Skip to main content
sharethis

พีมูฟ จี้ รมว.ทรัพยากรฯ เร่งเดินหน้าแนวทางจัดการที่ดิน “โฉนดชุมชน” หลังเคลื่อนไหวดันมติ ครม. 1 ก.พ. 2565 ยังไม่เห็นความคืบหน้า ยัน 97 พื้นที่ภาคเหนือไม่รับโครงการจัดที่ดินชุมชนตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

 

21 มิ.ย. 2565 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ยื่นหนังสือถึงวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาค การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอาลัมภางค์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง โดยมีสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้รับหนังสือแทน ซึ่งพีมูฟได้เรียกร้องให้เร่งรัดดำเนินการยกระดับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามที่พีมูฟได้เคลื่อนไหวจนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ยืนยันไม่รับแนวทางโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) 

หนังสือระบุว่า สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมขอเรียนให้ท่านทราบว่าพื้นที่ของ สกน.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอยืนยันแนวทางการจัดการที่ดิน “ในรูปแบบโฉนดชุมชน” ทุกพื้นที่ตามมติการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ซึ่งผ่านการเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 

 

“พวกเราขอเรียนให้ท่านทราบว่า ขณะนี้ ขปส. ได้เร่งรัดให้ คทช. เร่งจัดประชุมเพื่อดำเนินการพิจารณาในการยกระดับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนและดำเนินการตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชน 486 ชุมชน โดยขอให้เร่งรัดตรวจสอบความพร้อมเพื่อประกาศรับรองพื้นที่ของ ขปส. จำนวน 196 ชุมชน เป็นพื้นที่ในการจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ดังนั้นเพื่อให้เป็นตามข้อเสนอดังกล่าว เราจึงขอเรียกร้องให้ยังท่าน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการตามมาตรการของ คทช.ที่ มีอยู่ในปัจจุบัน ในพื้นที่ของ สกน. และ ขปส. เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ปฏิบัติของ คทช. ตามมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ชัดเจน” หนังสือระบุ

สมชาติ รักษ์สองพลู ชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ภาพรวมของจังหวัดลำปางนั้นเป็นเรื่องการประกาศอุทยานแห่งชาติ โดยมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ซึ่งพีมูฟได้ยืนยันให้กันพื้นที่อุทยานฯ ออกก่อนจึงประกาศ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจำกัดสิทธิตามวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางการจัดการที่ดินของ คทช. นั้นมีข้อจำกัด ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ จึงยืนยันให้มีการยกระดับแนวทางโฉนดชุมชน รวมถึงใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ควบคู่กันไป

“ในกรณีเรื่อง คทช. เมื่อวานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็โทรหาผมว่าจะไปสำรวจแบบ คทช. ผมก็แจ้งไปว่าเรายืนยันว่าจะสำรวจแบบโฉนดชุมชน ที่อยู่ภายใต้มาตรา 10 (4) ตาม พ.ร.บ. คทช. อยู่แล้ว ก่อนหน้านั้นก็มีการสำรวจแบบ คทช. แล้วประมาณ 2,000 กว่าไร่ที่บ้านผม แต่ปรากฏว่าจะออก คทช. ได้แค่ไม่กี่ร้อยไร่ บ้านเราอยู่บนภูเขา ติดเงื่อนไขที่ไม่สามารถจัด คทช. ได้ เราจึงยังยืนยันว่าจะใช้แนวทางโฉนดชุมชนและแนวทางตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 อยากจะให้หนังสือที่เรายื่นไปนั้นไปสู่ระดับการปฏิบัติในพื้นที่ด้วย” สมชาติกล่าว

นอกจากนั้น พีมูฟได้ยื่นบัญชีรายชื่อชุมชนในภาคเหนือแนบท้ายที่ยืนยันใช้แนวทางโฉนดชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร รวมทั้งสิ้น 97 ชุมชน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ และตาก

สิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้นโยบายต่อที่ประชุมว่า ราชการเป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยกันดูแลทรัพยากรเพื่อให้ภาพรวมของประเทศได้รับผลประโยชน์สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ในการดำเนินการต่างๆ เราก็พยายามฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนให้มากที่สุด อะไรที่ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความรักในถิ่นฐาน เราก็จะดำเนินการให้เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ แต่เราก็ต้องมีกฎหมายที่ต้องใช้บังคับกับทุกคน ทุกแห่งในพื้นที่ของเรา เราก็ต้องคำนึงถึงทั้งสองฝ่าย ทั้งพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน และฝ่ายของคนทั่วๆ ไปที่จะได้รับผลด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net