Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ฝึกเจ้าหน้าที่สืบจับนายหน้าเถื่อน หลอกทำงานต่างประเทศ

24 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสายและนายหน้าเถื่อนหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศ หลอกลวงคนหางานอย่างเป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีทั้งการหลอกลวงว่าช่วยให้เดินทางไปทำงานเกษตรในประเทศออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การหลอกลวงไปทำงานซาอุดีอาระเบียด้วยวิธีผิดกฎหมาย และล่าสุดหลอกลวงคนไทยให้ลักลอบข้ามแดนเพื่อไปทำงานประเทศเพื่อนบ้าน จนสุดท้ายถูกบังคับใช้แรงงาน และมีการออกไลฟ์มาขอความช่วยเหลือผ่านเฟซบุ๊ก

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงาน เฝ้าระวัง และติดตามตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างมากที่เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน ต้องรู้เท่าทันสายและนายหน้าเถื่อน เพื่อปกป้องช่วยเหลือคนหางานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การหลอกลวงของสายและนายหน้าจัดหางานเถื่อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและสังคมออนไลน์ ทำให้สามารถหลอกลวงคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้เป็นเหยื่อได้อย่างแยบยล ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนหางาน

กรมการจัดหางานจึงจัดโครงการสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการป้องกัน และปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม เดอะ พาลาสโซ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหวังเสริมสร้างทักษะความรู้ความสามารถด้านการป้องกันและปราบปรามฯแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้ทันต่อสถานการณ์

โดยเฉพาะการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ด้านการป้องกันการหลอกลวง เบาะแสผู้เป็นภัยต่อคนหางานที่กำลังระบาดในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อื่นรับทราบและหาทางป้องกัน ตลอดจนสามารถเตือนภัยผู้นำชุมชน คนหางานได้ทราบข่าวสารอย่างทันท่วงที

สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน รวมผู้เข้ารับการสัมมนาทั้งสิ้น จำนวน 80 คน

ทั้งหมดจะได้รับการอบรมด้านเทคนิคการสืบเบาะแสและการเก็บรวบรวมหลักฐานทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่สายและนายหน้าเถื่อนนิยมใช้ในปัจจุบัน โดยวิทยากรที่มาจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รวมทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์ การวินิจฉัยคำร้องทุกข์และการดำเนินคดี มาตรา 30 มาตรา 91 ตรี และการดำเนินคดีผู้โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยวิทยากรจากกองนิติการ กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/6/2565

รมว.แรงงาน นำคณะบินเจรจาทางการเกาหลีใต้ ขอโควต้าส่งออกแรงงานเพิ่ม

24 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เข้าเยี่ยมคารวะ นายลี จอง ชิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานประเด็นการขยายตลาดแรงงานระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ (EPS) และการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย โดยมี นายบัญชา ยืนยงจงเจริญ อัครราชทูต ณ กรุงโซล นายนิธิพัฒน์ วัฒนสุวกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เข้าร่วม ณ กระทรวงแรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี

นายสุชาติกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนไทยได้มาทำงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานขอบคุณรัฐบาลเกาหลีที่ดูแลแรงงานไทยเป็นอย่างดี และในวันนี้เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานโดยเฉพาะความร่วมมือในการขยายตลาดแรงงานระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งในห้วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่มีการตรวจคัดกรองแรงงานอย่างเข้มข้นก่อนเดินทาง และมีความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี จึงอยากให้ทางการเกาหลีพิจารณาเพิ่มโควต้าการจัดส่งแรงงานระบบ EPS ให้กับประเทศไทย

“ส่วนการขยายอายุแรงงานในระบบ EPS นั้น ปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีมีนโยบายส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ จึงอยากให้มีการปรับข้อจำกัดด้านอายุขั้นสูงของแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสแรงงานสูงอายุและมีประสบการณ์ทำงานสูงสามารถทำงานในเกาหลีได้ ขณะที่การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายนั้น ประเทศไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกกฎหมาย เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างถูกต้องและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นายสุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ตามระบบ EPS จำนวน 22,663 คน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้การเดินทางเข้าประเทศไม่ต้องกักตัว เมื่อการนำเข้าแรงงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะส่งผลดีต่อแรงงานไทยเช่นกัน โอกาสนี้ รมต.สุชาติยังได้กล่าวถึงมาตรการดูแลแรงงานในประเทศไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาด้วย ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนนโยบายด้านแรงงานระหว่างกันรวม ทั้งกระชับความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ด้าน นายลี จอง ชิก กล่าวว่า แรงงานไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยในเกาหลีใต้มีมากเป็นอันดับ 2 ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมด ที่เข้ามาทำงานในเกาหลีใต้ ส่วนประเด็นข้อหารือต่างๆ ในวันนี้ จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการและแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/6/2565

สสส. - สธ. - แรงงาน ชู หลักสูตรพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาทางใจ ปั้น กลุ่ม HR สู่ “นักสร้างสุข ลดทุกข์”

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน แถลงข่าว “ความร่วมมือในการสร้างเสริมสุขภาพจิตของแรงงานไทยให้ Move on ได้ ด้วยกายใจเป็นสุข” ภายใต้โครงการสร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรทำงานในสถานประกอบกิจการประมาณ 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของกลุ่มผู้มีงานทำ สะท้อนว่า วัยแรงงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงสถานการณ์ทางจิตใจ ทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การงาน มีรายได้ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย ปัญหาหนี้สิน มีความเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวังหมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

“กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส. และกระทรวงแรงงาน สร้างกลไกดูแลสุขภาพจิตผ่านกลุ่ม เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบกิจการ (HR) มีบทบาทเป็นคนกลางเชื่อมโยงส่งผ่านความหวัง ความห่วงใย ความปรารถนาดี ไปถึงกลุ่มวัยแรงงาน ทำให้สามารถจัดการความเครียด มีทางออกทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน มุ่งให้แรงงานไทยมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลัง ความหวังที่จะข้ามผ่านวิกฤตไปได้” พญ.อัมพร กล่าว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 กรมสุขภาพจิต ดำเนินโครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงินแรงงาน พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีต่อการเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อเป็นผู้ส่งต่อความรู้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานประกอบกิจการ โดยต่อยอดมาจากความร่วมมือกับสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก “การสร้างสุข ลดทุกข์” สำหรับแรงงานในสถานประกอบการ เกิดเป็นต้นแบบสถานประกอบการ 6 แห่งในจังหวัดระยองและชลบุรี

“ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากการพัฒนาหลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม ที่นำไปสู่การขยายผลการดูแลสุขภาพจิตแรงงานในสถานประกอบกิจการแล้ว ยังถือเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยใช้หลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบองค์รวม ขยายผลในสถานประกอบการอีก 31 แห่ง ครอบคลุม 8 เขตสุขภาพ ช่วยยกระดับกลุ่ม HR เป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แรงงานไทยมีสุขภาพกายใจเป็นสุข ลดความเครียด ซึมเศร้า ที่จะนำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ มีเป้าหมายขยายผลสู่ต้นแบบการดำเนินงานร่วมกับศูนย์สุขภาพจิต เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป” นายชาติวุฒิ กล่าว

นายสุทธิพงศ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน ทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือ และการให้ความรู้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติแรงงาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับหลักสูตร เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมจัดทำ เพื่อกำหนดหัวข้อ เนื้อหาที่จำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการ โดยโครงสร้างหลักสูตรนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำไปสู่ต้นแบบหลักสูตรกลางในสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/6/2565

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ" ค้าน ควบรวม TRUE - DTAC ชี้ กระทบ NT โดยตรง หวั่นสูญเสียรายได้จำนวนมาก

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำแรงงานบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) หรือ NT, กลุ่มพลังรักษ์องค์กรทีโอที, ชมรมศิษย์เก่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย, ชมรมศิษย์เก่า กสท. และประธานดำเนินการจัดตั้ง, เลขาธิการ, ที่ปรึกษา, กรรมการสหภาพแรงงานNT ได้ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค เป็นการผูกขาดตลาดการแข่งขันโทรคมนาคม” เพื่อให้สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยับยั้งดีลควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมเดินทางยื่นหนังสือถึง กสทช.ให้ยุติการควบรวมครั้งนี้

นายประสาน จ่างูเหลือม ประธานกลุ่มผู้นำแรงงาน บริษัท NT ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค มีผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการของบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และมีผลกระทบต่อตลาดแข่งขันเสรีในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ ซึ่งการควบรวมกิจการทั้งสองบริษัท ส่งผลให้ตลาดธุรกิจสื่อสารมีสภาพกึ่งผูกขาดเพราะไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ทั้งนี้ รัฐและ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะได้รับผลกระทบจากควบรวม ดังนี้

1. สูญเสียรายได้เงินปันผลจาก NT ที่ถือหุ้นดีแทค ราว 200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการบริหารงานของทรูกับดีแทคมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเมื่อเทียบผลประกอบการ 5 ปี ย้อนหลังดีแทคมีกำไรเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทรูบริหารงานแบบไม่มีกำไรและมีงบการเงินที่ติดลบมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่าเมื่อเกิดการควบรวมแล้ว การบริหารงานของทรู จะส่งผลกระทบให้ผู้ถือหุ้นไม่มีเงินปันผลเหมือนที่เคยถือหุ้นดีแทค อีกต่อไป และหากนับย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาดีแทคให้เงินปันผล NT แล้วมากกว่า 1,200 ล้านบาท

2. สูญเสียรายได้ค่าเช่าเสาจากดีแทค ราว 1,900 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูมีกองทุน Infra Fund ซึ่งมีเสาที่ให้บริการโทรคมนาคมจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องเช่าใช้เสาของ NT ต่อไป

3. สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการโรมมิ่งของดีแทคในโครงข่าย 2300 MHz ราว 4,500 ล้านบาทต่อปี หากเมื่อควบรวมธุรกิจกันแล้วเสร็จ จำนวนคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการของทั้งทรู และดีแทค จะมีจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศกับ NT ซึ่งคาดว่า ดีแทคจะลดปริมาณการโรมมิ่ง หรืออาจถึงขั้นยุติการโรมมิ่งในโครงข่าย 2300 MHz ของ NT ทำให้ NT สูญเสียรายได้จากการให้บริการจากสัญญาดีแทค 4,500 ล้านบาทต่อปี

4. สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการซื้อความจุโครงข่าย 850 MHz ของเรียลมูฟ (บริษัทในเครือทรู) ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูและดีแทคจะมีคลื่นจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความจุโครงข่าย 850 MHz ของ NT อีกต่อไป

นอกจากนั้น การควบรวมกันครั้งนี้จะเกิดผลกระทบต่อภาคประชาชน และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ดังนี้

1. เมื่อสภาพตลาดไม่มีการแข่งขันเนื่องจากเหลือผู้เล่นน้อยราย จะทำให้ไม่อาจใช้กลไกทางการตลาดเป็นตัวบริหารจัดการผู้เล่นในตลาดได้ ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้น และคุณภาพของการให้บริการจะแย่ลง ไม่มีการแข่งขันด้านราคาหรือปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดีอยู่เสมอเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ไม่ให้ย้ายค่าย

2. ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 40 การผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม และ มาตรา75 การคุ้มครองผู้บริโภค

3. การควบรวมกิจการขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่สำคัญคือห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ เชิงปริมาณในการวัด ระดับการครอบงำตลาด อย่างชัดเจนโดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว HHI

4. การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และดีแทค ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่ผลการศึกษาเบื้องต้นของสำนักงาน กสทช. เอง ระบุว่าจะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น GDP ของประเทศลดลง ในทางกลับกัน การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ดูจะเป็นประโยชน์แต่ตัวบริษัทมากกว่า โดยทรูจะกลายเป็นผู้เล่นในตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และมีอำนาจครอบงำตลาดได้จากข้อได้เปรียบที่มีธุรกิจในเครือเดียวกัน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง ให้การสนับสนุน

5. ในอดีตรัฐได้ปรับเปลี่ยนจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อลดการผูกขาดการให้บริการโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียวและสร้างตลาดแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ที่จะใช้บริการที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นแต่ในราคาค่าบริการที่ถูกลง เนื่องจากกลไกการตลาดแข่งขันเสรีจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ แต่การควบรวมกิจการครั้งนี้ส่งผลให้ตลาดกึ่งผูกขาด ซึ่งส่งผลให้มีการพยายามสร้างอำนาจผูกขาดกลับคืนมา

นายประสาน กล่าวว่า อยากให้ สำนักงาน กสทช.พิจารณาการควบรวมครั้งนี้ อย่างตรงไปตรงมา มองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติเป็นที่ตั้งสำคัญ เนื่องจากหากดีลนี้เกิดขึ้นจริงคงต้องเรียกว่า ถึงจุดจบของNT และถึงจุดจบการแข่งขันอย่างเสรีของโทรคมนาคมไทยอย่างแน่นอน ที่สำคัญเหนืออื่นใด หาก NT ต้องล้มหายตายจากไปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแล้วการให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมดในประเทศไทยก็จะดำเนินการโดยภาคเอกชนแต่เพียงผู้เดียว ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระบบโทรคมนาคมของประเทศในส่วนของภาครัฐตลอดจนการดำเนินการตามแนวนโยบายต่างๆ ที่ต้องอาศัยระบบโทรคมนาคมเป็นเครื่องผลักดัน

หลังจากนั้น กลุ่มตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ได้เดินทางไปยัง สำนักงาน กสทช. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมทรู และดีแทค ถึงประธาน กสทช. โดยมีนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารในครั้งนี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 23/6/2565

นายกฯ ชื่นชมอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีมาใช้เพื่อยกระดับแรงงานไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีและพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดัน ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศและของโลก โดยนายกฯ ชื่นชม ที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยได้รับเอาแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Seafood Good Labour Practices - GLP) มาใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อพัฒนาแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ รวมถึงแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมประมง ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และไม่มีการค้ามนุษย์

ซึ่งกระทรวงแรงงานยังได้พัฒนาและส่งเสริม GLP ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 4 กิจการประเภท ได้แก่ กิจการทั่วไป กิจการสัตว์ปีก กิจการฟาร์มเพาะกุ้ง และ อุตสาหกรรมอาหารทะเล โดย GLP สำหรับอุตสาหกรรมในอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ทั้งนี้ ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยในปี พ.ศ. 2564 ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มูลค่ากว่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย

“รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูภายหลังโควิด – 19 รัฐบาลไทยก็ได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจและคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทยทุกคน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการทำงานจากโควิด – 19” นายธนกร กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/6/2565

ก.แรงงาน หารือ ไมเนอร์, ไทยเบฟ, เซ็นทรัล และเอ็ม บี ซี แลนด์ พร้อมใจช่วยลูกจ้างร้านซูชิ “ดารุมะ” เตรียมตำแหน่งงานในร้านอาหารและงานอื่น ๆ ร่วม 4,524 อัตรา

21 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยลูกจ้างบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด สั่งการกระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมาย และเร่งหาตำแหน่งงานที่มีความคล้ายคลึงรองรับ

โดยตนได้มอบหมายกรมการจัดหางานลงพื้นที่หารือร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการจ้างงานจำนวนมาก อาทิ ไมเนอร์ เซ็นทรัล ไทยเบฟ และเอ็ม บี ซี แลนด์ โดยเน้นตำแหน่งงานที่ลูกจ้างร้านซูชิสามารถทำงานได้ เช่น เชฟอาหารญี่ปุ่น ผู้จัดการร้านอาหาร/ร้านค้า พนักงานร้านอาหาร แคชเชียร์ แม่บ้าน พนักงานพาร์ตไทม์ เป็นต้น

นายสุชาติกล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทเอกชนรายใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ตอบรับและได้แจ้งตำแหน่งงานที่มีความต้องการทั้งสิ้น 4,524 อัตรา ดังนี้

1.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีตำแหน่งงานว่าง 2,000 อัตรา ได้แก่ พนักงานครัว 600 อัตรา พนักงานบริการ 900 อัตรา ผู้จัดการร้าน 100 อัตรา ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน 200 อัตรา พนักงานขาย 100 อัตรา พนักงานประจำสำนักงานใหญ่ 100 อัตรา

2.บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีตำแหน่งงานว่างกว่า 1,000 อัตรา ในตำแหน่งพนักงานหน้าร้านกว่า 500 อัตรา พนักงานออฟฟิศกว่า 150 อัตรา และพนักงานบริการร้านอาหารกว่า 100 อัตรา

3.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีตำแหน่งงานว่าง 200 อัตรา อาทิ ผู้จัดการร้านอาหาร ผู้จัดการร้านค้า หัวหน้าเชฟ เชฟอาหารญี่ปุ่น เชฟอาหารจีน เชฟเบเกอรี่ บาร์เทนเดอร์ แคชเชียร์ พนักงานบริการ เพื่อทำงานในร้านอาหารเครือไทยเบฟเวอเรจ สาขาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

4. บริษัท เอ็ม บี ซี แลนด์ จำกัด ภายใต้การบริหารของ OR ต้องการแรงงานเข้ามาทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 1,324 อัตรา เพื่อทำงานในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สถานีบริการก๊าซ NGV. ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ร้าน Cafe’ Amazon ศูนย์บริการ FIT AUTO และร้าน Texas Chicken ในตำแหน่ง พนักงานบริการหน้าลาน (เติมน้ำมัน/ก๊าซ) พนักงานแคชเชียร์ แม่บ้าน ช่างยนต์ พนักงานประจำร้าน พนักงานพาร์ตไทม์ ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน ผู้จัดการร้าน/ศูนย์บริการ เป็นต้น

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า วันนี้ผู้จัดการร้านดารุมะ ซูชิ ได้นำลูกจ้างจำนวน 50 คน มายื่นขอรับเงินประกันการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 จึงมาตั้งโต๊ะรับสมัครงานเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง พร้อมแนะนำการใช้บริการสมัครงานผ่านเว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ.doe.go.th” หรือแอปพลิเคชั่น “ไทยมีงานทำ”

เพื่อให้ลูกจ้างร้านซูชิทราบช่องทางการสมัครงานเพิ่มขึ้น สามารถเลือกสมัครงานทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางซึ่งรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ยังให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด โดยจับคู่ (matching) ตำแหน่งงานตามพื้นที่ และภูมิลำเนา รวมถึงจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีอยู่

ทั้งนี้ ประชาชน คนหางานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 21/6/2565

ประกันสังคมเข้าช่วยเหลือ พนง. ‘โพสต์ทูเดย์’ ถูกเลิกจ้างแล้ว

ตามที่บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีนั้น

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 22565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ได้เร่งสั่งการไปยังผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งเคลียร์ปัญหาช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน แนะนำสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแล้ว

นายบุญสงค์กล่าวว่า มีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตน และได้สั่งการให้นางน้อมจิตต์ เทพวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 เร่งประสานงาน ให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตนโดยเร่งด่วน พร้อมเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ทราบว่า บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ เนื่องจากบริษัทประสบภาวะขาดทุนจากการแข่งขันสูงของวงการสื่อในปัจจุบัน โดยให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 นี้เป็นต้นไป

“โดยในวันนี้ (20 มิ.ย.) นางน้อมจิตต์ เทพวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานจัดหางาน แนะนำสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากการ ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจให้กับลูกจ้าง ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน รวมถึงการสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 และการขอรับบำนาญชราภาพ สำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เพื่อทำความเข้าใจแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน” นายบุญสงค์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/6/2565

ดารุมะ ซูชิ ลอยแพลูกจ้าง 27 สาขา กระทรวงแรงงานคุ้มครองค่าชดเชย

20 มิ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ร้านซูซิแห่งหนึ่งประกาศปิดร้านอย่างไม่มีกำหนด ทำให้พนักงานในร้านถูกลอยแพไม่ได้รับเงินเดือน ผมจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทันที

ร้านดังกล่าวชื่อ ร้านดารุมะ ซูชิ ได้จดทะเบียนในนามบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ร้านอาหารญี่ปุ่น ได้เปิดให้บริการอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งสิ้นจำนวน 27 สาขา ซึ่งในปัจจุบันร้านทุกสาขาได้ปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนดแล้ว โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นี้ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานท้องที่ที่ร้านสาขาของร้านดารุมะ ซูชิตั้งอยู่ จะเข้าไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าช่วยเหลือลูกจ้างร้านซูซิดังกล่าวทุกสาขา โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม พร้อมทั้งเตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หรือหากลูกจ้างต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้ทันที

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าว การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เหตุเพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือเป็นการเลิกจ้าง โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง

ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถเข้ามายื่นคำร้อง คร.7 และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/6/2565

แพทยสภาแจงประกาศกรอบเวลาทำงานแพทย์ไม่ควรเกิน 40 ชม./สัปดาห์ เน้นหมอเพิ่มพูนทักษะ

แพทยสภาแจงออกประกาศกรอบเวลาทำงานแพทย์ภาครัฐไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน  เน้นหมอจบใหม่เพิ่มพูนทักษะ เพื่อแก้ปัญหาช่วงปีแรก การปรับตัวหากไม่ผ่านอาจลาออก  ส่วนภาระงานแพทย์ใช้ทุนปี 2 ปี 3 และปี 4 มีขั้นตอนหาทางแก้ปัญหาให้เหมาะสมสเต็ปต่อไป

ที่มา: Hfocus, 18/6/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net