Skip to main content
sharethis

ตัวแทนพรรคหลักขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมวงเสวนาบทบาทพรรคการเมือง หลัง 90 ปีปฏิวัติสยาม ตอบคำถามสำคัญสารพัด ทั้งเรื่องการเป็นนั่งร้านรัฐบาล มุ่งดูแลปากท้องแต่ละเลยอุดมการณ์ ความแน่วแน่ในการคืนอำนาจให้ประชาชน เปิดชื่อแคนดิเดตนายกฯ ปชป.-ภท.-ก.ก. หยิบหัวหน้าพรรค พปชร. ยังชูประยุทธ์ซ้ำ ส่วน พท. ยังอุบไต๋ แต่พูดถึงชัชชาติ

 

24 มิ.ย. 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ภายใต้หัวข้อ อนาคตประชาธิปไตยไทยในมือพรรคการเมืองยุคใหม่ จาก 5 พรรคการเมือง โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองหลักอย่างธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และรงค์ บุญสวยขวัญ จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมพูดคุย และดำเนินรายการโดยวงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา จากเว็บไซต์ The101.world

 

ปชป.: ไม่ใช่นั่งร้านรัฐบาล แต่เป็นนั่งร้าน ปชช. พรรคการเมืองต้องสร้าง ปชต. ปิดช่องรัฐประหาร

ราเมศกล่าวว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 90 ปี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ล้วนพัฒนามาด้วยประชาธิปไตยตามลำดับ แต่เราหลีกเลี่ยงความจริงอีกอย่างไม่ได้ว่าประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ มีหลายช่วงที่ไม่เป็น อุปสรรคหนึ่งของคือการยึดอำนาจ แต่จะดูจุดนั้นจุดเดียวก็คงยาก เพราะเมื่อเดินไปข้างหน้า การยึดอำนาจ ถึงจะเป็นอุปสรรค แต่บ้านเมืองที่พัฒนา ระบบตอนเบ่งบานจริงๆ บ้านเมืองก็จะพัฒนามาเป็นระยะ

 

“การยึดอำนาจ 13 ครั้งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่านั่นคืออุปสรรคของระบอบ แต่ในฐานะพรรคการเมือง ในฐานะนักการเมือง เราก็ต้องมองความเป็นจริงว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในวันข้างหน้า” ราเมศ กล่าว

 

คิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะไม่กำหนดไว้ในเรื่องการส่งเสริมระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่พรรคการเมือง สถานศึกษา หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ประชาชนรู้ลึกในเรื่องระบอบอย่างแท้จริง ต้องย้อนกลับไปถามประชาชนว่า สิทธิอันพึงมีที่บอกว่าเกิดขึ้นตามระบบนั้น จะใช้สิทธิอย่างไรบ้าง จะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่พรรคการเมืองควรจะเน้นย้ำ เราจะส่งเสริมให้ประชาชนท่องว่าความหมายคืออย่างใดก็คงไม่ใช่

ถ้าดูมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างนโยบาย ในการคิดและร่วมกันตรวจสอบอำนาจรัฐ รวมถึงกฎหมายพรรคการเมือง ที่มาตรา 23 ระบุว่า พรรคการเมืองต้องทำหน้าที่หลักในการส่งเสริม ให้ความรู้สมาชิกและประชาชนเกี่ยวกับระบอบ ฝั่งพรรคการเมืองและนักการเมืองก็ต้องทำให้เห็นว่าระบอบที่เกิดขึ้นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ การยึดอำนาจไม่มีใครเห็นด้วย ผมคนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วย แต่ว่าในภาคปฏิบัติ นักการเมืองก็อย่าไปเปิดช่องให้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้มาแทรกแซงอำนาจประชาชน

เวลาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ก็อยากอธิบายว่า หมายถึงสิ่งที่ดีก็ต้องรักษาไว้ ไม่ได้หมายความว่าจะล้าหลัง ไม่สอดคล้องสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ถ้าจะบอกว่าพรรคเป็นนั่งร้าน คิดว่าก็เป็น สำหรับประชาธิปัตย์ การจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลไม่ใช่คนๆ เดียวตัดสินใจ แต่เกิดจากที่ประชาชนให้อำนาจ ส.ส. มาแล้วโหวตกันว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อเข้าร่วมแล้วก็ต้องตอบประชาชนว่าเราจะทำประโยชน์กับประชาชนอย่างไร คิดว่าผลักดันนโยบายให้สำเร็จกับประชาชนไม่ใช่นั่งร้านให้กับใคร แต่เป็นนั่งร้านให้กับประชาชน

 

แคนดิเดตนายกฯ: หัวหน้าพรรค (ปัจจุบัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)

ราเมศกล่าวว่า วันนี้มาในหัวข้ออนาคตประชาธิปไตยไทยในมือพรรคการเมือง น่าจะต้องคิดร่วมกันว่าพรรคการเมือง จะทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในวันข้างหน้าอย่างไร ระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกเฉพาะพรรคใด เพราะถือว่าประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาแล้วในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในส่วนของแคนดิเดตนายกฯ ปชป. มีโครงสร้าง เมื่อบุคคลใดเป็นหัวหน้าพรรค แน่นอนว่าในการเลือกตั้ง ก็จะเสนอบุคคลนั้นมาเป็นนายกฯ

พท.: บทเรียนยุบพรรค 2 ครั้ง สู่การกินข้าวทีละคำ สร้างพื้นฐานให้แข็งแรงก่อน

ธีรรัตน์ กล่าวว่า ไม่มีใครปฏิเสธเลยว่า 90 ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยไทยล้มลุกคุลกคลาน ไม่มีความมั่นคงอย่างที่ควรจะเป็น วันที่เลือกตั้งคือวันที่อำนาจกลับคืนสู่ประชาชน อำนาจในการที่จะเลือกผู้มาบริหารราชการแผ่นดิน อยากให้เป็นอำนาจที่เกิดจากพลังบริสุทธิ์โดยมีกติกาที่เป็นธรรรม เป็นกติกาที่เกิดจากผู้ที่มีความคิดที่จะนำข้อเรียกร้องของประชาชนมามีส่วนร่วม มิใช่กติกาที่เกิดจากอำนาจของเผด็จการเพียงเพื่อที่ต้องการจะสืบทอดอำนาจที่ไม่ใช่ของประชาชน

พรรคเพื่อไทยมีอายุต่อเนื่องยาวนานมา 20 ปี ในปัจจุบันคงเป็น 20 หน้าหลังสุดของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นเดียวกัน เพราะตลอดเวลาที่พรรคเพื่อไทยได้เริ่มดำเนินการทางการเมือง เราไม่เคยหยุดทำงาน ไม่เลยละทิ้งพี่น้องประชาชน ยังคงฟังเสียงและข้อเรียกร้องในทุกๆ ด้าน พรรคเพื่อไทยอาจดูเหมือนจะเน้นเรื่องปากท้อง แต่ไม่แตะโครงสร้าง ต้องเรียนว่าพรรคเพื่อไทยมีวิวัฒนาการในเรื่องความเปลี่ยนแปลงเสมอมา เพื่อไทยเป็นมรดกตกทอดจากไทยรักไทยและพลังประชาชนซึ่งโดนยุบพรรคมาโดยตลอดทุกครั้งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด นั่นคือบทเรียนของพรรคเพื่อไทยว่าหากจะมีวิธีไปถึงเป้าหมายร่วมกันโดยสำเร็จ จะต้องหลีกเลี่ยงวิธีการเดิมๆ ที่จะได้รับผลลัพธ์แบบเดิมๆ จะต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ต้องรู้ว่าโครงสร้างที่เราจะแตะนั้นจะเกิดขึ้นได้โดยวิธีใด มั่นใจว่าหากทำให้ประชาชนเหล่านั้นแข็งแรงพอ มีพื้นฐานเศรษฐกิจและการศึกษาที่ดี เป็นผู้ที่เลือกได้ ไม่ใช่อยู่ในสภาพจำยอมและไม่สามารถเลือกแนวทางชีวิตได้ หากวันใดที่เขาเลือกแล้วบอกว่าต้องการสิ่งนี้ เสียงของเขาจะดังพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

 

“90 ปีที่วันนี้ครบรอบอีกครั้ง เราถูกปฏิวัติรัฐประหาร ถูกยึดอำนาจ 13 ครั้ง ไม่น้อยเลย ในช่วงชีวิตของดิฉันก็น่าจะ 3 ครั้ง แต่ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น และพลังของประชาชนที่เราจะเรียกว่า วีรมหาประชาชนเลยก็ว่าได้ ที่เขาตื่นตัวและไม่ยอมกับอำนาจนอกระบบเหล่านั้น เขาไม่ต้องการที่จะให้ทหารมาเป็นผู้ปกครองประเทศ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16 หรือว่า 6 ตุลา 19 หรือแม้กระทั่งพฤษภา 35 มันทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในประเทศไทยที่ให้เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เกิดรัฐธรรมนูญ 40 เกิดพรรคไทยรักไทยปี 41 เกิดสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา” ธีรรัตน์ กล่าว

 

หาก 88 ปีธรรมศาสตร์คือการให้ความรู้ประชาชน ก็จะบอกว่านอกจากทำให้รู้แล้ว ต้องทำให้ดูด้วย ต้องทำเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่พูดแต่ไม่ทำ ไม่เช่นนั้นรุ่นหลังจะไม่เห็นรูปธรรมที่แท้จริง ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่คิดเพื่อพี่น้องประชาชน ย้อนหลังกลับไปที่จำได้ดีก็จะมีกองทุนหมู่บ้านที่ให้ประชาชนมาร่วมคิดร่วมทำ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่บางคนอยากจะล้มเลิกไปแต่ล้มไม่ได้ แต่มั่นใจว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยกัน แม้แต่นโยบาย OTOP ที่ตอนนี้ก็ยังอยู่ และมั่นใจว่าจะเป็น soft power ให้ไทยได้ผลักดันผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมดีๆ ออกสู่สายตาชาวโลก ถ้ามีโอกาสได้ทำและยังผลักดันชีวิตให้ประชาชนกินดีอยู่ดี หลายคนรู้สึกหมดความหวัง แต่เราก็ขอว่าเราจะมาเติมความหวังเข้าใหม่ด้วยกัน

 

แคนดิเดตนายกฯ: ยังไม่บอก แต่ยินดีที่ชาว กทม. ได้แคนดิเดตนายกฯ พท. เป็นผู้ว่าฯ

ธีรรัตน์กล่าวว่า พท. มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมกันทำงาน ตอนนี้มีดรีมทีมที่ประกอบด้วยบุคลากรรุ่นใหญ่ที่มีประสการณ์ ทำงานควบคู่กับนักการเมืองและบุคลากรรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน เราจะนำความรู้มาผสมผสานเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ ถามว่าใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ขอใช้เวลานี้ในการแสดงความยินดีกับชาว กทม. ที่ได้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่เคยเป็นแคนดิเดตเนายกฯ ของเพื่อไทย สะท้อนว่าถ้าหากเราไม่หมดหวัง เรากยังมีความหวังอยู่เสมอ 8 ปีที่แล้วที่คณะรัฐประหารนำถุงดำคลุมหัวนักการเมืองไปขัง แต่ถ้าเรายังสู้ต่อ อุดมการณ์และหัวใจของผู้รักประชาธิปไตยฆ่าไม่ได้จริงๆ ตายสิบก็จะเกิดร้อย และพร้อมสู้กับพี่น้องประชาชนเสมอตลอดไป จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 

ภท.: ศัตรูของประชาธิปไตยอยู่ในตัวระบอบ ปชช. ไม่เคยบอกว่าห้ามเป็นนั่งร้านให้ใคร ย้ำ เป็นพรรคปฏิบัตินิยม

สิริพงศ์กล่าวว่า การที่มีการเลือกตั้งนายกฯ ผ่านระบอบรัฐสภา หมายความว่าประชาชนเลือก ส.ส. เข้ามา พรรคใดรวมเสียงได้อันดับหนึ่งก็จัดตั้งรัฐบาล ถ้าตั้งไม่ได้ก็เป็นพรรคถัดมา ภท. เป็นพรรคขนาดกลาง ถ้าตั้งรัฐบาลกับฝั่งที่ถูกใจก็ได้รับคำชม ถ้าตั้งกับกลุ่มที่ไม่ถูกใจก็ได้รับคำตำหนิ ตอนที่หาเสียง อนุทิน ชาญวีรกูลได้หาเสียงว่าการเลือกตั้งนายกฯ ต้องไม่ถูกกดดันจากใคร ต้องเกิดจากเสียง ส.ส. เท่านั้น ถ้าหากจะย้อนเวลาไป ก่อนที่จะเลือกตั้งนายกฯ มีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร เสียงส่วนมากของ ส.ส. เกิดตั้งแต่มีการเลือกชวน หลีกภัยเป็นประธานสภาแล้ว เพราะวันนั้นเกิดจากการโหวตของ ส.ส. ทั้งสิ้น จะชอบมิชอบก็แล้วแต่กองเชียร์ฝั่งนั้นๆ แต่นี่คือความจริงของระบอบนี้

ระบอบนั้น คิดว่าหากไม่นับอุปสรรคที่เป็นปัจจัยภายนอก ก็มีศัตรูคือตัวระบอบของมันเอง อำนาจบริหารกับนิติบัญญัติมีความจำเป็นที่จะต้องแยกจากกันในความเป็นจริง ต้องตรวจสอบ ถ่วงดุลได้ แต่ลองดูประวัติศาสตร์กาเรืองไทยที่ผ่านมา มีสมัยใดหรือไม่ที่บริหารกับนิติบัญญัติแยกจากกันอย่างแท้จริง ถ้าพูดให้สวยๆ คือการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาคือ บริหารมามีอำนาจเหนือนิติบัญญัติ และไม่ว่าจะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือนอกระบบ สิ่งที่คงอยู่คือระบบราชการที่ยังล้าสมัย กฎหมายหลายอย่าง เช่นเมื่อฝ่ายค้านเสนอ ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นด้วย ฝ่ายบริหารไม่มีปัญหา แต่ส่วนราชการบอกว่าทำไม่ได้ ก็กลายเป็นรัฐบาลต้องย้อนกลับมาบอกฝ่ายนิติบัญญัติว่าให้ไม่รับ ตัวนี้คือปัญหากับระบอบ

ภท. ถูกตั้งคำถามเยอะมากว่าเป็นนั่งร้านให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือไม่ แต่ ภท. โตมาจากต่างจังหวัด จาก ส.ส. พื้นที่ เติบโตจาก ส.ส. ที่ต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้กระแสพรรค ส่วนตัวเป็น ส.ส. เขต เวลาไปหาเสียง สิ่งที่ได้ยินคือทุกข์ของชาวบ้าน ไม่เคยได้ยินว่าเลือกเขาไปอย่าไปเป็นนั่งร้านให้คนนั้นคนนี้นะ มีแต่บอกว่าช่วยทำนั่นทำนี่ให้มันดีขึ้นหน่อย พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นหน่อย ปัจจุบัน ประชาชนให้ความสนใจกับนโยบายเป็นหลัก ต้องให้เครดิตพรรคไทยรักไทยที่สามารถทำให้นโยบายเป็นจริงได้ และประชาชนเห็นจริง เราจึงนำแนวทางการกำหนดนโยบาย และทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้จริง เพื่อมานำเสนอกับประชาชน มากกว่าแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง จะเรียกว่า ภท. เป็นพรรคในเชิงปฏิบัติก็ว่าได้ หลายสิ่งที่รัฐบาลเก่าๆ เคยทำมาเป็นสิ่งที่ดี อย่างเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค พอ ภท. มีโอกาสดูแลกระทรวงสาธารณสุข ก็เพิ่มเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ และรักษาทุกโรคอย่างแท้จริง เนื่องจากสมัยก่อนมีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่ก่อนฟอกไตฟรีต้องฟอกผ่านผิวหนัง ถ้าผ่านเส้นเลือดต้องเดอนละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 3-4 พันบาท แต่ปัจจุบันสามารถรักษาได้ทุกที่

“พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร วันนี้ลองถามทุกพรรคว่า ถึงเวลาที่เลือกตั้งเสร็จ เมื่อกฎหมายเป็นแบบนี้ ระบบเป็นแบบนี้ มันจำเป็นจะต้องมีพรรคร่วมแน่นอนในการร่วมรัฐบาล เราคิดว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นตัวเลือกที่จะร่วมทำงานได้ง่ายที่สุด ฉะนั้นผมจึงเชื่อว่า แนวทางของพรรคภูมิใจไทย นอกจากอุดมการณ์ว่าเป็นซ้าย เป็นขวาแล้ว เรามีอุดมการณ์ในเชิงการพัฒนา และทำให้นโยบายมีความเป็นจริงได้มากกว่า” สิริพงศ์ กล่าว

 

แคนดิเดตนายก: อนุทิน ชาญวีรกุล

สิริพงศ์กล่าวว่า เสนออนุทิน ชาญวีระกูล เพราะคิดว่าอนุทินได้ผ่านบททดสอบมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ก่อนมีการฟอร์มรัฐบาล ณ วันนั้น หลายคนคิดว่าอยากจะเสนอให้อนุทินเป็นนายกฯ ด้วยซ้ำในวันที่ยังจับขั้วกันไม่ได้ เมื่ออนุทินตัดสินใจร่วมรัฐบาลอีกฝั่ง อีกฝั่งก็ไม่พอใจ การทำงานก็ค่อนข้างได้รับเสียงวิพากวิจารณ์มากเช่นเรื่องในสถานการณ์โควิด แต่วันนี้เชื่อว่าด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และโครงการด้านอนามัยนานาชาติมองมาและให้เครดิตกับไทย ก็คิดว่าอนุทินผ่านบททดสอบในการเป็นทั้งผู้นำ และผู้ตามมาแล้ว จึงมีความเหมาะสม

 

พปชร.: ตั้งพรรคเพื่อสืบทอด ปชต. เพราะต้องร่วมรัฐบาล เลยทำบางนโยบายไม่ได้

“ตั้งขึ้นมาโดยไม่ต้องตอบคำถามว่าจะสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่เราตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้มั่นคง ต่อเนื่อง ยังยืนยันว่าจะรักษา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในรูปแบบรัฐที่เป็นราชอาณาจักร ส่วนจะคิดแตกต่างอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละพวก แต่ละหมู่เหล่า” รงค์ กล่าว

รงค์ตอบคำถามถึงเหตุผลของการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารหรือไม่ และกล่าวต่อไปว่าประชาธิปไตยอันมีมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงเป็นหลักการใหญ่ แม้นจะมีความคิดความเชื่ออื่นที่ไม่ตรงกับหลักการนี้ ก็มาถกเถียงกันที่รัฐธรรมนู เราเดินมาตามรัฐธรรมนูญ จะสืบทอดอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องเอารัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง พปชร. เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล เราต้องสูญเสียอะไรมากมาย นโยบายหลายๆเรื่องที่รณรงค์ไว้ ไม่สามารถหยิบไปใช้ได้ แต่ต้องเชิญเพื่อนพรรคอื่นมาประคับประคองให้ระบบนี้อยู่ได้ หากบอกว่าระบบที่ถูกตั้งไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 ไม่เป็น ก็อาจไม่ถกเถียง แต่เราทำตามรัฐธรรมนูญนี้ เพียงแต่ถ้ารัฐธรรมนูญนี้จะต้องแก้ภายใต้รัฐบาลที่มี พปชร. เป็นแกนหลัก ก็ไม่ปฏิเสธเลย

รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นฉบับแรกๆ ของประเทศที่เปิดโอกาสให้ภาคพลเมืองมีโอกาสไปเสนอความคิดเห็นให้รัฐสภา หรือสภาผู้แทนฯ เป็นพื้นที่ในการถกแถลงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถึงสองครั้ง จะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ฉบับไอลวอ์ และฉบับเสนอโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ์ (ฉบับกลุ่ม ConLab) สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ก่อนมีความเชื่อว่าสภาทำได้ทุกเรื่อง ยกเว้น เปลี่ยนผู้ชายเป็นผู้หญิง หรือเปลี่ยนผู้หญิงเป็นผู้ชาย อันนี้หยาบคาย แต่เป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นเก่าๆ เคยพูดมา แต่ภายใต้การดูแลของ พปชร. ก็พร้อมรับกฎหมาย ดูที่เนื้อหา เช่นเรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ วันนี้ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีการปรับเปลี่ยนในหลายเรื่อง แต่ก็ต้องอดทน

ตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ หรือที่เสนอโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ์ที่ยกมา อาจจะไม่ผ่านสภา แต่ก็ต้องคิดเสมอว่าในระบบสภาจะต้องอดทน ไม่ใช่ว่าเสนอแล้วจะได้ดั่งใจ ในหลายเรื่องไม่ใช่ว่าจะชี้นำได้ กฎหมายสมรสเท่าเทียม พปชร. ในฐานะแกนนำในสภา ก็ไม่ใช่เราจะชนะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะได้หน้าหรือเสียหน้า นี่คือกระบวนการสภาที่จะเดินไปข้างหน้าภายใต้รัฐธรรมนูญ

“คราวต่อไป เรายังมั่นใจว่าจะเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ โดยหลักการนะครับ แต่กรรมการบริหารพรรคจะว่ากันอย่างไรก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย เหตุที่เราว่าอย่างนี้ เพราะเรากำลังบอกว่า ต้องมั่นคง เดินไปข้างหน้าได้ และพี่น้องประชาชนจะต้องกินได้ภายใต้วิกฤต” รงค์ กล่าว

วันนี้มีวิกฤตหลายอย่าง ทั้งสงคราม ทั้งเงินเฟ้อ ทุกพรรคก็มีความคิด หลายคนก็มีความคิด แต่ พปชร. มีความคิดและกำลังทำงานแก้ไขปัญหาอยู่ เรากำหนดว่ามีคนจนเท่าไหร่ จะช่วยเท่าไหร่ จะช่วยกี่คน สิ่งเหล่านี้อยู่ในแนวนโยบายในทางการวางยุทธศาสตร์ของพรรค

 

แคนดิเดตนายกฯ: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ค่อนข้างชัวร์แล้ว แต่ต้องผ่านการประชุมในพรรคก่อน)

รงค์อธิบายว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลพวงจากการรัฐประหาร 2557 แต่ในวันนี้ประเทศต้องการนายกฯ หรือผู้บริหารแบบภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง (strong leadership) ได้พูดอยู่ในสภาบ่อยๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอะไรมากมาย แต่ทำให้เกิด strong leadership ที่ทำให้ไม่มีใครต่อรองกับสภาได้มากมายนัก พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนที่มีทักษะพิเศษคือไม่เปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ล็อบบี้หรือต่อรอง นอกไปจากพันธะสัญญาที่มีอยู่เดิมคือเรื่องนโยบายที่ได้ต่อรองมาแล้ว นี่คือสิ่งที่สำคัญกับระบอบการเมืองแบบเปลี่ยนผ่าน หากเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงต้องคิดถึงเรื่องนี้

“ถ้าเราจะเลือกตั้งในปีหน้า สมมติอีกนะครับ เราก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าหลักใหญ่ใจความ ทุกคนอยากรู้ว่าแต่ละพรรคเสนอใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วในท่ามกลางบริบทที่กำลังเป็นอยู่ บริบทสังคมไทย สังคมโลกที่เป็นอยู่ ต้องการผู้นำแบบไหน พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้บริหารที่มีลักษณะ strong leadership ภายใต้บริบทที่กำลังวิกฤต ภายใต้บริบทที่กำลังจะต้องจัดระบบระเบียบกันเพื่อที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า และผมเชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่พยายามจะรักษาความยุติธรรมในการกระจายงบประมาณในทุกภาคส่วนให้มากที่สุด” รงค์ กล่าว

 

ก.ก.: โจทย์การเมืองยังอยู่ที่ ‘ใครเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด’ พรรคการเมืองคือส่วนสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

จากประเด็นที่มีการพูดก่อนหน้าว่าการเมืองไทยอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในอีก 10 ปี เหตุผลที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในอีก 10 ปีอาจเป็นผลมาจากวาระทางการเมืองในยุคสมัย 10-20 ปีที่ผ่านมาประกอบกันด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ปัจจัยเทคโนโลยี สิ่งที่ตลกร้ายในระยะเวลา 90 ปีประชาธิปไตยกลายเป็นว่าโจทย์ทางการเมืองของไทย ยิ่งห่าง 2475 ก็ยิ่งเข้าใกล้ 2475 มากขึ้น เวลาพูดเรื่องการต่อสู้ทางประชาธิปไตยและบทบาทพรรคการเมือง ตั้งแต่ 14 ตุลา 16 ที่มองคณะราษฎรเป็นตัวร้ายด้วยซ้ำเพราะเป็นที่มาของเผด็จการ จากนั้นก็ 6 ตุลา 19 ก็เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับระดับโลกที่ตามมาด้วยการรัฐประหาร มี รัฐธรรมนูญ ครึ่งใบ เต็มใบ จากนั้นมีการรัฐประหาร จากนั้นโจทย์ทางการเมืองหลังพฤษภา 35 ไม่มีการพูดถึง 2475 เลยในวาระทางการเมือง เป็นเรื่องปฏิรูปการเมือง เอาทหารเข้ากรมกอง ไปสู่รัฐธรรมนูญธงเขียวปี 2540 ที่เน้นเรื่องการปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ พร้อมหากลไกควบคุมการใช้อำนาจด้วยการมีองค์กรอิสระ จนกระทั่งองค์กรอิสระก็แผลงฤทธิ์มากกว่าที่คิดจนถึงทุกวันนี้

คิดว่าสิ่งที่เริ่มต้นก็คือ ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองหลังมี รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ค่อยๆ สร้างให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง อำนาจรวมศูนย์ที่สภาผู้แทนฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองกับอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่เป็นจริง และนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 เมื่อปัญหาทางการเมืองที่เป็นจริงเป็นแบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คนหนุ่มสาวกลับมาพูดเรื่องคณะราษฎรหลังรัฐประหารทั้งสองครั้ง

วนกลับมาที่โจทย์เดิม คือคำขวัญที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร หรือเป็นของใคร” ส่วนตัวเห็นว่าหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็คือสิ่งนี้ ในแง่สถาบันการเมืองก็คือการมีสภา (parliament) จากการเลือกตั้ง ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองควรอยู่ที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ หรือที่ไหน นี่คือปัญหาที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน และยังมีโจทย์อื่นอย่างการปฏิรูปสถาบันตุลาการ สร้างนิติรัฐ นิติธรรม และยังมีโจทย์ที่ย้อนก่อน 2475 คือเรื่องระบบราชการรวมศูนย์ มาจนถึงระบบทุนผูกขาดที่ยึดโยงอยู่กับระบบการเมืองเรื่อยมา และระบบการศึกษาและวัฒนธรรมใหม่ ที่จะทำให้ประเทศเผชิญกับปัจจัยสมัยใหม่ได้

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในประวัติศาสตร์ ถ้า 2490 ที่มีการรัฐประหารครั้งแรกที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ ถึง 2500 คือการปักหลักระบอบสฤษดิ์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเมืองสมัยคณะราษฎรที่พยายามสถาปนาระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างที่เรารู้จักกัน ผมกำลังคิดว่า ตั้งแต่ 2549 ถึงปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกครั้งจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่ระบอบอะไรยังไม่รู้ ซึ่งการต่อสู้สำคัญจะอยู่ในเวทีของสภาผู้แทนราษฎรด้วยอย่างสำคัญ” ชัยธวัช กล่าว

 

“ภารกิจพรรคการเมืองในการผลักดันประชาธิปไตยคงหนีไม่พ้นว่าโจทย์ใหญ่คืออะไร เราต้องทำให้อำนาจของประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ว่าอำนาจประชานาคืออำนาจสูงสุด และผลักดันให้เกิดระเบียบการเมืองแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ให้ได้ จะออกมาในรูปของการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วมาออกแบบสถาบันการเมืองกันใหม่ สร้างระเบียบการเมืองกันใหม่” ชัยธวัช กล่าว

 

 

แคนดิเดตนายกฯ: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ชัยธวัชอธิบายว่า ต้องเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เพราะโจทย์สำคัญของสังคมไทยตอนนี้ ถ้าแบ่งหยาบๆ มีอยู่สองเรื่อง คือมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังการรัฐประหาร และมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำที่มีความเข้าใจที่จะสร้างระเบียบการเมืองยุคใหม่ ระเบียบสัญญาประชาคมใหม่ที่จะออกแบบระบอบการเมืองที่พอจะอยู่ร่วมกันได้ อีกเรื่องคือเรื่องปากท้อง ที่ต้องการความเข้าใจและประสบการณ์ใหม่ๆ และยังมีเรื่องหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน ทุกคนต้องแข่งกันออกนโยบายที่ดี แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนนโยบายก็คือกลไก ต้องมีการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจจริงๆ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของสังคมไทย จึงคิดว่าพิธาเหมาะกับภารกิจนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net