เผยความรุนแรงในเด็กและสตรีพิการ ถูกทำร้ายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแค่ 29%

พม.-สสส. จับมือภาคีเครือข่าย ทำงานหยุดปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรีพิการ เผยปี 2564 ถูกทำร้ายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแค่ 29% ดันนโยบายสาธารณะ ชี้ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนสร้างสังคมสุขภาวะ แก้กฎหมายให้สอดคล้องกับสากล ไม่ให้คนพิการถูกมองว่า “ไร้ตัวตน”

22 มิ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วันนี้  (22 มิ.ย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ จัดเวทีนำเสนอข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ”

พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การล่วงละเมิดสิทธิไม่ว่าจะกลุ่มบุคคลใด เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นบทบาทของกระทรวงฯ ในการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรีพิการให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญคือการปกป้องและเอาผิดกับผู้กระทำความผิด จึงมีนโยบายให้กับหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวมถึงกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดำเนินการสนับสนุนให้เด็กและสตรีพิการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย และการสนับสนุนด้านอื่นที่จำเป็นสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาได้ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ถอดรูปแบบกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับกรณีการค้ามนุษย์ ที่ทำใน 4 มิติ ประกอบด้วย การป้องกัน การช่วยเหลือเยียวยา การดำเนินคดี และร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยทางกระทรวงพร้อมสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดบรรลุเป้าหมาย

พัชรี กล่าวต่อว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่าน ทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และก่อให้เกิดคดีล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการที่จะให้เด็กหรือผู้หญิงออกมากล้าฟ้องหรือแจ้งความเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เช่น พ่อทำลูก แต่ลูกไม่กล้าบอก เพราะด้วยความที่เป็นพ่อ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องไปช่วยในกระบวนการรับรู้สิทธิ  ปกป้องยืน และเคียงข้างในกระบวนการยุติธรรมจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ ที่สำคัญต้องทำให้ผู้ที่ถูกละเมิด “กล้า” และ “ไม่รู้สึกว่าสู้อยู่คนเดียว” ก่อนจะเข้าสู่การยอมแพ้ จนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมในที่สุด

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสุดกระบวนการ ต้องขอขอบคุณ 6 ท่านและองค์กร ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณที่เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้หญิงพิการตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจริงๆ แล้ว กระทรวงฯ คงทำเรื่องนี้หน่วยงานเดียวไม่ได้ ทุกคนล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่เติมเต็ม มีส่วนร่วมต่อสู้ด้วยกัน ทำให้ชนะเกิดเป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาช่วยกัน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีประสบการณ์เข้าใจผู้เสียหายทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น” พัชรี กล่าว

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ผู้หญิงอยู่ในกลุ่มเปราะบางต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำจากอคติทางเพศ จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม ที่ถูกฝังรากลึกมานาน ทำให้บางคนสูญเสียโอกาส และได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนัก สสส. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง เพื่อปลดล็อกปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ป้องกัน คุ้มครอง ให้รอดพ้นจากความรุนแรงทุกมิติ เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้มีสุขภาวะที่ดี เช่น กลุ่มคนพิการ มุสลิม ชาติพันธุ์ ผู้ต้องขัง ผู้หญิงบริการ และผู้หญิงรักผู้หญิง ซึ่ง “นโยบายสาธารณะ” เป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ ทำให้ สสส. ร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (มสส.) และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการก้าวที่เป็นมิตรต่อเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ มีเป้าหมายสำคัญ ดังนี้ 1.สนับสนุน ฟื้นฟู เยียวยา เสริมพลังเด็ก ผู้หญิง คนพิการที่ประสบความรุนแรงให้ก้าวข้ามปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงรายอื่นให้รู้สิทธิตามกฎหมาย และ 2. รวบรวม เผยแพร่สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ค้นหาปัญหา ช่องโหว่ และนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและบริการของภาครัฐ

ภรณี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. ทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้หญิง แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้ 1.งานด้านวิชาการ เช่น พัฒนาองค์ความรู้และสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ พัฒนาหลักสูตรแก้ปัญหาความรุนแรงและเพิ่มศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรง พัฒนาหลักสูตรความรู้ด้านกฎหมายและการประสานงานสหวิชาชีพกรณีเกิดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 2.งานพัฒนาศักยภาพและสานพลังเครือข่าย เช่น พัฒนาพื้นที่นำร่องสร้างระบบงานสหวิชาชีพแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัว (case management) ในจังหวัดต่างๆ เพื่อปกป้อง สร้างสวัสดิภาพ ลดความรุนแรงในพื้นที่, พัฒนาแกนนำสตรี 4 ภาค และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะผู้หญิงและครอบครัว ให้คำปรึกษาผ่านมูลนิธิเพื่อนหญิง http://www.fowomen.org 3.งานสื่อสารสาธารณะ เช่น ส่งเสริมงานสื่อสารร่วมกับรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อปรับทัศนคติให้สังคม “ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง” หรือ มองว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องของคนอื่น ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Free From Fear, ขับเคลื่อน “โครงการเผือก” เปลี่ยนพลังเงียบให้เป็นหู เป็นตา ช่วยเหลือ เก็บหลักฐาน พร้อมจัดทำเครือข่ายเมือปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women Thailand เพื่อลดความรุนแรงหรือการถูกคุกคามในระบบขนส่งสาธารณะ และ 4.งานนโยบาย เช่น ผลักดัน “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ.2560 – 2564” พัฒนากลไกยุติความรุนแรงผ่านการลงนาม MOU 2 ฉบับ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่การปฏิบัติภาคนโยบายขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถขนส่งสาธารณะ กับ บขส. 3 แนวทาง คือเสริมศักยภาพพนักงาน ติดกล้องวงจรปิดภายในรถ และพัฒนาระบบการแจ้งเหตุถ้ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น

“ผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิงพิการ ปี 2564 พบการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพ และสังคม แค่ 29% และประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โพบผู้หญิงถูกล่วงละเมิด ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 ราย ทำให้ สสส. ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการผลักดันให้ยุติความรุนแรงในประชากรเปราะบางกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไขนโยบาย และระเบียบต่าง ๆ ในการทำให้สังคมไทยเกิดความตระหนักว่า ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และทุกคน” ภรณี กล่าว 

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิงพิการ จะเห็นว่าในสังคมปัจจุบันจะมีเรื่องการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีพูดถึงเรื่องการจับกุม สุดท้ายแล้วปลายทางของกระบวนการยุติธรรมพบว่าน้อยมากที่จะดำเนินการไปถึง ซึ่งพบว่าผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ด้วยความไม่รู้เรื่องกฎหมายหรือบางครั้งถูกทำให้ยอมความ เพราะร้อยละ 90 พบว่าการละเมิดที่เกิดขึ้นเป็นคนในบ้าน และยิ่งบุคคลที่เป็นผู้พิการด้วยแล้วจะยิ่งถูกมองว่า “ไร้ตัวตน” จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องหันกลับมามองว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียม

เสาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจพบว่าคดีหรือเรื่องที่เกิดขึ้นร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สะท้อนให้เห็นว่าญาติพี่น้องไม่ได้สนับสนุนให้เข้ากระบวนการยุติธรรม มีการชัดจูงโน้มน้าวไกลเกลี่ยให้ยอมความเพื่อให้ยอมรับค่าทำขวัญแล้วจบเรื่องกันไป ทำให้เรื่องไม่ได้สิ้นสุดเรื่องด้วยกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งข้อเสนอแนะที่อยากส่งไปถึงภาครัฐในการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว เห็นว่าต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่ครอบคลุมสิทธิในเรื่องของผู้พิการ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท