Skip to main content
sharethis

ปัจฉิมกฐา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ ก้าวต่อไปของประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความรู้ความสามารถ การใช้เทคโนโลยีตอบสนองความต้องการเชิงนโยบาย และต้องร่วมมือร่วมใจ ฝากคนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตย-การเมืองไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ชวนเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาแก้ปัญหา หมดยุคของการให้สัญญาแบบส่งๆ

 

24 มิ.ย. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับเชิญให้กล่าวปัจฉิมกถาในหัวข้อ “90 ปีประชาธิปไตย ก้าวต่อไปของประชาชน: ประสบการณ์ประชาธิปไตยผ่านมุมมองการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “90 ปี ประชาธิปไตยไทย 88 ปีธรรมศาสตร์” จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

 

ประชาไทถอดความปัจฉิมกถาตั้งแต่ต้นจนจบ ตามใจความด้านล่าง ดังนี้*

ผมถือว่าเป็นน้องใหม่เกือบล่าสุดของระบอบประชาธิปไตย เพิ่งคลอดออกมา มีใหม่กว่าก็คือนายกฯ พัทยา เพราะ กกต. รับรองทีหลัง แต่ปฏิสนธิพร้อมกันในวันที่ 22 พ.ค. การเลือกตั้งผู้ว่าถือว่ามีความหวัง เป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ที่จะรับคบเพลิงต่อ

1.8 ล้านเสียงที่ได้ เป็นคะแนนที่ได้รับจากแนวคิดคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่จากแนวคิดคนรุ่นเก่า อยากจะฝากคนรุ่นใหม่ว่าประชาธิปไตยไม่ได้น่ากลัว อาจจะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องการแบ่งขั้ว การเลือกตั้งเป็นเรื่องของนักการเมือง แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักการเมืองจ๋านะ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนโฉมจากนักการเมืองอาชีพ สู่นักคิด เป็นคนมีความหวังและสร้างความหวัง เมื่อสามปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ เพราะไม่รู้จะยื่นใบลาออกกับใคร แต่เราก็ออกจากเพื่อไทยมาสามปีแล้ว และตอนนั้นก็ตัดสินใจว่าจะ [ลงเลือกตั้งผู้ว่า กทม.] อิสระ ก็เริ่มฟอร์มทีม มี 3-4 คน

ผมมีสามคำถามที่ถามตัวเองเสมอ ว่า หนึ่ง เราเข้าใจสิ่งที่เราทำดีหรือไม่ คนทำการเมืองต้องคิด เพราะเรามีลูกจ้าง มีข้าราชการ กทม. อีก 8 หมื่นคนที่ทำเรื่องนี้มาตลอดชีวิตเขา คุณจะมาเป็นหัวหน้า คุณเข้าใจเรื่องกวาดถนน การระบายน้ำ เรื่องขยะ จราจร ฝุ่นพิษเท่าคนที่ทำงาน เท่าคนที่อยู่หรือยัง การเมืองเป็นเรื่องความเข้าใจระดับหนึ่ง อย่างน้อยต้องรู้มากกว่าหรือเท่ากับคนที่ประจำอยู่แล้ว แต่บางทีการเมืองที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนั้น คิดว่าเป็นเรื่องมีคะแนนเสียง ชนะได้ แต่ไม่เคยมองเรื่องเทคนิคว่าเรามีความสามารถหรือเปล่า

สอง แคมเปญยังเกาะเกี่ยวอยู่กับโลกปัจจุบันหรือไม่ สิ่งที่เราพูดยังเกี่ยวโยงกับปัจจุบันไหม หรือเราเอาเรื่องเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาคิด เช่นการซื้อเสียง การมีโหวตเป็นกลุ่มๆ การไม่คิดถึงประเด็นต่างๆ ในอนาคต

สาม เราสนุกกับการทำไหม ที่ห้องจะมีป้ายติดเลยว่า สนุก การเมืองไม่ใช่เรื่องของความหดหู่ การเมืองเป็เรื่องความหวัง เราส้ร้างความหวัง ไม่ใช่ความกลัว ผมจะเป็นผู้นำที่สร้างความหวังให้กับเรา เลือกเราเพราะเราคือความหวัง ประชาธิปไตยในอนาคตไม่ได้น่ากลัว ทุกคนมีศักยภาพทั้งสามเรื่องแน่นอน แลการเลือกตั้งผู้ว่ามีโอกาสเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองใหม่

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

เรารู้เรื่อง กทม. ดีหรือไม่ คำตอบก็คือไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ พอเราเป็นอิสระ เราก็ดึงผู้เชี่ยวชาญมาได้ เราเริ่มเดินกัน 10 คน แต่จบแคมเปญเรามีอาสาสมัครหมื่นคนที่มาช่วยหายทางออกให้เมือง นาทีที่เราลงสมัคร จนถึงนาทีสุดท้าย สุดท้ายเรารู้ไม่น้อยกว่าคนใน กทม. ออกนโยบายที่ไม่เด๋อ ไม่เชยได้ การเมืองประชาธิปไตยยุคใหม่ต้องมาด้วยเนื้อหา วิธีแก้ ไม่ใช่สร้างความกลัว ความเกลียด การแบ่งกลุ่มคน

เรามีวิธีหลายอย่าง ทำสภากาแฟ แพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นสำคัญ แต่เราก็ต้องมีแพลตฟอร์มอนาลอกด้วย เรามีนโยบายหลายร้อยข้อ การเมืองก็เปลี่ยน บางทีการออกนโยบายจะมี killer policy ไม่กี่อย่าง เช่น สวัสดิการ สามสิบบาทรักษาทุกโรค แต่ประชาธิปไตยในอนาคตจะมีตลาดเฉพาะเยอะ จะมีวิธีแก้ที่ตอบโจทย์ทุกคนได้

เราต้องคิดวิธีในการสื่อสารใหม่ ตอนแรกมีแต่เฟซบุ๊ค ซึ่งไม่มีทางทะลุทะลวงกลุ่มคนได้เลย มีคนบอกว่าต้องทำหนังสือพิมพ์แจก เพราะพ่อค้าช่วงนั้นไม่มีลูกค้า ก็ได้อ่านหนังสือพิมพ์ เด็กก็ได้เอาไปทำว่าวเล่น ที่อเมริกาไม่มีป้ายหาเสียงใหญ่ๆ เราก็คิดว่าทำไมเราต้องใช้ป้ายหาเสียงใหญ่ๆ รับรองเลยว่าไม่มีใครเลือกผมเพราะป้ายใหญ่ ป้ายเยอะ อยากให้เลือกเพราะเห็นนโยบายมากกว่า เราก็ออกแคมเปญป้ายเล็ก แล้วก็ใช้ป้ายจำนวนน้อยได้ ป้ายน้อย ป้ายเล็ก คนเห็นป้ายอื่นก็มาคิดถึงป้ายเรา ป้ายเราก็ยืนเด่นท้าทาย ไม่ใช่ด้วยไสยศาสตร์หรือความแข็งแกร่ง แต่ป้ายเราเล็ก นี่คือวิธีสื่อสารของคนรุ่นใหม่ นี่คือข้อดีที่เอาคนรุ่นใหม่มาทำการเมือง เพราะเขาไม่มีกรอบเก่าในสมอง เขาเลยคิดฟุ้ง ก็เลยเป็นวิธีการเมืองประชาธิปไตยที่สนุก เราใช้รถ EV สื่อสารเป็นการ์ตูน ประชาธิปไตยการเมืองผ่านการ์ตูนนี่สุดยอด เพราะการเขียนการ์ตูนสามช่องเพื่ออธิบายนโยบายได้ คนทำต้องเข้าใจนโยบายละเอียด จะพูดอย่างไรให้เข้าใจ นี่คือวิธีการสื่อสารที่คนรุ่นใหม่ชอบ นี่คือการสื่อสารที่คนรุ่นเก่าคิดไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่คิดได้ อย่างติ๊กต๊อก ใครดูมากสุด ก็เด็ก 8-10 ขวบ ก็เด็กนี่แหละที่บอกพ่อแม่ให้เลือกชัชชาติ เพราะเด็กมีอิทธิพลกับพ่อแม่ พ่อแม่อาจจะเกลียดชัชชาติ แต่เด็กพูดทุกวันพ่อแม่ก็อาจจะเริ่มดูนโยบายของเรา

สี่ เรายังสนุกอยุ่ไหม อันนี้สำคัญ สังเกตว่าผมไม่เคยด่าใคร แคมเปญเราสร้างสรรค์ เรามีทางออกให้ ใครด่าเราถ้าจริงก็ปรับ ถ้าไม่จริงก็ชี้แจง เขาอยากให้เราโฟกัสกับงานที่เราทำ เราสนุกจนนาทีสุดท้ายเลย วันสุดท้ายของการหาเสียงปกติจะมีแรลลี่ใหญ่ แต่เราบอกว่าเราไม่มีฐานเสียง เพราะลงอิสระ ไม่มีคนมาหรอก มีแต่เก้าอี้ว่าง เลยปรับว่าไม่จัดปราศรัยแล้ว ไปกับลังใบหนึ่งตามรถไฟฟ้า ที่ไหนคนเยอะก็พูด เหมือนแคมเปญไฮด์ปาร์ก สนุกมาก แคมเปญยาว 4 ชั่วโมง แล้ววันนั้นได้พื้นที่ข่าว 100 เปอร์เซ็นต์เลย เป็นแคมเปญที่สนุก ดิบ คนดูเขาอยากเห็นวิถีชีวิตคน เชื่อว่าภูมิทัศน์การเมืองจะเปลี่ยน การใช้อารมณ์ ความเกลียดชังจะลดลง และจะใช้เหตุผลกันมากขึ้น

ในส่วนของแคมเปญโซเชียลมีเดีย เราแบ่งเป็นสามช่วงได้แก่ช่วงต้น ช่วงกลาง ช่วงท้าย วิโรจน์ [ลักขณาอดิศรณ์] เก่งเรื่องโซเชียล ช่วงต้นเราเปิดตัวดี แต่กลางแผ่ว แต่วิโรจน์ดุดัน แล้วช่วงสุดท้ายเราเอาคืน มีการปรับวิธีการสื่อสาร ใช้ช่องทางสื่อสารมากขึ้น จนยอดโซเชียลวันสุดท้ายของเราพุ่ง เรื่องนี้คนรุ่นใหม่ทำการฟังเสียงทางโซเชียล (social listening) อย่างละเอียด และก็เป็นคนใช้เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์

ผลเลือกตั้ง ส.ก. กับผู้ว่าฯ จะผบว่าผลต่างคือสิ่งที่เราไปขโมยมาได้ จะพบว่าเขตต่างๆ เลือก ส.ก. พรรคนั้นพรรคนี้ แต่ผู้ว่าฯ เขาเลือกเรา สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งคือเขาโหวตข้ามพรรคและสนใจนโยบาย เทียบกันจะพบว่าผลต่างระหว่างผู้ว่ากับ ส.ก. ก็มีความชัดเจนว่าผลรวมแทบจะเท่ากัน คนโหวตข้ามพรรคมาเท่าที่เราได้เลย ถือว่าคือการรวมคนเข้าด้วยกัน แปลว่านโยบายและวาระมีความสำคัญ

แต่ก่อนเรามีนโยบายนิดเดียว ใส่ในแผ่นพับได้ แต่เราบอกว่าไม่พอ เรามี 216 นโยบาย ตอนนั้นคนก็ถามว่าทำได้มั้ย ตอนนี้ดีใจที่มี 216 นโยบาย เพราะสามารถทำได้เลย เทรนด์โลกคือการมีนโยบายที่ละเอียด ออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ บางคนต้องการเรื่องหมาแมวจรจรัด บางคนต้องการผ้าอนามัยเด็ก โลกปัจจุบันเรามีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับนโยบายเยอะได้จากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ถ้าดูนโยบายของโจ ไบเดน เขาก็ออกนโยบายละเอียดเหมือนกัน ดูคำพูดของพรรคเดโมเครตตั้งแต่ 1988 จะพบว่านโยบายมีจำนวนคำ 5,000 คำ แต่ปัจจุบันมี 45,000 คำ สะท้อนความละเอียดของนโยบาย และการออกนโยบายที่ละเอียดก็ต้องการความรู้

ในเรื่องนโยบาย นโยบายหลักก็จะมีราว 10 เรื่องที่คนส่วนมากเห็นร่วมกัน แต่จะมีนโยบายละเอียดอีก 200 กว่านโยบายที่คนสนใจเป็นบางกลุ่ม เคยไปถามน้องๆ ที่ลาดกระบังว่าต้องการรถไฟฟ้า BTS ไหม เขาก็ตอบว่าไม่เคย แค่ต้องการทางจักรยานไปเรียน การเมืองใหม่ต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชานมากขึ้น หมดยุคสำหรับการพูดไปก่อน แล้วทำได้หรือไม่ได้ค่อยไปดาบหน้า

วันที่ชนะ ไม่ได้รู้สึกดีใจหรือว่ารู้สึกว่าเป็นชัยชนะ แต่รู้สึกว่าเป็นคำสั่งให้ไปทำงาน คิดว่าเราเป็นตัวแทนของคนที่สมัครมาด้วยกัน พยายามข้ามความขัดแย้งและทำงานให้ดีที่สุด คำถามที่ว่า 15 วันที่ผ่านมาเราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ เรื่องดนตรีในสวนเป็นเรื่องเล็ก แต่ที่เปลี่ยนชัดเจนคือการปฏิวัติแพลตฟอร์ม แต่ก่อนการทำธุรกิจหรือราชการเป็นเหมือนท่อส่ง (pipeline) คนร้องเรียนผู้ว่าฯ เราก็สั่งรองผู้ว่าฯ ลงไปตามช่องทาง ใครเส้นใหญ่ก็ท่อใหญ่ ใครเส้นน้อยก็ท่อตีบ ทำให้ระบบราชการช้า เราเข้ามาก็ลองใช้ ทราฟฟี่ฟองดูว์ แพลตฟอร์มที่ผลิตโดย สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ใช้ฟรี ให้คนโยนเรื่องเข้ามา ถ่ายรูป ส่งพิกัด ส่งเวลา ระบุว่าใครส่ง ถ้าเขตขยัน เขตก็จะเข้ามาล้วงเอาเรื่องนี้ไปจัดการ ผู้ว่าไม่ต้องสั่ง เพราะเรื่องอยู่ในแพลตฟอร์ม ถ้าทำได้ตามหลักการนี้ ราชการจะมีประสิทธิภาพมาก 

พอวันแรกที่ กกต. คอนเฟิร์มผลเลือกตั้ง เราเริ่มทำแพลตฟอร์มนี้ใหม่หลังหยุดไปช่วงลงคะแนนเสียง ปรากฏว่าคนเข้ามาใช้จนเว็บล่ม ตอนนี้มีคนร้องเรียน 43,664 ราย ปัจจุบันแก้ไปแล้วหมื่นกว่ากรณี โดยที่ผู้ว่าฯ ไม่ได้เซ็นอะไรเลย เขตที่ไวก็หยิบไปทำ และรู้ว่าเขตไหนตอบสนองดี เขตไหนตอบสนองช้า เขตสั่งไปที่ฝ่ายต่อ ฝ่ายไหนตอบสนองช้า จะรู้ลึกไปอีกว่าประสิทธิภาพการทำงานในระบบเป็นเท่าไหร่ อันนี้ไม่เรียกปฏิวัติก็ไม่รู้ว่าอะไร ไม่ได้ใช้เงินด้วย แพลตฟอร์มไม่ได้ใช้เงินสักบาท เงินที่ซ่อมก็คือต้องใช้ซ่อมอยู่แล้ว แล้วกลายเป็นเรื่องแปลกที่คนบอกว่าแจ้งไปเมื่อเช้า บ่ายก็ซ่อมแล้ว  กลายเป็นเรื่องแปลกทั้งที่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่แจ้งแล้วแต่ยังไม่ได้ซ่อม อาจจะเป็นเรื่องประสานกับหน่วยงานอื่น นี่คือพลังของประชาธิปไตย ผมมาอยู่ตรงนี้ได้ก็คือประชาธิปไตย ผมไม่มีทางอยู่ตรงนี้ถ้าไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ผมฝากว่าเรามาคนเดียว แต่เรามาด้วยความรู้ ทีมงาน ด้วยวิธีการที่แก้ไขปัญหาเมืองได้ นี่คือความหวังของคนรุ่นใหม่ การเมืองไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ผมว่าในอนาคต ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ เทคโนโลยี ขอให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกันเยอะๆ คนรุ่นใหม่เปลี่ยนเมืองได้ ผมทำกรุงเทพฯ วันนี้ไม่ได้ทำให้อาจารย์ชาญวิทย์ [เกษตรศิริ] ไม่ได้ทำให้ผม แต่ทำให้คนรุ่นใหม่ เพราะเขาต้องใช้เมืองนี้นานที่สุด และคุณก็อย่าเป็นแค่คนรับวิธีแก้ปัญหา แต่ต้องสร้างวิธีแก้ปัญหาให้เมืองด้วย ความสวยงามของประชาธิปไตยคือตรงนี้ ไม่มีใครมาสั่งได้ คุณมาได้ด้วยความสามารถ ผมว่าในอนาคตมันจะเข้มแข็งขึ้นเพราะเทคโนโลยีมันชนะ ความโปร่งใสมันเข้ามาด้วยเทคโนโลยี 

หวังว่าการเข้ามาของผมในฐานะผู้ว่า จะจุดประกายความหวังให้คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานการเมือง ผมเชื่อว่าอนาคตเรามีความหวัง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เห็นพลังที่คนมาร่วมมือร่วมใจกัน อย่างน้อยที่มาวันนี้ ถนนท่าพระจันทร์ถูกกวาดหมดเลย เพราะรู้ว่าผมจะมาหรือเปล่า ไม่แน่ใจ แต่ว่าความหมายก็คือข้าราชการที่ดีมีเยอะ ขอให้ไปถูกทิศทาง ขอให้หัวบอกทิศทางให้เขาแล้วร่วมใจกันก็จะไปได้ อยู่ด้วยความหวัง ผมว่ากรุงเทพฯ ไม่แพ้เมืองไหนในโลก ผมว่าร่วมมือกันเราเปลี่ยนได้ เอาระบบประชาธิปไตยนำ เอาความรู้และเทคโนโลยีนำ และคนร่วมไปด้วยกัน ขอบพระคุณครับ

 

 

 

*หมายเหตุ: มีการสรุปความและเรียบเรียงให้ได้ใจความตามภาษาเขียน ไม่สามารถใช้เป็นการอ้างอิงในฐานะคำพูดโดยตรง (direct quote) ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net