เมื่อเครื่องแบบกลายเป็นตัวกีดกัน เลือกปฏิบัติ ชวนพิเคราะห์เครื่องแบบในที่ทำงานหลังยุค COVID-19

ในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่มีวิกฤต COVID-19 จนทำให้ที่ทำงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนมาทำงานแบบ "ทำงานที่บ้าน" หรือ "Work from home" ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายเวลาทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำมาสู่คำถามที่ว่าวัฒนธรรมเครื่องแบบในที่ทำงานยังจำเป็นอยู่มากน้อยแค่ไหน และวัฒนธรรมเรื่องแบบเองก็มีปัญหาในการกีดกันความหลากหลายและเป็นอุปสรรคต่อคนชายขอบ เช่นขาดการคำนึงอย่างครอบคลุมต่อคนพิการ

 

24 มิ.ย. 2565 จาฮาน ทากาโนวา ผู้ที่เคยทำงานให้กับองค์กรสหพันธ์คนพิการนานาชาติ (IDA) นำเสนอบทความเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมเครื่องแบบในที่ทำงาน ในแง่ที่ว่า ผลจากการ "ทำงานที่บ้าน" เป็นเวลานาน ทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายจากเดิมไป และตั้งคำถามว่าเครื่องแบบในที่ทำงานยังจำเป็นอยู่มากน้อยแค่ไหน ทั้งๆ ที่เครื่องแบบเหล่านี้ได้สร้างปัญหาการกีดกันความหลากหลายและสร้างปัญหาให้กับคนพิการ

ในช่วง 2 ปีของวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนทำงานอยู่หน้าจอจากที่บ้านมากขึ้น การทำงานที่บ้านหรือ work from home เช่นนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การแต่งกายไปด้วย เช่น ทำให้ผู้คนหันมาชื่นชอบกางเกงวอร์ม เป็นต้น ทั้งนี้ยังทำให้กฎมาตรฐานเครื่องแบบมืออาชีพของตะวันตกได้รับการผ่อนปรนไปด้วย จากเดิมที่มีการห้ามกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน, กางเกงยิมขาสั้น และเสื้อยืด ก็มีการผ่อนปรนให้ใส่ได้หรือไม่ก็มีการยกเลิกกฎนี้ไปโดยสิ้นเชิง มีสถิติระบุว่าในช่วงที่ผ่านมา แผนกเสื้อผ้ากีฬาของ Gap ทำยอดขายได้มากขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับบริษัทบานานารีพับลิกที่ชายชุดเครื่องแบบที่เป็นทางการกว่าทำยอดขายได้ลดลงถึงร้อยละ 52

จากผลสำรวจโพลของสมาคมเพื่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์ระบุว่า ในช่วง 2 ปีแรกที่มีการทำงานทางไกล คนทำงานร้อยละ 17 สวมชุดนอนในการทำงานจากที่บ้านเป็นประจำ มีบางส่วนที่แต่งกายแบบที่เรียกว่า "เสื้อเชิ้ตซูม" (Zoom shirt) คือเสื้อหรือชุดกระโปรงที่ดูเรียบร้อยที่พาดไว้บนเก้าอี้ทำงานในบ้านเพื่อเตรียมพร้อมจะเปลี่ยนเป็นชุดนั้นได้อย่างรวดเร็วเวลาต้องประชุมทางไกลด้วยโปรแกรมอย่างซูมหรือกูเกิลมีท

ความที่การทำงานที่บ้านทำให้คนจริงจังกับการแต่งตัวเรียบร้อยตลอดเวลาน้อยลง ชุดเครื่องแบบบรรษัททั้งหญิงและชายจะยังมีความหมายอยู่หรือไม่ มีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นบางคนที่ประเมินว่าเมื่อพ้นจากวิกฤตโรคระบาดหนักไปแล้ว ผู้คนจะยังคงติดการสวมชุดทำงานที่เรียบง่ายสบายๆ อยู่ มีคนทำงานสายทรัพยากรบุคคลบางคนอย่าง รียา โอ ดอนเนลล์ ที่แสดงความเป็นห่วงว่าการติดการแต่งกายแบบทำงานที่บ้านนั้น "ช่างดูไม่เป็นมืออาชีพ" มีนักข่าวธุรกิจในสื่ออย่าง เมแกน เซรุลโล ที่ระบุว่าชุดแบบทำงานที่บ้านนั้น "ยากที่จะยอมรับได้" สำหรับการทำงานนอกบ้าน และแทบไม่สามารถนำมาใช้ได้ใน "บรรยากาศแบบมืออาชีพ"

แต่ในช่วงเวลาที่กำลังประเมินกันอยู่ว่าผู้คนจะแต่งกายอย่างไรหลังกลับไปทำงานในที่ทำงานหลังหมดวิกฤต COVID-19 ทากาโนวาก็เสนอมุมมองในอีกแง่หนึ่งที่เราอาจจะลืมนึกถึงกันมานานว่า ข้ออ้างเรื่อง "ความเป็นมืออาชีพ" อะไรทั้งหลายแหล่ ที่นำมาใช้อ้างเพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเครื่องแบบนั้น มีการกีดกันต่อคนพิการและคนชายขอบอื่นๆ อย่างไร

 

"มืออาชีพ" หรือ กีดกัน-ทำลายความหลากหลาย?

หลังจากที่ผู้คนได้สวมชุดแบบที่ไม่จำเป็นต้อง "มืออาชีพ" อยู่ตลอดเวลาในช่วงเวลาที่ทำงานจากบ้าน ตลอด 2 ปีที่มีวิกฤต COVID-19 เมื่อวิกฤตดังกล่าวนี้กำลังเริ่มลดลงและผู้คนหลายส่วนอาจจะต้องกลับไปทำงานในสำนักงานอีกครั้ง มีที่ปรึกษาจากองค์กรสมาคมจัดการทรัพยากรมนุษย์ โรบิน ฮอปเปอร์ ถึงขั้นเสนอไกด์ไลน์ว่าคนจะแต่งตัวอย่างไรเมื่อกลับไปทำงานที่สำนักงานหลังทำงานจากบ้านมาเป็นเวลานาน

แต่ทว่าเครื่องแบบเหล่านี้เองก็มีปัญหา ทั้งจากเรื่องที่มันตีกรอบบรรทัดฐานการแสดงออกทางเพศ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการตัดสินคนแต่จากภายนอกโดยอาศัยข้ออ้างความเป็น "มืออาชีพ" เท่านั้นยังไม่พอมันยังเป็นตัวสร้างกำแพงกีดกันผู้คนชายขอบโดยเฉพาะคนพิการด้วย

สหประชาชาติได้ประกาศใช้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) มาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว ซึ่งนับเป็นอนุสัญญาสำคัญที่กระตุ้นให้มีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการทั่วโลก แต่กระนั้นเองก็มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นน้อยมากในประเด็นเกี่ยวกับการจ้างงาน อัตราการจ้างงานคนพิการอยู่ที่ร้อยละ 34.6 เทียบกับคนที่ไม่พิการร้อยละ 77.6 ทัศนคติแบบกีดกันเลือกปฏิบัติก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานคนพิการน้อยกว่านั่นคือปัจจัยเรื่องเครื่องแบบในที่ทำงาน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมิสซูรีเปิดเผยผลการวิจัยเมื่อไม่นานนี้ว่า สิ่งที่สร้างปัญหากีดกันผู้พิการจากการมีส่วนร่วมในที่ทำงานคือการขาดชุดทำงานในแบบที่มีความยึดหยุ่นต่อสภาพปัจจัยของตัวบุคคล ลูซี ริชาร์ดสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กและการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมคนพิการจากองค์กรยูนิเซฟกล่าวว่า เครื่องแต่งกายแบบ "มืออาชีพ" ไม่ได้คำนึงถึงคนพิการที่นั่งรถเข็นซึ่งจำเป็นต้องนั่งอยู่ตลอดเวลาที่พวกเขาทำงาน แต่ก็ไม่มีชุดที่ดีพอที่จะไม่ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องสวมนั่งเป็นเวลานานๆ

การที่มีกฎเกณฑ์เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นในเรื่องชุดเครื่องแบบจึงกลายเป็นสิ่งที่กีดกันโอกาสในการทำงานของกลุ่มคนพิการเหล่านี้ เคยมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมิสซูรี-โคลัมเบีย ระบุว่ามีกลุ่มคนพิการที่ไม่สมัครงานเพราะมองว่าพวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องเครื่องแบบของบริษัทได้ ดังนั้นแล้วเครื่องแบบยุคก่อนหน้าเวิร์กฟอร์มโฮมที่มีการบังคับใช้แบบไม่มีการพิจารณาสภาพของแต่ละบุคคลจึงกลายเป็นสิ่งที่กีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนพิการและทำให้เกิดการไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานได้อย่างเท่าเทียมในตลาดแรงงาน

ทากาโนวา ระบุอีกว่าความคาดหวังที่จะให้กฎเกณฑ์เครื่องแบบกลับมาอีกครั้งสะท้อนให้เห็นเรื่องการขาดความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องวิธีการที่เราจะเข้าถึงการทำงานในหลายวิธีด้วย ความคิดชั่ววูบที่อยากให้ "กลับไปสู่ความปรกติธรรมดาแบบเดิม" นั้นยังละเลยวิธีการที่เราจะจัดการการทำงานได้ด้วยวิธีที่มีประสิทธิผลมากขึ้นและคำนึงถึงอย่างครอบคลุมความหลากหลายมากขึ้นด้วย

ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีการเวิร์กฟอร์มโฮมในช่วง COVID-19 กลุ่มคนพิการเคยเรียกร้องเรื่องการทำงานทางไกลเช่นการทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นๆ นอกสำนักงานมาเป็นเวลานานหลายสิบปีก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้อง "การปรับตัวอย่างมีเหตุผล" ในที่ทำงานหรือในระบบการจ้างงานให้สอดรับกับความพิการของแต่ละคนตามความเหมาะสมและไม่ได้สร้างความลำบากหรือเป็นภัยกับที่ทำงาน แต่พอหลังจากที่ COVID-19 กำลังจะหมดไปกลุ่มที่ทำงานต่างๆ กลับไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งที่พวกเขานำมาใช้ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการทำงานแบบคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คนและพยายามจะผลักดันให้กลับไปเป็นระบบบังคับแบบกดขี่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายกระบวนการสร้างสรรค์ของการทำงาน

จากรายงานขององค์กรคนพิการ "รีเทิร์นออนดิส-อบิลิตี" ระบุว่าถึงแม้จะมีบริษัทร้อยละ 90 แห่งอ้างว่าพวกเขาให้ความสำคัญต่อความหลากหลายมาเป็นอันดับต้นๆ แต่มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่พิจารณาเรื่องความพิการในความหลากหลายของพวกเขาด้วย การที่จะคืนวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยเครื่องแบบมืออาชีพจึงกลายเป็นการสร้างการตีตราและทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองของกลุ่มคนพิการ

เรื่องนี้ทำให้ทากาโนวาเสนอว่า หลังสิ้นสุดวิกฤต COVID-19 แล้ว ไม่ควรบังคับให้คนพิการต้องยอมปฏิบัติตามนิยามของคำว่า "มืออาชีพ" ในแบบที่ที่เหยียดคนพิการ (ableist) ควรจะมีมาตรฐานการแต่งกายที่เปิดกว้างมากกว่านี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของคนพิการ และเอื้ออำนวยให้คนพิการสามารถทำงานได้อย่างสะดวก มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย

ทากาโนวาเสนออีกว่าแนวทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นควรจะนำ "แนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร" หรือ DEI มาใช้ ซึ่งรวมถึงเรื่องการพิจารณาความหลากหลายของบุคคลพิการหลายรูปแบบด้วย เพราะความพิการไม่ได้เป็นสิ่งทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกันในรูปแบบเดียว แต่คนพิการแต่ละคนก็เผชิญประสบการณ์ต่างกันไปก็มี ในปัจจุบัน ในหมู่ประชากร 1 พันล้านคน มีอยู่ร้อยละ 15 ที่เป็นคนพิการในหลากหลายเชื้อชาติสีฟิว, เพศสภาพ, เพศวิถี, ศาสนา, ระดับรายได้ และชนชั้นทางสังคม

 

กฎเกณฑ์เครื่องแบบที่บีบบังคับทางเพศสภาพ

ไม่เพียงแค่คนพิการเท่านั้นที่ประสบความยากลำบากจากกฎเกณฑ์เครื่องแบบที่เคร่งครัด ในสหรัฐฯ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ จำนวนมากประสบกับภาวะความยากจนเทียบกับคนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ เรื่องนี้เกิดขึ้นแม้กระทั่งก่อนหน้าที่จะมีวิกฤต COVID-19 แล้ว และหลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 ก็ยิ่งส่งผลสะเทือนเรื่องความเหลื่อมล้ำหนักกว่าเดิม จากการที่ครอบครัว LGBTQ+ 2 ใน 3 เผชิญกับความชะงักงันทางการงานหรือรายได้

องค์กรปฏิบัติการเฉพาะกิจด้าน LGBTQ+ แห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่า กลุ่มคนทำงานที่เป็นคนข้ามเพศบอกเผชิญกับการว่างงานเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด กลุ่มคนทำงานที่เป็นนอนไบนารี (ผู้ไม่อยู่ในระบบสองเพศ) ต้องเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติในที่ทำงานมากเป็นพิเศษ โดยที่ 1 ใน 3 ต้องเผชิญกับการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติจากระบบการจ้างงาน นอกจากนี้ยังมีรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่ระบุว่ากลุ่มคนผิวสีที่เป็น LGBTQ+ มักจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่ากลุ่มคนทำงานที่ไม่ใช่ LGBTQ+

นอกจากนี้แล้วการตั้งความคาดหวังให้ผู้คนในที่ทำงานต้องวางตนอย่างเป็นไปตามระบบแบบสองเพศทำให้ชาว LGBTQ+ รู้สึกไม่ปลอดภัย, เป็นทุกข์, วิตกกังวล และสงสัยในตัวเอง องค์กรฮิวแมนไรท์แคมเปญรายงานว่า คนทำงาน LGBTQ+ 1 ใน 5 เคยถูกเพื่อนร่วมงานบอกให้พวกเขาแต่งกายในแบบที่ดูเป็นหญิงหรือดูเป็นชายอย่างชัดเจนในแบบที่เป็นไปตามบรรทัดฐานการแสดงออกทางเพศ เรื่องนี้ทำให้ชาว LGBTQ+ รู้สึกถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน

ทากาโนวาระบุว่ากฎการแต่งกายที่ยืดหยุ่นจะทำให้เกิดบรรยากาศในที่ทำงานที่ส่งเสริมชาว LGBTQ+ ทำให้คนทำงานสามารถแสดงออกตัวตนของตัวเองได้ในแบบที่พวกเขาเป็นจริงๆ อีกทั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเครื่องแบบควรทำให้มีความเป็นกลางทางเพศด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค. 2564 เคยมีกรณีที่สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ฟ้องร้องสายการบินอลาสกาแอร์ไลน์ในประเด็นเรื่องเครื่องแต่งกายแบบบังคับให้แต่งตามเพศสภาพ หลังจากนั้นเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2565 ทางสายการบินก็ประกาศปรับปรุงกฎการแต่งกายของพวกเขาให้มีความเป็นกลางทางเพศและคำนึงถึงอย่างครอบคลุมความหลากหลายมากขึ้น

ทากาโนวาระบุว่า องค์กรต่างๆ ควรจะหันมาพิจารณาอีกครั้งในเรื่องเครื่องแต่งกาย ควรใช้โอกาสที่ผู้คนแต่งกายอย่างกำกวมในช่วงที่ทำงานจากบ้านเป็นโอกาสในการที่พวกเขาจะรองรับทางเลือกในการแต่งกายแบบลื่นไหลทางเพศ อีกทั้งกฎเกณฑ์การแต่งกายที่มีความเป็นกลางทางเพศจะสามารถทำให้เกิดสถานที่ทำงานที่เป็นธรรม ปลอดภัย และมีการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมทุกคน

ในที่ทำงานคนชายขอบเป็นที่รับรู้และมีตัวตนอยู่น้อยมากจนทำให้พวกเขาขาดพลังหรือความสามารถในการต่อรอง ทากาโนวาจึงมองว่า อคติต่างๆ ที่ทำให้เกิดการกีดกันเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นทางเพศสภาพ, เพศวิถี หรือ การเหยียดคนพิการ ควรจะหมดไปได้แล้ว อคติที่มาจากการตัดสินคนจากภายนอกเหล่านี้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมแบบคนขาวเป็นใหญ่ ดังนั้นแล้วการใช้หลักการ DEI ที่เปิดกว้างเรื่องการแต่งกายในที่ทำงานมากขึ้นจะทำให้กลุ่มคนที่เคยมีตัวตนอยู่น้อยมากมาโดยตลอดได้รับโอกาสมากชึ้นด้วย

 

 

 

เรียบเรียงจาก

In a post-COVID workplace, is a ‘professional’ dress code still relevant?, Jahan Taganova, Global Voice, 19-06-2022
https://globalvoices.org/2022/06/19/in-a-post-covid-workplace-is-a-professional-dress-code-still-relevant/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Reasonable Accommodations in the Workplace

https://adata.org/factsheet/reasonable-accommodations-workplace

Diversity and Inclusion (D&I): ความหลากหลายยังจำเป็นในช่วงวิกฤติ COVID-19 หรือไม่
https://globalcompact-th.com/resources/detail/88

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท