TDRI เปิดข้อมูล กทม. มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 38 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ TDRI เปิดข้อมูล พบ กทม. มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพียง 38 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งถือว่าน้อยและต้องดูแลพื้นที่กว้างกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ 

 

23 มิ.ย. 2565 จากเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดข้อมูลจากบทความ "การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" จากบทสรุปการประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ พบ กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพียง 38 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าและต้องดูแลพื้นที่กว้างกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ โตเกียว หรือกรุงโซล

ภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นปัญหาใหญ่สำหรับมหานคร เช่น กรุงเทพฯ และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ มากขึ้นจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

จากสถิติการเกิดสาธารณภัยในกรุงเทพฯ (ไม่รวมอุบัติเหตุจากการคมนาคมและขนส่ง) ระหว่างปี 2560–2564 โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า เกิดอัคคีภัยขึ้นถึง 2,622 ครั้งโดยทำให้มีผู้เสียชีวิต 75 คน ในขณะที่ความถี่ในการเกิดอุทกภัยในกรุงเทพฯ ไม่สูงนัก แต่อาจสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ดังตัวอย่างเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 ที่บางส่วนของกรุงเทพฯ  ได้รับผลกระทบ  นอกจากนี้ ยังมีสาธารณภัยจากฝุ่น PM 2.5 ในช่วงธันวาคม–มีนาคมของทุกปี เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มักมีค่าเกินมาตรฐาน เช่น ระหว่าง 27 กันยายน 2562 ถึง 9 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นในกรุงเทพฯ จำนวน 38,803 ราย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้ว่า กทม. ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550  ในปีงบประมาณ 2560-2564 มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยของกรุงเทพฯ เฉลี่ย 325.31 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 0.49 ของงบประมาณทั้งหมด โดยในช่วงของผู้ว่าฯ อัศวิน กทม. ได้ใช้งบประมาณในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และยานพาหนะร้อยละ 66 ของงบประมาณดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการจัดหารถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย การจัดหารถยนต์ปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยชีวิตจากอาคารถล่ม และการจัดหารถจักรยานยนต์ดับเพลิง

อัคคีภัย การป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยมีปัญหาและอุปสรรคใน 3 ประการคือ

(1) อุปกรณ์และยานพาหนะมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่พร้อมใช้งาน และขาดการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง

(2) ขาดบุคลากรปฏิบัติงานด้านอัคคีภัย โดยกรุงเทพฯ มีบุคลากรปฏิบัติงานเพียง 38 คนต่อ 1 แสนประชากร

(3) พื้นที่ความรับผิดชอบเฉลี่ยของสถานีดับเพลิงในเขตกรุงเทพฯ แต่ละแห่งกว้างมากถึง 32.68 ตารางกิโลเมตร ทำให้การเข้าถึงที่เกิดเหตุใช้เวลานาน

ตารางเปรียบเทียบจำนวนอัตราบุคลากร และพื้นที่ความรับผิดชอบเฉลี่ยของสถานีดับเพลิง*

 

ข้อเสนอแนะจาก TDRI ต่อผู้ว่า กทม. คนใหม่ ด้านอัคคีภัย

1. เพิ่มจำนวนสถานีดับเพลิงเพื่อให้พื้นที่รับผิดชอบของแต่ละสถานีไม่เกิน 14.27 ตารางกิโลเมตรต่อสถานี หรือเพิ่มขึ้นเป็น 110 สถานี  โดยกำหนดที่ตั้งตามความหนาแน่นของประชากร

2. จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์และเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับอัคคีภัย  อีกทั้งควรเพิ่มจำนวนบุคลากร โดยเฉพาะพนักงานดับเพลิงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานเนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง

 

 

หมายเหตุ: *อัตราบุคลากรสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยจากสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ที่มา: รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันอัคคีภัยและการอพยพหนีไฟ ในอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พื้นที่กรุงเทพฯ (2562) และ หนังสือพิมพ์แนวหน้า (ออนไลน์) (2565)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท