงานเหล่านั้นกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน


พนักงานหญิงของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งหนึ่งในเมืองกาซิปูร์ ประเทศบังกลาเทศ | ที่มาภาพ: Solidarity Center

'โรงงานสีเขียว' ที่ละเลย 'คนทำงาน' และ 'ชุมชนใกล้เคียง'

เทรนด์แฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ทำให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่กระนั้นในหลายที่กลับพบว่าพวกเขาได้ละเลยที่จะปกป้องให้ความปลอดภัยแก่คนทำงาน

งานศึกษาชิ้นใหม่ของ Solidarity Center ที่ได้ทำการศึกษาโรงงานผลิตเสื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศบังกลาเทศ พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าของโรงงาน และแบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่ว่าจ้างโรงงานเหล่านั้นกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน 

อุตสาหกรรมภาคผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังกลาเทศ สร้างเม็ดเงินคิดเป็นร้อยละ 84 ของการส่งออกทั้งหมด การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2554 ถึง 2562 จาก 14.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 33.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ บังคลาเทศถือเป็นแหล่งรับจ้างผลิตที่สำคัญให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกชั้นนำของโลก ในปี 2565 จากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าประมาณ 5,000 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมีเพียง 155 แห่ง เท่านั้นที่ได้รับการรับรองให้เป็น 'โรงงานสีเขียว' ซึ่งก็คือโรงงานที่ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Leadership in Energy and Environmental Design หรือ LEED)

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Dhaka International Relations ระบุว่าใน 'โรงงานสีเขียว' (โรงงานที่ระบุว่ากระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) แท้จริงแล้วพบว่าขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจและความปลอดภัยของคนทำงาน—ที่เกิดจากฝุ่นเส้นด้าย, ความร้อนที่มากเกินไป, การใช้สารเคมี, อุบัติเหตุ, โรคติดต่อ, การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และปริมาณงานที่มากเกินไป

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา คนทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าควรได้รับค่าจ้างเพียงพอที่ครอบคลุมค่าเดินทางหากอยู่อาศัยที่อยู่ห่างไกลจากงาน ทั้งนี้มีคนทำงานมากกว่า 4 ล้านคน ทำงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมผลิตเสื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงงานนั่นเอง

"พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยขยะและสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็น" สมาชิกสหภาพแรงงานคนหนึ่งกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนงานในชุมชนของเธอ

"แม้แต่น้ำดื่มในท้องถิ่นก็มีสีต่างกัน เนื่องจากสารเคมีต่างๆ ที่ถูกชะล้างลงในแม่น้ำในช่วงฤดูฝน และหากน้ำจะท่วมขังในช่วงฝนตกหนัก คนทำงานก็จะติดเชื้อจากโรคผิวหนัง"

ทั้งนี้รัฐบาลบังกลาเทศได้ประกาศให้แม่น้ำ 3 สาย ในกรุงธากา "เสียชีวิตในทางชีววิทยา" ไปแล้ว เนื่องจากมีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดไหลลงสู่แม่น้ำ

"เมื่อพูดถึงโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราเห็นภาพสีดอกกุหลาบ เราได้ยินเรื่องราวดีๆ แต่ในความเป็นจริง คุณแทบจะไม่ได้ยินเสียงคนทำงานในโรงงานสีเขียวเลย" นักสหภาพแรงงานรายหนึ่งระบุ

จากการสัมภาษณ์สมาชิกและผู้นำสหภาพ 20 คน และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ จากกรุงธากา, เมืองกาซิปูร์, เมืองซาบาร์ และเมืองจิตตะกอง Solidarity Center ยังพบว่า:

- โรงงานสีเขียวบางแห่ง ดำเนินการไม่สอดคล้องกับการปกป้องสิทธิแรงงาน

- ความอ่อนแอของคนทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าต่อความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งเพิ่มขึ้น หากประเด็นสิทธิแรงงานและความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขายังไม่ได้รับการแก้ไขโดยรัฐบาลและนายจ้าง

- ชุมชนที่อยู่รายรอบโรงงานผลิตเสื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิต และในหลายกรณีจากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตจากการทำการเกษตรและการประมง

- ความทุกข์ทรมานจากอุณหภูมิที่สูงเกินไปในโรงงานเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน นอกจากนี้โรงงานที่ขาดการระบายอากาศที่ดียิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้คนทำงานติดโรคติดต่อ ซึ่งรวมถึงโควิด-19 ด้วย

- โรงงานหลายแห่งจะไม่อนุญาตให้คนทำงานมีการจัดตั้งเพื่อทำการศึกษาประเด็นสิ่งแวดล้อม ขัดขวางการศึกษาว่าการผลิตผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมนั้นเชื่อมโยงกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างไร

- แบรนด์แฟชั่นระดับโลกส่วนใหญ่ไม่รับผิดชอบต่อความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม แทนที่จะกดดันให้ผู้รับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์ตระหนักในเรื่องนี้

- แม้ว่าแบรนด์แฟชั่นระดับโลกจะอ้างเรื่องจรรยาบรรณในการเป็นเครื่องมือโดยสมัครใจ เพื่อมุ่งเน้นมาตรฐานที่เป็นสากล แต่ส่วนใหญ่พวกเขาไม่สนใจปัญหาสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อคนทำงานและชุมชนในประเทศที่ตั้งโรงงานรับจ้างผลิตให้พวกเขา

- กลไกการตรวจสอบและติดตามที่เป็นทางการมองข้ามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคนทำงานในโรงงาน

- สหภาพแรงงานยังไม่มีศักยภาพพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้บริโภคทั่วโลกช่วยกดดันผู้รับจ้างผลิตในท้องถิ่นให้ดำเนินมาตรการเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

- หากไม่มีข้อกำหนดในการนำไปใช้และกระบวนการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยแบรนด์ระดับโลกดูเหมือนจะมีอยู่เฉพาะในกระบวนการที่เรียกว่า "การฟอกเขียว" เท่านั้น

เมื่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสําเร็จรูปของบังกลาเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2564 Bangladesh Garment Manufacturers and Exporters Association (BGMEA) ร่วมกับ Global Fashion Agenda (GFA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากําไร (ตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกน) Reverse Resources และ P4G (Partnering for Green Growth and the Global Goals 2030) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกในการณณงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้ประกาศข้อริเริ่ม Circular Fashion Partnership โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและเร่งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมแฟชั่นไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาวและขยายผลได้ (long-term and scalable transition) รายละเอียดมีดังนี้

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 30 ราย โดยมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่อเสียงระดับโลก เช่น Bershka, Bestseller, C&A, Gina Trico, H&M, Marks&Spencer, Pull & Bear เป็นต้น ผู้ผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศ อาทิ Amantex, Beximco, Astrotex Group, Echotex, Northern Group และผู้ผลิตเส้นใยจากวัสดุรีไซเคิลในประเทศต่างๆ อาทิ Birtla Cellulose, BlockTeXx, Cyclo, Marchi & Fildi, Lenzing AG, Recovertex โครงการนี้ยังคงเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมอยู่

Circular Fashion Partnership จะช่วยเอื้อให้เกิดความร่วมมือในเชิงพาณิชย์ระหว่างแบรนด์เสื้อผ้า แฟชั่นชั้นนํา ผู้ผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสําเร็จรูปและผู้ผลิตวัสดุรีไซเคิลในการพัฒนาและนําระบบใหม่ๆ มาใช้ในการรวบรวมวัสดุเหลือใช้ภายหลังการผลิตเพื่อนํากลับมาใช้ในการผลิตสินค้าตัวใหม่ นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยหาทางออกในการจัดการกับสินค้าค้างสต๊อกจํานวนมากในประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะสิ่งทอ เพิ่มการใช้เส้นใยรีไซเคิล เพิ่มพูนมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้ ตลอดห่วงโซ่การผลิตและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่บังกลาเทศ โดยช่วยเร่งให้เกิดการผลิตและตลาดเส้นใยรีไซเคิลในประเทศ โมเดลธุรกิจที่ประสบความสําเร็จและสิ่งได้เรียนรู้จากโครงการดังกล่าวจะมีการเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2564 ในเอกสาร Circularity Playbook for Bangladesh ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการดําเนินความร่วมมือในประเทศอื่นๆ ต่อไป เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

บังกลาเทศได้รับเลือกสําหรับการดําเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปในบังกลาเทศผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในปริมาณมาก ดังนั้นวัสดุเหลือใช้จากการผลิตจึงค่อนข้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Standardized) ทําให้ง่ายต่อการจัดการและการรีไซเคิล จึงเป็นที่ต้องการมากกว่าในบรรดาประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปอื่นๆ อย่างไรก็ดีปัจจุบันขยะสิ่งทอเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกส่งออก และถูกนํากลับมาใช้อีกในลักษณะ Down cycle (การนําวัสดุกลับมาใช้ใหม่ แต่คุณภาพจะลดลง จนวันหนึ่งกลายเป็นขยะในที่สุด) ดังนั้นในบังกลาทศ จึงมีโอกาสมากที่จะนําระบบการผลิตแบบหมุนเวียนมาใช้ โดยการเพิ่มศักยภาพด้านรีไซเคิลในประเทศ

อนึ่ง BGMA ยังมีบทบาทสําคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปในบังกลาเทศ และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) โดยได้ริเริ่มกิจกรรมและเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนําแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในบังกลาเทศ เช่น Partnership for Cleaner Textile (PaCT) Water Resources Group 2030 ภายใต้ธนาคารโลก Fashion Industry Charter for Climate Action ภายใต้ UNFCCC Green Button Initiative ของรัฐบาลเยอรมัน เป็นต้น จากรายงาน Sustainability Report 2020 ของ BMGA ซึ่งเผยแพร่เมื่อ ปลายเดือน ธ.ค. 2563 ในปี 2562 บังกลาเทศมีจํานวนโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปที่ได้รับการรับรองจาก United States Green Building Council ว่าเป็นโรงงานสีเขียว (Leadership in Energy and Environmental Design – LEED) มากที่สุดในโลก โดยมีทั้งหมด 120 แห่ง แบ่งเป็นระดับ Platinum 29 แห่ง ระดับ Gold 79 แห่ง ระดับ Silver 11 แห่ง และในระดับ Certified 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอีกประมาณ 500 แห่งที่อยู่ระหว่างขอรับการรับรอง LEED จาก USGBC อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนจากการลงทุนสร้างโรงงานสีเขียวยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปหลายรายกล่าวว่าผู้ซื้อในต่างประเทศยังไม่ยอมจ่ายค่าสินค้าในราคาที่สูงขึ้นแม้ว่าโรงงานของตนเป็นโรงงานสีเขียวแต่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสําเร็จรูปในบังกลาเทศ ยังคงต้องปรับเปลี่ยนตามกระแสรักษ์โลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

'คนทำงานและสหภาพแรงงาน' กับบทบาท 'ปกป้องสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม'


สหภาพแรงงานในบังกลาเทศ ยังคงเป็นความหวังในการผลักดันประเด็นสิทธิแรงงานควบคู่กับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน | ที่มาภาพ: Solidarity Center

ในรายงานของ Solidarity Center ชี้ว่าคนทำงานและสหภาพแรงงานต้องทำงานร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนทางสังคม ในการออกแบบและดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยปรับปรุงเงื่อนสภาพการจ้างผ่านการเจรจาต่อรองร่วมกันและการพัฒนานโยบาย ความร่วมมือของคนทำงานและสหภาพแรงงานจะผลักดันให้เกิดกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่บังคับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นจะช่วยปกป้องคนทำงานในโรงงานผลิตเสื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากสถานที่ทำงานที่ไม่ดีต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัย ปกป้องสมาชิกในชุมชนใกล้เคียงโรงงานจากมลพิษในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และประชาชนทุกคนจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม และภัยแล้ง เป็นต้น

ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในการผลักดันนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและการสนับสนุนตามสิทธิทางกฎหมาย คนทำงานและสหภาพแรงงานในบังกลาเทศจึงอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ซ้ำใครในการผลักดันวาระด้านสภาพอากาศที่ยึดหลักสิทธิ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมด้านสภาพอากาศทั่วโลก

"หากไม่มีสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์และเสรีภาพในการแสดงออก ไม่มีโรงงานใดที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม” ซอนยา มิสทรี ฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Solidarity Center กล่าว

 

ที่มา
‘THE FACTORY IS GREEN, THE JOB IS NOT’—BANGLADESH GARMENT WORKER (Carolyn Butler, Solidarity Center, 20 April 2022)
การปรับตัวของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสําเร็จรูปของบังกลาเทศ สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, 21 February 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net