Skip to main content
sharethis

งานเสวนาโต๊ะกลม "เพื่อนข้างบ้าน" ถกประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยพม่า พบอุปสรรคจากอำนาจรัฐส่วนกลางที่ลงมากำกับนโยบายผู้อพยพข้ามแดนโดยคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลักเพียงอย่างเดียว สร้างยากลำบากให้กับการจัดการและการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย

 

23 มิ.ย. 2565 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, เสมสิกขาลัย, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), Karen Peace Support Network และ The Border Consortium ร่วมกันจัดงานเสวนาโต๊ะกลม "เพื่อนข้างบ้าน" เพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็นการจัดการและการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวพม่าและผู้พลัดถิ่นในประเทศ จากตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนและนักวิชาการ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ที่สถาบันการศึกษาการพัฒนาที่ยังยืนนานาชาติ (ISDSI) จังหวัดเชียงใหม่

 

มารค ตามไท

มารค ตามไท นักวิชาการด้านสันติภาพ จากสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติดภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ปาฐกถาเปิดงานว่า ในการพูดถึงปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยมักมีคำว่า สิทธิมนุษยชน, อธิปไตย, มนุษยธรรม, ความยุติธรรม และผลประโยชน์ของชาติ หลุดออกมาจากฝ่ายรัฐและฝ่ายคนทำงานช่วยเหลือ มารค ตามไท มองว่าคำเหล่านี้เป็นกับดักที่ทำให้เกิด Moral Dilemma หรือ ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม เนื่องจากทุกฝ่ายต่างเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในปัญหานี้และให้คุณค่าของปัญหาผู้ลี้ภัยคนละแง่มุม ทำให้แก้ปัญหาได้ยาก เพราะ Moral Dilemma เป็นปัญหาเชิงศีลธรรมที่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็สามารถมีจุดอ่อนได้

“ผมอยากจะทดลองความคิดดูกับพวกเรา ให้เปลี่ยนจุดเริ่มต้นของการมอง โดยอย่าเอาตัวไปอยู่ใน Moral Dilemma เพราะผมเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่าย หรืออาจจะ 3 – 4 ฝ่ายในเรื่องนี้สามารถมาสู่ข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้เหตุผลต่างกัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะยึดเหตุผลเมตตาธรรม อีกฝ่ายยึดผลประโยชน์ของชาติ เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูก โจทย์ไม่ใช่เพื่อนข้างบ้านน่าสงสารหรือไม่ เพื่อนข้างบ้านที่กำลังลี้ภัยลำบากหรือไม่ นั่นไม่ใช่โจทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายรัฐ โจทย์คือเราอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบไหน” มารค ตามไท กล่าว

 

โจทย์ใหญ่ของประเทศคือการที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดว่า อยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน จึงจะไม่ติดกับดักของ Moral Dilemma ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่การอยากให้ภาพพจน์ประเทศไทยเป็นแบบใดในประชาคมโลก แต่หมายถึงการประเทศไทยมองตัวเองอย่างไร อยากเป็นประเทศแบบไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนประเทศไทยที่ไม่มีการคิดหรือวางภาพพจน์ของตัวเองมาก่อน และโดยภาพใหญ่รัฐไทยก็ยังติดอยู่ในกรอบของผลประโยชน์ของชาติอย่างแคบในเรื่องความมั่นคง ซึ่งหากคิดในแง่ผลประโยชน์ของประเทศอย่างกว้างโจทย์จะเปลี่ยนไปเป็นเราอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหน

มารค ตามไท จึงเสนอให้การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอยู่บนฐานใหญ่ของการคิดว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน มากกว่าการคิดแก้ปัญหาวันต่อวันหรือปีต่อปี

ปัญญา ชาญชาติวีระ

ต่อมาปัญญา ชาญชาติวีระ ส.จ. เขตอุ้มผาง จ.ตาก ได้เล่าถึงการจัดการสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในพื้นที่อุ้มผาง ระบุว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านกว่า 30 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบชายแดน เนื่องจากความรุนแรงเกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่หมู่บ้าน อาทิ การโจมตีด้วยเครื่องบิน ทำให้ประชาชนไม่สามารถอยู่ได้ และด้วยลักษณะพื้นที่ชายแดนอุ้มผางเป็นพื้นที่แตกต่างจากแม่สอดหรือพบพระ เขตอุ้มผางไม่มีเส้นแบ่งหรือแม่น้ำกั้น ทำให้ไม่ทราบการเคลื่อนไหวใดๆ และเกิดความเสี่ยงมาก บางครั้งอาจมีการรุกล้ำเข้ามา มีชาวบ้านกว่า 5,000 คนหลบหนีเข้ามา แต่ไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากเกิดความกลัว ตนได้ลงพื้นที่และเห็นความยากลำบากของผู้ประสบภัยที่หนีเข้ามา

ปัญญาตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทางการไทยจะยอมรับความยากลำบากของผู้ประสบภัยที่หนีเข้ามากลุ่มนี้ บางจุดผู้ประสบภัยอยู่อาศัยได้เพียง 2-3 วัน ก็ต้องกลับไป จุดที่อยู่ได้นานสุดที่อุ้มผางอยู่ได้ 1 เดือน และก็ต้องข้ามกลับไป หน่วยงานรัฐจะมีทางออกหรือไม่ที่จะเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้ให้อยู่อาศัยในพื้นที่ปลอดภัยได้นานขึ้น

ซอ เฮโซ

ซอ เฮโซ เครือข่ายให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network) กล่าวว่า อย่างแรกใครคือเพื่อนข้างบ้าน และในประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยบางครั้งตัวเราเองก็ต้องตั้งคำถามว่าเราเป็นเพื่อนบ้านแบบไหน จากสถานการณ์เชิงพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตรงข้ามกับ อ.อุ้มผาง อ.พบพระ อ.แม่สอด ที่อยู่ใกล้กับเมืองเมียวดี ซึ่งการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ก่อนการรัฐประหารพม่าในเดือนกุมภาพันธุ์ ปี 2021 ก็เคยมีการสู้รบเกิดขึ้น และทิ้งระเบิดทางอากาศก็ทำให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านในฝั่งไทยด้วย เนื่องจากไม่มีความแม่นยำและไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน ผลกระทบจึงกระจายเป็นวงกว้าง

หลังการรัฐประหารพม่าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 มีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาในเขตอุ้มผาง แม่สอด พบพระ ทั้งผู้อพยพริมน้ำและผู้ลี้ภัยในเมือง ปัญหาคือแม้จะมีพื้นที่รองรับผู้ประสบภัยอบู่บ้าง แต่ไม่มีการประสานงานที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือแต่เข้าถึงพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากติดที่ทางการไทย คนที่ต้องการความช่วยเหลือจึงเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้

ซอ เฮโซ เสนอให้มีการทำงานร่วมเพื่อให้เกิดการประสานงาน และเป็นกลไกให้ผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพเข้าถึงพื้นที่ปลอดภัยและความคุ้มครองในขณะที่การสู้รบในพม่าเองคงดำเนินอยู่และเป็นเรื่องยากที่จะสิ้นสุดลงในเร็วนี้ คนที่ข้ามแดนเข้ามาด้วยสถานการณ์ความไม่สงบไม่อาจเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ บางคนที่เข้ามาและข้ามกลับไปมีความเสี่ยงถึงชีวิต เราจึงยังต้องคิดถึงเรื่องการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ที่ข้ามมาเพื่อแสวงหาพื้นที่ปลอดภัย

อดิศร เกิดมงคล

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ระบุว่า ปัญหาหลักเกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัยตอนนี้เป็นปัญหาเรื่องการจัดการในพื้นที่ การจัดการโดยรัฐมองในเรื่องความมั่นคงทำให้ยากต่อการจัดการ ขณะที่แม่สอด อุ้มผาง พบพระ มีการจัดการโดยคนพื้นที่ร่วมด้วยจะมีความเข้าใจในปัญหามากกว่า ถ้าหากสามารถดึงศักยภาพของตัวรัฐในพื้นที่และชุมชนเข้ามาร่วมจัดการร่วมจะทำให้การรับมือกับสถานการณ์ได้ผลเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เป็นชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันมานาน

ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอว่า ในช่วงระหว่างรอให้สถานการณ์สงบลงสามารถเปิดโอกาสให้มีการพึ่งพาอาศัยกันด้านแรงงานได้ เช่น เปิดให้มีการจ้างงานระยะสั้นในช่วงเก็บเกี่ยว เนื่องจากในพื้นที่อุ้มผาง พบพระ แม่สอด มีการจ้างงานในลักษณะนี้เช่นกัน หากเปิดให้มีการจ้างงานก็จะทำให้ตัวคนที่ลี้ภัยเข้ามาสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาความดูแลจากองค์กรช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว และตัวชุมชนชายแดนก็จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานในลักษณะนี้ด้วย

นอกจากนี้ อดิศรตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงของไทยอยู่ในความดูแลของหน่วยงานปกครอง ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่การจัดการกับผู้ลี้ภัยชายแดนกลับถูกดูแลควบคุมโดยทหาร

“ทำไมการจัดการของไทยดูไม่คงที่ การจัดการผู้ลี้ภัยในแคมป์อยู่ภายใต้การจัดการของหน่วงงานภายใต้มหาดไทย แต่พอเป็นผู้ลี้ภัยในลักษณะนี้เป็นการดูแลของทหาร ผมเข้าใจว่าในแง่ของการเฝ้าระวังการตอบโต้กลับไปเป็นหน้าที่ของทหาร แต่กระบวนการในการจัดการผู้คนไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะพอเป็นทหารก็จะมีวิธีคิดบางอย่างที่อาจทำให้การจัดการมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น” อดิศร กล่าว

 

อดิศรเสริมว่า หากสามารถปรับวิธีคิดให้รัฐไม่เอาตัวเองมาเป็นศูนย์กลางและใช้วิธีการแบบเพื่อนหรือญาติที่ช่วยเหลือกันบริเวณชายแดนอาจทำให้เกิดความช่วยเหลือกันที่ดีกว่าขณะนี้

รวีพร ดอกไม้

ต่อมา รวีพร ดอกไม้ ตัวแทนจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) แม่สอด ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในแม่สอด และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยไปยังรัฐบาล 8 ข้อ ดังนี้

1. ให้ทางรัฐบาลไทบเปิดพื้นที่ในการคัดกรองผู้ประสบภัยทางการเมืองจากประเทศพม่า โดยให้ UNHCR และ สถานทูต รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาคัดกรอง และให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม

2. ให้มีการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมือง (Smuggling) ให้พิจารณาตามความหลากหลาย และซับซ้อน เพื่อที่จะระบุสถานะ และ เข้าถึงการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน 

3.เสนอให้ UNHCR และ สถานทูต มีแนวทางที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางการเมืองจากประเทศพม่า เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการลักลอบขนคนข้ามแดน และกระบวนการการค้ามนุษย์

4. ให้ทางรัฐบาลไทย มีแนวทางในการคุ้มครองผู้ประสบภัยทางการเมือง

5.เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาระเบียบคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ 

6.จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบ และมีการจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาในเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการของชุมชนพื้นที่

7. ให้รัฐบาลไทยมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

8.ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการผู้อพยพ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ก่อนจบงานเสวนาสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปงาน โดยระบุว่า สิ่งที่ต้องขบคิดจากการเห็นสภาพการทำงานในพื้นที่ที่ผ่านมา คือเราเห็นส่วนที่ทำงานได้ทั้งหน่วยงานทางปกครองในพื้นที่ องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ระบบเครือญาติ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าการทำงานได้ของกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ภายใต้นโยบายเรื่องผู้อพยพข้ามแดนที่มาจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพบริเวณริมน้ำเมยอย่างไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สังคมไทยในขณะนี้อยู่ภายใต้อำนาจนำของทหาร

สมชายเสนอว่า ต้องทำให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองพูดถึงประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น ทำให้เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นสาธารณะ และสังคมตระหนักว่าเรื่องผู้ลี้ภัยไม่ใช่การสังเคราะห์ แต่เป็นประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันและสังคมควรให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆ

“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถผลักให้เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น และมีนักการเมืองและพรรคการเมืองออกมารับลูกมากขึ้น ก็จะเหมือนกับกฎหมายหลายเรื่องที่แม้บางพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย แต่เขาต้องยกมือสนับสนุน เพราะสังคมกำลังเดินหน้าไปทางนั้น” สมชาย กล่าว

 

นอกจากนี้สมชายเสริมว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีคนที่เป็นผู้ลี้ภัยแบบไม่อาจหวงกลับได้อยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวแต่มีชีวิตถาวรในค่ายมาตั้งแต่เกิดจนโตมาเป็นระยะเวลา 20 – 30 ปี จะกลับพม่าก็ไม่ได้และจะเข้ามาอยู่ในเมืองก็ไม่ได้เช่นกัน

“การผนวกคนกลุ่มนี้เข้ามาจะทำเช่นไรได้ เช่นในยุโรปมีการพัฒนาสถานะกึ่งพลเมือง จากคนต่างด้าวสู่การเป็นพลเมืองตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ นโยบายต้องเปิดรับคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมให้ได้ กติการะหว่างประเทศจะเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ทำให้คนที่เป็นผู้อาศัยดีขึ้นหรือไม่ หากทำให้ดีขึ้นก็จำเป็นต้องผลักดัน” สมชาย กล่าว

 

ภาพบรรยากาศการ Performance Art หลังจบงานเสวนา โดยศิลปินเยาวชนจากเมียนมา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net