Skip to main content
sharethis

อนุกรรมการซ้อมทรมานฯ ออกผล 'อรรถสิทธิ์' ถูก ตร.ดินแดงทำร้ายหลังร่วมรำลึก 'วาฤทธิ์' ไม่ใช่ซ้อมทรมานให้ยุติการสอบสวน ทนายความเห็นต่างข้อเท็จจริงมีการทำร้ายเพื่อเอาข้อมูลคนเผาศาลพระภูมิหน้าสน.ดินแดงถือว่าเข้าข่ายซ้อมทรมานตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตอนนี้ยังรอต้องรอผลจาก ปปช.ต่อ

วีรภาพ วงษ์สมาน หรือ 'อาลีฟ' (คนกลาง) และ อรรถสิทธิ์ นุสสะ (ขวา) ขณะยื่นหนังสือให้รองโฆษก DSI

22 มิ.ย.2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า เมื่อ18 มิ.ย.ที่ผ่านมา อรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้เสียหายที่เคยร้องเรียนว่าถูกตำรวจคุมตัวในสน.ดินแดงและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับระบุตัวคนเผาศาลพระภูมิสน.ดินแดงเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกรณีของตนจากคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ หลังจากที่ไปร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ตั้งแต่เมื่อพฤศจิกายนปี 2564 และให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่มา 7 เดือน

แม้ว่าในหนังสือแจ้งของคณะอนุกรรมการฯ จะระบุรายละเอียดของการทำร้ายร่างกายเอาไว้ว่า “จับกุมและทำร้ายร่างกาย ด้วยการฉุดกระชาก ลาก จากหน้าสถานีตำรวจเข้าไปยังห้องปฏิบัติการสืบสวน ใช้เท้าเหยียบขา กระบองกระทุ้งเข้าที่ลำตัว และใช้มือบีบคอหลายครั้ง ทำให้มีบาดแผลฟกช้ำและถลอกบริเวณรอบดวงตา หน้าผาก ขมับด้านซ้าย ท้ายทอยด้านขวา ลำคอด้านซ้าย แก้มด้านขวา ชายโครงด้านขวา และต้นแขนด้านขวา”

แต่ในส่วนของผลวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า ให้ยุติการสอบสวนเนื่องจากพฤติการณ์ข้างต้นนั้น “ไม่ใช่การกระทำทรมาน ตามคำนิยามของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เนื่องจาก มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และนายอรรถสิทธิ์ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงสาหัส จึงเห็นควรยุติเรื่อง”

ปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความเห็นว่าสำหรับเรื่องนี้ภาพที่ปรากฏว่ามีการทำร้ายจะเป็นภาพข้างนอกก่อนถูกนำตัวเข้าไปในห้องของสน.ดินแดง แต่ทางอรรถสิทธิ์เองก็ให้ข้อเท็จจริงด้วยว่าเขาถูกทำร้ายเพื่อเอาข้อมูลว่าใครเป็นคนเผาศาลพระภูมิของสน.ดินแดง ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการมุ่งเอาหลักฐานแน่นอน ทนายความจึงเห็นว่ากรณีของอรรถสิทธิ์เข้าข่ายนิยามการซ้อมทรมานในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ ซึ่งต่างกับผลวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ ที่อาจจะมองในส่วนของภาพเหตุการณ์ด้านนอกแล้วตีความว่าเป็นการทำร้ายร่างกายทั่วไปที่จะเป็นคดีอาญา

ทนายความยังวิจารณ์กระบวนการของคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ นี้ว่าเป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาและสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนด้วย เนื่องจากแต่เดิมเมื่อมีการร้องเรียนต่อดีเอสไอแล้วดีเอสไอก็จะรับเรื่องไว้อีกทั้งในดีเอสไอเองก็มีคณะกรรมการคดีพิเศษที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่แล้ว แต่เมื่อปี 2562 ก็มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ นี้ขึ้นมาทั้งที่ดีเอสไอเองก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งทนายความตั้งข้อสังเกตว่าคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ นี้จะมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณากรณีซ้อมทรมานเพียงพอหรือไม่

อย่างไรก็ตามปรีดาระบุว่าเรื่องนี้ยังต้องรอคำตอบจากอีกช่องทางคือ ผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการร้องเรียนต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อทางผู้เสียหายดำเนินการแจ้งความต่อ สน.ดินแดงแล้ว ทางตำรวจจะต้องส่งเรื่องไปที่ ปปช.เพื่อพิจารณาต่อ ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจได้ส่งเรื่องให้ ปปช.ไปแล้ว

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. อรรถสิทธิ์ นุสสะ ได้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยและทวงถามความยุติธรรมให้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าสน.ดินแดงระหว่างที่มีการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว

ระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัย อรรถสิทธิ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง เข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ใน สน.ดินแดง เป็นเวลาหนึ่งคืนพร้อมกับผู้ที่มาชุมนุมอีกคนคือวีรภาพ วงษ์สมาน หรืออาลีฟ และทั้งสองคนยังถูกซ้อมทำร้ายร่างกายในคืนนั้น จนปรากฏเป็นภาพถ่ายบาดแผลที่นายอรรถสิทธิ์มีเลือดออกด้านในดวงตา ก่อนที่นายอรรถสิทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงบ่ายของวันที่ 30 ต.ค. 2564

ภาพเมื่อเวลา 18.00 น. ขณะที่ 'ลีฟ' ชายอายุ 18 ปี ถูกพาตัวเข้าไปใน สน.ดินแดง (ภาพแคปจากคลิปวิดีโอของ Chana La)

ต่อมา อรรถสิทธิ์และวีรภาพ พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดินแดง และเดินหน้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมถึงดีเอสไอ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกราย แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนกระทั่งล่าสุดจึงได้รับหนังสือแจ้งยุติการสืบสวนสอบสวนจากคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ ดังกล่าว

นอกจากนั้นอรรถสิทธิ์ ได้ติดต่อสอบถามต่อเจ้าหน้าที่คณะกรรมการคัดกรองฯ เรื่องขอภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดของ สน.ดินแดง ที่ตนได้ร้องขอภาพในวันเกิดเหตุ นั้นสน.ดินแดงได้ส่งมายังคณะกรรมการคัดครองฯ แล้วจึงขอคัดสำเนาภาพกล้องวงจรปิดเพื่อนำมาประกอบเป็นหลักฐานดำเนินการทางคดีต่อไป เจ้าหน้าที่คณะกรรมการคัดกรองได้แจ้งมาว่า “ภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวไม่มีภาพขณะอยู่ในห้องควบคุมตามที่นายอรรถสิทธิกล่าวอ้าง ” อย่างไรก็ตาม อรรถสิทธิ์เห็นว่า คณะกรรมการชุดคัดกรองฯ ต้องรอให้มีภาพ เสียง และวิดิโอ ดังเช่นกรณีของผู้กำกับท่านหนึ่งที่จังหวัดนครสวรรค์ใช่หรือไม่ ถึงจะยอมรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวของตนว่าเป็นการซ้อมทรมานและรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net