Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ‘พรรคคนธรรมศาสตร์’ (พคธ.) ถึงที่มาของข้อเสนอให้เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยฯ กลับไปเป็นเพลงมอญดูดาวในอดีตที่ธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ พร้อมมุมมองต่อแรงต้าน หรืออุปสรรคของการเรียกร้องในครั้งนี้ รวมไปถึงอนาคตของมหาวิทยาลัยที่พวกเขาอยากจะเห็นต่อจากนี้

  • พรรคคนธรรมศาสตร์ ชี้เพลง ‘ยูงทอง’ เกี่ยวข้องกับ ‘ถนอม’ ชนวน 6 ตุลาฯ ด้านเนื้อหาเพลง พยายามตัดการเมืองออกจากมหาลัย เสนอกลับไปใช้ ‘มอญดูดาว’ ที่สะท้อน ‘เจตนารมณ์ของคณะราษฎร’ และ ‘จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ’ เป็นเพลงประจำมหาลัยฯ
  • ย้ำ ไม่ได้ต้องการล้มเลิก หรือล้มล้างเพลง ‘ยูงทอง’ แค่อยากจะนำเสนอความเป็นธรรมศาสตร์อีกด้าน ย้ำ ‘มอญดูดาว’ ทำให้รู้ว่าพันธกิจที่เรามีต่อสังคมคืออะไร ดั่งเนื้อเพลง ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี
  • ระบุ หากจะเปลี่ยนก็ต้องทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย
  • คาดอาจจะเกิด ‘สำนึกร่วมทางการเมือง’ ทำให้ทุกคนอยากที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น ย้ำท้าย เราอยากเห็นมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ของประชาชน และตอบสนองกับความต้องการของประชาชน โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊กพรรคคนธรรมศาสตร์ เผยแพร่ข้อเสนอให้เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเพลงยูงทอง ไปเป็นเพลงมอญดูดาวในอดีตที่ธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์

โดยมีรายละเอียดดังนี้

[พคธ.เสนอ ใช้เพลงมอญดูดาวแทนเพลงยูงทองในการทำกิจกรรมของ อมธ.]

เพลงยูงทองปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพลงยูงทองนั้นเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ 9 ทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2506 ซึ่งผู้ขอพระราชทานเพลงดังกล่าวมีหลักฐานระบุว่าลงชื่อของจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก พรรคคนธรรมศาสตร์ - Thammasat People Party - พคธ.

ด้านเนื้อหาของเพลงเป็นเพลงที่เกลี้ยกล่อมให้รักมหาวิทยาลัย คำร้องในเนื้อเพลงดังกล่าวนี้ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการที่ “เรา” ชาวธรรมศาสตร์นั้นควรรักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีกันไว้ ทั้งยังรำลึกและเทิดไว้ซึ่งสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับมหาวิทยาลัย เช่น สีประจำมหาวิทยาลัยเหลืองแดง ตราธรรมจักร ตึกโดม กระทั่งต้นยูงทองที่เพิ่งถูกปลูกในช่วงปีที่พระราชทานทำนองเพลง แต่ในเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำนองมอญดูดาว หรือที่คุ้นกันในชื่อของ เพลงมอญดูดาว บทเพลงที่เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในปี พ.ศ.2477 มุ่งพูดถึงอุดมการณ์ที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง พัฒนาการเมือง ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งหากเรามองในแง่ของวาทกรรมทางการเมือง การเปลี่ยนมาใช้เพลงยูงทองอาจเป็นการใช้สร้างอำนาจนำ ลดคำว่าการเมือง สิทธิ เสรี ออกไปจากบทเพลงของมหาวิทยาลัย และใช้วาทกรรมอื่น ๆ สร้างความหมายของมหาวิทยาลัยที่ลดทอนคุณค่าความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และประชาชน ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พรรคคนธรรมศาสตร์ (พคธ.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มองเห็นว่าเราควรธำรงซึ่งจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และการตระหนักถึงปลายทางที่เรานักศึกษาชาวธรรมศาสตร์กำลังมุ่งไปว่ามิได้เรียนจบเพียงแค่ใบปริญญาบัตร แต่ระลึกไว้ว่าเราเรียนจบไปเพื่อเป้าหมายของการไปพัฒนาประเทศ พวกเรามองว่าสิ่งเหล่านี้คือเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดีและคณะราษฎร ผู้ริเริ่มประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ริเริ่มไว้และถูกปลูกบนแผ่นดินธรรมศาสตร์แห่งนี้มิว่าสถานที่นั้นจะอยู่ ท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปาง หรือพัทยา หากแต่เจตนารมณ์นี้คือการสร้างผู้คนออกไปเพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคม ดังนั้นแล้วเราจึงเสนอให้มีการเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเพลงยูงทอง ไปสู่เพลงมอญดูดาวในอดีตที่ธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์

 หมายเหตุ

*การเปลี่ยนมิได้หมายถึงการยกเลิกหรือทำให้หายไปถาวร

อ้างอิง

จุฑามาศ ประมูลมาก. “จาก มอญดูดาว ถึง ยูงทอง ข้อสังเกตเกี่ยวกับความนัย ในบทเพลงประจำมหาวิทยาลัย”. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 13 มิถุนายน 2552-พฤษภาคม 2553. ชาตรี ประกิตนนทการ,วารุณี โอสถารมย์. บรรณาธิการ หน้า 43-60.

อภิวัฒน์ พิทักษ์พัฒนกุล. “ประวัติศาสตร์เพลงยูงทอง กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 23 มิถุนายน 2562-พฤษภาคม 2563. กษิดิศ อนันทนาธร. บรรณาธิการ. หน้า 34-44

เพื่อสอบถามถึงที่มาและรายละเอียดของข้อเรียกร้องในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ทางออนไลน์กับตัวแทนจากพรรคคนธรรมศาสตร์ โดยเมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องการเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย ‘บอล’ หนึ่งในตัวแทนจากพรรคคนธรรมศาสตร์กล่าวว่า เราเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระดับมหาวิทยาลัยในช่วง  2-3 ปีที่ผ่านมาที่ค่อนข้างเข้มข้นขึ้น มีการพูดถึงตัวระบบโครงสร้างต่าง ๆ ของประเทศมากมาย รวมไปถึงการสร้างวาทกรรม และการสร้างอำนาจนำของชนชั้นนำด้วย ซึ่งพอเรากลับมาดูในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยคณะราษฎร ก็มีการสร้างวาทกรรม มีการลดทอนคุณค่าอะไรหลาย ๆ อย่าง

อย่างแรกเลยคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่เดิมมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่สุดท้ายก็ตัดคำว่าการเมืองออกในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และในช่วงต่อมาก็มีการสร้างวัฒนธรรมอะไรหลาย ๆ อย่างที่พยายามตัดขาดการเมืองจากนักศึกษา ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่เรียกกันว่ายุคสายลมแสงแดด และพอมาพูดถึงเรื่องเพลงประจำมหาวิทยาลัย เพลงมอญดูดาวก็มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นเพลงที่มาพร้อมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่งขึ้นเมื่อปี 2477 โดยขุนวิจิตรมาตรา แต่พอมาในช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขึ้นมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มีการขอพระราชทานเพลงให้กับมหาวิทยาลัยและเป็นที่มาของเพลงยูงทอง ซึ่งเมื่อเรามาดูที่มาของจอมพลถนอมนั้น ก็มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีความเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีที่มาอย่างไม่ชอบธรรม คือแค่การมาของเพลงก็มาจากคนที่ไม่ชอบธรรมแล้ว

‘มอญดูดาว’ เจตนารมณ์ของคณะราษฎร และ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์

นอกจากนี้เมื่อมาดูเนื้อหาเพลง ก็พยายามตัดทอน ลดบทบาทจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ประชาชน และการพัฒนาประเทศ ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยในวาทกรรมแบบชนชั้นนำ ตัดขาดการเมือง ตัดขาดประชาชนจากมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ ขัดกับอุดมการณ์ที่คณะราษฎรต้องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในประเทศไทย ตามที่เพลงมอญดูดาวได้ระบุไว้ว่า ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี ก็คือต้องการสร้างมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนการเมือง เพื่อที่จะพัฒนาการเมืองในประเทศไทยให้เป็นประเทศที่รุ่งเรือง แต่เพลงยูงทองได้ตัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองออกเลย เราก็เลยอยากจะนำเพลงมอญดูดาวกลับมาเพราะว่า เพลงมอญดูดาวเป็นเพลงที่สะท้อนเรื่องราวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดีมาก พูดถึงการเมือง พูดถึงประชาชน พูดถึงสังคมไทย ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา

เมื่อถามถึงแรงต้านหรืออุปสรรคของการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ มีมี่ อีกหนึ่งตัวแทนจากพรรคคนธรรมศาสตร์กล่าวว่า สำหรับฝ่ายที่ไม่พอใจกับข้อเรียกร้องนี้ เราใช้คำว่าเขายังไม่เข้าใจจุดประสงค์ทั้งหมดของเรามากกว่า คือเราไม่ได้กลัวการกระทบกระทั่ง หรือแรงต้าน อุปสรรคอะไรมากสักเท่าไหร่ เพราะเราคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำมันไม่ใช่เรื่องผิด มันไม่ใช่การล้มเลิก ล้มล้าง หรืออะไร มันเป็นแค่การอยากที่จะนำเสนอธรรมศาสตร์อีกด้านของเรามากกว่า เพราะว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาเราก็ได้แสดงจุดยืนความเป็นธรรมศาสตร์ในมุมมองของเพลงยูงทองไปแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้น เราอยากจะนำเสนอมุมมองใหม่ที่มีอยู่แล้วในจิตวิญญาณของเรา คือเพลงมอญดูดาวเป็นเพลงที่ทำให้รู้ว่าพันธกิจที่เรามีต่อสังคมคืออะไร ในเพลงจะบอกให้เราต้องทำประโยชน์แก่ประชาชน ต้องรับใช้ประชาชน การเมืองนั้นมาคู่กับการปกครองเสมอ เมื่อการเมืองดี การปกครองก็ดี ถ้าการเมืองดี ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง ประเทศชาติที่ดีก็คือประเทศชาติที่มีเสรีภาพ แล้วเราก็ต้องปกป้องเสรีภาพของประชาชนนั้น

“เราไม่ได้ต้องการที่จะให้สิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งก็คือเพลงยูงทองเนี่ยมันหายไป หรือว่ามันไม่สำคัญแต่เราแค่อยากจะดึงด้านอื่น ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว กลับมาบอกคนนอกให้รู้ว่าตัวตนของเราคืออะไร แล้วก็บอกคนในของเราให้รู้ว่าพันธกิจที่เรามีต่อสังคม จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่เราต้องมีคืออะไร เราไม่ได้กลัวว่าคนจะไม่เข้าใจ เพราะว่าเรามีความเชื่อมั่นว่าคนธรรมศาสตร์ทุกคน นักศึกษา บุคลากรทุกคนเป็นคนที่มีคุณภาพ มีจุดยืน มีหลักการ มีเหตุและผล แล้วก็พร้อมที่จะรับฟังสิ่งใหม่ ๆ เพราะว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพราะเป็นเรื่องของการเมือง การเมืองมันมีพลวัตอยู่เสมอ เราก็เลยเชื่อว่าการที่เราแสดงจุดยืนตรงนี้ มันก็เป็นแค่อีกจุดยืนหนึ่งที่เราต้องการนำเสนอออกมา ที่มาที่ไปเราก็มี เราเสนอเหตุผลไป เหตุผลนี้มันไม่ได้ทำให้เกิดการขัดแย้งแต่ว่ามันเป็นการนำเสนอตัวตนอีกด้านหนึ่งของธรรมศาสตร์เท่านั้นเอง” ตัวแทนจากพรรคคนธรรมศาสตร์กล่าว

บอล กล่าวเสริมว่า แรงต้านนั้นมีสองประเภท แรงต้านแรกคือเขามองว่าเราทำเรื่องที่มันไร้สาระ จะมาเปลี่ยนเพลงไปทำไม ซึ่งถือว่าเป็นแรงต้านทั่วไป แต่แรงต้านที่สองนั้นน่าสนใจและน่าสนุกมาก เพราะเขาเชียร์เพลงมาร์ช ม.ธ.ก. กัน ซึ่งพอเรามาดูแล้วมาร์ช ม.ธ.ก. ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่น่าสนใจ หากมีการผลักดันเป็นนโยบายจะต้องมีการชั่งน้ำหนักอีกรอบ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมอญดูดาว เพราะนโยบายที่ดีนั้นต้องยืดหยุ่นได้ หลายคนก็เชียร์มาร์ช ม.ธ.ก. และในมุมมองของเรามันก็ไม่ได้แย่ เพราะมีการพูดถึงประชาชน พูดถึงการเมือง พูดถึงสิทธิและเสรีภาพเหมือนกัน   

มีมี่ กล่าวเสริมว่า ตนคิดว่ายูงทองหรือมาร์ช ม.ธ.ก. จะมีความคล้ายกันตรงที่มุ่งเน้นถึงการปลุกใจให้มีความสามัคคี ตนก็เลยคิดว่ามอญดูดาวนั้นสมควรจะนำมาเป็นเพลงประจำธรรมศาสตร์มากกว่า เพราะเป็นเพลงที่สัมพันธ์กับแนวคิดของผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์และการเมือง ก็คืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และความเป็นอาจารย์ปรีดี ก็เป็นหนึ่งในจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เช่นกัน

มีน อีกหนึ่งตัวแทนของพรรคคนธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าเพลงมาร์ช ม.ธ.ก. นั้นไม่ค่อยเป็นวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพราะไม่ค่อยพูดถึงการเมือง จะเน้นความสามัคคีมากกว่าด้วยความที่เป็นเพลงมาร์ช เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความเป็นจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ตนก็ยังให้มอญดูดาวมากกว่า แต่อย่างที่บอลได้กล่าวไปแล้วว่า หากในอนาคตถ้าเราจะผลักดันเรื่องนี้ไปจนถึงการเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย เราก็จะต้องทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย

บอลกล่าวเสริมว่า ทุกที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและอุดมการณ์ และอุดมการณ์และการเมืองมันก็คือเรื่องของอำนาจ เรื่องของการกระจายอำนาจว่าใครจะได้รับปันส่วนใครจะได้รับอะไรยังไง ซึ่งการเมืองที่ดีมันก็คือการปันส่วนอำนาจให้คนทุกคน อันนี้ก็คือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าเพลงมอญดูดาวนั้นพูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตย ในขณะที่เพลงอื่นไม่พูดถึง แต่ถ้าสมมติว่ามีกลุ่มกิจกรรมอื่นที่ยังอยากใช้เพลงยูงทองอยู่ ก็สามารถใช้ได้เราไม่ได้ห้าม เพราะถือว่าก็เป็นบทเพลงเพลงหนึ่ง แต่นโยบายที่เป็นภาพรวมก็อยากให้ยึดเป็นมอญดูดาวไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นระดับปัจเจกหรือความชอบเราก็คงไปห้ามอะไรใครไม่ได้ ถ้าไปห้ามก็เท่ากับเราละเมิดสิทธิเขา

เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขุนวิจิตรมาตรา คำร้อง

เพลงไทยเดิม ทำนองมอญดูดาว

...........................................................................

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ (ซ้ำ)

ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่องเอย

เอ๋ยเราเป็นไทย เรารักไทยบูชาไทย

ไม่ยอมให้ ใครผู้ใด มาล้างเสรีไทย

 

สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง (ซ้ำ)

ก่อรุ่งเรืองสมบูรณ์เขตประเทศไทยเอย

เอ๋ย ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์การเมือง

ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรืองก็เพราะการเมืองดี

 

เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต (ซ้ำ)

แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้เอย

เอ๋ยเหลืองกับแดง เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง

ทุกทุกแห่ง ทุกทุกแห่ง แต่ล้วนเหลืองกับแดง

 

ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทิดให้สมไทย (ซ้ำ)

ทุกอย่างไปงานหรือเล่นต้องเป็นธรรมเอย

เอ๋ยใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา

จงมาเข้าและโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง

สิ่งสำคัญคือ ‘เจตนารมณ์ทางการเมือง’  

เมื่อถามว่าในอนาคตหากมีการเปลี่ยนกลับมาเป็นเพลงมอญดูดาวแล้ว ทางพรรคจินตนาการถึงสังคมธรรมศาสตร์ว่าจะเป็นอย่างไร บอล กล่าวว่า เราก็คงจะเห็นกิจกรรมอะไรหลาย ๆ อย่างที่มีแนวโน้มไปทางการเมืองมากขึ้น เช่น เวลามีงานมหกรรมอะไรใหญ่ ๆ แล้วมีนักศึกษาร้องเพลงมอญดูดาวด้วยกัน ก็อาจจะเกิดสำนึกร่วมอะไรบางอย่าง ซึ่งมันก็เป็นการขัดเกลาสังคมอย่างหนึ่ง มันอาจจะไม่ใช่ทางตรงแต่มันก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่             

ด้านมีมี่ กล่าวเสริมว่า ในตอนนี้แค่กำลังจะเปลี่ยนเพลง ก็จะมีคนที่เขาไม่เห็นด้วยและมองว่าสิ่งที่เราทำมาเป็นการเปลี่ยนแค่เปลือกนอก ทำไมเป็นอมธ. หรือองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงไม่มุ่งเน้นไปที่การบริหารกิจการนักศึกษา แต่จริง ๆ แล้วเราคิดว่าสิ่งนี้มันก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่เราจะแสดงจุดยืนทางการเมือง และนอกจากนี้พรรคเราก็ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของนักศึกษา บุคลากร คนธรรมศาสตร์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เรามุ่งเน้น นโยบายต่าง ๆ มันล้วนสอดรับกับเพลงมอญดูดาวหมดเลย ว่าเราต้องการจะทำเพื่อประชาชน

เนื้อเพลง ยูงทอง

แหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชล

เราทุกคนรักดุจหัวใจ

ปลูกยูงทองไว้เคียงโดมมุ่งประโลมโน้มใจรัก

ธรรมจักรนบบูชาเทิดไว้

เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล

ปกแผ่ไปในทุกทาง

สัญลักษณ์ดีเด่นเห็นกระจ่าง

อย่าจืดจางรักร่วมทางกันไป

* ทรงธรรมปานดังตราชูเด่น

ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้

พิทักษ์รักษาเชิดชูไว้

อบอุ่นใจไปทุกกาล

พระธรรมสถิตย์ร่วมจิตสมาน

ปฏิญาณรักสามัคคี

รักยูงทองงามเด่นเหนือนที

ส่งศักดิ์ศรีไว้ให้ยิ่งยืนนาน

(ซ้ำ *)

เราอยากเห็นมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ของประชาชน

บอลกล่าวในตอนท้ายว่า ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่ง ตนมองว่าลำพังแค่ค่าเทอมของเรานั้นไม่พอที่จะสร้างมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตขนาดนี้ หรือจ้างคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถขนาดนี้ ทุก ๆ ส่วนนั้นมาจากสังคม เงินเดือนอาจารย์ เงินทำสวัสดิการ หรือแม้แต่เงินสร้างมหาวิทยาลัย ก็ล้วนมาจากภาษีประชาชน มีคนงานมากมาย คนในสังคมร่วมกันก่อสร้างขึ้นมา การสร้างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพื่อผลิตบัณฑิตหนึ่งคนนั้นใช้ทรัพยากรของสังคมเยอะมาก ดังนั้นตนเลยมองว่าเราทุกคนเป็นหนี้ของสังคม ดังนั้นเราในฐานะบัณฑิต ในฐานะนักศึกษา เราควรคำนึงถึงสังคมให้มาก ๆ เราควรสร้างประเทศที่มันน่าอยู่ เพราะสุดท้ายแล้วการมีประเทศที่น่าอยู่ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะส่งผลกระทบมาหาตัวเราด้วย และไม่ว่ายังไง เราก็ยังอยากเห็นมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ของประชาชน มหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ให้เสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยที่ผลิตงานวิชาการที่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชน ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนสมบูรณ์ โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง                

ด้านมีมี่ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากถึงนักศึกษาแล้วก็บุคลากรในธรรมศาสตร์ หรือบุคคลภายนอกที่ได้ยินเรื่องราวตรงนี้ คืออยากให้ลองรับฟังก่อน ลองดูว่าเหตุผลที่เราอยากเปลี่ยนเป็นเพลงนี้คืออะไร เพราะจุดยืนของเรามันมีที่มาที่ไป อยากให้ลองรับฟังเหตุผลของเรา อยากให้ยอมรับฟังความเปลี่ยนแปลง ยังไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้แต่แค่รับฟังก่อนเพราะว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เราต้องยอมรับความแตกต่าง แต่ถ้าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไงก็เป็นดุลยพินิจและการตัดสินใจของแต่ละคน

หมายเหตุ : วีรภัทร สิริสุทธิชัย ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net