ถอดบทเรียน จากย่ำรุ่ง 2475 สู่ ระบอบรัฐประหารกึ่งประชาธิปไตย 2565

เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม นักวิชาการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ย่ำรุ่ง 2475 สู่ระบอบรัฐประหารกึ่งประชาธิปไตย 2565 ชี้ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนได้ ชนชั้นนำจำต้องยอมให้เกิดการปฏิรูปจากบนลงล่าง

 

24 มิ.ย. 2565 เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เสนอให้ศึกษาบทเรียน ความสำเร็จ ความล้มเหลวของคณะราษฎรเพื่อมองไปข้างหน้าเพื่ออนาคตของคนไทยทุกคน เพื่อความก้าวหน้าสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาธิปไตยไทย เดินทางมาไกล 90 ปีแล้ว แต่ประชาธิปไตยไทยยังคงลุ่มๆดอนๆ อยู่ และ เรายังคงอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560

ข้อเสนอแรก เนื่องในโอกาส 90 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย คือ ขอเรียกร้องให้สังคมไทยรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้ได้ “รัฐธรรมนูญ” ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

ข้อเสนอที่สอง ขอให้รัฐบาลยกเลิกและทบทวนเนื้อหากฎหมายการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนภายใต้ พระราชบัญญัติองค์กรไม่แสวงหากำไร เนื่องจากกฎหมายมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพในการรวมกลุ่มขององค์กรภาคประชาชนและองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชน

ข้อเสนอที่สาม รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ ILO 98 รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง เกิดประชาธิปไตยในระดับสถานประกอบการ  

ข้อเสนอที่สี่ ขอเรียกร้องให้รัฐสภา จัดสรรงบประมาณในการจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์คณะราษฎรเพื่อบอกเล่าถึงพัฒนาการของประชาธิปไตยเพื่อเชิดชูเกียรติแก่คณะบุคคลที่ได้สถาปนาการปกครองแบบรัฐสภาขึ้นมาในประเทศนี้

ข้อเสนอที่ห้า ขอให้รัฐบาลจัดตั้ง คณะทำงาน อันประกอบไปด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนในการพิจารณาให้ยกสถานะของเหตุการณ์ 24 มิ.ย. ให้เป็นเหตุการณ์สำคัญของชาติและให้ถือเป็นวันหยุดราชการ หรือ ประกาศให้เป็น “วันชาติ 24 มิถุนายน” เช่นที่เคยเป็นมาก่อนถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2503  หรือ อาจประกาศให้เป็น “วันกำเนิดประชาธิปไตยไทย 24 มิถุนายน” ก็ได้  

ข้อเสนอที่หก ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อให้เป็นการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตย การมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและระบบการเมืองอันไม่เป็นธรรม ย่อมไม่อาจนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนก็เพียงสอนและผลิตสร้างแรงงานเพื่อรองรับการสืบทอดและดำรงอยู่ต่อไปของระบบที่ไม่เป็นธรรมให้ดำรงอยู่ต่อไป การศึกษาที่ดีต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้า ยกระดับคุณภาพและจิตสำนึกของประชาชน การจัดการศึกษาที่มุ่งรักษาระบบอันไม่เป็นธรรมไว้ย่อมไม่ทำให้อะไรดีขึ้นและไม่บรรลุสู่เป้าหมายของประชาธิปไตย หากสถาบันการศึกษามุ่งแต่เพียงการเปลี่ยนแรงงานไม่มีฝีมือสู่การเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงในด้านต่างๆแต่ไม่สามารถผลิตพลเมืองที่สามารถปกครองตนเองได้ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ย่อมไม่เกิดขึ้น

 

การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร สามารถให้แนวคิดและบทเรียนสำหรับประเทศในปัจจุบันและอนาคต มีดังต่อไปนี้

บทเรียนข้อที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงใดๆเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวมต้องรักษาความสมดุลระหว่าง “ความคิดก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย” กับ “จารีตประเพณี” และ “บริบททางด้านภูมิหลังของประเทศ” การทำลายสิ่งเก่าโดยสร้างใหม่ทั้งหมดจึงไม่อาจกระทำได้ และ ไม่ควรกระทำเพราะจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพและอนาธิปไตยได้ เช่นเดียวกับ

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องหลอมรวมทุกแนวความคิดในสังคมไทยให้มีพื้นที่ของตัวเอง สังคมจึงดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีสันติธรรม  

บทเรียนข้อที่สอง ผู้นำและกลุ่มผู้นำต้องมีความกล้าหาญ เสียสละและการเล็งเห็นผลประโยชน์ของสาธารณะสำคัญกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและเครือข่าย 

บทเรียนข้อที่สาม การต่อสู้เรียกร้องตามความเชื่อทางการเมืองแบบใดก็ตามต้องยึดหลักเอกราช หลักอธิปไตยและบูรณาการแห่งดินแดนรวมทั้งความปรองดองสมานฉันท์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน 

บทเรียนข้อที่สี่ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งดีกว่าในหลายกรณีต้องอดทนและใช้เวลายาวนานในการปรับเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

บทเรียนข้อที่ห้า หากชนชั้นนำปฏิเสธไม่ยอมปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง หรือ ปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมให้เท่าทันกับพลวัต ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังการปฏิวัติของประชาชนทำให้คาดการณ์อนาคตทำได้ยากว่าผลจะเป็นอย่างไร 

บทเรียนข้อที่หก พลังที่ก้าวหน้ากว่าของคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ ต้องหลอมรวม พลังอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นเก่าเอาไว้ด้วยจึงทำให้การปฏิรูปสำเร็จ หากคิดเอาชนะกันแบบหักหาญหรือใช้อำนาจบีบบังคับเช่นเดียวกับที่อำนาจรัฐกระทำต่อผู้เห็นต่างหรือขบวนการประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวย่อมไม่นำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาและมีเสถียรภาพ

บทเรียนข้อที่เจ็ด การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกและไทยในปัจจุบันและอนาคต การกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางการคลัง อำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชนจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนได้ดีขึ้น

 

ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549 - 2565) มีการสูญเสียทรัพยากร สูญเสียความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ และสร้างความเกลียดชังต่อกันเพียงแค่เห็นต่างทางการเมือง บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศไทยสูญเสียเวลา สูญเสียโอกาสอย่างมากมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงจำต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่ “คณะราษฎร” ได้ดำเนินอภิวัฒน์สถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท