Skip to main content
sharethis

'ไอลอว์' ตรวจเข้ม การลงมติร่างกฎหมายของ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. ช่วง พ.ค. 63-มิ.ย. 65 โหวตแทบไม่แตกแถวถึง 98% ถ้าเป็นร่างรัฐบาลผ่านฉลุย ร่างฝ่ายค้านโหวตสวน สะท้อนความเป็น ‘ส.ว.หุ่นยนต์’ รับใช้นาย แถมอยู่มา 3 ปี ฟันงบฯ 2 พันล้าน

 

23 มิ.ย. 2565 ไอลอว์ รายงาน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 วุฒิสภาในฐานะอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “การกลั่นกรองกฎหมาย” ที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้มีความรัดกุมรอบคอบ โดยหลังจากที่ ส.ส.ให้ความเห็นชอบกฎหมายแล้ว จะต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอีก 1 ชั้น ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ แต่ทว่า ด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนคัดเลือกด่านสุดท้าย ทำให้การออกกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลคสช. หรือ การเสนอกฎหมายโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.ไม่ค่อยถูกตรวจสอบถ่วงดุลเท่าที่ควร

จากการตรวจสอบผลการลงมติที่เกี่ยวกับการการพิจารณากฎหมายของ ส.ว.แต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2563 ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2565 พบว่า ส.ว. ลงมติเกี่ยวกับร่างกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันถึง 98% (โดยเฉลี่ย) ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หากผู้เสนอเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือพรรคฝ่ายรัฐบาล ก็จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อย่างถล่มทลาย แม้ร่างกฎหมายนั้นจะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ไม่ถึง 60% ก็ตาม หรือหากเป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน การลงมติของ ส.ว.ก็มีแนวโน้มจะไม่เห็นชอบอย่างถล่มทลายอีกเช่นเดียวกัน

ปรากฏการณ์ที่ ส.ว. ลงมติผ่านกฎหมายจากรัฐบาลและคัดค้านกฎหมายจากฝ่ายค้านไปในทิศทางเดียวกันอย่างถล่มทลายไม่มีแตกแถว สะท้อนให้เห็นว่า ส.ว.เป็น "สภาหุ่นยนต์" คอยทำหน้าที่ตามใบสั่งจากผู้มีอำนาจและขัดขวางการทำงานของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย คสช.

97% ของ ส.ว.แต่งตั้ง โหวตผ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ

นับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2563 ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ส.ว.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ในวาระที่ 3 ไปแล้ว อย่างน้อย 30 ฉบับ โดยจากผลการลงมติในวาระสาม พบว่า ส.ว. มีสัดส่วนการลงมติไปในทิศทางเดียวกันคือ "เห็นชอบ" อยู่ที่ 97.34% (โดยเฉลี่ย) ในขณะที่ผลการลงมติร่างกฎหมายในวาระสามของ ส.ส. มีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันอยู่ที่ 92.61% (โดยเฉลี่ย) ซึ่งหมายความว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง มีการลงมติที่เป็นเอกภาพกว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า เหตุที่ทำให้การลงมติในวาระที่ 3 ของ ส.ว. มีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.แทบทั้งหมดเป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดย ครม. หรือ ‘พรรครัฐบาล’ ดังนั้น ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งนับว่าเป็นขั้วการเมืองฝั่งเดียวกับรัฐบาลจึงลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล อีกทั้ง แม้ว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่ได้รับเสียงคัดค้านจำนวนมากในสภาผู้แทนฯ แต่ ส.ว.ก็ยังคงลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันไม่มีแตกแถว

ยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ที่ถูกพรรคการเมืองฝ่ายค้านและพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลด้วยกันวิจารณ์อย่างหนัก โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การปรับลดงบของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่เป็นหน่วยงานด่านหน้าในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จนเกิดวาทะจาก ส.ส. พรรคภูมิใจไทยถึง อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า "ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับบ้านเราเถอะครับ" จนท้ายที่สุดร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปด้วยสัดส่วนเสียงเห็นชอบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมด 30 ฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา แต่ทว่า เมื่อถึงคราวที่ ส.ว. ลงมติ ส.ว. ก็ยังคงลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันอย่างไม่ค่อยมีการแตกแถวถึง 98.52%

98% ของ ส.ว.อนุมัติ ร่าง พ.ร.ก.ไม่มีแตกแถว แม้บางฉบับ ส.ส.เห็นชอบไม่ถึง 60%

นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ส.ว.  ส.ว.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ก. ที่รัฐบาลประกาศใช้ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย อย่างน้อย 10 ฉบับ   โดยจากผลการลงมติในวาระสาม พบว่า ส.ว. มีสัดส่วนการลงมติไปในทิศทางเดียวกันคือ "เห็นชอบ" อยู่ที่ 98.55% (โดยเฉลี่ย) ในขณะที่ผลการลงมติอนุมัติ ร่าง พ.ร.ก. ของ ส.ส. มีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกัน อยู่ที่ 68.77% (โดยเฉลี่ย) 

จากผลการลงมติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ส.ว. มีทิศทางการลงมติที่ไปในทิศทางเดียวอย่างไม่มีแตกแถวเพื่อสนับสนุนการออกกฎหมายของรัฐบาลคสช. ในขณะที่การลงมติเพื่ออนุมัติร่าง พ.ร.ก. ของ ส.ส. กลับเป็นไปอย่างแตกต่าง โดยมีกฎหมายอย่างน้อย 5 ฉบับ ที่ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. ไม่ถึง 60% แต่กลับได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างถล่มทลาย ยกตัวอย่างเช่น  ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงินฯ (วงเงิน 5 แสนล้านบาท) ที่ถูกพรรคฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า การกู้เงินดังกล่าวขาดความจำเป็นเร่งด่วน และที่ผ่านมารัฐบาลมีการกู้เงินไปแล้วถึง 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังล้มเหลวในการบริหารจัดการเงินกู้ก้อนแรก รวมถึงไม่สามารถระงับยับยั้งควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ การเยียวยาก็ไม่ตรงประเด็น การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ทำไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลให้ฝ่ายค้านไม่อนุมัติ พ.ร.ก. กู้เงินฉบับที่ 2 ของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี เมื่อร่าง พ.ร.ก.ที่ ส.ส.ส่งเสียงค้านอยู่บ้าน ได้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว. ผลการลงมติ กลับเป็นไปอย่างตรงกันข้าม เพราะ ส.ว.กลับลงมติอนุมัติการใช้ พ.ร.ก.ของรัฐบาลสูงถึง 99.4% ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่า ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.ไม่ได้ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายผู้ที่ทำการคัดเลือกตัวเอง

99% ของ ส.ว.ลงมติเห็นชอบ "ร่างกฎหมายปฏิรูป" จากรัฐบาลทุกฉบับ

ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 270 วรรค 2 และ 3 กำหนดช่องทางพิเศษในการพิจารณากฎหมายไว้ว่า ร่างกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสองสภา หรือ ส.ส. ร่วมกับ ส.ว. หรือหมายความว่า หากเป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีตีความว่าเป็นกฎหมายที่เสนอตามหมวดการปฏิรูปประเทศก็จะมี ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.มาร่วมลงมติกฎหมายด้วย

จากข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2562 ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2565 พบว่า ส.ว.ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปไปแล้วอย่างน้อย 20 ฉบับ โดยจากผลการลงมติ พบว่า ส.ว.มีสัดส่วนการลงมติไปในทิศทางเดียวกันคือ "เห็นชอบ" อยู่ที่  98.98% (โดยเฉลี่ย) ในขณะที่ผลการลงมติร่างกฎหมายของ ส.ส. มีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันอยู่ที่ 91.35% (โดยเฉลี่ย) ซึ่งหมายความว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เห็นชอบกับร่างกฎหมายกฎหมายที่เสนอมาตามหมวดปฏิรูปของรัฐบาลทุกฉบับอย่างถล่มทลาย และอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบก็เพียงพอต่อการผ่านกฎหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตด้วยว่า การลงมติของ ส.ว. ไม่มีแตกแถว แม้ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอจะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. ไม่ถึง 60% ยกตัวอย่าง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในวาระที่ 1 ส.ส. มีมติเห็นชอบ 181 เสียง ไม่เห็นชอบ 151 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง หรือมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบเพียง 54.19% ขณะที่ ส.ว. มีมติเห็นชอบ 179 เสียง ไม่เห็น 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง หรือมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบถึง 99.44%

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า ช่องทางการเสนอ "กฎหมายปฏิรูป" กลายเป็นช่องทางสำคัญที่รัฐบาลใช้ออกกฎหมาย เพื่อตัดหน้าการเสนอกฎหมายของพรรคฝ่ายค้าน ยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่พรรคฝ่ายค้านได้เสนอ แต่เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกตีความว่าเป็น "ร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน" ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องให้คำรับรองก่อนจึงจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ แต่ทว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับก็ถูกปัดตกเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้คำรับรอง และหลังจากนั้น ครม.เสนอร่างกฎหมายของตัวเองเข้ามาในฐานะกฎหมายปฏิรูป เพื่อสวมทับกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่รัฐบาลปัดตกไป

ร่างกฎหมายรัฐบาลโหวตผ่าน ร่างฝ่ายค้านโหวตสวน

นอกจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.ก. และร่างกฎหมายที่เสนอตามหมวดปฏิรูปแล้ว อีกหนึ่งกฎหมายที่ ส.ว. จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่วมกับ ส.ส. คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งจากข้อมูลการลงมติ ร่าง พ.ร.ป. ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2562 ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2565 พบว่า มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ทั้งสิ้น 10 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส จำนวน 4 ฉบับ และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 6 ฉบับ

จากผลการลงมติพบว่า รัฐสภามีมติรับหลักการ (วาระ 1) ร่าง พ.ร.ป. ทั้งสิ้น 6 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ส.ส. จำนวน 4 ฉบับ คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อไทย พลังประชารัฐ และก้าวไกล ส่วนอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ของ ครม. และร่างของพลังประชารัฐ ซึ่งจากผลการลงมติพบว่า หากเป็นร่าง พ.ร.ป. ที่ถูกเสนอโดยรัฐบาล ส.ว. จะลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันอยู่ที่ 94.40% (โดยเฉลี่ย) ในขณะที่เป็นร่าง พ.ร.ป. ที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน จะได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึง 2.70% (โดยเฉลี่ย) แม้ว่าร่าง พ.ร.ป. นั้นจะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. มากถึง 96.71% ก็ตาม

ยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ส.ส. มีมติเห็นชอบ 417 เสียง ไม่เห็นชอบ 9 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบต่อการลงมติทั้งหมดคิดเป็น 96.98% แต่ทว่า วุฒิสภากลับมีเสียงเห็นชอบเพียง 3 เสียง ไม่เห็นชอบ 196 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบต่อการลงมติทั้งหมดคิดเป็น 1.43% หรืออย่าง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล สภาผู้แทนมีมติเห็นชอบ 412 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบต่อการลงมติทั้งหมดคิดเป็น 96.71% แต่ทว่า วุฒิสภากลับมีเสียงเห็นชอบเพียง 6 เสียง ไม่เห็นชอบ 192 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบต่อการลงมติทั้งหมดคิดเป็น 2.87%

สภา ส.ว.หุ่นยนต์ อยู่ 3 ปี ใช้งบฯ 2 พันล้าน

จากผลงานการทำงานของ ส.ว.ที่ไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่าที่ควร นำไปสูคำถามสำคัญถึง "ความคุ้มค่า" เพราะถ้าดูจากหนังสือคู่มือชื่อ “สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ” ฉบับที่ตีพิมพ์ เม.ย. 2562 พบว่าเงินงบประมาณต้องนำมาใช้กับทั้งเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ว. ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยประจำตัว ข้าราชการฝ่ายการเมืองของวุฒิสภา และคณะทำงานทางการเมือง ซึ่งถ้ารวมจำนวนเงินงบประมาณในช่วงเวลา 3 ปีที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน ส.ว. และตำแหน่งเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว. ทั้งหมด 2,230,569,000 บาท

(ดูตารางการเปรียบเทียบข้อมูลการลงมติระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ได้ที่นี่)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net