Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เตรียมปลูกกล้าไม้ฟื้นฟูเหมืองหินดงมะไฟ ปี 2 เพื่อปรับหน้าดินที่เสื่อมโทรมจากการทำเหมือง และฟื้นฟูระบบนิเวศภูผาฮวก

23 มิ.ย. 2565 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได รายงานว่า ตลอด 28 ปี ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) บนเนื้อที่ 175 ไร่ และโรงโม่หิน เนื้อที่อีก 50 ไร่ ที่ตั้งอยู่บน ‘ภูผาฮวก’ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ตามประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจากับรองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประทานบัตรทำเหมืองแร่ เพื่อให้มีคำสั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองแร่หินฯและโรงโม่ ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวได้ข้องปฏิเสธที่จะมีคำสั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองแร่หินฯ และโรงโม่ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงทำการปักหลักชุมนุมปิดบริเวณทางเข้า-ออกเหมืองแร่หินฯและโรงโม่ด้วยตัวเอง พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

(1) ปิดเหมืองหินและโรงโม่

(2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้

(3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี ต่อด้วยการทำกิจกรรมทวงคืนภูผาป่าไม้ ‘เปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน’

 

26 ปีแห่งการต่อสู้สู่ชัยชนะ ‘เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร’ ในวันที่ 4 ก.ย. 2563

วันที่ 25 ก.ย. 2563 เนื่องจากใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และใบประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด หมดอายุลงตามลำดับ ซึ่งการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในครั้งนั้นนับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สามารถปิดเหมืองแร่หินฯและโรงโม่ได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องที่ 1 ที่ได้ตั้งมั่นไว้ หลังจากที่ปิดเหมืองแร่หินฯและโรงโม่หินได้สำเร็จกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำการหว่านเมล็ดปอเทือง ปลูกเมล็ดทานตะวัน เพื่อปรับหน้าดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงทำการปลูกต้นไม้ประดับ ปลูกต้นตะไคร้ยึดหน้าดินให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์แบบเดิมตามข้อเรียกร้องที่ 2

 ต่อมาในปี พ.ศ.2564 กลุ่มอนุรักษ์ฯ เริ่มกระบวนการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ด้วยการสร้างเรือนเพาะชำ เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นถิ่นอย่าง ต้นกุง ต้นยางนา ต้นยางนาแดง ต้นชาด ต้นฮัง ต้นจิก ต้นสะเดา ต้นขี้เหล็ก ต้นสะแบง ต้นหว้า ต้นขนุน ต้นมะค่าโมง ต้นจามจุรี ไผ่ และหญ้าแฝก รวมถึงเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกสวยงาม เช่น ต้นกาฬพฤกษ์ ต้นราชพฤกษ์ ต้นกัลปพฤษ์ ต้นทองอุไร ต้นสุพรรณิการ์ ต้นหางนกยูง นำมาเพาะพันธุ์กล้าไม้ที่เรือนเพาะชำ เมื่อถึงฤดูฝนของปีช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ก็ร่วมแรงร่วมใจกันขนกล้าไม้จากเรือนเพาะชำที่ไปยังบริเวณ “ภูผาฮวก” ขุดหลุมด้วย จอบ เสียม หรือ อีเตอร์เหล็กขุดเจาะ นำต้นไม้ออกจากถุงดำปลูกลงดิน นำฟางมาปกคลุมโคนต้นไม้และนำไม้ไผ่มาเสียบไว้ตรงโคนต้นแล้วมัดด้วยเชือกฟาง เพื่อช่วยพยุงกล้าไม้ให้เจริญเติบโตผลิดอกออกใบเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังนำอินทรียวัตถุต่าง ๆ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เศษผัก เปลือกหน่อไม้ ฯลฯ จากหมู่บ้านใกล้เคียงไปเทบนภูผาฮวก เพื่อให้อินทรียวัตถุย่อยสลายกลายเป็นดินและปรับสภาพหน้าดินให้พร้อมสำหรับการปลูกต้นไม้

ผลของความมุ่งมั่นตั้งใจในการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จากความพยายามปรับหน้าดินและปลูกกล้าไม้ทำให้พื้นที่ภูผาฮวกซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่หินฯมาก่อน เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากที่เคยมีแต่เศษหินปะปนดินเพียงเล็กน้อยไร้ซึ่งต้นไม้และใบหญ้า ได้กลายเป็นภูเขาที่มีชีวิตจากความเขียวของดอกไม้ ต้นหญ้า กล้าไม้ ที่ปลูกฟื้นฟูเริ่มเติบโต เช่น ต้นหางนกยูง ต้นขี้เหล็ก ต้นมะค่าโมง ต้นจามจุรี ไผ่ ต้นสุพรรณิการ์ ต้นกัลปพฤษ์ ฯลฯ รวมถึงระบบนิเวศเริ่มฟื้นตัวกลับมาสัตว์ป่าอย่างนกที่กลับมาสร้างรัง วางไข่ ฟักไข่ อยู่บนกิ่งไม้หรือต้นไม้ แมลงบินมากินน้ำหวานของเกสรดอกไม้ ถึงแม้กล้าไม้ที่ปลูกฟื้นฟูเมื่อปี 2564 จะเริ่มเติบโต แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลให้แข็งแรงและการปลูกกล้าไม้ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นในปี 2565 นี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเตรียมฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในปีที่ 2 โดยทำการเพาะพันธุ์กล้าไม้ไว้ที่เรือนเพาะชำจำนวนกว่า 2,000 ต้น สำหรับปลูกฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในช่วงฤดูฝนนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่และปลูกซ่อมแซมในส่วนที่ตายจากการปลูกฟื้นฟูเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จะทำการบำรุง ดูแล กล้าไม้ให้แข็งแรงเจริญเติบโต เพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีในอนาคตตามข้อเรียกร้องที่ 3

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net