ความเป็นส่วนตัวของแตงโม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. การเสียชีวิตของดาราคนดัง แตงโม-ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเรื่องใหญ่ที่ยึดครองพื้นที่ข่าวทั้งสื่อหลัก สื่อรอง สื่อใหม่ ทั้งสื่อออนไลน์และสื่อกระดาษ ตลอดจนในบทสนทนาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ออนไลน์และพลเมืองดิจิทัล ที่ทำตัวเป็นนักข่าวเป็นสื่อมวลชนกันทุกที่ทุกทางและทุกผู้ทุกคน เรื่องราวของแตงโมยังไม่ลดราความเป็นดราม่าเรตติ้งสูงจนทุกวันนี้

2. นอกเหนือจากการรายงานของสำนักข่าวที่เต็มไปด้วยสีสันว่าด้วยเบื้องหน้าเบื้องหลังของชีวิตส่วนตัวของดาราคนดัง เบาะแสร่องรอยที่ทำให้เกิดเหตุจนดาราสาวต้องเสียชีวิต การคาดเดาวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม แง่มุมรายละเอียดต่างๆที่แวดล้อมเหตุการณ์ สถานที่เกิดเหตุ ประจักษ์พยานทั้งบุคคลและวัตถุสิ่งของ จากข้อมูล (ที่ต่างอ้างว่าเป็น) ข้อเท็จจริง มาจนถึงบทวิเคราะห์โดยนักวิเคราะห์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายวงการ จากแวดวงการสืบสวนดำเนินคดี มาจนถึงนิติวิทยาศาสตร์ จากเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม จนถึงเรื่องเล่าจากคนใกล้ชิด จนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของชีวิตส่วนตัวของคนหนึ่งคน ที่มาของข่าวและแหล่งข่าวต่างๆ ล้วนเป็น “ข้อมูล” ของแตงโมทั้งนั้น การเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดำเนินคดีจึงเป็นเบื้องต้นที่สุดที่ต้องมาพิจารณากัน

3. ทั้งที่จริงแล้ว ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของดาราสาวเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ชัดเจน แต่เมื่อมาดูกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งให้นิยามความหมายของ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ว่าหมายถึง “ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ” ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแตงโมจึงไม่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายฉบับนี้

4. ไม่เพียงเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และจะต้องได้รับการดูแลการคุ้มครองเป็นพิเศษ ตามมาตรา 26 ซึ่งบัญญัติว่า  “ห้ามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ม่านตา หรือลายนิ้วมือ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ... โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง ...”

5. น่าเสียดายที่การนำข้อมูลส่วนตัวของแตงโมมาเปิดเผยไม่ได้รับการคุ้มครองเยียวยาเพียงเพราะเธอตายแล้ว เพราะหากกฏหมายนี้คุ้มครองแตงโม คนทำผิดกฎหมายจะต้องรับโทษที่หนักและน่าจะเป็นการป้องปรามคนที่กำลังจะทำผิดได้มากทีเดียว เพราะบทลงโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือว่าค่อนข้างหนัก (มาตรา 79 กรณีการกระทำผิดเรื่องการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่รับความยินยอม หรือเรื่องการส่งหรือโอนข้อมูลอ่อนไหวพิเศษไปต่างประเทศ แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

6. แม้ว่าข้อมูลของแตงโมจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ยังมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ยังบังคับใช้และหน่วยงานราชการทุกแห่งถือปฏิบัติอยู่ตามปกติ โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งครอบคลุมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย และมีหลักการสำคัญว่า หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งห้ามเปิดเผยรายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลได้ หากการเปิดเผยนั้นจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร (มาตรา 15 (5) )

7. ดังนั้น หากในการแถลงข่าวเป็นการเอาข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดเผย  หรือข้อมูลรั่วไหลมาจากหน่วยงานของรัฐก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ  ในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องไปดูว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่เอามาเผยแพร่นั้นเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการหรือไม่  มาจากการเปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานสอบสวน ตลอดจนอัยการหรือระหว่างการพิจารณาในชั้นตุลาการ หรือหมอซึ่งเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จะเป็นการปฏิบัติที่ขัดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า

8. นอกจากกฎหมายหลักสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรงแล้ว การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นความผิดทางอาญา เรื่อง “การล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ...  แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” และยังเข้าข่ายความผิดเรื่อง "หมิ่นประมาทบุคคลอื่น" ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ขณะเดียวกันในทางแพ่ง ก็เป็นความผิดเรื่อง "ละเมิด" หรือ “หมิ่นประมาท” ซึ่งเรียกร้องค่าเสียหายหรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายได้

9. การเปิดเผยข้อมูลที่สร้างความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของแตงโมยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในเรื่องหลักๆ คือ “การนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย” “การได้มาซึ่งข้อมูล” รวมไปถึง “การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและผลกระทบต่อสาธารณะ” ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ

10. ยังมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนมาตรฐานหรือข้อกำหนดทางด้านจริยธรรม เช่น คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย และจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล ซึ่งต้องดูทุกเรื่องประกอบกัน เพราะการเอาเรื่องส่วนตัวของแตงโมมาเปิดเผยเกิดขึ้นหลายที่หลายทาง หลายโอกาสและวาระ

11. หมายเหตุที่จดวันนี้ พูดถึงแต่กรณีที่เป็นเอกสารข้อมูลส่วนบุคคล อันอาจรั่วไหลหรือมีการเปิดเผยโดยการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยขัดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังมีเรื่องมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพของสื่อมวลชน ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏหมายข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งการกระทำ “ละเมิด” อีกหลายกรรมหลายวาระ ที่เหมือนจะรุนแรงและล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของแตงโมมากขึ้นทุกที เช่นกรณีบังแจ็คที่กำลังมาแรง

12. การมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็เพื่อให้เป็นกฎหมายกลางที่เป็นหลักการในการควบคุมดูแลการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการ “เก็บรวบรวม-ใช้-เปิดเผย” ข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ แต่กรณีนี้จะเห็นได้ว่าการที่กฎหมายกลางไม่สามารถดูแลคุ้มครองเยียวยาแตงโมได้เพียงเพราะเธอตายแล้ว ผู้เสียหายก็ต้องไปแสวงหาความช่วยเหลือเยียวยาจากช่องทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย

13. หรือเราควรต้องรีบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองโดยเร็วที่สุด

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นคร เสรีรักษ์ เป็นผู้อำนวยการ Privacy Thailand/ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเหตุ: ปรับแก้โดยผู้เขียนจากต้นฉบับที่เผยแพร่ใน คอลัมน์จด•หมายเหตุ-นคร เสรีรักษ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/in-depth/article_563970

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท